Skip to main content

 

 

คืนนี้หิมะโปรยลงมาตั้งแต่เย็น เป็นการฉลองวันคล้ายวันเกิดที่ห่างบ้านไม่น้อยทีเดียว แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ในหลายโอกาส

เพราะวันคล้ายวันเกิดไม่มีอะไรต้องฉลองนอกเสียจากทบทวนชีวิตตัวเองว่าผ่านอะไรมาบ้าง

 

ย้อนไปสองปีก่อนได้รับหิมะโปรยปรายมาในราวป่าที่เนเธอร์แลนด์ ปีนี้ก็ได้หิมะที่งดงามเยือกเย็นที่บอสตัน

จวบจนวันนี้ก็ไม่มีท่าทีจะเข้าสู่ฤดูดอกไม้ผลิ แต่ใครจักฝืนฤดูกาลได้ เพราะในที่สุดฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึง

ในสามวันที่ผ่านมา เป็นช่วงสปริงเบรค (Spring break) ที่บรรดานักศึกษาจะได้รับอนุญาตให้หยุดพักครึ่งเทอม หลังจากเรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตายในช่วงต้นภาคเรียน

สปริงเบรคมีความหมายมาก เพราะสำหรับนักศึกษานี่คือช่วงพักที่จะได้ออกไปเรียนรู้ สำหรับบางคนคือการปาร์ตี้ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็เลือกจำศีล 

พวกเราก็มีโอกาสไปหาความรู้และความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในเมืองวูสเตอร์ (Worcester) มีเมืองเล็กชื่อมอนสั้น (Monson) แต่พวกเราอยากเรียกว่าม่อนสัน เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งมีนิวาสถานอันงดงามอยู่ริมทะเลสาบสวรรค์ (Paradise Lake) ของที่นี่ 

เพราะเจ้าของบ้านเป็นคนมีน้ำใจงามและกว้างขวาง จึงต้อนรับอย่างดี ตัวผมเองเคยมาพักที่นี่แล้วครั้งหนึ่ง แต่เป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง อากาศเริ่มหนาวเย็น แต่ก็ไม่เท่ายามนี้ เพราะน้ำในทะเลสาบยังเป็นน้ำแข็งอยู่ แม้จะละลายไปบ้าง แต่ยังคงเดินหรือเล่นสเก็ตได้สบายๆ นับว่าเปิดหูเปิดตาให้ได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศในยามหนาวได้อย่างถึงที่สุด เพราะตั้งแต่มาที่นี่เจอทั้งฝนหิมะ เกล็ดหิมะ ละอองหิมะ และพายุหิมะ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างฉับพลันหลายๆ ครั้งจนถึงลบ 18 องศาเซลเซียส

วิชาที่เรียนคือวิชาว่าด้วยโลกและดินฟ้าอากาศและเรียนทางตรงกันทีเดียว

 

หากจะมีประโยชน์อยู่บ้างก็ช่วยให้เข้าใจชีวิตคนที่นี่ว่าต้องเตรียมการมากน้อยอย่างไรในภาวะฉุกเฉินและในภาวะที่ธรรมชาติสร้างกรอบจำกัดให้มากมาย 

การวางแผนชีวิตจึงสำคัญมากๆ แต่กว่าจะถึงวันนี้ การศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและการสร้างเครื่องมืออธิบายพยากรณ์อากาสล่วงหน้าได้นับเดือนๆ หรือทั้งปี ไม่ใช่เรื่องเล่นขายของ เพราะอากาศที่นี่หมายถึงชีวิต 

เช่นเมื่อวาน (20มีนาคม) จะมีหิมะตกลงในยามบ่าย หกโมงเย็นก็ตกโปรยลงมาเป็นสายไปเรื่อยๆ ส่วนวันนี้ (21 มีนาคม) พยากรณ์ว่าหิมะจะหยุดตกราวเที่ยงกว่า บ่ายโมง ก็หยุดจริงๆ

สิ่งเหล่านี้สำคัญและจำเป็นจริงๆ ต่อการวางแผนชีวิตและอนาคต

 

