Skip to main content

 

 

คืนนี้หิมะโปรยลงมาตั้งแต่เย็น เป็นการฉลองวันคล้ายวันเกิดที่ห่างบ้านไม่น้อยทีเดียว แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะที่ผ่านมาก็เป็นแบบนี้ในหลายโอกาส

เพราะวันคล้ายวันเกิดไม่มีอะไรต้องฉลองนอกเสียจากทบทวนชีวิตตัวเองว่าผ่านอะไรมาบ้าง

 

ย้อนไปสองปีก่อนได้รับหิมะโปรยปรายมาในราวป่าที่เนเธอร์แลนด์ ปีนี้ก็ได้หิมะที่งดงามเยือกเย็นที่บอสตัน

จวบจนวันนี้ก็ไม่มีท่าทีจะเข้าสู่ฤดูดอกไม้ผลิ แต่ใครจักฝืนฤดูกาลได้ เพราะในที่สุดฤดูใบไม้ผลิจักต้องมาถึง

ในสามวันที่ผ่านมา เป็นช่วงสปริงเบรค (Spring break) ที่บรรดานักศึกษาจะได้รับอนุญาตให้หยุดพักครึ่งเทอม หลังจากเรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตายในช่วงต้นภาคเรียน

สปริงเบรคมีความหมายมาก เพราะสำหรับนักศึกษานี่คือช่วงพักที่จะได้ออกไปเรียนรู้ สำหรับบางคนคือการปาร์ตี้ แต่คนจำนวนไม่น้อยก็เลือกจำศีล 

พวกเราก็มีโอกาสไปหาความรู้และความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในเมืองวูสเตอร์ (Worcester) มีเมืองเล็กชื่อมอนสั้น (Monson) แต่พวกเราอยากเรียกว่าม่อนสัน เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งมีนิวาสถานอันงดงามอยู่ริมทะเลสาบสวรรค์ (Paradise Lake) ของที่นี่ 

เพราะเจ้าของบ้านเป็นคนมีน้ำใจงามและกว้างขวาง จึงต้อนรับอย่างดี ตัวผมเองเคยมาพักที่นี่แล้วครั้งหนึ่ง แต่เป็นช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง อากาศเริ่มหนาวเย็น แต่ก็ไม่เท่ายามนี้ เพราะน้ำในทะเลสาบยังเป็นน้ำแข็งอยู่ แม้จะละลายไปบ้าง แต่ยังคงเดินหรือเล่นสเก็ตได้สบายๆ นับว่าเปิดหูเปิดตาให้ได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศในยามหนาวได้อย่างถึงที่สุด เพราะตั้งแต่มาที่นี่เจอทั้งฝนหิมะ เกล็ดหิมะ ละอองหิมะ และพายุหิมะ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างฉับพลันหลายๆ ครั้งจนถึงลบ 18 องศาเซลเซียส

วิชาที่เรียนคือวิชาว่าด้วยโลกและดินฟ้าอากาศและเรียนทางตรงกันทีเดียว

 

หากจะมีประโยชน์อยู่บ้างก็ช่วยให้เข้าใจชีวิตคนที่นี่ว่าต้องเตรียมการมากน้อยอย่างไรในภาวะฉุกเฉินและในภาวะที่ธรรมชาติสร้างกรอบจำกัดให้มากมาย 

การวางแผนชีวิตจึงสำคัญมากๆ แต่กว่าจะถึงวันนี้ การศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและการสร้างเครื่องมืออธิบายพยากรณ์อากาสล่วงหน้าได้นับเดือนๆ หรือทั้งปี ไม่ใช่เรื่องเล่นขายของ เพราะอากาศที่นี่หมายถึงชีวิต 

เช่นเมื่อวาน (20มีนาคม) จะมีหิมะตกลงในยามบ่าย หกโมงเย็นก็ตกโปรยลงมาเป็นสายไปเรื่อยๆ ส่วนวันนี้ (21 มีนาคม) พยากรณ์ว่าหิมะจะหยุดตกราวเที่ยงกว่า บ่ายโมง ก็หยุดจริงๆ

สิ่งเหล่านี้สำคัญและจำเป็นจริงๆ ต่อการวางแผนชีวิตและอนาคต

 

เมื่อมาถึงเมืองวูสเตอร์ พวกเราตัดเข้าเมืองม่อนสันทางเมืองพาล์มเมอร์ เข้าถนนสายเล็กลงไม่นานก็ถึงบ้านริมทะเลสาบ

