Skip to main content

เชื่อว่าชื่อเมืองบันดุง ในประเทศอินโดนีเซียอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่ากับเมืองหลวงอันแสนวุ่นวายอย่างจาการ์ตา, เมืองแห่งการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมฮินดูและธรรมชาติอย่างบาหลี หรือเมืองแห่งวัฒนธรรมชวาอย่างย็อกยาการ์ตา ทั้งๆ ที่บันดุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากเมืองหนึ่ง และมีความเป็นมาน่าสนใจไม่แพ้เมืองอื่นๆ เชียวค่ะ

บันดุงเป็นเมืองเอกของจังหวัดชวาตะวันตก เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของอินโดนีเซียรองจากจาการ์ตาและสุราบายา บันดุงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจาการ์ตา หากนั่งรถยนต์ก็ประมาณสองชั่วโมงถึง หากรถไม่ติดหนักหนาสาหัส แต่ว่าอากาศที่บันดุงกลับแตกต่างจากจาการ์ตาอย่างยิ่ง เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบทำให้บันดุงมีอากาศค่อนข้างเย็นสบายตลอดปี ความสวยงามของบันดุงทำให้ดัตช์ถึงกับขนานนามว่าเป็น “ปารีสแห่งชวา” ดัตช์เคยคิดจะย้ายเมืองหลวงจากปัตตาเวีย (จาการ์ตา) มาที่บันดุง แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงทศวรรษ 1930 ทำให้แผนการนี้ถูกล้มเลิกไป แต่อย่างไรก็ตาม ดัตช์ได้สร้างสถาปัตยกรรมแบบดัตช์ไว้ในบันดุง โดยเฉพาะบ้านหรือวิลล่าตามสไตล์ดัชต์ ที่โดดเด่นที่สุดคือ อาคารสะเต๊ะ (Gedung Sate) อาคารนี้ไม่ได้มีไว้ขายสะเต๊ะนะคะ แต่เป็นอาคารที่ดัตช์สร้างขึ้นในปี 1920 เพื่อใช้เป็นที่ทำการของรัฐบาลท้องถิ่นชวาตะวันตก ที่อาคารนี้ได้ชื่อว่าอาคารสะเต๊ะ เพราะรูปทรงของอาคารคล้ายกับสะเต๊ะ อาหารประจำชาติอย่างหนึ่งของอินโดนีเซียค่ะ

บันดุงเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาลัยเทคโนโลยีบันดุง (The Bandung Institute of Technology หรือ Institut Teknologi Bandung - ITB) ที่ซึ่งซูการ์โน บิดาแห่งชาติ, นักชาตินิยมและประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียเข้าศึกษา ดัตช์ก่อตั้ง ITB ขึ้นในปี 1920 โดยในตอนแรกมีชื่อว่า de Technische Hoogeschool te Bandung (THB) ต่อมาหลังจากขบวนการชาตินิยมประกาศเอกราชจากดัตช์ในปี 1945 ITB ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย (University of Indonesia หรือ Universitas Indonesia – UI) และได้ถูกแยกตัวออกไปเป็น ITB ในปี 1959  ITB ติดอันดับท็อปไฟว์สถาบันอุดมศึกษาของอินโดนีเซียในระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย ในจาการ์ตา หรือมหาวิทยาลัยกาจาห์มาดา (Gajah Mada University) ที่ย็อกยาการ์ตา ITB ยังมีประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในช่วงปี 1978 ด้วยการเป็นหักหอกของการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในครั้งนั้น

ในระดับนานาชาติบันดุงถูกรู้จักและจดจำในฐานะเมืองที่เป็นสถานที่จัดที่ประชุมร่วมของกลุ่มประเทศเอเชียแอฟริกา (Asian–African Conference) ทั้งสิ้น 29 ประเทศในปี 1955 ซึ่งประเทศที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช และมีเจตนารมณ์ไม่ต้องการเป็นหมากของการแข่งขันระหว่างขั้วมหาอำนาจของโลกในช่วงสงครามเย็น การประชุมในครั้งนี้ที่บันดุงเป็นหมายหลักสำคัญที่ก่อให้เกิดขบวนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในเวลาต่อมา

