Skip to main content

วันนี้ (31 พฤษภาคม) เป็นวันที่ 17 นับจากวันเลือกตั้งจบลง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมีเวลาเหลืออีก กว่า 43 วัน ที่จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อย ร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อให่้ระบอบการเมืองเดินไปอย่างต่อเนื่องและไม่ขาดตอน หรือสะดุดเพราะอุบัติเหตุทางการเมือง

ถึงจะรู้ผลอย่างไม่เป็นทางการ เพราะบรรดาองค์กรภาคประชาชนอย่าง iLaw และสำนักข่าวดิจิตอลต่างพากันร่วมใจรายงานผลการเลือกตั้ง ไหนจะหัวคะแนน แฟนคลับ และประชาชนผู้สนใจการเลือกตั้งจะลงทุนไปเฝ้าหน้าหีบและคูหาที่นับคะแนน เพื่อธำรงไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของตัวเองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ผลการมาใช้สิทธิในครั้งนี้ มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 52 ล้านกว่า คิดเป็น 75.22% [1] นับว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของไทย แต่มีบัตรเสียในกลุ่ม ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า มีบัตรเสีย 1,457,899 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.69 และการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ มีบัตรเสีย 1,509,836 ใบ คิดเป็นร้อยละ 3.82 [2]

 

ถึงแม้ผลการเลือกตั้งจตะชัดเจนว่าอดีตพรรคฝ่ายค้านจะชนะถล่มทลาย ได้แก่พรรคก้าวไกล (151) พรรคเพื่อไทย (141) และอยู่ระหว่างการเจรจาจนได้ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีจำนวน 310 เสียงสนับสนุนให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่บรรยากาศช่วงนี้ก็ไม่แพ้ช่วงวิกฤตการณ์ กปปส. ที่กองทัพนิ่งเฉยแต่แอบปฏิบัติการร่วมกับสุเทพ เทือกสุบรรณ มีนักร้องมากกว่าหนึ่งคนวิ่งไปฆ่าตัดตอนว่าที่รัฐบาล ซึ่งสมัยนั้น มีความพยายาม "ร้อง" ถึงขั้นให้ "ถอดรัฐบาลรักษาการ" ออกจากตำแหน่งการ "รักษาการ" เพื่อจะล้มประชาธิปไตย และตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็น "คนกลาง" 

 

ยุคนี้พ้นสมัยจากการเอาปืนไปไล่ยิงผู้สมัครตัวเต็ง หรือคนที่ได้รับเลือกตั้ง อย่างที่ปรากฏในหนัง "มือปืน" แล้ว[3] แต่ก็ยังมี "นักร้อง" ที่ปฏิบัติการแทน "มือปืน" ฝากตัวรับใช้นาย คอย "สอย" ผู้สมัครที่ประสบความสำเร็จในทางการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล 

กล่าวได้ว่าถึงพรรคร่วมฝ่ายไม่เอาประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชนะการเลือกตั้งได้ ก็อย่าเพิ่งวางใจ อย่างน้อยในสามเหตุผล

ประการแรก ความแตกต่างและผิดหวังจากการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนมาตลอดจนกระทั่งนับคะแนน และมีกระแสข่าวปล่อยว่าจะหาทางสลับขั้วให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ จนมีความหวาดระแวงระหว่างพรรคแกนนำทั้งสองพรรค

ประการที่สอง ความพยายามของ "นักร้อง" อาชีพ ที่หาช่องว่างทางกฎหมายเพื่อเอาผิดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลด้วยข้อหาถือหุ้นสื่อ และช่องว่างอื่นๆ ที่ตามมา เช่น การไปลงนามรับรองคุณสมบัติผู้สมัครทั้งพรรค และมีการส่งเสียงว่า การรับรองของผู้ขาดคุณสมบัติ อาจจะทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะในส่วนของพรรคก้าวไกล ต้องเลือกตั้งใหม่

ประการที่สาม การทำงานของฝ่ายประยุทธ์ที่ยังคิดว่าตัวเองมีเครื่องมือและองคาพยพใต้อำนาจที่จะกดปุ่มสลายพรรคก้าวไกล ตลอดจนสมาชิกพรรคที่ได้รับเลือกตั้งให้สูญสลายไปได้ เพื่อเปิดช่องทางใหม่ๆ

ซึ่ง หากคนเหล่านั้นสามารถทำได้ เช่น สมาชิกวุฒิสภาที่อยู่ต่อเนื่องยาวนานที่สุดคนหนึ่งและเสนอแนวทางการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ (constitutional coup) มาโดยตลอด ในทางปฏิบัติก็มีข่าวว่าจะล้มการเลือกตั้งด้วยการ "ใช้" กกต. หรือร้องเรียนผ่าน กกต. เพื่อให้ "ฟัน" ทั้งพรรคและผู้สมัคร