นักวิชาการอย่างพวกเราไม่มีอะไรมากไปกว่าการค้นหาเรื่องราวท้องถิ่นและความเป็นไป

จุดหมายของพวกเราจึงอยู่ที่วิทยาลัยเม้าท์โฮลี่โยค (Mt. Holyyoke College)ซึ่งเป็นวิทยาลัยสตรีแห่งแรกของประเทศ มีเรือนกระจกที่ปลูกไม้ดอกงามอย่าง ทิวลิป แคคตัส และไม้เขตร้อนที่การรักษาดูแลอย่างดี เพียงวูบแรกที่เข้าไปในเรือนกระจกก็ช่างประทับใจเพราะกลิ่นหอมจรุงของดอกไม้ชำแรกมาในโสตประสาททันใด

มีแม้กระทั่งต้นกล้วยที่แตกช่อออกปลีให้เห็นในยามหิมะโปรยเป็นสายมาหลายสัปดาห์

 

จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็ไปชมเมืองใกล้ๆ พวกเรายังได้แวะผ่าน University of Massachusetts Amhurst และไปร้านหนังสือข้างแม่น้ำเล็กที่ชื่อ Book Mill ผมเองแบกหนังสือจนไหล่แอ่น เพราะเจอหนังสือถูกใจใช้ในงานวิจัยได้ด้วย เรายังไปชมวิทยาลัยสมิธ (Smith College) ที่มีเรือนกระจกและก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ ที่สำคัญเป็นวิทยาลัยหญิงล้วนในกลุ่ม seven sisters หรือวิทยาลัยเจ็ดแห่งที่เมืองนอร์ทแธมตัน และได้แวะซื้อหนังสือที่ร้าน Raven เมืองนี้มีชื่อเรื่องการให้ความสำคัญกับบทบาทสตรีและกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน 

บำเหน็จเล็กๆ น้อยของผมก็คือการได้กินข้าวซอยเนื้อหน้าวิทยาลัย รสชาติดั้งเดิมและกลมกล่อมทีเดียวครับ หายคิดถึงอาหารเหนือไปพักใหญ่

 

ข้อคิดสำคัญจากการเยี่ยมชมวิทยาลัยแถวนี้ก็คือ คนที่นี่ให้ความสำคัญกับการศึกษาในระดับปริญญาตรีอย่างมาก โดยเฉพาะด้านศิลปศาสตร์ (Liberal arts) ที่จะเป็นฐานการคิดของนักศึกษาเพื่อศึกษาต่อในชั้นสูงขึ้นไป ว่ากันว่าวิทยาลัยขนาดเล็กเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Mount Holyyoke, Amhurst College, Wesleyan, Wellesley, Smith College หรือที่อื่นๆ เป็นที่ที่บรรดาผู้ดีมีสตางค์ของประเทศนี้ส่งลูกหลานมาเรียน พื้นฐานภาษาและวิชาการจึงแน่น เพราะขนาดของวิทยาลัยไม่มากไม่น้อยไปกว่าที่จะรองรับและฟูมฟักนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่มีความสามารถรอบด้าน

 

เรื่องนี้ทำเอาผมฝันไปไกล

เพราะความฝันของผมคือผมอยากเห็นวิทยาลัยขนาดเล็กแบบนี้ในเมืองไทย มีนักศึกษาสักสามสี่คณะ ไม่เกินชั้นปีละ 150 คน รวมสี่ชั้นปีก็ราว 400-600 คน หากได้นักเรียนชั้นดี เราจะสามารถสร้างคนที่มีคุณภาพได้แน่ๆ

แต่ความฝันมักสวนทางกับความจริง เมื่อคิดทบทวนว่า ในประเทศที่เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่สัมพันธ์กับภาระงาน และผู้กำหนดนโยบายการศึกษาชั้นสูงไม่เข้าใจเป้าหมายของการอุดมศึกษา ครูบาอาจารย์ก็ไม่ต่างไปจากพนักงานเอกสาร ที่ต้องผลิตและหลอกผู้ตรวจประกันคุณภาพทั้งหลายไปวันๆ

เผลอๆ อาจจะแย่กว่าคุณภาพชีวิตของครูประถมเสียด้วยซ้ำ (และก็น่าสนใจที่มีข้อมูลออกมาว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยเงินเดือนน้อยกว่าครูประถม ทั้งๆ ที่อยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกัน) 

