มีนา
ถึง พันธกุมภา
จุดหมายปลายทาง การเดินทางธรรมของเธอครั้งนี้อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ที่...ซึ่งฉันไม่เคยไป หากหลายคนอยากไป ก็คงไม่ได้คิดถึงเรื่องการเดินทาง หากมักนึกถึงปลายทาง และในที่สุด...แม้รู้ว่าเธออาจจะเดินทางถึงวัดป่าสุคะโตแน่นอน เธอก็น่าจะเรียนรู้ระหว่างทางดังที่เธอเล่าให้เราฟัง
ฉันเคยพูดถึงเรื่องความกลัวระหว่างการเดินทาง “ในความกลัว” มาก่อนแล้ว ด้านหนึ่งฉันนึกเสมอว่า คนธรรมดาทั่วไปอย่างฉัน ร่ำเรียนมาด้วยวิธีคิดแบบมีเป้าหมาย โดยไม่สนใจระหว่างทาง หรือกระบวนการเรียนรู้ก่อนที่จะถึงเป้าหมาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว “ระหว่างทาง” เป็นสิ่งสำคัญมาก อาจจะมากกว่าเป้าหมายด้วยซ้ำไป
จากนักเรียนมัธยมสู่การเรียนมหาวิทยาลัย เป้าหมายอาจจะอยู่ที่การเรียนจบ การรับปริญญา ปริญญาบัตร หรือการได้เกียรตินิยม ความหมายของการเรียน มันอยู่ที่ปริญญาหรือการเรียนได้ที่หนึ่งเท่านั้นหรือ
สำหรับใครหลายคนขอเพียงแค่เรียนจบ ขอเพียงแค่สอบได้ เหล่านี้ล้วนเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ บางคนขอจบแบบมีเกียรตินิยมควบคู่มาด้วย นี่เองที่เป็นเป้าหมาย สิ่งนี้หรือคือคุณค่าของการศึกษา
เมื่อร่ำเรียนจบมาแล้ว เราอาจจะได้พบว่า เพื่อนเราที่ต้องออกจากการศึกษากระทันหัน (retired) ก็ล้วนเรียนอยู่กับเรา แล้วเขานำเอาวิชาความรู้ไปใช้ได้บ้างไหม มีจุดหมายอื่นหรือเปล่าที่เขาได้ทำแม้ว่าเขาอาจจะเรียนไม่จบได้ปริญญา หรือไปเรียนจบที่อื่นที่อาจจะมีศักดิ์ศรีน้อยกว่า จบช้ากว่า
เพื่อนๆ ฉันหลายคนที่ต้องออกจากการศึกษากลางคัน จำนวนหนึ่งไปเรียนต่อที่สถาบันอื่น อีกจำนวนหนึ่งกลับไปทำงาน หรือทำในสิ่งที่เขาสนใจ เช่น ‘เม’ เพื่อนคนหนึ่งที่เคยรีไทร์ไปขายเสื้อผ้าอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยที่เราเรียนด้วยกัน เขาเล่าให้ฟังว่า ความผิดพลาดที่ผ่านมา ทำให้เขาสู้กับการเรียนครั้งใหม่ในมหาวิทยาลัยเปิด เขาเรียนจบช้ากว่าเราเพียงปีเดียว และเขาก็มาทำงานไม่ต่างจากเรา ... เรื่องราวของเมบอกฉันว่า คนเราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้
ไม่ได้ผิดอะไรที่คนเราจะหกล้ม หรือล้มทั้งยืน หากเรายังมีลมหายใจ เราเรียนรู้มันได้ แม้จะต้องผ่านความเจ็บปวดบ้างก็ตาม
เราถูกสอนและให้คุณค่าจากผู้อื่น คนอื่น ในด้านการศึกษาว่าต้องประสบความสำเร็จในชีวิต ด้วยการเรียนจบ ทำงานที่เงินเดือนสูงๆ มีบ้านหลังโต มีรถแพงขับ ซึ่งไปผูกติดกับการบริโภคทั้งสิ้น คุณค่าของการศึกษาในท้ายที่สุดไปจบที่การตีค่าเป็นราคา ค่าเงิน