เมื่อมาถึงเมืองวูสเตอร์ พวกเราตัดเข้าเมืองม่อนสันทางเมืองพาล์มเมอร์ เข้าถนนสายเล็กลงไม่นานก็ถึงบ้านริมทะเลสาบ

นักวิชาการอย่างพวกเราไม่มีอะไรมากไปกว่าการค้นหาเรื่องราวท้องถิ่นและความเป็นไป

จุดหมายของพวกเราจึงอยู่ที่วิทยาลัยเม้าท์โฮลี่โยค (Mt. Holyyoke College)ซึ่งเป็นวิทยาลัยสตรีแห่งแรกของประเทศ มีเรือนกระจกที่ปลูกไม้ดอกงามอย่าง ทิวลิป แคคตัส และไม้เขตร้อนที่การรักษาดูแลอย่างดี เพียงวูบแรกที่เข้าไปในเรือนกระจกก็ช่างประทับใจเพราะกลิ่นหอมจรุงของดอกไม้ชำแรกมาในโสตประสาททันใด

มีแม้กระทั่งต้นกล้วยที่แตกช่อออกปลีให้เห็นในยามหิมะโปรยเป็นสายมาหลายสัปดาห์

 

จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็ไปชมเมืองใกล้ๆ พวกเรายังได้แวะผ่าน University of Massachusetts Amhurst และไปร้านหนังสือข้างแม่น้ำเล็กที่ชื่อ Book Mill ผมเองแบกหนังสือจนไหล่แอ่น เพราะเจอหนังสือถูกใจใช้ในงานวิจัยได้ด้วย เรายังไปชมวิทยาลัยสมิธ (Smith College) ที่มีเรือนกระจกและก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญเป็นวิทยาลัยหญิงล้วนในกลุ่ม seven sisters หรือวิทยาลัยเจ็ดแห่งที่เมืองนอร์ทแธมตัน และได้แวะซื้อหนังสือที่ร้าน Raven เมืองนี้มีชื่อเรื่องการให้ความสำคัญกับบทบาทสตรีและกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน 

บำเหน็จเล็กๆ น้อยของผมก็คือการได้กินข้าวซอยเนื้อหน้าวิทยาลัย รสชาติดั้งเดิมและกลมกล่อมทีเดียวครับ หายคิดถึงอาหารเหนือไปพักใหญ่

 

ข้อคิดสำคัญจากการเยี่ยมชมวิทยาลัยแถวนี้ก็คือ คนที่นี่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในระดับปริญญาตรีอย่างมาก โดยเฉพาะด้านศิลปศาสตร์ (Liberal arts) ที่จะเป็นฐานการคิดของนักศึกษาเพื่อศึกษาต่อในชั้นสูงขึ้นไป ว่ากันว่าวิทยาลัยขนาดเล็กเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Mount Holyyoke, Amhurst College, Wesleyan, Wellesley, Smith College หรือที่อื่นๆ เป็นที่ที่บรรดาผู้ดีมีสตางค์ของประเทศนี้ส่งลูกหลานมาเรียน พื้นฐานภาษาและวิชาการจึงแน่น เพราะขนาดของวิทยาลัยไม่มากไม่น้อยไปกว่าที่จะรองรับและฟูมฟักนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีความสามารถรอบด้าน

 

เรื่องนี้ทำเอาผมฝันไปไกล

เพราะความฝันของผมคือผมอยากเห็นวิทยาลัยขนาดเล็กแบบนี้ในเมืองไทย มีนักศึกษาสักสามสี่คณะ ไม่เกินชั้นปีละ 150 คน รวมสี่ชั้นปีก็ราว 400-600 คน หากได้นักเรียนชั้นดี เราจะสามารถสร้างคนที่มีคุณภาพได้แน่ๆ

แต่ความฝันมักสวนทางกับความจริง เมื่อคิดทบทวนว่า ในประเทศที่เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่สัมพันธ์กับภาระงาน และผู้กำหนดนโยบายการศึกษาชั้นสูงไม่เข้าใจเป้าหมายของการอุดมศึกษา ครูบาอาจารย์ก็ไม่ต่างไปจากพนักงานเอกสาร ที่ต้องผลิตและหลอกผู้ตรวจประกันคุณภาพทั้งหลายไปวันๆ

