พันธกุมภา
ถึง พี่มีนา
ผมหายจากหน้าจอไปนานเพราะมีงานให้ทำ จนฟกช้ำจิตใจไปทั่วเลย ไม่ค่อยมีเวลาได้พัก เพราะงานที่ผมรัก ทำให้ผมต้องใช้กำลังกายและความคิดมากเหลือล้น ผมจึงเป็นดั่งคนที่นำเอาพลังชีวิตในอนาคตมาใช้ ซึ่งตอนนี้ไม่รู้ว่าจะพอมีเรี่ยวแรงเหลือใช้หรือไม่ในกาลต่อไป
เฮ้อ...แต่ที่จะเล่าให้พี่ฟังครานี้ก็คือ ช่วงที่ผ่านมาผมและ “ลูกปัดไข่มุก” ได้ไปจัดห้องสนทนาธรรมชื่อห้องว่า “ห้องธรรมตามใจ” เนื่องในงานเพศศึกษาวิชาการขององค์การแพธ แล้วมีเรื่องที่น่าสนใจมากมาย ทว่าในฉบับนี้อยากเอาคำคมชวนคิดที่ “ลูกปัดไข่มุก” และผมได้ช่วยกันคิดและเขียนขึ้นมาบอกเล่าต่อ ดังนี้ครับ
1. ทำไมต้องรออายุเยอะจึงคิดปฏิบัติ
หลายๆ คนมองว่าการปฏิบัติธรรมหรือการเข้าวัดเข้าวาเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ ปฏิเสธไม่ได้หรอกค่ะว่าผู้สูงอายุมักมีเวลาว่างมากกว่าคนวัยเด็กและผู้ใหญ่ บางคนก็เกษียณมาจากการรับราชการ ใช้เวลาอยู่บ้านเฉยๆ จึงไม่แปลกที่จะมีเวลาว่างมากมายในการปฏิบัติธรรมมากกว่า จึงเหมือนกลายเป็นของคู่กันว่าธรรมะต้องคู่กับคนวัยสูงอายุ แต่จริงๆแล้วการที่จะรอให้เราถึงวัยเกษียณก่อนนั้นเป็นเรื่องของการ “วางปลาทูไว้ใกล้แมว” เพราะมันเสี่ยงมาก บางคนอาจโชคดีหน่อยที่อายุยืนและได้ปฏิบัติธรรมตอนอายุเยอะตามที่คิดไว้ แต่บางคนที่ไม่ได้อายุยืนขนาดนั้นล่ะ? รวมถึงผู้ใหญ่หลายๆ คนที่มักพูดว่า “ไม่มีเวลา” เพราะงานเยอะหรืออะไรต่างๆนาๆ อันที่จริงแล้วการปฏิบัติมีความหมายกว้างมากกว่าแค่การนั่งหลับตานิ่งๆอยู่กับที่ แต่หมายถึงได้ทั้งการ เดินอย่างมีสติ กินข้าวอย่างมีสติ หรือ ทำงานอย่างมีสติด้วย เพราะฉะนั้นจะบอกว่า “ไม่มีเวลา” คงจะไม่ได้แล้วนะคะ :P
2. เกิดเป็นคนไม่ง่ายอย่างที่คิด
ชีวิตของเราในสังสารวัฏนั้นยาวนานมาก วนเวียนไปไม่รู้จักจบสิ้น โดยมีกรรมเป็นตัวกำหนดว่าเราจะไปเกิดเป็นอะไร ที่บอกว่าการเกิดเป็นคนนั้นไม่ง่ายก็เพราะว่าคนสามารถที่จะสร้างบุญบารมีได้มากกว่าภพภูมิใดๆ เพราะคนรู้จักทุกข์ได้มากกว่าเทวดานางฟ้าบนสวรรค์ และรู้จักสุขมากกว่าดวงจิตในภพภูมินรกทั้งหลาย ทำให้คนสามารถมองได้ว่าความสุขความทุกข์มันไม่เที่ยงและบรรลุได้ง่ายกว่า แต่ถึงยังไม่บรรลุก็สามารถสะสมบุญทำความดีและไปเกิดในที่ๆ ดีได้.... ดังนั้นเราเกิดมาเป็นคนแล้วก็จงใช้ร่างกายที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เช่น ช่วยเหลือผู้อื่น ทำแต่สิ่งที่ดี ปฏิบัติธรรมจะได้ “ไม่เสียชาติเกิด” ยังไงล่ะคะ