ไม่ใช่ว่าเงินไม่สำคัญ หรือเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับ “ความสำเร็จ” แต่คุณภาพอีกหลายอย่าง เช่น สุขภาพ ความสุข การมีชีวิตที่ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน เหล่านี้ไม่ได้ถูกวัดออกมาเป็นคุณค่าเลย อีกอย่างหนึ่งคนสมัยเราอาจจะให้คุณค่าของเงินเกินกว่าที่มันเป็น คือให้เงินตีค่าเสียหมด แต่ความสุขที่จะได้ทำงาน สุขภาพที่ดีจนกว่าจะหมดอายุขัย กลับถูกมองข้าม ละเลย
ช่วงที่พระพุทธองค์ทรงพากเพียรเพื่อเรียนรู้ทางธรรมหรือหนทางแห่งการปล่อยวางอย่างที่สุด เราขอใช้คำนี้ เพราะสำหรับเราแล้ว พระพุทธองค์ทรงเรียนรู้ด้วยพระองค์เองและให้ความสำคัญทุกขณะหายใจ หลับ เดิน นั่งหรือนอน ทรงปล่อยวางจากความวิตก กังวล ความไม่สบายใจใดๆ ทั้งปวง ที่คนสมัยเรายากที่จะเรียนรู้
คนในสมัยเรา เรียนรู้เพื่อจะให้ถึงเป้าหมาย โดยละทิ้งระหว่างทางสู่เป้าหมาย ซึ่งอาจมีสาระสำคัญยิ่งกว่าเสียอีก...
ระหว่างทางที่พระพุทธองค์ทรงเรียนรู้ แม้ไม่ใช่ทุกข์ของพระองค์ แต่พระพุทธองค์เห็นทุกข์ของมนุษย์ ที่มีทั้งความอยากต่อเงินทอง อยากต่อสิ่งของของคนอื่น อยากในสิ่งที่มากเกินความต้องการ ซึ่งก่อให้เกิดความเบียดเบียนต่อผู้อื่น เบียดเบียนเพื่อมาเป็นสิ่งของๆ เรา นำมาครอบครอง ท่านครุ่นคิดถึงการละวางความอยากเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าจะละวางได้ทันที แต่เป็นการลด ค่อยๆ ลด ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้จิตใจของตนไปด้วย
การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพียงแค่นั่งหลับตาแล้วตามลมหายใจ เดิน นั่ง และนอนอย่างมีสติเท่านั้น ต้องรวมการเรียนรู้ที่จะมีปัญญาในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการลดที่จะยึด ลดที่จะติด กับสิ่งใดๆ โดยเฉพาะตัวเราเอง ยึดกับความสำเร็จ ยึดที่จะต้องเป็นสิ่งนั้นๆ ไปด้วย สิ่งที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ก็คือคนรอบข้าง ทั้งเพื่อน ญาติ พี่ น้อง พ่อ แม่ เพื่อนร่วมงานที่สนับสนุนเรา และให้ข้อคิดที่ดีกับเราได้ เช่นเดียวกับการอยู่รวมกันของสงฆ์ หรือ สังฆะ ที่แปลว่าการรวมกัน “ความเป็นชุมชน” ที่ไม่ยึดกับพื้นที่ว่าต้องเป็นวัดนี้ บ้านนั้น อาศรมที่นี่เท่านั้นที่เราจะรวมกันได้ หากหมายถึงการรวมกันเพื่อเรียนรู้สู่ทางที่จะไปด้วยกัน
ทางธรรม ไม่ใช่เพียงต้องไปถึงวัดป่าสุคะโต แต่วัดป่าสุคะโตเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เราเดินไปสู่ทางธรรมทางหนึ่ง ... ระหว่างทาง และยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ สำเร็จอย่างไร คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก