Skip to main content

หลายวันก่อนได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนร่วมวิชาชีพจากหลายสถาบัน เราคุยกันถึงประเด็นที่ว่าแนวคิดบริหารรัฐกิจและการศึกษาที่หยิบเอาแนวทางการบริหารจากภาคเอกชนมาใช้ ดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องปกติ ในบางแห่งบรรจุภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ไว้ในคณะวิทยาการจัดการ บางสถาบันยกระดับให้เป็น "คณะ" บางแห่งยกฐานะเท่าเทียมกันกับวิชารัฐศาสตร์และใช้ชื่อคู่กัน

เหนือสิ่งอื่นใด ประกาศฉบับหนึ่งของ ก.พ. ถึงกับระบุว่า ให้ผู้จบปริญญาด้านบริหารรัฐกิจและรัฐประศาสนศาสตร์ใช้ชื่อปริญญาบัตรว่า "รัฐประศาสนศาตรบัณฑิต" , "รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต" จนถึง "รัฐประศาสนศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต" ทั้งๆ ที่โดยหลักการวิชาทั้งสองสาขาเป็นสหวิทยาการโดยธรรมชาติของมัน และยากที่จะเป็นศาสตร์เดี่ยวโดยตัวของมันเอง มิหนำซ้ำ การที่ ก.พ. กำหนดมาตรฐานคุณวุฒิกลับกลายเป็นเรื่องที่สะท้อนปมด้อยและความด้อยพัฒนา เพราะในประเทศที่มหาวิทยาลัยเก่าแก่ระดับโลกนั้น ต่างก็ธำรงธรรมเนียมการเรียกชื่อปริญญาบัตรตามแบบเดิมคือ Bachelor of Art ตามด้วย วงเล็บชื่อสาขา มากกว่าจะเป็น Bachelor of อะไรสักอย่างที่เรากำลังทำกันอยู่นี้ 

ปรัชญาดั้งเดิมของการใช้คำว่า bachelor หมายถึงคนโสดที่สามารถครองตนและใช้ความรู้ในสาขานั้นหาเลี้ยงชีพได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงครอบครัวพ่อแม่

คำถามก็คือ ในสถานการณ์เช่นนี้วิชาบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์กระแสหลักของไทยไปถึงไหน? 

ผมคิดว่าการบริหารรัฐกิจโดยใช้เครื่องชี้วัดและลุกลามมาถึงการประกันคุณภาพการศึกษาไทยนั้นสะท้อนความห่วยแตกอย่างถึงที่สุดของวงการบริหารการศึกษา ราชการ ตลอดจนวงวิชาการไทยที่ยอมรับเงื่อนไขอย่างเซื่องๆ 

กล่าวคือ การที่เรายอมรับเอาศาสตร์การบริหารจัดการแบบเอกชน จนถึงขั้นบางแห่งรับเอา Harvard Business Review มาเป็นตำราหนึ่งของการบิรหารรัฐกิจนั้น สะท้อนความอ่อนแอของการศึกษารัฐกิจในฐานะ "ศาสตร์" เพราะไม่สามารถสร้างศาสตร์ที่ยืนบนขาของตัวเอง แต่กลับไปยืมเอาจากภาคเอกชนมาใช้กับภาคราชการ การปฏิบัติต่อประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stake holder) และลูกค้า (customer) แม้ว่าจะทำให้ผู้รับบริการจากภาครัฐมีความพึงพอใจในบริการระดับหนึ่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็น "ข้าราชการมืออาชีพ" ที่เงินเดือนต่ำ และไม่เคยมีโบนัสแต่ถูกเรียกร้องให้ปฏิบัติงานอันประกอบด้วยคุณธรรม จริยธรรมและเครื่องชี้วัดตามเกณฑ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งดูเข้าจริงๆ อาจจะมากกว่ากว่าตัวชี้วัดของแรงงานในภาคเอกชนเสียอีก 

คำสวยๆ ประเภท ประเมินผลแบบ 360 องศา ซึ่งผมเห็นว่าเชยและทำให้ข้าราชการ พนักงานราชการ ไม่หลงเหลือความเป็นมนุษย์ปกตินั้นดูไม่เข้าใจธรรมชาติของคนเอาเสียทีเดียว เพราะใครมันจะเก่งรอบด้านแบบ 360 องศา? 

แม้กระทั่งผู้ประเมิน ก็คงไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองเก่งและพร้อมถูกประเมินทุกด้านแบบ 360 องศา เพราะผู้ประเมิน "ทรงไว้ซึ่งอำนาจในการตรวจเอกสาร" และ "การให้คะแนน" ตามตัวชี้วัดต่างหาก ที่เราเกรงอกเกรงใจคณะผู้ประเมินคณะต่างๆ ด้วยกลัวเกรงว่าจะถูกปิดหลักสูตร หรือปิดคณะ หรือวางแผนฟื้นฟูโดยมีคนนอกเขามาบริหาร ในที่สุด

คำขู่เหล่านี้ เหมือนจะเอาจริง แต่จะทำได้ขนาดไหน ในเมื่อปริญญาเถื่อน การทำไร่เลื่อนลอยยังเกลื่อน ไม่นับปริญญากำมะลอที่ถูกนำมาเร่ขายให้ได้อับอาย

