Skip to main content

Henk Sneevliet (ภาพจาก Wikipedia)

บริเวณหลุมฝังศพของ เฮงค์ สเนฟลีตกับสหายอีกเจ็ดคนถูกประดับประดาไปด้วยดอกไม้นานาชนิดจากผู้ที่มารำลึกถึงวันครบรอบวันเสียชีวิตของเขา

เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ. 2013 ดิฉันได้มีโอกาสไปร่วมงานรำลึกถึงวันครบรอบวันเสียชีวิตปีที่ 71 ของ เฮงค์ สเนฟลีต (Henk Sneevliet) ที่หลุมฝังศพของเขา ณ เมืองดรีเฮ้าส์ (Driehuis) อยู่ในจังหวัดฮอล์แลนด์เหนือของประเทศเนเธอร์แลนด์ จริงๆ แล้ววันครบรอบวันเสียชีวิตของเขาคือวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1942 ซึ่งเป็นวันที่เขาถูกตัดสินประหารชีวิตโดยกองทัพนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ผู้ที่มาร่วมงานรำลึกในวันนั้นมีประมาณสามสิบกว่าคน ส่วนมากเป็นผู้สูงวัยผู้ซึ่งเป็นญาติรุ่นหลาน, เหลน, สหายพรรคสังคมนิยม, เพื่อนๆ ของญาติ, ชาวดัตช์และชาวอินโดนีเซียผู้สนใจและชื่นชมเฮงค์ สเนฟลีต และนักข่าวจากอินโดนีเซียคือวารสาร Historia, Tempo และนักข่าวต่างชาติอื่นๆ ผู้มาร่วมงานทยอยเดินทางมาถึงที่จัดงานตั้งแต่เวลาประมาณสิบโมงครึ่ง โดยทักทายกันและนั่งพูดคุยกันในร้านกาแฟทางเข้าสุสาน เวลาประมาณสิบเอ็ดโมงครึ่งมีการประกาศให้ทุกคนออกไปรวมตัวกันหน้าร้านกาแฟเพื่อที่จะเดินไปยังสุสานของ เฮงค์ สเนฟลีต ระยะทางไม่ไกลมากนัก ประมาณสิบนาทีพวกเราก็ไปถึง ณ สุสานของ เฮงค์ สเนฟลีต ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นหลุมฝังศพของเขา เนื่องจากเคยสอนเรื่องขบวนการคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซีย และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เอ่ยถึงชี่อของเขา แต่ก็เพิ่งจะทราบว่าออกเสียงชื่อเขาผิดมาตลอด

ผู้มาร่วมงานรำลึกค่อยๆ เดินไปยังหลุมฝังศพของเฮงค์ สเนฟลีต

ที่หน้าหลุมฝังศพของเขาถูกประดับประดาไปด้วยดอกไม้นานาชนิดหลากสีสรร แต่ส่วนมากจะเป็นดอกทิวลิป เบื้องหน้าสุสานเป็นทางเดินและสนามหญ้า ซึ่งมีเก้าอี้จัดไว้สี่ห้าตัวสำหรับผู้เข้าร่วมงานที่อาวุโสมาก งานเริ่มด้วย Dick de Winter ประธานและตัวแทนของคณะกรรมการรำลึกสเนฟลีต (Sneevliet Herdenkingscomité) กล่าวต้อนรับและรำลึกถึงเฮงค์ สเนฟลีต เป็นภาษาดัตช์ และเขาได้กล่าวเชิญให้ Bonnie Triyana นักข่าวจากวารสาร Historia จากอินโดนีเซียขึ้นกล่าวสดุดีเฮงค์ สเนฟลีต หลังจากนั้นก็มีคนขึ้นอ่านบทกวีและกล่าวรำลึกถึงเฮงค์ สเนฟลีตอีกสองคน และทุกคนก็ยืนสงบนิ่งรำลึกถึงเฮงค์ สเนฟลีต

