Skip to main content

         ผมเขียนบทบรรณาธิการ วิภาษา ฉบับที่ 34 (1 พฤษภาคม-15 มิถุนายน 2554) เพื่อเป็นเกียรติแก่ครูผู้ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยท่านนี้ เพื่อเป็นบรรณาการยามที่ท่านครบรอบ 70 ปี

         ผ่านไปสามปีแล้ว ในวาระครบรอบ 73 ปี ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่ในที่นี้อีกครั้งหนึ่งครับ 

 

 

ชื่อเดิมของบทความคือ "ข้างหลังภาพ: 70 ปี ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ"

 

 

 

“...ฉันก็ไม่รู้ บางครั้งฉันก็ช่วยฝึกบินให้นกบางตัวได้ แต่บางครั้งก็ล้มเหลว” นางนวลโจตอบอย่างถ่อมตัว “จุดเริ่มต้นนะ เธอจะต้องรักที่จะเรียนรู้เสียก่อน จากจุดนั้นบางทีทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น” นางนวลโจพูดต่อ “แต่ฉันจะลองดู ถ้านกกางเขนน้อยรักที่จะเรียนรู้”

 

“ขอบใจมาก ขอบใจจริงๆ” ต้อยกล่าวขึ้นอย่างยินดี ว่าแล้วเธอก็ส่งนกกางเขนให้นางนวลโจผู้สามารถ  นางนวลโจรับนกกางเขนน้อยมาด้วยความเต็มใจ มันเอาปีกข้างหนึ่งที่แวววาวราวสีเงินแตะที่ไหล่ของนกกางเขนน้อยตัวนั้น”

 

 (จาก  ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. (2527). “บรรณาธิการแถลง” ใน ธรรมศาสตร์ 50 ปี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 841.)

 

หากจะว่าไปแล้วคนที่รู้เกร็ดเรื่องราวในธรรมศาสตร์ดีที่สุดคนหนึ่งคงหนีไม่พ้นอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เพราะอาจารย์ชาญวิทย์เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ตั้งแต่ยุคสายลมและแสงแดด ไปเรียนเมืองนอกและกลับมาเป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ผ่านเข้ายุคหลัง 14 ตุลาคม และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาพื้นฐานในสมัยที่อาจารย์ป๋วยเป็นอธิการบดี  อาจารย์ชาญวิทย์ยังเป็นรองอธิการบดีฝ่ายจัดงานธรรมศาสตร์ 50 ปี ซึ่งน่าจะเป็นตำแหน่งรองอธิการบดีเฉพาะกิจและจะมีครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของธรรมศาสตร์  ตำแหน่งบริหารของอาจารย์ชาญวิทย์น่าจะรวมไปถึงการสมัครเข้าชิงตำแหน่งอธิการบดีและรับตำแหน่งในช่วงสั้นๆ ทั้งๆ ที่เป็นผู้บริหารชุด Dream team (ไม่ว่าจะเป็น ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ และนักวิชาการเด่นๆ ของธรรมศาสตร์อีกหลายท่าน)  แต่น่าเสียดายที่อาจารย์ชาญวิทย์และคณะต้องฝ่ามรสุมการเมืองภายในของธรรมศาสตร์จนช่วงบริหารงานของอาจารย์และคณะมีเพียงช่วงสั้นๆ ทิศทางของการพัฒนาธรรมศาสตร์จึงบิดรูปผันเปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน

ถ้าผมจำไม่ผิดอาจารย์ชาญวิทย์น่าจะเคยเป็นที่ปรึกษาโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือโครงการช้างเผือกซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย  อาจารย์ชาญวิทย์ได้มีบทบาทสำคัญในการผลิตตำราและหนังสือในชุดของมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ตลอดจนความสนใจด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อาจารย์เรียกจนติดปากและแพร่หลายว่า “อุษาคเนย์”  ผมยังจำได้ว่าอาจารย์มีลูกศิษย์ใกล้ชิดหลายคนทั้งที่เป็นศิษย์ธรรมศาสตร์และนอกธรรมศาสตร์ที่ทำงานสารคดี  หลายคนกลายเป็นนักสารคดีมือฉมัง บ้างก็อยู่วงการสื่อ ขณะที่หลายคนเป็นนักวิชาการ

บทบาทของอาจารย์ชาญวิทย์ในฐานะนักวิชาการที่เป็นปัญญาชนสาธารณะ ประเด็นที่โดดเด่นประเด็นหนึ่งคือการเรียกร้องให้กลับไปใช้นามสยามประเทศ อาจารย์น่าจะเป็นคนโรแมนติกมากที่มองถึงความหลากหลายของสยามในอดีตมากกว่าปัจจุบัน 