3. คิดสิ่งที่ไม่ดี จิตตก บาป
มีผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง เธอเคยทำแท้งเพราะความจำเป็น ทำให้เธอรู้สึกผิดมาตลอด ที่ได้ตัดสินใจทำเช่นนั้นไป เธอจึงไปวัดทำบุญให้แก่ลูกเป็นประจำ หลวงพ่อก็สังเกตเห็นความเศร้าโศกในสีหน้าของเธอ จึงได้ซักถามว่าเป็นอะไรมา เธอเล่าด้วยความรู้สึกผิด หลวงพ่อจึงตอบกลับมาว่า การที่เรานั้นได้เคยทำผิดมา ก็จงรับรู้และให้อภัยตัวเองเสีย เพราะการคิดสิ่งที่เรารู้สึกผิดบ่อยครั้งทำให้ใจเรารู้สึกแย่ มันจะเป็นบาป ก็คือ เมื่อโยมทำแท้งไปครั้งหนึ่งโยมก็บาปไปครั้งหนึ่ง แต่ถ้าโยมไปคิดถึงการทำแท้งครั้งนั้นอีกโยมก็จะบาปอีกเป็นครั้งที่ 2... จากเรื่องนี้ได้เชื่อมโยงกับเรื่องความคิดก่อนตายว่า การที่เราคิดแต่เรื่องที่ดีก่อนตาย จิตใจย่อมแจ่มใสทำให้เราได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี แต่ถ้าเราเศร้าโศกกับการต้องจากลาญาติมิตร หรือหวงทรัพย์สมบัติทำให้จิตใจหม่นหมองก็ย่อมทำให้เราได้ไปเกิดในภพภูมิที่ไม่ดี ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าจิตที่แจ่มใสและเบิกบานทำให้เราได้เจอแต่สิ่งที่ดีนั่นเอง....
4. แค่ “รู้” ได้บุญมากกว่าสร้างเจดีย์ 7 ชั้น
การตาม “รู้” ก็คือการที่เรามีสติในการใช้ชีวิตรู้ว่าทำอะไรอยู่ มือขยับอยู่มั๊ย หรือคิดเรื่องอะไรอยู่ การฝึกตามรู้อย่างนี้ทำให้จิตเราเริ่มไวต่อสิ่งที่มากระทบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิดหรือการกระทำต่างๆ ที่เราได้ทำ พูดง่ายๆ ก็คือมีสติอยู่กับตัวมากขึ้น เพราะธรรมชาติของจิตเรานั้นไวมาก คือ อย่างเช่นเรากำลังอ่านข้อความนี้อยู่ แต่ใจหรือจิต อาจจะลอยไปที่บ้านแล้วก็ได้ หรือลอยไปที่โต๊ะอาหารก็เป็นได้ นั่นคือภาวะของจิตที่ไม่ได้อยู่ในกาย แต่ถ้าเรา “รู้” ว่าจิตลอยออกไปเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราก็จะมีสติเข้ามาแทนที่ทันที เพราะฉะนั้นแค่รู้ก็ถูกต้องแล้ว.....!! ดังนั้นการภาวนานี้พระท่านว่ามีอานิสงค์มากกว่าการให้ทานหรือรักษาศีลอีกจึงทำให้ได้บุญมากกว่าการทำทานสร้างเจดีย์ 7 ชั้นอีกแน่ะ..