Dick de Winter ประธานคณะกรรมการรำลึกสเนฟลีต

ผู้เข้าร่วมงานรำลึกถึงเฮงค์ สเนฟลีต

Bonnie Triyana นักข่าวจากวารสาร Historia จากอินโดนีเซีย (ภาพโดย Siswa Santoso)

หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมก็เดินทางไปรวมตัวกันที่องค์กรแห่งหนึ่งเพื่อพูดคุย กินดื่มอาหารว่างเบาๆ กันและมีการขายหนังสือเกี่ยวกับสังคมนิยมในเนเธอร์แลนด์ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ

บรรยากาศการนั่งพูดคุยพร้อมกับรับประทานอาหารว่างหลังงานรำลึกที่หลุมฝังศพ

ที่ใกล้ๆ กับหลุมฝังศพของเฮงค์ สเนฟลีตประมาณ 20 เมตรมีอนุสาวรีย์ Multatuli ตั้งอยู่ Multatuli เป็นผู้เขียนนิยายเรื่อง Max Havelaar อันเลื่องลือซึ่งได้ฉีกหน้ากากระบอบอาณานิคมของฮอลันดาในอินโดนีเซีย Multatuli เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเฮงค์ สเนฟลีต เป็นอย่างมาก ที่อนุสาวรีย์ Multatuli มีตัวอักษรสลักเป็นภาษาดัตช์ความว่า “De roeping van de mens is mens te zijn.” ซึ่งแปลว่า “หน้าที่ของมนุษย์คือการเป็นมนุษย์” 

อนุสาวรีย์ Multatuli 

ดิฉันมีโอกาสได้คุยกับหลานสาวคนหนึ่งของเฮงค์ สเนฟลีต ชื่อ Ellen Santen เธอเล่าว่า เฮงค์ สเนฟลีตถูกประหารชีวิตเมื่อเธอยังเด็กมาก เธอจำอะไรเกี่ยวกับเขาไม่ได้มาก แต่ครอบครัวของเธอเล่าถึงความกล้าหาญและการต่อสู้ของเฮงค์ สเนฟลีตเสมอ พวกเขาภูมิใจในสิ่งที่ เฮงค์ สเนฟลีตได้กระทำ และสิ่งที่เธอจำได้ดีเกี่ยวกับเฮงค์ สเนฟลีตคือ เขามักจะเล่นกับเธอและร้องเพลงให้เธอฟัง และเรื่องเล่าที่ทุกคนเล่าให้ฟังเหมือนกันหมดก็คือในตอนที่เขาจะถูกประหารชีวิตพร้อมๆ กับสหายอีกเจ็ดคน พวกเขาร้องเพลงแองเตอร์นาซิอองนาลโดยที่ไม่ได้ยี่หระต่อความตายตรงหน้าเลย และเฮงค์ สเนฟลีตขอเป็นคนสุดท้ายที่จะถูกยิง Ellen กล่าวว่าเรื่องร้องเพลงนี้เป็นเรื่องจริง เพราะมีหลักฐานว่ามีคนที่ถูกขังที่คุกนั้นได้ยินเสียงพวกเขาร้องเพลงนี้ก่อนถูกประหารชีวิต

คราวหน้าดิฉันจะเล่าชีวประวัติของเฮงค์ สเนฟลีตว่าเขาไปเคลื่อนไหวจัดตั้งสมาคมสังคมประชาธิปไตยแห่งอินดีส (Indische Sociaal-Democratische Vereeniging - Indies Social Democratic Association) ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (Partai Komunis Indonesia) ได้อย่างไร จนกระทั่งถูกนาซีจับและประหารชีวิตในปีค.ศ. 1942