 

ในฐานะผู้สังเกตการณ์การเมืองไทย กว่าสองทศวรรษของการยุบพรรคเพราะเป็นการ "ใช้ยาแรง" นั้น ไม่ได้เกิดผลลัพธ์อย่างที่พวกเขาต้องการ เพราะยิ่งยุบยิ่งพ่ายแพ้

 

กรณีที่ชัดเจนที่สุดคือการยุบพรรคไทยรักไทย แล้วอดีตสมาชิกพรรคที่เหลือมาตั้งพรรคพลังประชาชนและสามารถได้ชัยชนะจัดตั้งรัฐบาล แม้จะ "สอย" นายสมัคร สุนทรเวช ร่วงลงมา แล้วพรรคพลังประชาชนยังสามารถเสนอชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อพวกเขาประสานเสียงกับม็อบดาวกระจายเพื่อกันมิให้นายสมาชายเข้าแถลงนโยบาย ต่อ "สถานที่" รัฐสภา ได้ ก็ยังถูกนำไปตีความ จนกระทั่งรัฐบาลนายสมชายต้องเช่าหอประชุมองค์การโทรศัพท์เพื่อแถลงนโยบาย แต่ก็ยังถูกร้องอีก จนกระทั่งสามารถยุบพรรคประชาชนได้ 

แต่กระนั้น การยุบพรรคไม่ได้ทำให้กลุ่มขั้วการเมืองนั้นสลาย หากมีอำนาจเพิ่มขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่การตั้งรัฐบาลในค่ายทหารและเสียบพรรคประชาธิปัตย์ลงแทน ระหว่างเกิด "สุญญากาศที่สร้างขึ้น" 

ผลในทางตรงกันข้ามคือเกิดขบวนการ นปช. และรวมกำลังกล้าแข็งขนาดบุกไปล้มการประชุมที่พัทยา และการปะทะกันตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ปี 2552 และเดือนเมษายน- พฤษภาคม 2553 ซึ่งนองเลือดและเสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บกว่าสองพันคน

และที่สำคัญ เมื่อยุบพรรคพลังประชาชน ก็ได้พรรคเพื่อไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม

ผลข้างเคียงจากการยุบพรรคการเมืองมาหลายระลอก ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาคือ การตัดตอนคนที่เป็นบ้านใหญ่ ตระกูลการเมืองและเครือข่ายอำนาจการเมืองในเวลานั้นให้ออกจากการเมืองชั่วคราว

แต่การยุบพรรคยังคงต่อเนื่องมาจนถึงการเลือกตั้งปี 2562 มีผลประการแรก ก็คือเป็นการทำลายบรรดาผู้นำการเมืองรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตจำนวนหนึ่งไปด้วย

ผลที่ตามมาประการที่สองคือ อายุของผู้สมัครหน้าใหม่ที่น้อยลงเรื่อยๆ ทำให้อายุเฉลี่ยของผู้นำการเมืองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะในทางตรงกันข้าม ฝ่ายอนุรักษนิยมและกองทัพ ตลอดจนเครือข่ายเดิมกำลังเสื่อมถอยและขาดทายาททางการเมือง หรือไม่ ลูกหลานของพวกเขาก็โตไม่ทัน เพราะส่วนใหญ่เดินตามพ่อ ใต้ร่มเงาของเครือญาติ

แต่บรรดาคนรุ่นใหม่ที่ไม่สามารถหนีออกไปจากการเมือง ต่างถูกบังคับทางอ้อมให้เข้ามาสู้ในระบบ

 

ประการที่สามคือผลจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดความโกรธแค้นจนออกมาเป็นแฟลชม็อบ จากนั้นก็ลุกลามเป็นขบวนการเยาวชนกลุ่มต่างๆ ที่เบ่งบานแม้จะถูกการปราบปรามอย่างหนัก ตั้งแต่หน้าสยามดิสคัพเวอรี่ที่มีการฉีดน้ำใส่เด็กๆ และเยาวชน และลุกลามเกี่ยวเนื่องมาถึงปัจจุบัน

ผลประการที่สี่คือ แม้จะยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหาร แต่พวกเขามีทรัพยากรติดตัวที่สำคัญคือ "เวลา" พวกเขาอายุยังน้อยมาก เช่น "ไตรเทพ" ของอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองถึง 10 ปี แต่ถ้านับจาก 21 กุมภาพันธ์ 2563 พวกเขาจะกลับมาในปี 2573 วันนั้นธนาธรน่าจะอายุ 52 ปี ปิยบุตร 51 ปี และพรรณิการ์ 42 ปี แต่พวกเขากลับมาพร้อมกับประสบการณ์และบารมีอีกชั้นหนึ่ง