5. เดิน กิน นั่ง นอน ก็ดูจิตได้
การดูจิต คือ การดูสภาวะทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจด้วยใจที่เป็นกลางตามที่มันเป็นอยู่ คือไม่ว่าเราจะทำอะไรเราก็สามารถตามรู้มันไปได้โดยไม่ปรุงแต่ง ไม่เพ่ง ไม่เผลอ ไม่ยึดติด สรุปคือ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็นก็พอแล้ว ^^
6. ทุกชีวิตเท่าเทียมกัน
หลายๆ คนมีความคิดอย่างแบ่งแยกว่าการทำร้ายหรือฆ่าสัตว์เล็กๆนั้นไม่บาปมากเท่ากับฆ่าสัตว์ใหญ่ อันที่จริงแล้วไม่ว่ามันจะเป็นสัตว์เล็กหรือใหญ่มันก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ “ชีวิต” เราจึงไม่น่ามองแต่ขนาดของตัวแต่ควรมองให้กว้างกว่าที่เป็น นั่นคือมองสรรพสัตว์ให้เป็นชีวิตเหมือนๆกับพวกเรา เราไม่ฆ่ามนุษย์ฉันใดเราก็ไม่ฆ่าสัตว์ฉันนั้น ถ้ามนุษย์เรามีแต่ความเมตตาแล้วโลกก็คงจะสงบสุข และมีสิ่งดีๆเกิดขึ้นมากมาย และทุกสิ่งนั้นเริ่มได้จาก “ตัวคุณ” เพียงแค่วันนี้ได้เริ่มให้อภัยยุงที่มากัดเราถือว่าเป็นการให้ทาน ไม่ตบมันแต่แค่ไล่มันไป เพียงแค่นี้คุณก็จะกลายเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อสรรพสัตว์แล้ว.........
7. ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง
คำว่าอนิจจัง แปลว่า ไม่เที่ยง หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีวันสูญสลายทั้งสิ้น ลองมองย้อนมาที่ตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักก็ต้องมีวันตายจากเราไปหรือไม่เราก็ตายจากมันซะเอง ของที่ว่าเป็นของเราก็ต้องมีวันที่ใช้การไม่ได้เช่นปากกาเมื่อวานยังใช้ได้อยู่ดีๆ วันนี้ดันเขียนไม่ติดซะแล้ว หรือ หายไปอยู่กับคนที่นั่งโต๊ะข้างๆแล้วก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ทำทุกอย่างให้เต็มที่เหมือนว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการมีชีวิตอยู่ เราจะได้ไม่ต้องเสียใจที่ไม่ได้ทำ....
8. เทวดาคุ้มครองคนดี
บางคนอาจจะยังไม่รู้นะคะว่าคนดีที่ชอบทำบุญน่ะมีเทวดาประจำตัวด้วยนะคะ! เทวดาประจำตัวที่ว่าก็คือ อย่างที่เวลาเราไปทำบุญมา เค้าก็จะมาอนุโมทนาด้วยและก็จะมาคอยคุ้มครองเราไม่ให้เรามีอันตราย และไม่ได้มีแค่องค์เดียวนะคะ อย่าเข้าใจผิด เพราะฉะนั้นเวลาเราไปทำบุญมา หรือ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ก็อย่าลืมแผ่เมตตาและอุทิศส่วนบุญให้เทวดาประจำตัวเราด้วยนะคะ เราจะได้ “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” ยังไงล่ะคะ...
9. ธรรมะคือธรรมดาของชีวิต
ที่ว่าธรรมะคือธรรมดาของชีวิตก็เพราะว่าเราสามารถที่จะปฏิบัติได้ในทุกเวลาของการใช้ชีวิตเรา แค่รู้และมีสติในการทำงานต่างๆในชีวิตประจำวันก็เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ที่ส่วนใหญ่มักฝึกให้นั่งสมาธิ หลับตานิ่งๆ ทำให้เราคิดว่าต้องนั่งนิ่งๆเท่านั้นจึงเป็นการปฏิบัติ แต่ที่จริงแล้วไม่ได้มีแค่นั้น การนั่งสมาธิก็เป็นอุบายอีกวิธีที่ใช้ให้เรามีสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก ซึ่งมันจะเห็นได้ชัดกว่าเพราะเราหลับตา อันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นการเดินจงกรม การตามรู้อารมณ์ หรือ การตามรู้กายเคลื่อนไหว ต่างก็เป็นอุบายเพื่อให้เรามีสติอยู่ตลอดเวลานั่นเอง เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะทำอะไร ขอแค่ให้มีสติรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไร ก็เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว...........
