มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
จะว่าไปการเป็นนักภาวนานี้ก็เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตัวเองแบบหนึ่งเหมือนกันนะครับ เมื่อก่อนผมมักจะแบกรับความเป็นนักภาวนากับตัวเอง ตัวเองจะต้องเป็นคนเรียบร้อย ทำอะไรช้าๆ เนิบๆ นุ่มนวล อ่อนโยน ไม่โกรธใคร มีเมตตาต่อทุกๆ คน ทว่าภาพเหล่านี้กลับมาทำให้ตัวเองไม่สามารถที่จะ “ยอมรับ” ความจริงที่เกิดขึ้นภายในจิตใจได้เลย
เพราะภาพของความเป็นนักภาวนา มันพ่วงเอาความดีเข้ามาด้วย หรือถ้าจะกล่าวตรงๆ ก็คือ เป็นนักภาวนาแล้วติดดี นี่แก้ได้ยากกว่าติดร้าย เพราะว่าสภาวะความดี เช่น การแสดงออกที่อ่อนโยน ไม่ก้าวร้าว ไม่โกรธใคร หรือต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวของเราเองต้องแบกความทุกข์เพราะเราอยากให้จิตที่ไม่ดีมันดี และอยากจะให้คนอื่นมองเราในแง่ดี ว่าเราเป็นนักภาวนาในความดี
การเป็นนักภาวนาในแง่ของการแสดงออก ผมเห็นด้วยว่าเราควรจะแสดงออกในทางที่ดีต่อคนอื่น ทั้งทางกายและวาจา ส่วนเรื่องของท่าทีและบุคลิกก็เป็นอีกอย่างที่อาจเป็นจริตนิสัยประจำตัวของคนๆ นั้น ทว่าสิ่งที่เราหลายคนกำลังเผชิญและควรจะยอมรับนั่นคือ “ความจริง” ที่เกิดขึ้นที่กายและใจ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม
การที่จะช่วยให้เรามองข้ามความดีเลวได้ นั่นคือ “ใช้ใจรู้” มากกว่า “ใช้หัวรู้” เพราะหัวของเรามักจะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี มีความพอใจ ไม่พอใจ ยินดี ยินร้ายในหลายๆ อย่าง และแนะนอนว่าหัวของเราถูกสอนมาตลอดว่าให้เป็นคนดี ขณะเดียวกัน การใช้ใจรู้หรือยอมรับความจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เพียงใจเรารู้เฉยๆ รู้ซื่อๆ ว่าตอนนี้จิตใจเป็นแบบนี้ ขณะนี้จิตใจแปรเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบ และรู้ตามจริงแต่ละขณะๆ ใจจะไม่ปรุงแต่งหรือยินดียินร้าย และจะอยู่กับความจริงที่เกิดขึ้น
การเรียนรู้กายและใจตามความเป็นจริง เป็นเรื่องธรรมดาที่มักเจอและเราหลายคนก็ไปสร้างภาพนักภาวนาที่สวยหรู เป็นคนอีกแบบหนึ่ง กลายเป็นติดดีและบางทีก็เกิดกิเลสแฝงเข้ามาโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะไปคิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น คนอื่นดีไม่เท่าตัวเอง
มาถึงตรงจุดนี้ผมจึงเข้าใจคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ว่า “ให้ปฏิบัติเหมือนไม่ได้ปฏิบัติ” หรือ “ให้ภาวนาเหมือนไม่ได้ภาวนา” ผมจึงมองว่านักภาวนาควรรู้ทันตัวเองตรงจุดนี้ หรืออาจต้องลืมเรื่องภาวนาไปก่อน หากยังติดในภาพนักภาวนาที่ตัวเองสร้างขึ้นและกลายเป็นคนไม่ธรรมดา และหันกลับมาให้ชีวิตตามปกติ ธรรมดา มีสุข มีทุกข์ ดีใจ เสียใจ มีความอยาก ความโกรธ ความหลง และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นในใจของตน เพราะจิตของการภาวนานี้เป็นการมองเข้ามายังตัวตนที่เป็นอยู่ มันเป็นเรื่องความจริงที่อยู่เหนือความดีความเลว เพียงแค่เรายอมรับความร้ายกาจ ยอมรับกิเลส ไม่ปฏิเสธ ไม่หนี ไม่ผลักไส และอดทนต่อการมาเยือนของสภาวะที่ไม่ชอบใจ เพียงแค่รู้ แค่ดูเฉยๆ
เพราะสภาวะร้ายๆ เราแค่รู้ข้างในใจตัวเองเพื่อให้เกิดปัญญา ส่วนการแสดงออกต่อผู้อื่นทางกาย วาจา ท่าที ก็ให้มีเมตตาอยู่ไว้ เพราะยังไงความจริงที่เราเผชิญก็จะทำให้เรามีปัญญาและเมตตาต่อตนเองและผู้อื่นไปอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม