Skip to main content

มีนา

20080321 ภาพพระอาทิตย์ยามเย็น

ถึง พันธกุมภา

จุดหมายปลายทาง การเดินทางธรรมของเธอครั้งนี้อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ที่...ซึ่งฉันไม่เคยไป หากหลายคนอยากไป ก็คงไม่ได้คิดถึงเรื่องการเดินทาง หากมักนึกถึงปลายทาง และในที่สุด...แม้รู้ว่าเธออาจจะเดินทางถึงวัดป่าสุคะโตแน่นอน เธอก็น่าจะเรียนรู้ระหว่างทางดังที่เธอเล่าให้เราฟัง

ฉันเคยพูดถึงเรื่องความกลัวระหว่างการเดินทาง “ในความกลัว” มาก่อนแล้ว ด้านหนึ่งฉันนึกเสมอว่า คนธรรมดาทั่วไปอย่างฉัน ร่ำเรียนมาด้วยวิธีคิดแบบมีเป้าหมาย โดยไม่สนใจระหว่างทาง หรือกระบวนการเรียนรู้ก่อนที่จะถึงเป้าหมาย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว “ระหว่างทาง” เป็นสิ่งสำคัญมาก อาจจะมากกว่าเป้าหมายด้วยซ้ำไป

จากนักเรียนมัธยมสู่การเรียนมหาวิทยาลัย เป้าหมายอาจจะอยู่ที่การเรียนจบ การรับปริญญา ปริญญาบัตร หรือการได้เกียรตินิยม ความหมายของการเรียน มันอยู่ที่ปริญญาหรือการเรียนได้ที่หนึ่งเท่านั้นหรือ

สำหรับใครหลายคนขอเพียงแค่เรียนจบ ขอเพียงแค่สอบได้ เหล่านี้ล้วนเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ บางคนขอจบแบบมีเกียรตินิยมควบคู่มาด้วย นี่เองที่เป็นเป้าหมาย สิ่งนี้หรือคือคุณค่าของการศึกษา

เมื่อร่ำเรียนจบมาแล้ว เราอาจจะได้พบว่า เพื่อนเราที่ต้องออกจากการศึกษากระทันหัน (retired) ก็ล้วนเรียนอยู่กับเรา แล้วเขานำเอาวิชาความรู้ไปใช้ได้บ้างไหม มีจุดหมายอื่นหรือเปล่าที่เขาได้ทำแม้ว่าเขาอาจจะเรียนไม่จบได้ปริญญา หรือไปเรียนจบที่อื่นที่อาจจะมีศักดิ์ศรีน้อยกว่า จบช้ากว่า

เพื่อนๆ ฉันหลายคนที่ต้องออกจากการศึกษากลางคัน จำนวนหนึ่งไปเรียนต่อที่สถาบันอื่น อีกจำนวนหนึ่งกลับไปทำงาน หรือทำในสิ่งที่เขาสนใจ  เช่น ‘เม’ เพื่อนคนหนึ่งที่เคยรีไทร์ไปขายเสื้อผ้าอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยที่เราเรียนด้วยกัน เขาเล่าให้ฟังว่า ความผิดพลาดที่ผ่านมา ทำให้เขาสู้กับการเรียนครั้งใหม่ในมหาวิทยาลัยเปิด เขาเรียนจบช้ากว่าเราเพียงปีเดียว และเขาก็มาทำงานไม่ต่างจากเรา ... เรื่องราวของเมบอกฉันว่า คนเราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้

ไม่ได้ผิดอะไรที่คนเราจะหกล้ม หรือล้มทั้งยืน หากเรายังมีลมหายใจ เราเรียนรู้มันได้ แม้จะต้องผ่านความเจ็บปวดบ้างก็ตาม

เราถูกสอนและให้คุณค่าจากผู้อื่น คนอื่น ในด้านการศึกษาว่าต้องประสบความสำเร็จในชีวิต ด้วยการเรียนจบ ทำงานที่เงินเดือนสูงๆ มีบ้านหลังโต มีรถแพงขับ ซึ่งไปผูกติดกับการบริโภคทั้งสิ้น คุณค่าของการศึกษาในท้ายที่สุดไปจบที่การตีค่าเป็นราคา ค่าเงิน