บล็อกของ onanong

onanong
  คราวนี้จะขอพูดถึงคำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนะคะ คำสรรพนามในภาษาอินโดนีเซียนั้นมีอยู่มากมายเพราะเป็นสังคมที่มีลำดับชั้นและมรรยาทมากเหมือนของไทย การแทนตัวผู้พูดกับผู้ฟังจะขึ้นอยู่กับวัยวุฒิ และสถานะของคนที่เราพูดด้วย
onanong
 มาเรียนภาษาอินโดนีเซียกันต่อนะคะ คราวนี้จะเป็นพยัญชนะและสระประสมนะคะ และแถมด้วยคำที่ออกเสียงใกล้ๆ กันแต่ความหมายไปคนละเรื่องเลยค่ะ
onanong
ตามสัญญานะคะ คราวนี้จะเป็นการสอนภาษาอินโดนีเซียเบื้องต้นง่ายๆ สำหรับผู้สนใจเรียนภาษาอินโดนีเซียที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน วันนี้ขอเริ่มด้วยการออกเสียงพยัญชนะ และสระนะคะ สำหรับผู้ที่ต้องการให้สอนภาษาอินโดนีเซียในระดับที่ยากขึ้นไป อดใจรอหน่อยนะคะ จะค่อยๆ เพิ่มระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
onanong
คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย, ชวาในพจนานุกรมฉบับมติชน พ-ม
onanong
วันที่ 28 ตุลาคมถือเป็นวันกำเนิดภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งมีที่มานั้นน่าสนใจยิ่งว่ามาจากการประกาศ“ คำสาบานของเยาวชน” ประธานของสโมสรนักเรียนอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ปี 1928
onanong
“Indonesia Mengajar” เป็นโครงการที่ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยก็น่าจะประมาณ “ครูอาสาอินโดนีเซีย” ซึ่งความสำเร็จของมันอาจหมายถึงการทำให้คนอินโดนีเซียหวนคิดถึงยุคสมัยแห่งการสร้างชาติ, คิดถึงชาติที่ unity แต่ในมุมกลับก็มีคำถามบางอย่างเช่นกัน
onanong
ต่อค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน ดิฉันต้องขอชี้แจง (อีกครั้ง-เผื่อท่านที่เพิ่งจะเข้ามาอ่าน) ว่า คำต่างๆ ที่ดิฉันค้นคว้ามานี้ มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บาง
onanong
นานมาแล้วมีลูกศิษย์ที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ขอให้ช่วยสอนคำทักทายภาษาอินโดง่ายๆ เพราะที่นั่นเขามีเพื่อนชาวอินโดอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วเขาอยากจะทักทายเพื่อนๆ เป็นภาษาอินโดบ้าง ดิฉันก็เลยจัดให้ และยังเก็บไฟล์ไว้ เลยคิดว่าเผื่อจะมีท่านที่สนใจอยากทราบบ้างค่ะ
onanong
มาแล้วค่ะ คำภาษามลายู, อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายกับคำภาษา “ไทย” ในพจนานุกรมฉบับมติชน มิได้หมายความว่า ไทยเรารับเอามาจากภาษามลายู, อินโดนีเซีย หรือ ชวา โดยตรงทั้งหมด บางคำเราก็รับมาโดยตรงผ่านวรรณกรรม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมบ้าง แต่บางคำก็รับผ่านภาษาบาลี สันสกฤต ทั้งเราและเขา บางคำก็ออกเสียงคล้ายกัน และแปลเหมือนกันโดยไม่ได้นัดหมายค่ะ
onanong
วันนี้ขอสลับพูดถึงคำขวัญของประเทศอินโดนีเซียนะคะ สำหรับท่านผู้อ่านที่ต้องการติดตามคำภาษามลายู อินโดนีเซีย และชวาที่คล้ายคำภาษาไทยในพจนานุกรมฉบับมติชนไม่ต้องกังวลนะคะ จะทยอยนำเสนอต่อไปค่ะ และก็ท่านที่คิดว่า...โอ้ย...จะรออ่านจนครบ ฮ เมื่อไหร่เนี่ย ... มันไม่ได้ยาวขนาดนั้นค่ะ คิดว่าซักห้าหกครั้งก็จบพอดีค่ะ