พูดกันตามจริง ความหวังที่ว่าจะนำเอามหาวิทยาลัยไทยไปสู่ระดับโลกนั้นเป็นความฝันที่เลื่อนลอยเอามากกว่า และคงไม่มีใครใส่ใจจริงๆ จังๆ ในเมื่อตำแหน่งผู้บริหารจนถึงครูอาจารย์ในการอุดมศึกษายังเป็นการไต่เต้าทางการเมืองแบบทื่อๆ และยิ่งเมื่อไร้การคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการ มหาวิทยาลัยชั้นสูงไม่มีอะไรต่างไปจากสถาบันสร้าง หล่อหลอมและผลิตซ้ำอุดมการณ์ชุดหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่ได้เลย

ในโลกตะวันตกมหาวิทยาลัยไม่น้อยเกิดจากศาสนจักร เช่น เสื้อคลุมที่สวมใส่วันสำเร็จการศึกษาก็เป็นเสื้อคลุมนักบวชนั่นเอง

ผมเองหวังว่าศาสนจักรไทย วัดไทย จะมีความก้าวหน้าพอที่จะเลิกสร้างถาวรวัตถุเกินความจำเป็น แต่ควรหันมาลงทุนหรือสนับสนุนเงินทุนสร้างมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลมากกว่าจะสร้างเสนาสนะสถานของตนให้โอ่อ่าแต่เพียงอย่างเดียว

นี่อาจจะยากยิ่งไปกว่าฝันลมๆ แล้งๆ ของผมเสียอีก

นี่สินะที่เรียกว่า "ฝันกลางฤดูหนาว"

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รัฐบาลนี้จะอยู่ค้ำฟ้ารึไง
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ประโยคหนึ่งที่ถูกสลักจารึกที่ชานปลายบันได บนทางเดินก่อนเข้าอนุสรณ์สถานลินคอล์น (Lincoln Memorial) ที่ซึ่งถือกันว่าเสมือนวิหารแห่งประชาธิปไตยอันเป็นที่ตั้งของรูปสลักอับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา สลักเอาไว้ว่า “ข้าพเจ้ามีความฝัน“ (I have a dream) ประโยคนี้เป็นบทเริ่มต้นของสุนทรพจน์ข
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผมต้องไปประชุมกับนักวิชาการที่ได้รับทุนฟุลไบรท์ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ปลายปีแบบนี้หลายคนเดินทางกลับบ้านหรือไปเที่ยวทางไกลกันมากมาย ทำให้คิดถึงเรื่องที่ผมเจอกับตัวเองเมื่อหลายปีก่อนระหว่างขับรถบนถนนสี่เลนจากนคร
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
หลังจากผมมาถึงเมืองเคมบริดจ์เป็นเดือน เริ่มจากการหาที่พัก ไปประชุมที่วอชิงตัน ดีซี หาซื้อเสื้อผ้ารับความหนาว รองเท้า จัดการเรื่องอาหารการกิน มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ งานเอกสาร ตลอดจนตั้งสถานีทำงานที่บ้าน จนได้ห้องใต้หลังคาของบ้านอายุกว่าร้อยไป ห่างจาก Harvard University สองสถานีรถไฟใต้ดิน ก็เริ่มตั้งห
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมขออนุญาตเขียนบันทึกความจำเอาไว้นะครับ ในโอกาสที่ครบรอบหนึ่งปีของการก่อตั้งกลุ่มนักวิชาการและเครือข่ายประชาชนที่เรียกตัวเองว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย หรือ สปป.
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บทความเก่าๆ เป็นรายงานสมัยเรียน ป.
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในรายงานวิจัยที่ผมเสนอต่อโครงการเมธีวิจัยอาวุโส ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ ได้เขียนถึงเรื่องจุดเริ่มต้นและชีวิตทางการเมืองของธรรรมนูญฉบับนี้ ตลอดจนผลการใช้มาตรา 17 เอาไว้ดังนี้ ครับ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ได้เคยเขียนบทนำวิภาษา 23 ไว้เมื่อปลายปี 2553 ไว้เกี่ยวกับเรื่องปฏิวัติวัฒนธรรม ดังนี้การปฏิวัติวัฒนธรรมที่กลายเป็นสินค้า
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
23 กุมภาพันธ์ 2534 มีรัฐประหารล้มรัฐบาลที่ขึ้นชื่อว่ามีการคอร์รัปชั่นที่เรียกว่า บุฟเฟ่ต์คาบิเน็ท ฝูงชนดีใจ เอาดอกไม้ ซุปไก่สกัด ช่อดอกไม้ไปให้ทหาร เฉลิมฉลอง ดีใจยกใหญ่ ในปีถัดมา เราออกไปบนท้องถนนเพราะเดิมทหาร รสช.
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เหมือนคนบ้า คลั่งพล่าน ไปทั้งคาม