ในส่วนที่สัมพันธ์กับประเทศไทยนั้น บันดุงนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ไทย หลังจากเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) บันดุงได้เป็นที่ลี้ภัยทางการเมืองของเจ้านายสยามผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญผู้หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ได้ทรงเลือกบันดุงเป็นที่ประทับหลังจากที่ได้เดินทางออกจากสยาม โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ตามเสด็จด้วย พระองค์ได้ทรงสร้างพระตำหนักอย่างเรียบง่ายและประทานชื่อว่า พระตำหนักประเสบัน (Preseban) ส่วนพระตำหนักของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล มีชื่อว่า พระตำหนักดาหาปาตี (Dahapati) พระตำหนักสองหลังนี้ตั้งอยู่ที่ถนนจีปากันตี (Cipaganti) ทั้งสองพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ชาวพื้นเมืองรู้จักพระตำหนักทั้งสองนี้เป็นอย่างดี บริเวณหน้าพระตำหนักมีวงเวียนเล็กๆ ซึ่งถูกเรียกชื่อว่า “วงเวียนสยาม” (Bunderan Siam) มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันพระตำหนักประเสบันกลายเป็นโรงเรียนอนุบาล ส่วนพระตำหนักดาหาปาตีกลายเป็นร้านอาหารซึ่งไม่ได้ขายอาหารไทย แต่เป็นอาหารพื้นเมืองของอินโดนีเซีย ดิฉันได้ขอให้เพื่อนที่อยู่ที่บันดุงช่วยถ่ายรูปพระตำหนักทั้งสองให้ เพื่อนได้เล่าให้ฟังว่าร้านอาหารที่พระตำหนักดาหาปาตีนั้นบรรพบุรุษของเจ้าของเป็นคนไทยจริงๆ แต่น่าเสียดายที่วันนั้นเจ้าของไม่อยู่ที่ร้านจึงไม่สามารถสอบถามเรื่องราวได้

ด้านหน้าพระตำหนักประเสบัน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนอนุบาล ประตูรั้วถูกล็อคไว้เนื่องจากเป็นวันหยุด
ทุกรูปถ่ายโดย Azmil Tayeb

ตำหนักประเสบัน ถ่ายจากด้านข้าง

พระตำหนักดาหาปาตี ปัจจุบันเป็นร้านขายอาหาร

บรรยากาศภายในร้านเหมือนกับร้านอาหารพื้นเมืองอินโดนีเซียทั่วๆ ไป

 

บล็อกของ onanong

onanong
 ศัพท์ใหม่ (Kosa kata baru)Negara-negara (เนอการา เนอการา) ประเทศต่างๆ
onanong
 ห่างหายกันไปสักพักใหญ่นะคะสำหรับการสอนภาษาอินโดนีเซียผ่านบล็อก “Selamat Datang” คราวนี้ขอเสนอโครงสร้างประโยคบอกเล่าง่ายๆ ในภาษาอินโดนีเซียค่ะ
onanong
บทสัมภาษณ์ ผู้อำนวยการกลุ่ม Tikar Pandan สถาบันทางวัฒนธรรมพร้อมกับสำนักพิมพ์ที่ไม่แสวงหากำไร และมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนอาเจะห์ ซึ่งเปิดพื้นที่มากกว่าการบอกเล่าแบบที่รัฐผลิตให้วาทกรรมการชื่นชมทหาร  และการบูชาวีรบุรุษของรัฐชาติ หากแต่ประชาชาชนจำนวนมากเช่นกันที่มีประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดและเลวร้ายจากทหาร
onanong
 ตามคำเรียกร้องของแฟนบล็อกนะคะ คราวนี้ขอเสนอคำที่แสดงความรู้สึกในภาษาอินโดนีเซียพร้อมกับตัวอย่างการใช้ค่ะ
onanong
 เซอลามัต มาลัม (Selamat malam) สวัสดีตอนค่ำค่ะ ขอยึดเวลา ณ ตอนที่เขียนแล้วกันนะคะ คราวนี้จะขอพูดถึงการนับตัวเลขและลำดับที่ในภาษาอินโดนีเซียนะคะ
onanong
เชื่อว่าชื่อเมืองบันดุง ในประเทศอินโดนีเซียอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่ากับเมืองหลวงอันแสนวุ่นวายอย่างจาการ์ตา, เมืองแห่งการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมฮินดูและธรรมชาติอย่างบาหลี หรือเมืองแห่งวัฒนธรรมชวาอย่างย็อกยาการ์ตา ทั้งๆ ที่บันดุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากเมืองหนึ่ง และมีความเป็นมาน่าสนใจไม่แพ้เมืองอื่นๆ เชียวค่ะ
onanong
 ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งเทศกาลเฉลิมฉลอง ทั้งวันคริสต์มาสและกำลังต่อด้วยปีใหม่ ดังนั้นดิฉันก็เลยถือโอกาสพูดถึงการอวยพรในภาษาอินโดนีเซียนะคะ 
onanong
 ในขณะที่ดิฉันกำลังคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีเพื่อคั่นการสอนภาษาอินโดนีเซีย คิดว่าถ้าสอนภาษาอินโดนีเซียทุกอาทิตย์มันจะน่าเบื่อเกินไป วันนี้ (19 ธันวาคม 2012) ก็ได้อ่านสเตตัสของเพื่อนชาวอาเจะห์ที่ใช้ชื่อว่า “Dody Maubelajar” ซึ่งน่าสนใจมาก ดิฉันจึงได้ขออนุญาตเขาแปลมาเผยแพร่ต่อสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์บาดแผลของประเทศอินโดนีเซีย