หากจะยุบพรรคก้าวไกลรอบนี้ มิอาจไม่ประเมิน Hydra effects ของการตัดหัวมังกร และการกลับมาของคนหนุ่มสาวในระรอกที่มีพลังต้านทานสูงและไม่กลัวต่ออำนาจกองทัพอีกต่อไป

ข้อสังเกตอีกประการก็คือ การทำการตัดสิทธินายพิธาในฐานะผู้ถือหุ้นสื่อ ITV ที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อเป็นหลักอีกต่อไปมานานแล้ว และในฐานะผู้ลงชื่อรับรองคุณสมบัติของ ผู้สมัครพรรคก้าวไกล ความพยายามสร้างกระแสปฏิบติการนี้ในอีกด้านหนึ่งก็คือข้อที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กกต. ว่าด้วยการตรวจคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงๆ และจะเอามาใช้ทำลายพรรคก้าวไกล ก้ต้องประเมิน Hydra effect ในรอบนี้ให้ดี

แต่ทั้ง "คนชี้ช่อง" และ "คนทำ" หรือ "รับงานที่ว่า" กำลังจะละเมิดอำนาจประชาชนด้วยการก่อรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลที่กำลังจัดตั้ง และเป็นรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งมาอย่างชอบธรรม

การสร้างสูญญากาศทางการเมืองไม่เป็นผลดีต่อสังคมไทยแน่ๆ เพราะนั่นจะพาเราไปสู่ความไม่แน่นอนในอนาคตทางเศรษฐกิจและสังคม และจะพาเราย้อนไปสู่ยุคสมัยที่มืดมนอนธกาลกว่านี้

 

[1] Today. 2566. กกต.แถลงเลือกตั้ง 66 คนออกมาใช้สิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ยืนยันผล ‘ก้าวไกล’ ชนะอันดับ 1

https://workpointtoday.com/election66-result/, 15 พฤษภาคม 2566.

[2] กรุงเทพธุรกิจ. We Watch ชวนตั้งคำถามถึง กกต.เลือกตั้ง 66 บัตรเสียเฉียด 3 ล้านใบเยอะไปไหม

https://www.bangkokbiznews.com/politics/1070614, 27 พฤษภาคม 2566.

[3] ดู บทความ Benedict Anderson. 1991. "Murder and Progress in Siam". New Left Review (1/181, May-June), https://newleftreview.org/issues/i181/articles/benedict-anderson-murder-and-progress-in-modern-siam.pdf

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รถบัสนำผมมาถึงเมืองชิคาโกในเวลาสองทุ่มครึ่ง รถจอดที่สถานีปลายทาง Union Station แม้จะเคยมาเมืองนี้ แต่คราวนี้มาคนเดียว และนัดเพื่อนที่ไม่เจอกันเกือ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เราตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อจะเดินไปบ้านอาจารย์แคทเธอรีน บาววีเพื่อยืมรถอาจารย์ไปเที่ยว อา
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
แม้จะเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่อากาศที่นี่ยังคงเย็นอยู่บ้าง ในคืนที่ผ่านมาอากาศเย็นสบาย เมื่อเราซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ ที่พัก เราเดินกลับบ้านได้สบายๆ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อย่างที่เคยเล่ามาในตอนก่อนๆ ว่า หนึ่งในความสุขเล็กๆ ของพวกเราคือการได้ไปกินติ่มซำวันเสาร์ (อาจจะมีคนเติมว่าไม่เอาเผด็
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนรุ่นก่อนช่างกล้าหาญนัก กล้าเดินทางเข้ามาในดินแดนที่ไม่รู้จัก เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าการเดินทางของมนุษย์เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ชีวิตยิ่งมหัศจรรย์กว่า ในความผันแปรเปลี่ยนของมนุษย์
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมเขียนบทความชุดนี้มาหลายเดือน มาถึงตอนนี้ นับว่าเป็นชุดบทความที่ยาวไม่น้อย 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อปี พ.ศ.2532 เดือนมิถุนายน ยังไม่รู้ประสีประสาทางการเมือง ในขณะที่เพื่อนๆ พี่ๆ พากันขึ้นคัทเอาท์สนับสนุนประชาธิปไตยในจีน และมีกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากที่นักศึกษา ประชาชนถูกล้อมปราบที่ลานหน้าพระราชวังต้องห้าม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
     มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งที่ผมได้มีโอกาสผ่านไปมักมีเรื่องราวให้จดจำ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของภูมิทัศน์ เอ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
Today is the 5th year to commemorate the day that Abhisit Vejjajiva started cracking down the United front for Democracy against Dictatorship (UDD) camp site on Rajadamri. It started with the killing of Seh. Daeng or Gen. Kattiya Sawasdiphol.