เผลอๆ อาจจะแย่กว่าคุณภาพชีวิตของครูประถมเสียด้วยซ้ำ (และก็น่าสนใจที่มีข้อมูลออกมาว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเงินเดือนน้อยกว่าครูประถม ทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน) 

พูดกันตามจริง ความหวังที่ว่าจะนำเอามหาวิทยาลัยไทยไปสู่ระดับโลกนั้นเป็นความฝันที่เลื่อนลอยเอามากกว่า และคงไม่มีใครใส่ใจจริงๆ จังๆ ในเมื่อตำแหน่งผู้บริหารจนถึงครูอาจารย์ในการอุดมศึกษายังเป็นการไต่เต้าทางการเมืองแบบทื่อๆ และยิ่งเมื่อไร้การคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยชั้นสูงไม่มีอะไรต่างไปจากสถาบันสร้าง หล่อหลอมและผลิตซ้ำอุดมการณ์ชุดหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่ได้เลย

ในโลกตะวันตกมหาวิทยาลัยไม่น้อยเกิดจากศาสนจักร เช่น เสื้อคลุมที่สวมใส่วันสำเร็จการศึกษาก็เป็นเสื้อคลุมนักบวชนั่นเอง

ผมเองหวังว่าศาสนจักรไทย วัดไทย จะมีความก้าวหน้าพอที่จะเลิกสร้างถาวรวัตถุเกินความจำเป็น แต่ควรหันมาลงทุนหรือสนับสนุนเงินทุนสร้างมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลมากกว่าจะสร้างเสนาสนะสถานของตนให้โอ่อ่าแต่เพียงอย่างเดียว

นี่อาจจะยากยิ่งไปกว่าฝันลมๆ แล้งๆ ของผมเสียอีก

นี่สินะที่เรียกว่า "ฝันกลางฤดูหนาว"

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รถบัสนำผมมาถึงเมืองชิคาโกในเวลาสองทุ่มครึ่ง รถจอดที่สถานีปลายทาง Union Station แม้จะเคยมาเมืองนี้ แต่คราวนี้มาคนเดียว และนัดเพื่อนที่ไม่เจอกันเกือ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เราตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อจะเดินไปบ้านอาจารย์แคทเธอรีน บาววีเพื่อยืมรถอาจารย์ไปเที่ยว อา
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
แม้จะเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่อากาศที่นี่ยังคงเย็นอยู่บ้าง ในคืนที่ผ่านมาอากาศเย็นสบาย เมื่อเราซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ ที่พัก เราเดินกลับบ้านได้สบายๆ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อย่างที่เคยเล่ามาในตอนก่อนๆ ว่า หนึ่งในความสุขเล็กๆ ของพวกเราคือการได้ไปกินติ่มซำวันเสาร์ (อาจจะมีคนเติมว่าไม่เอาเผด็
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนรุ่นก่อนช่างกล้าหาญนัก กล้าเดินทางเข้ามาในดินแดนที่ไม่รู้จัก เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าการเดินทางของมนุษย์เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ชีวิตยิ่งมหัศจรรย์กว่า ในความผันแปรเปลี่ยนของมนุษย์
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมเขียนบทความชุดนี้มาหลายเดือน มาถึงตอนนี้ นับว่าเป็นชุดบทความที่ยาวไม่น้อย 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อปี พ.ศ.2532 เดือนมิถุนายน ยังไม่รู้ประสีประสาทางการเมือง ในขณะที่เพื่อนๆ พี่ๆ พากันขึ้นคัทเอาท์สนับสนุนประชาธิปไตยในจีน และมีกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากที่นักศึกษา ประชาชนถูกล้อมปราบที่ลานหน้าพระราชวังต้องห้าม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
     มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งที่ผมได้มีโอกาสผ่านไปมักมีเรื่องราวให้จดจำ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของภูมิทัศน์ เอ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
Today is the 5th year to commemorate the day that Abhisit Vejjajiva started cracking down the United front for Democracy against Dictatorship (UDD) camp site on Rajadamri. It started with the killing of Seh. Daeng or Gen. Kattiya Sawasdiphol.