องค์ บรรจุน
พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการหาที่เก็บของเก่าก็ตาม แต่จากประสบการณ์ที่ว่านี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังคิดทำพิพิธภัณฑ์ว่าจะใช้เก็บของเก่าหรือใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเริ่มเห็นคุณค่าท้องถิ่นของตน การตัดสินใจเกี่ยวกับท้องถิ่นจึงควรมาจากท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
\\/--break--\>
๑๘ เมษายน ๒๕๕๑ งานท้ายสงกรานต์ของวัดเกาะ วันสุดท้ายของการออกวัดทำบุญ ซึ่งธรรมเนียมมอญจะจัดล่ากว่าสงกรานต์ทั่วไป ช่วงบ่ายมีพิธีสรงน้ำพระ ในระยะเวลาหลายปีที่ผู้เขียนได้กลับบ้านเกิดแค่ช่วงสั้นๆ ไม่ได้อยู่ร่วมงานสงกรานต์ ทำบุญตักบาตร และสรงน้ำพระอย่างเคยในสมัยเด็ก หมดเวลาไปกับการเยือนชุมชนต่างๆ พบว่ามีการรื้อฟื้นประเพณีเก่าแก่กลับคืน ส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายเพื่อการท่องเที่ยวของททท. ซึ่งว่ากันตามตรงคือผักชีโรยหน้า ใช้เงินทำทาง แน่นอนว่าเมื่อเงินเข้าไปยังชุมชนใด ชุมชนนั้นมักแตกเป็นเสี่ยง ในปีนี้เกิดความรู้สึกโหยหาบ้านเกิด จึงกลับไปที่วัดเกาะ สมุทรสาคร แต่ก็เป็นการกลับไปสังเกตุการณ์เท่านั้น แม้คนส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกันทั้งนั้นแต่ก็แปลกหน้าสำหรับผู้เขียน เนื่องจากวัดนี้เป็นรกรากเดิมของปู่ย่า ก่อนโยกย้ายไปอยู่คนละมุมตำบล แต่วัฒนธรมประเพณีในย่านนี้ก็ยังเป็นอันเดียวกัน
งานสงกรานต์และสรงน้ำพระปีนี้คนบางตา เพราะเป็นวันราชการ มีแต่ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก หนุ่มสาวไม่มากนัก แต่ดูตื่นตัวเพราะมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาเปิดงาน และเปิด “ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยรามัญ” มีการเล่นสะบ้า บรรเลงปี่พาทย์มอญ มอญรำ และแข่งขันจุดลูกหนู มีบ้านมอญส่งมาแข่งกว่า ๒๐ สาย ผมมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความตื้นตันปนหดหู่ เริ่มเช้าตรู่ที่ผมไปถึง หน้าศาลเจ้าที่หมู่บ้านริมน้ำท่าจีนหน้าวัด กำลังทำพิธีเข้าทรงพ่อปู่ ที่มีประจำทุกปี ปีนี้มีแต่ผู้สูงอายุเข้าไปให้น้ำอบ พ่อปู่ให้ศีลให้พร ทำนายโชคชะตาและการทำมาหากิน
พ่อปู่ถามเป็นภาษามอญว่า “เด็กๆ ลูกหลานเอ็งมันหายไปไหนกันหมด ทำไมไม่มาหาข้า” แต่ละคนหลบตาลงต่ำ ไม่มีใครตอบคำถาม แต่ผู้เขียนมีคำตอบอยู่ในใจ “มันไปเรียนไปทำงานกันหมด ถึงอยู่บ้านมันก็ไม่มาหรอก เดี๋ยวนี้พรพ่อปู่ไม่ขลังแล้ว...”