10. ปฏิบัติธรรมเพื่อไม่เอาอะไร
หลายๆ คนคิดว่าอยากจะปฏิบัติธรรมเพื่อจะได้ ตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ หรือว่าถอดจิตไปเที่ยวในที่ๆอยากจะไปได้ แต่จริงๆแล้วจุดสูงสุดของการปฏิบัติธรรมของทุกคนก็คือ “การพ้นทุกข์” หรือ “นิพพาน” นั่นคือการไม่เกิดอีก ...นิพพานเป็นสภาวะที่ไม่มีรูป (ร่างกาย) ไม่มีเพศ ไม่มีโลภ โกรธ หลง ไม่เอาทั้งสุขและทุกข์ มีแต่เมตตา และอยู่กับปัจจุบันขณะเท่านั้น....และนี่คือความหมายของคำว่า “ปฏิบัติธรรมเพื่อไม่เอาอะไร”
11. มีชีวิตบนความเสี่ยงเพียงแค่ไม่รู้
หากเราไม่มีสติระลึกรู้ ความโลภ โกรธ หลง ที่แวะเวียนเข้ามาในใจมันก็จะกลายมาเป็นเพื่อนของจิตที่คอยดึงเราไปในทางที่ไม่ดี เช่นถ้าเพื่อนที่ชื่อว่า “ความโกรธ” เข้ามา เราก็จะโมโห อาละวาด พูดสิ่งที่ไม่ดีออกไปทำให้คนอื่นเสียใจ และถ้าเพื่อนที่ชื่อว่า “โลภ” เข้ามาเราก็จะกลายเป็นคนที่เห็นแก่ได้ โดยที่ไม่คำนึงถึงผู้อื่น หรือเพื่อนที่ชื่อว่า “หลง” เข้ามาเราก็จะลืมตัว ไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่......แต่ถ้าเรามีเพื่อนที่ชื่อว่าสติ เราก็จะสามารถตัดสินได้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ รวมถึงรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นก็เปิดประตูต้อนรับ “เพื่อนสติ” เข้ามาเถอะนะคะ…….
12. ส่งจิตออกนอกเป็นทุกข์
การส่งจิตออกนอก คือการเอาจิตไว้นอกกาย หรือเมื่อเราฟังอะไร จิตเราก็จะส่งออกไปให้ความสนใจกับสิ่งนั้น เช่น ไม่ว่าจะดู จะฟัง จะกิน จะสูดกลิ่น หรือ จะสัมผัสกาย คนเราส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยเอาจิตไว้ที่ตัวเองทำให้เกิดทุกข์ได้ง่ายๆ หรือพูดง่ายๆ คือเราก็หลง หรือเผลอไปจนขาดสติ ทำให้เราทำอะไรไปตามกิเลสที่ปรุงแต่งจนเกิดผลเสียกับตัวเอง.....
13. อย่ารังเกียจความทุกข์
คนเรามักยินดีกับความสุขที่เข้ามาในชีวิต แต่ความทุกข์กลับกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจที่ไม่มีใครอยากได้มาพบเจอ แต่คุณคิดมั๊ยค่ะว่าความทุกข์ทำให้เราได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตและคิดต่างออกไป เหมือนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงออกบวชเพราะทรงเห็นถึงความทุกข์ในการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของคนนั่นเอง และคนหลายๆคนก็ได้มาพบกับธรรมะก็เมื่อตอนที่มีแต่ความทุกข์มารุมเร้าใจ แล้วก็พบได้ว่าจะทุกข์หรือสุขมันก็อยู่ที่ใจของเรานั่นเอง เหมือนกับคำที่บอกว่า “สวรรค์อยู่ที่อก นรกอยู่ที่ใจ” เพราะอันที่จริงแล้วมันก็แค่มองให้ต่างแค่นั้น เหมือนน้ำที่มีอยู่ครึ่งแก้ว บางคนมองว่า “น้ำหายไปตั้งครึ่งแก้ว” แต่อีกคนกลับมองว่า “น้ำเหลืออีกตั้งครึ่งแก้ว” และแน่นอนว่าคนแรกย่อมมีทุกข์มากกว่าอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นจงมองให้ดีเพราะทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ..............
