Skip to main content

เชื่อว่าชื่อเมืองบันดุง ในประเทศอินโดนีเซียอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่ากับเมืองหลวงอันแสนวุ่นวายอย่างจาการ์ตา, เมืองแห่งการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมฮินดูและธรรมชาติอย่างบาหลี หรือเมืองแห่งวัฒนธรรมชวาอย่างย็อกยาการ์ตา ทั้งๆ ที่บันดุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากเมืองหนึ่ง และมีความเป็นมาน่าสนใจไม่แพ้เมืองอื่นๆ เชียวค่ะ

บันดุงเป็นเมืองเอกของจังหวัดชวาตะวันตก เป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของอินโดนีเซียรองจากจาการ์ตาและสุราบายา บันดุงตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจาการ์ตา หากนั่งรถยนต์ก็ประมาณสองชั่วโมงถึง หากรถไม่ติดหนักหนาสาหัส แต่ว่าอากาศที่บันดุงกลับแตกต่างจากจาการ์ตาอย่างยิ่ง เนื่องจากมีภูเขาล้อมรอบทำให้บันดุงมีอากาศค่อนข้างเย็นสบายตลอดปี ความสวยงามของบันดุงทำให้ดัตช์ถึงกับขนานนามว่าเป็น “ปารีสแห่งชวา” ดัตช์เคยคิดจะย้ายเมืองหลวงจากปัตตาเวีย (จาการ์ตา) มาที่บันดุง แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงทศวรรษ 1930 ทำให้แผนการนี้ถูกล้มเลิกไป แต่อย่างไรก็ตาม ดัตช์ได้สร้างสถาปัตยกรรมแบบดัตช์ไว้ในบันดุง โดยเฉพาะบ้านหรือวิลล่าตามสไตล์ดัชต์ ที่โดดเด่นที่สุดคือ อาคารสะเต๊ะ (Gedung Sate) อาคารนี้ไม่ได้มีไว้ขายสะเต๊ะนะคะ แต่เป็นอาคารที่ดัตช์สร้างขึ้นในปี 1920 เพื่อใช้เป็นที่ทำการของรัฐบาลท้องถิ่นชวาตะวันตก ที่อาคารนี้ได้ชื่อว่าอาคารสะเต๊ะ เพราะรูปทรงของอาคารคล้ายกับสะเต๊ะ อาหารประจำชาติอย่างหนึ่งของอินโดนีเซียค่ะ

บันดุงเป็นที่ตั้งของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาลัยเทคโนโลยีบันดุง (The Bandung Institute of Technology หรือ Institut Teknologi Bandung - ITB) ที่ซึ่งซูการ์โน บิดาแห่งชาติ, นักชาตินิยมและประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียเข้าศึกษา ดัตช์ก่อตั้ง ITB ขึ้นในปี 1920 โดยในตอนแรกมีชื่อว่า de Technische Hoogeschool te Bandung (THB) ต่อมาหลังจากขบวนการชาตินิยมประกาศเอกราชจากดัตช์ในปี 1945 ITB ได้ถูกผนวกรวมเข้ากับมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย (University of Indonesia หรือ Universitas Indonesia – UI) และได้ถูกแยกตัวออกไปเป็น ITB ในปี 1959  ITB ติดอันดับท็อปไฟว์สถาบันอุดมศึกษาของอินโดนีเซียในระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งอินโดนีเซีย ในจาการ์ตา หรือมหาวิทยาลัยกาจาห์มาดา (Gajah Mada University) ที่ย็อกยาการ์ตา ITB ยังมีประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในช่วงปี 1978 ด้วยการเป็นหักหอกของการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในครั้งนั้น

ในระดับนานาชาติบันดุงถูกรู้จักและจดจำในฐานะเมืองที่เป็นสถานที่จัดที่ประชุมร่วมของกลุ่มประเทศเอเชียแอฟริกา (Asian–African Conference) ทั้งสิ้น 29 ประเทศในปี 1955 ซึ่งประเทศที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราช และมีเจตนารมณ์ไม่ต้องการเป็นหมากของการแข่งขันระหว่างขั้วมหาอำนาจของโลกในช่วงสงครามเย็น การประชุมในครั้งนี้ที่บันดุงเป็นหมายหลักสำคัญที่ก่อให้เกิดขบวนไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในเวลาต่อมา

