Skip to main content
ช่วงที่ผ่านมา มีจดหมายจาก คุณ พรพรรณ เขียนจดหมายมาสอบถามผม 4 เรื่องดังนี้

 

1. การที่เราต้องอยู่ร่วมกับคนที่เขาไม่ชอบเรา หรือมีทัศนคติที่ขัดแย้งกัน  เราควรทำอย่างไร

2. การแผ่เมตตา  ช่วยให้ทุกข์ที่เกิดขึ้นคลายลง ได้หรือไม่  และการแผ่เมตตามีคุณอย่างไร

3. การไปปฏิบัติ  จะช่วยให้เกิดผลบุญถึงเจ้ากรรมนายเวรได้จริงหรือเปล่าคะ

4. คุณน้องเต้าเชื่อเรื่องกรรม หรือไม่คะ

 

ผมได้รับและตอบกลับดังนี้

....................

 

สวัสดีครับ 
ขอบคุณที่ไว้วางใจให้ผมได้แบ่งปันนะครับ
แต่...สภาวะของผมอาจเป็นคนอื่น ที่มองเข้าไปยังเหตุการณ์ของพี่ที่เกิดขึ้น
ซึ่งคงไม่รู้สึกได้ทั้งหมดเหมือนที่พี่เจอ ยังไงก็ขอแบ่งปันจากที่ตัวเองที่เผชิญและรู้มาบ้างนะครับ
 
เรื่อง 1 การอยู่กับคนที่เขาไม่ชอบเรา ควรทำยังไง


ผมมองว่าคนอื่นๆ มี อยู่ 3 แบบ คือ คนที่ชอบเรา, คนที่ไม่ชอบเรา และ คนที่เฉยๆ กับเรา
นั่นไม่ว่าเราจะทำอะไร จะพูด จะทำ เป็นอย่างไร ก็จะมีคน 3 ประเภทนี้อยู่
หน้าที่ของเราคือ "เอาใจไว้กับตัวเอง" คือ "ไม่เอาใจไว้ที่เขา" เพราะเมื่อใดที่เราเอาใจไปไว้ที่เขา เราก็จะรู้สึกทุกข์ เช่น เมื่อเขาไม่ชอบ เราก็ทุกข์ เมื่อเขาไม่ชมเราก็ทุกข์ อันนี้เพราะเราเอาใจไปไว้ที่เขามากไป ทำให้เราทุกข์เพิ่มขึ้น ยิ่งเมื่อคนที่เขาเห็นแย้งกับเรา ยิ่งไปกันใหญ่เลย ฉะนั้น ขั้นแรกคือ "ให้เราเอาใจไว้กับตัวเองก่อน"


ทีนี้ การเอาใจไว้กับตัวเอง ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นแก่ตัวหรือไม่ใส่ใจคนอื่นนะครับ
เรื่องที่เขาไม่เข้าใจ เราก็อธิบายให้เขาเข้าใจ, ถ้าหากเขาร้อนใจใส่เรา เราก็เย็นใจใส่เขา
คนบางคนเวลาเจอเราก็จะมีเรื่องเดิมๆ มาว่า มาวิจารณ์เรา เราก็ปล่อยให้เขาได้ "ปล่อย" เรื่องราวเหล่านั้นออกมา


เมื่อเขาพูดเสร็จ เราก็ "รับฟัง" อย่างตั้งใจ ไม่สวนกลับ เมื่อเสร็จแล้ว เราก็ขอบคุณเขา หรืออาจจะขอโทษเขาไปเลย คือทำให้เรื่องที่เค้าค้างใจ หลุดออกจากเขาก่อน ส่วนเรื่องที่เขาว่ามานั้นจะใช่หรือไม่ใช่ เป็นเรื่องที่เราจะมาจัดการกับตัวเอง
 
ในกรณีที่มีคนมาว่าเรา นินทา หรือด่า เรา ก็เหมือนกับ หากสมมุติว่า ผมเจอกับพี่ แล้วพี่เอาน้ำมาให้ผมดื่ม แต่ผมไม่รับ น้ำแก้วนั้นจะเป็นของใคร .....มันก็ต้องเป็นของพี่ใช่ไหมครับ ก็เหมือนกับถ้าเขาว่าให้เรา ด่าเรา วิจารณ์เรา แล้วเราไม่รับมา มันก็เป็นของเขาอ่าเนอะ^^
 