ผมไม่พบเจออาจารย์ชาญวิทย์อีกหลายปีจนไปเรียนปริญญาเอกที่ฮาวายอิ วันหนึ่งก็ได้พบอาจารย์บาร์บารา วัตสัน อันดายา เพื่อนของอาจารย์ชาญวิทย์สมัยเรียนคอร์แนลที่บอกผมว่าอาจารย์ชาญวิทย์จะมาสอนที่นี่หนึ่งเทอม  เมื่อได้พบกัน เราจึงได้มีโอกาสนั่งคุยกันตามสมควร  เพื่อนฝูงใกล้ชิดต่างได้กินข้าวเย็นฝีมืออาจารย์กันถ้วนหน้า 

อาจารย์ชาญวิทย์เป็นผู้ริเริ่มโครงการ walking tour ในธรรมศาสตร์ ที่รวมไปถึงประวัติศาสตร์คณะราษฎรที่ข้างพระบรมรูปทรงม้า การทำทัวร์เดินถนนในธรรมศาสตร์น่าจะช่วยให้นักศึกษาจำนวนไม่น้อยได้ตระหนักถึงความผูกพันที่ธรรมศาสตร์มีต่อการเมือง และพันธะของธรรมศาสตร์ต่อสังคมไทยไม่มากก็น้อย

ย้อนไปสมัยเรียนปริญญาตรี ผมและเพื่อนที่ทำกิจกรรมร่วมกันในนามพรรคธรรมาธิปไตยได้เดินไปเคาะประตูห้องอาจารย์เพื่อเรียนเชิญเป็นวิทยากรในโครงการล่องเรือศึกษาประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อหาเรื่องเที่ยวและหาเงินเข้าพรรค  ในห้องทำงานของอาจารย์เต็มไปด้วยหนังสืออัดแน่นแต่เรียงบนชั้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย  บนผนังมีโปสเตอร์การเมืองจำนวนหนึ่ง (ซึ่งภายหลังอาจารย์ยังสามารถจัดนิทรรศการโปสเตอร์การเมืองและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้เราได้รู้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ)

อาจารย์ตอบรับเป็นวิทยากรอย่างไม่มีพิธีรีตองของนักวิชาการใหญ่ พร้อมกับแนะนำให้เราไปติดต่อกองทัพเรือ เพื่อขอเข้าชมพระตำหนักของพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งในวันงานก็มีคนเข้าร่วมโครงการมากพอที่จะนั่งโดยสารกันบนเรือเอี้ยมจุ๊นที่เช่ามาได้พอดี

ในมืออาจารย์ถือหนังสือเล่มเล็กๆ น่าจะเป็นหนังสือนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ เป็นคู่มือนำเที่ยวและเล่าเรื่อง  เมื่อเข้าวังของพระเจ้าตากสินที่กองบัญชาการกองทัพเรือขณะนั้นพวกเราก็ตื่นเต้นที่ได้เห็นห้องบรรทมของกษัตริย์ผู้ทรง “กู้ชาติ” เมื่อเก่าก่อน  โดยอาจารย์ชี้ให้เราคิดถึงความเรียบง่ายของท้องพระโรงว่าเป็นเพราะทรงมีพระราชนิยมในทางเรียบง่ายหรือเหตุผลอื่นใด รวมถึงเรื่องเก๋งจีนของพระองค์อีกด้วย

เรือย้อนกลับลงมาถึงสามแยกเจ้าพระยาหน้าศาลเจ้าแม่สิงโต ฝั่งคณะรัฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เพื่อเข้าคลองลัดบางกอกน้อย  เราแวะที่วัดสุวรรณารามริมคลองบางกอกน้อย อาจารย์ชี้ให้เราดูควายที่สวยที่สุด (ตัวหนึ่ง) ของประเทศไทย  เราอ้าปากค้างกันหลายคน  ผมมองตามไปก็เห็นอาจารย์ชี้ไปที่รูปเขียนควายบนฝาผนังและพบว่าตามันหวานจริงๆ เพราะมีขนตาเป็นแผง (เหมือนติดขนตาปลอม ทันสมัยมาก)

เวลาผ่านไปอย่างเนิบช้า (ตามภาษาร่วมสมัย) พวกเราไปได้ไกลอย่างไม่น่าเชื่อ จนพระอาทิตย์อัสดง เรือล่องกลับมาสู่ท่ามหาราช 

 

 

 

 

 

เมื่อนึกถึงเรื่องนี้ได้ ผมค้นกล่องเวลา (Time capsule) ของผม พบรูปถ่ายโดยคุณพจน์ กริชไกรวรรณ (เช่นเคย)  อาจารย์ชาญวิทย์นั่งเด่นเป็นสง่าอยู่หัวเรือ สมเป็นหัวเรือใหญ่ ข้างหลังภาพผมเขียนไว้ว่า

ล่องเรือโครงการเข้าวัง แวะวัด ลัดเกาะ เลาะเจ้าพระยา 

อ. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ วิทยากร 

จันทร์ 5 กุมภาพันธ์ 2533 

 