14. อยู่กับปัจจุบันขณะ
การอยู่กับปัจจุบันขณะก็คือการรู้สภาวะอารมณ์ความรู้สึก สภาวธรรมต่างๆตามความเป็นจริงอย่างที่มันเป็นโดยไม่ได้ไปคิดว่ามันเกิดจากอะไร เช่น เวลาเราโกรธเราก็รู้ว่าเรากำลังโกรธแต่ไม่ต้องไปคิดว่าใครมาทำให้โกรธ หรือถ้าคิดก็รู้ว่ากำลังคิด ฉะนั้นแล้วการอยู่กับปัจจุบันคือการตามรู้ทุกขณะจิตโดยเห็นมัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ทั้งนี้การอยู่กับปัจจุบันไม่ได้หมายถึงว่าเราจะต้องจมอยู่กับความรู้สึกนั้นๆ เพียงแต่เราทำตัวให้เป็นผู้รู้ไม่ใช่ผู้เล่น.....
...............................................
เชิญร่วมบริจาคหนังสือกับกลุ่มธรรมะทำดี....
“ธรรมะสวัสดีค่ะ เพื่อนๆ พี่ๆ และลุง ป้า น้า อาทุกๆท่าน ^/^ เนื่องจากเดือนก่อนหนูได้คิดโครงการดีๆขึ้นมาได้ตอนระหว่างเรียนค่ะ หนูก็นั่งคิดว่าคนเราอย่างน้อยก็ต้องได้มีโอกาสเข้าโรงพยาบาลอย่างน้อยๆ ก็ครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะตอนอายุเยอะๆก็คงต้องได้นอนโรงพยาบาลบ้าง ผู้ป่วยหลายๆ คนคงเหงาและไม่มีอะไรทำระหว่างที่ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่เฉยๆ ถ้าเรามีหนังสือดีๆเกี่ยวกับธรรมะสักเล่มให้เค้าได้อ่านผ่อนคลายกายใจ ที่เหน็ดเหนื่อยกับชีวิตและการงานมานานก็คงจะดีไม่น้อยนะคะว่ามั๊ยคะ
คนหลายๆ คนอาจได้พบธรรมตอนพบโรคก็ได้นะคะ ลองนึกภาพดูสิคะ ว่ามีนางพยาบาลมาเสิร์ฟยาพร้อมกับหนังสือธรรมะที่นอกจากจะเยียวยากายแล้วยังช่วยเยียวยาใจได้ด้วย ตอนนี้หนูก็เก็บเงินจากค่าขนมเข้าโครงการนี้อยู่เหมือนกันค่ะ แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะซื้อหนังสือได้มากมายหากไม่มีคนร่วมแบ่งปันเลย หนูจึงอยากขอหนังสือธรรมะดีๆ ที่คิดว่าอ่านง่ายและอยากแบ่งปันให้ผู้ร่วมสังสารวัฎกับเรา ถ้าพี่ๆ เพื่อนๆหรือลุง ป้า น้า อา ผู้ใดสนใจจะสนับสนุนโครงการนี้หนูขออนุโมทนาด้วยนะคะ”
ถ้าอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 085-113-5090 (น้องมุก), 089-635-2250 (น้องเต้า) หรือเข้าไปดูที่ http://larndham.net/index.php?showtopic=33122
หากจะส่งหนังสือ สามารถส่งมาได้ที่
บ้านเลขที่ 24/166 ซอยลาดพร้าว 21 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. 10900
ติดต่อพูดคุยกับกลุ่มธรรมะทำดี ได้ที่ dhammatamdee@hotmail.com