คนที่มีทัศนคติไม่ตรงกับเรา ถือเป็นบททดสอบของเรา ที่จะทำให้เราได้เติบโต อดทน ที่จะคุยกันอย่างกรุณา ไม่ใช้อารมณ์ คุยอย่างเมตตา แบบนี้ก็น่าจะโอเคแล้วนะครับ ลองอ่านเรื่องนี้นะครับ ไม่แน่ใจว่าจะเข้ากับกรณีที่ 1 หรือไม่ http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=954
 
เรื่องที่ 2 การแผ่เมตตา

การแผ่เมตตา ส่งผลอย่างมากต่อจิตใจของเรา อย่างน้อยการแผ่เมตตาก็มีอานิสงค์ในหลายๆ ประการ
เช่น ทำให้ใจเรามีเมตตาต่อสรรพชีวิต ต่อคนรัก ต่อศัตรู ฯลฯ, ลดแรงกรรม, เป็นที่รักของสรรสัตว์
อันนี้ลองอ่านได้เพิ่มเติมที่ ลิ้งค์นี้ครับ http://board.palungjit.com/showthread.php?t=170075
 
สำหรับผม ก็แผ่เมตตาทุกข์วันครับ ช่วยทำให้ใจตัวเอง เอื้ออารีย์ต่อตัวเอง และคนอื่น
มองคนรอบข้าง ทั้งดี ไม่ดี หรือเฉยๆ กับเรา แบบเท่ากัน คือเขาก็เป็นเพื่อนร่วมโลก
หลายเรื่องที่เขาทำไม่ดีกับเรา เพราะเขาไม่รู้ แล้วเราก็ต้องแผ่เมตตาให้เขาได้พบธรรมะ ได้พ้นจากทุกข์
หรือบางทีเขาอาจเป็นคู่เวรที่มาใช้วิบากกับเรา เราก็แผ่เมตตาให้เขา ยิ่งทำมากก็ยิ่งดีนะครับ
คนทุกคนไม่ได้ตั้งใจเกิดมาเป็นคนไม่ดีหรอกเนอะ....
 
เรื่องที่ 3 การปฏิบัติจะช่วยให้เกิดผลบุญถึงเจ้ากรรมนายเวรจริงไหม


ขอตอบว่า จริงครับ
เพราะผมเชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม และการเวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏ
ตราบใดที่เรายังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน เราก็ยังเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
ไม่ว่าจะไป อบายภูมิ หรือ สุคติภูมิ ก็ล้วนแล้วแต่ต้องเวียนไป ไม่จบสิ้น
ทีนี้ กว่าเราจะเกิดมาเป็นคน เราก็เวียนว่ายตายเกิดมาไม่รู้กี่ภพ กี่ชาติ
มีพ่อ แม่ ญาติ คู่รัก เจ้ากรรม นายเวร มาไม่รู้กี่คน ไม่ว่าจะเป็น ปัจจุบัน หรือ อดีตชาติ
ฉะนั้นการที่เราได้เกิดมาเป็น "คน" ใน ปัจจุบันนี้ ย่อมมีนัยะ สำคัญคือ
เป็นการมาใช้กรรมเก่า และ การสร้างกรรมใหม่
 
ชดใช้กรรมเก่าที่เราเคยทำไม่ดีมา และสร้างกรรมใหม่ให้ส่งผลต่อภพภูมิต่อไป
 
ทีนี้เมื่อเราปฏิบัติธรรมแล้ว สิ่งที่จะเกิดกับเราคือ เราจะมีบารมีทางธรรม มีบุญกุศลเพิ่มมากขึ้น
และเมื่อเรามีบุญเยอะ ก็เหมือน มีน้ำใส่ในแก้วมากยิ่งขึ้นถ้าเรามีมาก แล้วไม่ได้แบ่งให้คนอื่นดื่ม เขาก็จะมาขอเราดื่มเอง ไม่ว่าจะมาให้เห็น หรือ มีสัญญาณต่าๆ ก็ตาม เราก็ต้องแบ่งบุญที่เรามีให้กับ เจ้ากรรมในอดีตชาติ หรือ ในปัจจุบัน ให้เขาได้รับผล อานิสงค์กับเรา ซึ่งมันก็ช่วยได้เยอะทีเดียวนะครับ
 
บางครั้ง การปฏิบัติ ก็ทำให้เราได้
1. ชดใช้ให้กับสิ่งเดิม
2. เพิ่มเติมให้กับสิ่งใหม่
3. รักษาให้ดำรงต่อไป
4. สบายใจทุกๆ ขณะ
 
