Skip to main content

มีนา

ถึง พันธกุมภา

อายุ...วัย หากเราเพียงแบ่งแค่ผู้ใหญ่กับเด็กเหมือนกับสังคมทั่วๆ ไปเขามองกัน เราอาจจะมองเห็นคนแค่ 3 กลุ่มในช่วงชีวิต คือเด็ก วัยทำงาน และผู้ใหญ่ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงของชีวิต ทั้งการเข้าสู่การเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตทั่วไป เราต้องเคารพคนที่อายุมากกว่าเราหรืออาจจะต้องนับถือคนที่อายุน้อยกว่าเราแต่มีคุณสมบัติมากกว่า

คุณสมบัติทั้งการศึกษา การใช้ภาษาอังกฤษ ครอบครัวมีฐานะดี พ่อแม่เลี้ยงดูมาอย่างดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ พี่ขอเรียกว่าเป็น “คุณสมบัติทางโลก” ซึ่งอาจจะไม่ใช่ “ความดี” ที่เมื่อก่อนได้รับการให้คุณค่าอย่างสูง ไม่ว่าเราจะอยู่ในวัยใด ความดีไม่มีอายุ หากแบ่งแยกกับความไม่ดี/ความชั่ว เท่านั้น

“ธรรม” แห่งพระพุทธองค์ไม่ได้เลือกว่า คนๆ นั้นจะสนใจอะไรในการทำความดี คำว่า “กระแส” สำหรับพี่จึงเท่ากับ “ฮิต” อย่างเช่น กระแสสังคมที่มองว่าวัยรุ่น “เปราะบาง” ป้อนสิ่งใดเข้าไปก็รับง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องไม่ดี  ที่ทำให้ผู้ใหญ่ตกใจและตื่นเต้นมากมาย สิ่งเหล่านี้เห็นอยู่ในหน้าข่าวบ่อยๆ

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ข่าวดีของเด็กมักไม่เป็นที่สนใจและกล่าวถึง ทั้งๆ ที่มีข่าวดีๆ อยู่มาก อย่างเช่น การสอบเข้าเรียนต่อ การได้รับทุนการศึกษา เด็กที่ช่วยเหลือพ่อแม่ทำงาน ฯลฯ แต่ข่าวที่ได้รับความสนใจกลับเป็นเรื่องเด็กวัยรุ่นกระทำความรุนแรง หรือตกเป็นเหยื่อของการถูกกระทำความรุนแรง กลับได้รับความสนใจอย่างมากมาย เช่น เด็กติดเกม เด็กตบตีกันแล้วถ่ายเป็นคลิปมือถือ...แล้วคนรุ่นก่อนหน้านี้ ไม่เคยกระทำความรุนแรงต่อกันเลยหรืออย่างไร ทำไมจึงกล่าวร้ายเฉพาะเด็กวัยรุ่นสมัยนี้เท่านั้น

ในสมัยพุทธกาลก็ยังมีคนที่ทำสงคราม เป็นทหาร เป็นอันธพาล ทั้งๆ ที่มีพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นครูที่ดี สามารถล่วงรู้ถึงการบรรลุธรรมและช่วยชี้แนะให้คนๆ นั้นสามารถเข้าถึงทางธรรมในรูปแบบต่างๆ ได้ ดังเช่น ท่านองคุลีมาร แม้มีบุญมากแต่ก็มีกรรมหนักเช่นกัน พระพุทธองค์ต้องตัดสินใจที่จะช่วยท่านก่อนที่ท่านจะทำกรรมหนักด้วย อีกด้านหนึ่งบุญเก่าที่ท่าองคุลีมารสร้างก็น่าจะถึงเวลาแห่งการบรรลุธรรมแล้ว พระพุทธองค์เพียงกล่าวธรรมที่สะกิดใจท่านว่า “เราหยุดแล้ว...ท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด...” หากท่านองคุลีมารไม่มีปัญญา (ปัญญาญาณ) แล้วคงไม่สามารถเข้าถึงธรรมแห่งพระพุทธองค์และเดินทางสายนิพพานได้ถึงที่สุด