ในที่สุด ก็ต้องทำการ "มุสา" ระดับชาติ กล่าวคือ สร้างเอกสารเพื่อตอบรับสนองการประเมินในทุกท่วงท่า เพื่อจะได้เปิดหลักสูตรหน้าร้าน โดยไม่ได้เอาจริงเอาจังกับการประเมินอีกต่อไป เพราะเพื่อนๆ หลายคนบอก "เล่นไม่ยาก"​ หรือ "อยากได้กระดาษ (เอกสาร) เราก็จัดกระดาษให้" เป็นต้น

พูดไปพูดมา อาจกลายเป็นว่าการทำอาชีพอาจารย์ที่ควรจะมีศีลมีสัตย์พอสมควรแก่อาชีพนั้น กลายเป็นอาชีพที่ละเมิดศีลเกี่ยวกับการโกหกพกลมอยู่ไม่น้อยเมื่อถึงคราวประเมินคุณภาพและประกันคุณภาพการศึกษา

ขณะเดียวกัน ไม่มีหลักประกันเลยว่า การบริหารภาคเอกชนนั้นมีความรับผิดรับชอบต่อสังคมมากกว่าภาคราชการ มีประสิทธิภาพมากกว่าภาคราชการ

กรณีน้ำมันรั่วที่เกาะเสม็ด บ้านเพ จ. ระยอง นั้นสะท้อนให้เห็นปัญหาของวิธีคิดการบริหารแบบเอกชนในวัฒนธรรมไทยได้หรือไม่

คำถามง่ายๆ 

การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจขุดเจาะและขนส่งน้ำมันนั้นเค้าวาง protocol กันอย่างไร

หรือมัวแต่ทำ CSR กับบรรษัทภิบาล และ ประชาสัมพันธ์ จนแยกไม่ออกระหว่างเรื่องจริงอิงนิยายจนถึงเรื่องเท็จ?

ใครที่เชื่อว่าภาคเอกชนมีความรับผิดรับชอบต่อสังคมเข่้มข้นมากกว่าภาคราชการอาจต้องลองทบทวนใหม่ว่ามันสร้างมายาคติที่ว่าภาคเอกชนบริหารและตอบสนองต่อปัญหาได้ดีกว่าภาคราชการ

เราจึงต้องมานั่งทำเอกสารร้อยพันหน้าแบบงงๆ ทำเรื่อง CSR, Risk Management, Knowledge Management กระทั่ง PMQA กันแบบเซื่องๆ

ท้ายสุด อาชีพที่พวกเราทำกันอยู่ ก็ไม่เหลือเวลาให้สร้าง "นวัตกรรม" อะไรใหม่ๆ แก่วงวิชาการ เพราะพลังงานสมองส่วนใหญ่ ถูกเค้นไปกับการทำเอกสารกองมหึมาที่กระทำกันเป็นมหกรรมจุลกฐินแบบปีละสองสามหน

คำถามสุดท้ายก็คือ วงวิชาการบริหารรัฐกิจ ผู้บริหารการศึกษามีปฏิกิริยาต่อปัญหาอันเกิดการบริหารรัฐกิจตามแบบเอกชนอย่างไร?

 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รถบัสนำผมมาถึงเมืองชิคาโกในเวลาสองทุ่มครึ่ง รถจอดที่สถานีปลายทาง Union Station แม้จะเคยมาเมืองนี้ แต่คราวนี้มาคนเดียว และนัดเพื่อนที่ไม่เจอกันเกือ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เราตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อจะเดินไปบ้านอาจารย์แคทเธอรีน บาววีเพื่อยืมรถอาจารย์ไปเที่ยว อา
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
แม้จะเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่อากาศที่นี่ยังคงเย็นอยู่บ้าง ในคืนที่ผ่านมาอากาศเย็นสบาย เมื่อเราซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ ที่พัก เราเดินกลับบ้านได้สบายๆ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อย่างที่เคยเล่ามาในตอนก่อนๆ ว่า หนึ่งในความสุขเล็กๆ ของพวกเราคือการได้ไปกินติ่มซำวันเสาร์ (อาจจะมีคนเติมว่าไม่เอาเผด็
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนรุ่นก่อนช่างกล้าหาญนัก กล้าเดินทางเข้ามาในดินแดนที่ไม่รู้จัก เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าการเดินทางของมนุษย์เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ชีวิตยิ่งมหัศจรรย์กว่า ในความผันแปรเปลี่ยนของมนุษย์
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมเขียนบทความชุดนี้มาหลายเดือน มาถึงตอนนี้ นับว่าเป็นชุดบทความที่ยาวไม่น้อย 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อปี พ.ศ.2532 เดือนมิถุนายน ยังไม่รู้ประสีประสาทางการเมือง ในขณะที่เพื่อนๆ พี่ๆ พากันขึ้นคัทเอาท์สนับสนุนประชาธิปไตยในจีน และมีกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากที่นักศึกษา ประชาชนถูกล้อมปราบที่ลานหน้าพระราชวังต้องห้าม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
     มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งที่ผมได้มีโอกาสผ่านไปมักมีเรื่องราวให้จดจำ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของภูมิทัศน์ เอ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
Today is the 5th year to commemorate the day that Abhisit Vejjajiva started cracking down the United front for Democracy against Dictatorship (UDD) camp site on Rajadamri. It started with the killing of Seh. Daeng or Gen. Kattiya Sawasdiphol.