ไม่ใช่ว่าเงินไม่สำคัญ หรือเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับ “ความสำเร็จ” แต่คุณภาพอีกหลายอย่าง เช่น สุขภาพ ความสุข การมีชีวิตที่ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน เหล่านี้ไม่ได้ถูกวัดออกมาเป็นคุณค่าเลย อีกอย่างหนึ่งคนสมัยเราอาจจะให้คุณค่าของเงินเกินกว่าที่มันเป็น คือให้เงินตีค่าเสียหมด แต่ความสุขที่จะได้ทำงาน สุขภาพที่ดีจนกว่าจะหมดอายุขัย กลับถูกมองข้าม ละเลย

ช่วงที่พระพุทธองค์ทรงพากเพียรเพื่อเรียนรู้ทางธรรมหรือหนทางแห่งการปล่อยวางอย่างที่สุด เราขอใช้คำนี้ เพราะสำหรับเราแล้ว พระพุทธองค์ทรงเรียนรู้ด้วยพระองค์เองและให้ความสำคัญทุกขณะหายใจ หลับ เดิน นั่งหรือนอน ทรงปล่อยวางจากความวิตก กังวล ความไม่สบายใจใดๆ ทั้งปวง ที่คนสมัยเรายากที่จะเรียนรู้

คนในสมัยเรา เรียนรู้เพื่อจะให้ถึงเป้าหมาย โดยละทิ้งระหว่างทางสู่เป้าหมาย ซึ่งอาจมีสาระสำคัญยิ่งกว่าเสียอีก...

ระหว่างทางที่พระพุทธองค์ทรงเรียนรู้ แม้ไม่ใช่ทุกข์ของพระองค์ แต่พระพุทธองค์เห็นทุกข์ของมนุษย์ ที่มีทั้งความอยากต่อเงินทอง อยากต่อสิ่งของของคนอื่น อยากในสิ่งที่มากเกินความต้องการ ซึ่งก่อให้เกิดความเบียดเบียนต่อผู้อื่น เบียดเบียนเพื่อมาเป็นสิ่งของๆ เรา นำมาครอบครอง ท่านครุ่นคิดถึงการละวางความอยากเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าจะละวางได้ทันที แต่เป็นการลด ค่อยๆ ลด ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้จิตใจของตนไปด้วย

การปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพียงแค่นั่งหลับตาแล้วตามลมหายใจ เดิน นั่ง และนอนอย่างมีสติเท่านั้น ต้องรวมการเรียนรู้ที่จะมีปัญญาในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการลดที่จะยึด ลดที่จะติด กับสิ่งใดๆ โดยเฉพาะตัวเราเอง ยึดกับความสำเร็จ ยึดที่จะต้องเป็นสิ่งนั้นๆ ไปด้วย สิ่งที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ก็คือคนรอบข้าง ทั้งเพื่อน ญาติ พี่ น้อง พ่อ แม่ เพื่อนร่วมงานที่สนับสนุนเรา และให้ข้อคิดที่ดีกับเราได้ เช่นเดียวกับการอยู่รวมกันของสงฆ์ หรือ สังฆะ ที่แปลว่าการรวมกัน “ความเป็นชุมชน” ที่ไม่ยึดกับพื้นที่ว่าต้องเป็นวัดนี้ บ้านนั้น อาศรมที่นี่เท่านั้นที่เราจะรวมกันได้ หากหมายถึงการรวมกันเพื่อเรียนรู้สู่ทางที่จะไปด้วยกัน

ทางธรรม ไม่ใช่เพียงต้องไปถึงวัดป่าสุคะโต แต่วัดป่าสุคะโตเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้เราเดินไปสู่ทางธรรมทางหนึ่ง ... ระหว่างทาง และยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ สำเร็จอย่างไร คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์