ถึงแม้ท่านจะเลือกแล้วว่าจะเลือกเดินทางสายนิพพาน แต่ในระหว่างทางที่ท่านดำเนินเพื่อให้ถึงพระนิพพาน ท่านเองก็ต้องใช้กรรมเก่าที่ท่านได้ทำไว้ เนื่องจากท่านฆ่าคนมากมาย ท่านต้องอดทนกับความเกลียด ความกลัว ความไม่เชื่อถือท่านในฐานะพระอริยบุคคลจากชาวบ้าน ญาติพี่น้องของคนที่ท่านฆ่าตั้งแต่สมัยก่อนบวช

โดยตัวของท่านเอง ท่านก็ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญธรรมไม่ต่างกับศิษย์ท่านอื่นๆ ของพระพุทธองค์ เมื่อท่านบิณฑบาตรท่านก็ต้องเผชิญหน้ากับญาติ พี่ น้อง ของคนที่ท่านเคยฆ่า แม้จะเป็นการฆ่าด้วยความหลงผิด ความไม่รู้ ท่านก็ต้องรับในสิ่งที่ตนทำ ซึ่งความน่านับถือท่านองคุลีมารอยู่ตรงที่ ท่านเป็นผู้มีขันติธรรมสูงมาก เมื่อท่านตัดสินใจว่าท่านจะเดินทางธรรม ท่านต้องปล่อยวางจากความโกรธ ลด ละ ความรุนแรง ที่แม้มีคนกระทำกับท่าน หากท่านยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่านกระทำกับเขาก่อน หากก็ไม่ได้ทำให้ถึงแก่ชีวิต ทางธรรมที่ท่านเลือกนี้ ท่านต้องรักษาสันติ (peace) เอาไว้ ไม่เพียงแต่ท่านต้องรักษาความสงบภายในใจแล้ว ท่านยังต้องรักษาความสงบสันติที่ท่านจะพึงตอบผู้ที่กระทำกับท่านหรือไม่ด้วย ท่านองคุลีมารน่าจะมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์จากการปฏิบัติไม่น้อย แต่ท่านก็ไม่เคยตอบโต้คนที่กลับมาทำร้ายท่านเลย ไม่ว่าศิษย์แห่งพระพุทธองค์คนใดก็ไม่เคยใช้ฤทธิ์เดชในทางที่ไม่สร้างสรรค์ หรือทำให้ผู้อื่นต้องเดือนร้อน

ธรรมข้อนี้ต่างหากที่พุทธศาสนิกชนมักนำไปใช้แต่เข้าไม่ถึง การต่อสู้กับสิ่งใดๆ ด้วยความสงบสันติ ไม่ใช่เพียงแค่เราบอกคนอื่นว่า เราสู้ด้วย “สันติวิธี” หากแต่ตัวเราต้องสู้กับใจตนเองด้วยความสงบ สันติ และไม่กดอารมณ์ จนกระทั่งระเบิดเช่นเดียวกัน ดังที่ท่านองคุลีมารไม่เคยใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือร่างกายตอบโต้คนอื่น หลังจากที่ท่านเลือกเดินทางธรรมอีกเลย

อย่างไรก็ตาม แม้พระพุทธเจ้าจะมีพระสงฆ์ ศิษย์แห่งพระองค์มากมายนับไม่ถ้วน หากก็ยังมีคนอีกมากที่ไม่สามารถเข้าถึงพระธรรมหรือความรู้แห่งพุทธศาสนา ท่านก็ไม่ได้ทำให้ทุกคนเข้าถึงพระธรรมได้อย่างแท้จริง หลายสังคมที่รับเอาพระพุทธศาสนาไปต่างก็นำกลับไปปรับเพื่อปฏิบัติเพื่อเข้ากับสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง และเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา รวมทั้งเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากมาย

การที่นนท์และพันธกุมภา “ฮิตธรรมะ” ก็อาจจะเป็นกระแสใหม่ๆ สำหรับวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ใช่วัยรุ่นทุกกลุ่ม เท่าที่เห็นยังมีหนุ่มสาวอีกมากมายที่ตามกระแสอื่นๆ โดยเฉพาะช่วงสอนเอ็นทรานซ์เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย คำติดปากสำหรับทุกคนก็ต้องถามว่า “เรียนที่ไหน...” หากได้คณะและสถาบันที่ตนเองต้องการก็ไม่เครียด ไม่กลุ้มมากนัก แต่ถ้าไม่ได้...ก็ต้องทำใจ ไม่ว่าจะ “สมหวัง” หรือ “ผิดหวัง” ก็ตาม น่าจะเป็นสิ่งที่สอนธรรมให้แก่เรา อย่างน้อยก็สอนให้เรา ปล่อย สอนให้เรา วาง ในสิ่งนั้นๆ ไม่แน่ว่าสิ่งที่เราสมหวังในวันนี้ อาจจะก่อให้เกิดความผิดหวังในอนาคตก็ได้

สมัยที่พี่เรียนในระดับมหาวิทยาลัย ตอนสอบเข้าได้พี่จำได้ว่าเพื่อนๆ ที่มีที่เรียนเป็นมหาวิทยาลัยรัฐบาล มีความสุขมาก ยิ่งบางคนได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีก สำหรับพี่ ตอนนั้นรู้แต่ว่า เราไม่ต้องเหนื่อยลุ้นอีกแล้ว เรามีที่เรียนแล้ว แต่ใครหลายคนที่ไม่มีที่เรียนก็คงจะทุกข์และเริ่มหาทางใหม่ๆ เพื่อนๆ หลายคนมีความอดทนและต้องคิดค่อนข้างมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีฐานะดี หลายคนต้องดิ้นรน พ่อแม่ต้องขายบางอย่างเพื่อให้ลูกได้เรียน เพื่อนบางคนพ่อแม่สามารถส่งให้เรียนมหาวิทยาลัยเอกชน พอมีฐานะนิดหน่อยและจัดการกับเรื่องการเรียนได้

เรื่องเรียนเหล่านี้สอนอะไรให้กับพี่?

อาจไม่ต่างกับเด็กสมัยนี้ตรงที่ พี่เรียนรู้ว่าสอบเข้าได้ เพื่อนเรียนรู้ว่าสอบไม่ได้ พี่เรียนรู้ว่าเราน่าจะเห็นอกเห็นใจเพื่อนที่สอบไม่ได้ และเรียนรู้ที่จะรอรับความผิดหวังบางอย่างที่ยังมาไม่ถึง เพื่อนๆ หลายคนที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิดหรือมหาวิทยาลัยเอกชนมักคิดว่า เขาเก่งน้อยกว่าเราและเรียนรู้ที่จะมีความอดทนมากกว่าเรา เลือกได้น้อยกว่าเรา แต่พี่บอกได้เลยว่า...วันนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่า “ประสบความสำเร็จ”

คนทุกคนต่างอยากประสบความสำเร็จ แต่จะมีสักกี่คนที่อยากบอกว่า เราอยากมีความสุขใจ เราเรียนรู้ที่จะมีความสุขได้อย่างไร

การเข้าเรียนของเพื่อนอาจผิดหวังว่าไม่ได้เรียนในสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากสังคม แต่อาจจะสมหวังที่มีครอบครัวที่ดี คอยให้กำลังใจและการสนับสนุนไม่ได้ขาดตกบกพร่อง คนที่เข้ามหาวิทยาลัยรัฐได้ อาจจะผิดหวังกับสิ่งที่เลือกแต่ต้องจำใจเรียน หรือพบเพื่อนที่แย่ ครอบครัวต้องขายทรัพย์สินเพื่อมาจุนเจือ

ชีวิตของคนเรามีทั้งสมหวัง ผิดหวัง อยู่ตลอดเวลา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หากมนุษย์ปราศจากความหวังแล้วก็อาจจะไม่มีการต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อให้ได้อะไร ทำไมเราไม่ลองถามตัวเองดูว่า เมื่อคาดหวังแล้วปล่อยวางมันได้ไหม หรืออย่างน้อยรู้เท่าทันตัวเองว่า “อ้อ! นี่มันเป็นความคาดหวังของเรา” ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องทำ ก็อาจจะพอช่วยได้บ้าง ไม่ใช่ว่าชีวิตต้องสมหวัง-ผิดหวัง ตลอดเวลา

ธรรมเริ่มได้ทุกที่ ทุกเวลา เราจะรู้ว่าธรรมง่ายกว่าที่คิด    

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์