หน้าที่ของเราคือ
- เอาของที่ไม่ดีออกจากจิตใจ คือ (1.) ไม่ตามใจกิเลส คือ โลภ โกรธ และหลง
อาจจะโดยการ ให้ทาน รักษาศีล เจริญสมาธิ เจริญปัญญา
 
- เพิ่มเติมความ "รู้สึกตัว" คือการเจริญสติ ให้ระลึกรู้กายและใจ ด้วยความเป็นจริง เป็นการทำ สติปัฏฐาน ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอนไว้
ให้จิตเราบ่มเพาะความรัก ความเมตตา กรุณา มุฑิตา ต่อสรรพชีวิต
 
- รักษาจิต ให้มีสติ ระลึกรู้ อยู่ทุกๆ ขณะ ทำบ่อยๆ เนืองๆ ฝึกไปเรื่อยๆ จิตจะรู้ทุกข์ และละทุกข์ได้เอง
 
- เมื่อจิตใจเรา มีสติ ไม่ว่าจะดี ใจ เสียใจ หรืออะไรก็ตาม เราจะรู้ว่า ทุกๆ อย่างมันไม่เที่ยง มีเกิด ก็มีดับ มีเหตุ ก็เกิด หมดเหตุ ก็ดับ ให้เราเห็นความจริงตรงนี้ไว้นะครับว่า "ทุกสิ่งไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้"
จิตใจของเรา มีสุข มีทุกข์ มีโกรธ มีชอบ มีเครียด มีสุข คละกันไป
ถ้าเราเห็นความจริงในตรงนี้ เราจะมีความสุข
ความสุขที่เราเห็นความจริง, รู้สึกตัว ไม่เผลอไปกับกิเลส ไม่ติดยึดไปกับตัวตน
 
เรื่องที่ 4 เรื่องกรรม

ผมเชื่อเรื่องกรรมนะครับ เช่น เรื่องนี้, ผมถึงได้เจอพี่ในวันเวลาที่พี่ทุกข์ใจไง ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ผมจะได้ตอบเมลของพี่ แสดงว่า ผมคงจะเคยติดค้างอะไรพี่ไว้ ฉะนั้น ผมจึงปรากฏ ให้พี่ได้พบ และเราก็ได้สนทนา แบ่งปันกัน เป็นการใช้กรรมที่ติดค้าง และ ผมก็ได้สร้างกรรมใหม่ให้เราตัวเองด้วย
 
จากเรื่องนี้ ผมคิดว่ากรรม (หมายถึงการกระทำ) มี 2 แบบ คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม
ซึ่งทั้งสองอย่าง เกิดได้ จาก "เจตนา"
 
ถ้าเราทำกรรมใด ย่อมส่งผมต่อวิบากนั้น หมายถึง เมื่อมีเหตุ ย่อมปรากฏผล เมื่อมีกรรม ย่อมมีผลของกรรม
 
ถ้าเรารู้ว่าตัวเองมีกรรม อย่าพึ่งยอมจำนนกับกรรม ว่าเราต้องใช้กรรมอย่างเดียว แต่ควรมองว่าเราก็ถือโอกาสสร้างกรรมใหม่ขึ้นมา หรือเมื่อเราทุกข์ ก็อย่าไปเผลอไปกับทุกข์
ให้เรารู้ว่าทุกข์เข้ามาเพื่อเป็นบททดสอบ ให้เรา รู้จักความจริงของทุกข์ และได้พ้นจากมัน
 
ทั้งนี้การแผ่เมตตาและการเจริญสติ จะช่วยลดแรงกรรมได้เยอะเลยครับ
เหมือนเราวิ่งเร็วขึ้น เจ้ากรรมก็ตามไม่ทันเรา แต่เราก็อย่าลืมเอาบุญให้เจ้ากรรมด้วยนะครับ
 
ลองอ่านเรื่องกรรมเพิ่มเติมต่อได้ที่ http://dungtrin.com/whatapity/02.htm  
 
----------------------
 
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้
ลองหยุด สำรวจ กายและใจของเรา
พักดู ลมหายใจ ออกและเข้า สัก 3 ครั้ง
 
ยิ้มกับความทุกข์นะครับ
 
ทุกข์ไม่เกิด เราก็ไม่รู้จักทุกข์
มารไม่มี บารมีก็ไม่มา
 
เป็นกำลังใจให้พี่นะครับ

 

 

 

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์