ในส่วนที่สัมพันธ์กับประเทศไทยนั้น บันดุงนับได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์ไทย หลังจากเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) บันดุงได้เป็นที่ลี้ภัยทางการเมืองของเจ้านายสยามผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญผู้หนึ่ง คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ได้ทรงเลือกบันดุงเป็นที่ประทับหลังจากที่ได้เดินทางออกจากสยาม โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ตามเสด็จด้วย พระองค์ได้ทรงสร้างพระตำหนักอย่างเรียบง่ายและประทานชื่อว่า พระตำหนักประเสบัน (Preseban) ส่วนพระตำหนักของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล มีชื่อว่า พระตำหนักดาหาปาตี (Dahapati) พระตำหนักสองหลังนี้ตั้งอยู่ที่ถนนจีปากันตี (Cipaganti) ทั้งสองพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ชาวพื้นเมืองรู้จักพระตำหนักทั้งสองนี้เป็นอย่างดี บริเวณหน้าพระตำหนักมีวงเวียนเล็กๆ ซึ่งถูกเรียกชื่อว่า “วงเวียนสยาม” (Bunderan Siam) มาจนทุกวันนี้ ปัจจุบันพระตำหนักประเสบันกลายเป็นโรงเรียนอนุบาล ส่วนพระตำหนักดาหาปาตีกลายเป็นร้านอาหารซึ่งไม่ได้ขายอาหารไทย แต่เป็นอาหารพื้นเมืองของอินโดนีเซีย ดิฉันได้ขอให้เพื่อนที่อยู่ที่บันดุงช่วยถ่ายรูปพระตำหนักทั้งสองให้ เพื่อนได้เล่าให้ฟังว่าร้านอาหารที่พระตำหนักดาหาปาตีนั้นบรรพบุรุษของเจ้าของเป็นคนไทยจริงๆ แต่น่าเสียดายที่วันนั้นเจ้าของไม่อยู่ที่ร้านจึงไม่สามารถสอบถามเรื่องราวได้

ด้านหน้าพระตำหนักประเสบัน ปัจจุบันเป็นโรงเรียนอนุบาล ประตูรั้วถูกล็อคไว้เนื่องจากเป็นวันหยุด
ทุกรูปถ่ายโดย Azmil Tayeb

ตำหนักประเสบัน ถ่ายจากด้านข้าง

พระตำหนักดาหาปาตี ปัจจุบันเป็นร้านขายอาหาร

บรรยากาศภายในร้านเหมือนกับร้านอาหารพื้นเมืองอินโดนีเซียทั่วๆ ไป

 

บล็อกของ onanong

onanong
  คราวนี้จะขอพูดถึงคำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนะคะ คำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนั้นมีอยู่มากมายเพราะเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นและมรรยาทมากเหมือนของไทย การแทนตัวผู้พูดกับผู้ฟังจะขึ้นอยู่กับวัยวุฒิ และสถานะของคนที่เราพูดด้วย
onanong
 มาเรียนภาษาอินโดนีเซียกันต่อนะคะ คราวนี้จะเป็นพยัญชนะและสระประสมนะคะ และแถมด้วยคำที่ออกเสียงใกล้ๆ กันแต่ความหมายไปคนละเรื่องเลยค่ะ
onanong
ตามสัญญานะคะ คราวนี้จะเป็นการสอนภาษาอินโดนีเซียเบื้องต้นง่ายๆ สำหรับผู้สนใจเรียนภาษาอินโดนีเซียที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน วันนี้ขอเริ่มด้วยการออกเสียงพยัญชนะ และสระนะคะ สำหรับผู้ที่ต้องการให้สอนภาษาอินโดนีเซียในระดับที่ยากขึ้นไป อดใจรอหน่อยนะคะ จะค่อยๆ เพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
onanong
คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย, ชวาในพจนานุกรมฉบับมติชน พ-ม
onanong
วันที่ 28 ตุลาคมถือเป็นวันกำเนิดภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งมีที่มานั้นน่าสนใจยิ่งว่ามาจากการประกาศ“ คำสาบานของเยาวชน” ประธานของสโมสรนักเรียนอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 1928
onanong
“Indonesia Mengajar” เป็นโครงการที่ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็น่าจะประมาณ “ครูอาสาอินโดนีเซีย” ซึ่งความสำเร็จของมันอาจหมายถึงการทำให้คนอินโดนีเซียหวนคิดถึงยุคสมัยแห่งการสร้างชาติ, คิดถึงชาติที่ unity แต่ในมุมกลับก็มีคำถามบางอย่างเช่นกัน
onanong
ต่อค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน ดิฉันต้องขอชี้แจง (อีกครั้ง-เผื่อท่านที่เพิ่งจะเข้ามาอ่าน) ว่า คำต่างๆ ที่ดิฉันค้นคว้ามานี้ มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บาง
onanong
นานมาแล้วมีลูกศิษย์ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ขอให้ช่วยสอนคำทักทายภาษาอินโดง่ายๆ เพราะที่นั่นเขามีเพื่อนชาวอินโดอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วเขาอยากจะทักทายเพื่อนๆ เป็นภาษาอินโดบ้าง ดิฉันก็เลยจัดให้ และยังเก็บไฟล์ไว้ เลยคิดว่าเผื่อจะมีท่านที่สนใจอยากทราบบ้างค่ะ
onanong
มาแล้วค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บางคำเราก็รับมาโดยตรงผ่านวรรณกรรม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมบ้าง แต่บางคำก็รับผ่านภาษาบาลี สันสกฤต ทั้งเราและเขา บางคำก็ออกเสียงคล้ายกัน และแปลเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมายค่ะ
onanong
วันนี้ขอสลับพูดถึงคำขวัญของประเทศอินโดนีเซียนะคะ สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการติดตามคำภาษามลายู อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายคำภาษาไทยในพจนานุกรมฉบับมติชนไม่ต้องกังวลนะคะ จะทยอยนำเสนอต่อไปค่ะ และก็ท่านที่คิดว่า...โอ้ย...จะรออ่านจนครบ ฮ เมื่อไหร่เนี่ย ... มันไม่ได้ยาวขนาดนั้นค่ะ คิดว่าซักห้าหกครั้งก็จบพอดีค่ะ