ใกล้เพล ชาวบ้านนั่งอออยู่บนศาลาการเปรียญไม่มากไม่น้อย แต่งชุดมอญสวยงามสีสรรสดใสหลากสีกว่าที่เคยเห็น ตรงหน้ามีสำรับอาหารที่จัดมาอย่างวิจิตรบรรจง เมื่อพระสงฆ์เดินลงศาลาไม่นาน ได้ยินเสียงมัคนายกอาราธนาศีลมอญ หลังพระฉันให้ศีลให้พรตรวจน้ำเสร็จ ชาวบ้านก็ช่วยกันยกอาหารที่เหลือ ลงมานั่งกินร่วมกันบนศาลา หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันกลับบ้านพักผ่อน ไปเตรียมขันน้ำ ดอกไม้ และน้ำอบ มาสรงน้ำพระในช่วงบ่าย
ย้อนกลับไประหว่างที่พระฉันอาหาร นายโชค ไกรเทพ “วัฒนธรรมจังหวัด” ได้กล่าวปราศรัยกับชาวบ้านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตมอญให้คนมอญบนศาลาการเปรียญฟัง โดยกล่าวว่า แม้ตนจะไม่ใช่มอญแต่เคยทำงานที่วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานีมาก่อน คุ้นเคยกับวัฒนธรรมมอญดี ผู้เขียนนั่งคุยอยู่กับลุงป้าน้าอาด้านล่างศาลาจึงถามลุงป้าน้าอาถึงสิ่งที่วัฒนธรรมจังหวัดกล่าว ลุงคนหนึ่งว่า “ประวัติศาสตร์มอญที่ไหนมันก็เหมือนกันทั้งนั้นแหละ แต่วัฒนธรรมประเพณีที่เขาพูดน่ะไม่รู้ที่ไหน บ้านเราไม่ได้ทำอย่างนั้น...”
ตกบ่ายนายวีระยุทธ เอี่ยมอำภา ผู้ว่าฯสมุทรสาครเดินทางมาถึง “วัฒนธรรมจังหวัด” เข้าไปต้อนรับและสวมโสร่งให้กล่าวเปิดงาน
“เดี๋ยวนี้ผู้ชายบ้านเราไม่ค่อยนุ่งโสร่งกันแล้ว แต่หาซื้อโสร่งมอญก็ไม่ยาก ไม่ควรเอาโสร่งอีสานมานุ่ง อย่างผ้าขาวม้าเวลาเข้าวัดอย่างนี้ต้องพาดบ่าหรือห่มแบบสไบเฉียง ไม่ใช่คาดเอวอย่างนั้น อย่างนั้นใช้เวลาออกสวน หรือแบบจีกโก๋เขาใช้...” ลุงธีระพูดถึงสิ่งที่เห็น และนอกจากผู้ว่าฯแล้ว วัฒนธรรมจังหวัดที่เป็นผู้กล่าวรายงาน (น่าแปลกที่ผู้กล่าวรายงานไม่ใช่คนในชุมชน) ก็สวมโสร่งและคาดผ้าขาวม้าแบบเดียวกัน ก่อนสรงน้ำพระ ผู้ว่าฯทำพิธีเปิดศูนย์ฯและรับมอบสิ่งของที่มีผู้บริจาคให้วัดจัดแสดงในศูนย์ฯ โดยใช้พื้นที่ศาลาหลังหนึ่งของวัด ภายในมีตู้จัดแสดง ๖-๗ ตู้ ข้าวของยังมีน้อย เจ้าอาวาสอธิบายว่าชาวบ้านหลายรายไม่กล้าบริจาคเพราะยังไม่มั่นใจ
“วัฒนธรรมจังหวัดเขามาคุยบอกว่าอยากให้มี อาตมาก็เคยนึกอยู่เหมือนกัน ชาวบ้านหลายคนเห็นด้วย แต่เขาเพิ่งมาหาอาตมาเมื่อวันที่ ๔ นี้เอง และเพิ่งมาอีกทีเมื่อวานนี้ (๑๗ เมษายน) และก็มาเปิดวันนี้แหละ นับได้ ๑๓ วัน...”
ลุงบรรยี กล่าวว่า วัฒนธรรมจังหวัดขอให้ลุงและเจ้าอาวาสช่วยกันทำงานก่อน แล้วจะสนับสนุนเรื่องเงิน ขอดูผลงานก่อน โดยสัญญาว่าจะจ่ายให้ภายหลังงานจบแล้ว ผู้เขียนถามลุงว่าหลังจากนี้ต่อไปจะทำอะไรกับศูนย์ฯ นอกจากหาของเก่ามาเก็บ มีการสอนภาษามอญ ดนตรี การแสดง หรือกิจกรรมเกี่ยวกับชุมชนคนบ้านเราบ้างหรือไม่ ลุงบอกแต่เพียงว่า
“แล้วแต่วัฒนธรรมจังหวัดเขา...”
ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาเปิดงาน คือผู้ที่เคยสกัดกั้นการจัดงานวันรำลึกชนชาติมอญที่วัดบ้านไร่เจริญผล จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อ ๒-๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา เพราะเกรงว่าแรงงานมอญต่างด้าวจะไปร่วมงานด้วย จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งผู้ว่าฯได้มีประกาศมาก่อนแล้วว่าไม่สนับสนุนการเผยแพร่ภาษา วัฒนธรม และการจัดงานใดๆ ของแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะวัฒนธรรมของ “พวกสัญชาติพม่า” ดังนั้นท่านผู้ว่าฯจึงปฏิเสธคำเชิญมาเปิดงานและร่วมงานวันรำลึกชนชาติมอญ สั่งการให้เจ้าหน้าที่สกัดกั้นอย่างหนัก ทั้งที่วัตถุประสงค์ในการจัดงานก็เพื่อทำบุญอุทิศกุศลแด่บรรพชนมอญ รักษาวัฒนธรรมประเพณีเท่านั้น แต่ในงานสงกรานต์ครั้งนี้ท่านผู้ว่าฯกลับมาเป็นประธานเปิดงาน อ้างว่ายินดีสนับสนุนเฉพาะชาวไทยเชื้อสายรามัญเท่านั้น ไม่สนับสนุน “พวกมอญ” ไม่ได้รังเกียจคนไทยเชื้อสายรามัญ เพราะคุณตาก็เป็นคนไทยรามัญบ้านหนองโพธิ์ ราชบุรี รวมทั้งยังเมตตา “ปล่อย” (ใช้คำนี้จริงๆ) ให้คนมอญจากพม่าทำงานอยู่ในสมุทรสาครตั้ง ๒-๓ แสนคน ส่วนคำกล่าวเปิดงานในแฟ้มที่วัฒนธรรมจังหวัดเตรียมเอาไว้ให้ ผู้ว่าฯไม่ได้แม้แต่เปิดดู ได้แต่กล่าวสดถึง “พวกมอญ” ที่พยายามรวมตัวกันขึ้นใหม่ในนามชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ พยายามจัดตั้งกองกำลังก่อการอะไรบางอย่าง อันจะสะเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่า (ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๑๘)
คำกล่าวของผู้ว่าฯดูเหมือนจะเข้าใจ แต่แท้ที่จริงแล้วกลับไม่เข้าใจสักอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องกฏหมาย การปกครอง ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ การถ่ายเททางวัฒนธรรม หลักสิทธิมนุษยชน และแม้แต่ปัญหาแรงงาน ไม่เช่นนั้นผู้ว่าฯคงต้องไม่ “ปล่อย” ให้คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายทำงานอยู่ถึง ๒-๓ แสนคน หากรู้ว่ามีชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ “ตั้งขึ้นใหม่” รวมตัวกันก่อการอะไรบางอย่าง ก็ต้องรีบจัดการเสีย ต้องไม่นุ่งโสร่งอีสานมาร่วมงานมอญ และต้องรู้ว่า “มอญ” คือชื่อเรียกชนชาติเก่าแก่ในสุวรรณภูมิ ส่วน “รามัญ” มาจาก “รามัญเทศะ” เป็นคำเรียกดินแดนที่ปกครองโดยชาวมอญ (และมีชนชาติอื่นๆ อยู่ด้วยเช่นเดียวกับสยามประเทศ)
“คนมีการศึกษา ไม่น่าจะพูดออกมาอย่างนั้น เรื่องความมั่นคงอะไรเราไม่ยุ่งอยู่แล้ว แต่มาพูดว่า “พวกมอญ” เรามองหน้าแล้วยังไม่ยอมหยุด พูดมาได้ยังไง เราก็เป็นมอญ มอญไทยมอญพม่าก็มีภาษาวัฒนธรรมอันเดียวกัน...” เจ้าอาวาสวัดเกาะพูดเสียงดังหลังผู้ว่าฯกล่าวเปิด
ผู้ว่าฯที่ไม่มีความเข้าใจ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ การจำกัดการแสดงออกทางวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่สามารถแสดงออกได้อย่างเสรีหากไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมมอญซึ่งเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ซึ่งเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมมอญในเมืองไทยกับวัฒนธรรมมอญในพม่าล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การกีดกันไม่ให้มอญแรงงานจากพม่าได้แสดงออกทางวัฒนธรรมก็เท่ากับปิดกั้นกดทับวัฒนธรรรมมอญในเมืองไทยด้วย รวมทั้งเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะแรงงานต่างด้าวราคาถูก ผิดจากจีนที่เยาวราช ญี่ปุ่น เกาหลี ย่านสีลม และฝรั่งถนนข้าวสาร ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวราคาแพง ที่แสดงออกได้โดยเสรี ทั้งนี้ยังเป็นการ “เกลียดตัวกินไข่” เพราะผู้ประกอบการและรัฐบอกตรงกันว่ามีความจำเป็นต้องการใช้แรงงาน (ราคาถูก) แต่ขณะเดียวกันนายจ้างก็จ่ายค่าแรงต่ำ หรือไม่จ่ายเลย กักขังหน่วงเหนี่ยว ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐก็กดขี่รีดไถ มีข่าววงในรายงานว่า ขณะนี้ “เขา” ไม่วุ่นวายกับแรงงานเหล่านั้นแล้ว การส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบแรงงานโรงงานที่มีทั้งถูกและผิดกฏหมาย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการ หากแรงงานเหล่านี้ออกกันหมด ไม่มีคนทำงาน นายจ้างก็เดือดร้อน นายจ้างจึงเตรียมดอกธูปเทียนและ “ซอง” หนาๆ ไว้ให้หลังเกษียณ (อีก ๔ ปี) พร้อมกระซิบปริศนาลายแทงมหาสมบัติ “ช่วงนี้มหาชัยไม่มีแรงงานต่างด้าวเลยแม้แต่ ๑๐ ล้าน”
เมื่อกระแสโลกหันมาให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาเก่าแก่ รัฐไทยก็มีนโยบายสนับสนุนความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น เป็นโอกาสของชาวบ้านที่จะลุกขึ้นมาสร้างท้องถิ่นของตนเอง แต่กลายเป็นว่าขณะที่ชาวบ้านยังขาดความพร้อม เจ้าหน้าที่รัฐกลับเข้าไปจัดการสร้างผลงานเสียเอง รวบหัวรวบหางอย่างผิดวิสัย โดยเข้าไม่ถึงแก่นของท้องถิ่น การจัดการมรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้ควรมีพื้นฐานจากการให้คุณค่าของคนในท้องถิ่น และลงมือทำด้วยตนเอง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงจะเป็นผลงานร่วมกันของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
งานสงกรานต์ที่บ้านเกิดในครั้งนี้ มีความเปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง ส่วนหนึ่งเป็นไปตามกลไกธรรมชาติของการเปลี่ยนถ่ายทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้สะท้อนนโยบายรัฐที่เปิดช่องให้ “คนเล่นเป็น” คำถามต่อภาครัฐก็คือ มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่สร้างโดยราชการกี่แห่งที่ยังดำเนินการอยู่ได้ข้ามเดือนข้ามปี
๑๘ เมษายน ๒๕๕๒ ผู้เขียนกลับไปร่วมงานสงกรานต์ที่วัดเกาะอีกครั้ง ศาลาที่ตั้งศูนย์ฯยังคงอยู่ ข้าวของลดน้อยลง บางส่วนถูกนำไปเก็บไว้ในกุฏิเจ้าอาวาสเพราะกลัวหาย ที่เหลือถูกขนไปกองไว้รวมกันตรงท้ายศาลา เพื่อขยับพื้นที่สำหรับวางตู้บริจาค และตั้งพระพุทธรูปให้ญาติโยมสักการะ ซึ่งดูจะเกิดประโยชน์ต่อทางวัดมากกว่า ที่ผ่านมาศูนย์ฯไม่ได้เปิดให้คนเข้าเยี่ยมชม จะเปิดก็ต่อเมื่อทางวัดมีความจำเป็นต้องใช้ศาลาเท่านั้น แน่นอนว่าไม่มีองค์ความรู้สำหรับผู้มาเยือนแม้แต่น้อย คนนอกวัฒนธรรมย่อมไม่รู้ว่ากะโหลกกะลาที่กองไว้มีความหมายต่อคนชุมชนอย่างไร พิพิธภัณฑ์ที่มีเป้าหมายเพื่อเก็บของเก่าคงต้องประสบภาวะไม่ต่างกันนี้ หากปรับให้ศูนย์เป็นแผล่งเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้าน วัด และชุมชน ไม่จำเป็นต้องมีของเก่าราคาแพง อาจมีเพียงภาพที่สามารถเล่าเรื่อง และข้อมูลวิชาการที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่น เท่านี้ก็คงไม่ต้องกลัวของในศูนย์ฯจะหาย สามารถเปิดให้ชาวบ้านและคนต่างถิ่นเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งชาวบ้านยังมีส่วนในความภาคภูมิใจ รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง แต่ซากศูนย์ฯที่เกิดขึ้นนี้ เนรมิตโดยราชการที่ขาดไร้ทุกสิ่งอย่าง หรือแค่เกรงว่างบประมาณเหลือจะถูกเรียกคืน จึงนับเป็นจุดจบของศูนย์ฯ (พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น) ที่สร้างโดยคนอื่นอย่างสมบูรณ์