“โจนาธานพูดถึงสิ่งง่ายๆ ว่าเป็นการถูกต้องสำหรับนางนวลที่จะบิน ว่าอิสระเสรีเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง ว่าอะไรที่มาขวางกั้นอิสระเสรีภาพจะต้องโยนทิ้งไป ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม ความเชื่อโชคลาง หรือข้อจำกัดไม่ว่าจะมาในรูปใด 

 

“โยนทิ้งไป” ทั้งกลุ่มส่งเสียงขึ้น “แม้กระทั่งกฎของฝูงนกหรือ” 

 

“กฎที่แท้จริงอันเดียวคือ กฎที่นำไปสู่อิสระเสรีภาพ” โจนาธานตอบ “ไม่มีกฎอื่น”

 

“เธอหวังจะให้เราบินได้อย่างเธอได้อย่างไร” อีกเสียงหนึ่งกล่าวขึ้น “เธอนั้นพิเศษ มีพรสวรรค์เป็นทิพย์เหนือนกอื่นใด”

 

“ดูเฟลทเชอร์! โลเวล! ชาลส์-โรแลนด์! ซิ พวกเขาพิเศษ มีพรสวรรค์ เป็นทิพย์ด้วยหรือ ไม่มากมายกว่าพวกเธอ ไม่มากกว่าฉัน ข้อแตกต่างมีอันเดียว มีอันเดียวเท่านั้น คือ พวกเขาเริ่มที่จะเข้าใจว่าที่จริงแล้วเขาเป็นอะไร และเริ่มที่จะฝึกฝนอันนั้น”

นักเรียนของโจนาธานยกเว้นเฟลทเชอร์ต่างขยับตัวอึกอัก พวกนั้นไม่ได้ตระหนักว่านั่นเป็นสิ่งที่พวกมันกำลังทำอยู่ 

ฝูงนกขยายขึ้นทุกวัน บ้างมาถามคำถาม บ้างมาบูชา บ้างมาดูแคลน

 

“สิ่งที่ยากเย็นที่สุดในโลก คือการที่จะทำให้นกตัวหนึ่งเชื่อว่าตนเป็นอิสระและให้เขาเชื่อว่าเขาจะพิสูจน์ตัวเองได้ เพียงแต่ใช้เวลาฝึกฝนเพียงนิดเดียว ทำไมมันช่างยากอย่างนั้น” 

 

(จาก โจนาธาน ลิวิงสตัน นางนวล. 2516. : Jonathan Livingston Seagull.   ผู้แต่ง : Richard Bach แต่ง.1972  ผู้แปล : ชาญวิทย์ เกษตรศิริ แปล,2516  จาก http://www.rmutphysics.com/charud/scibook/seagull/Seagull10.htm)

 

 

สุขสันต์วันเกิดครับอาจารย์

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รถบัสนำผมมาถึงเมืองชิคาโกในเวลาสองทุ่มครึ่ง รถจอดที่สถานีปลายทาง Union Station แม้จะเคยมาเมืองนี้ แต่คราวนี้มาคนเดียว และนัดเพื่อนที่ไม่เจอกันเกือ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เราตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อจะเดินไปบ้านอาจารย์แคทเธอรีน บาววีเพื่อยืมรถอาจารย์ไปเที่ยว อา
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
แม้จะเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่อากาศที่นี่ยังคงเย็นอยู่บ้าง ในคืนที่ผ่านมาอากาศเย็นสบาย เมื่อเราซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ ที่พัก เราเดินกลับบ้านได้สบายๆ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อย่างที่เคยเล่ามาในตอนก่อนๆ ว่า หนึ่งในความสุขเล็กๆ ของพวกเราคือการได้ไปกินติ่มซำวันเสาร์ (อาจจะมีคนเติมว่าไม่เอาเผด็
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนรุ่นก่อนช่างกล้าหาญนัก กล้าเดินทางเข้ามาในดินแดนที่ไม่รู้จัก เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าการเดินทางของมนุษย์เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ชีวิตยิ่งมหัศจรรย์กว่า ในความผันแปรเปลี่ยนของมนุษย์
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมเขียนบทความชุดนี้มาหลายเดือน มาถึงตอนนี้ นับว่าเป็นชุดบทความที่ยาวไม่น้อย 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อปี พ.ศ.2532 เดือนมิถุนายน ยังไม่รู้ประสีประสาทางการเมือง ในขณะที่เพื่อนๆ พี่ๆ พากันขึ้นคัทเอาท์สนับสนุนประชาธิปไตยในจีน และมีกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากที่นักศึกษา ประชาชนถูกล้อมปราบที่ลานหน้าพระราชวังต้องห้าม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
     มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งที่ผมได้มีโอกาสผ่านไปมักมีเรื่องราวให้จดจำ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของภูมิทัศน์ เอ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
Today is the 5th year to commemorate the day that Abhisit Vejjajiva started cracking down the United front for Democracy against Dictatorship (UDD) camp site on Rajadamri. It started with the killing of Seh. Daeng or Gen. Kattiya Sawasdiphol.