Skip to main content

ร.๕ "ประกาศเลิกทาส" ภายหลังจากระบบไพร่ทาสได้พังพินาศไปเรียบร้อยแล้วในทางข้อเท็จจริง

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

การเลิกไพร่ทาสของรัชกาลที่ ๕ มันเป็นการ "ยกเลิก" ในทาง"แบบพิธี" ครับ เพราะในความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ระบบไพร่" มันไม่สามารถดำรงอยู่ได้อยู่แล้ว สมัยรัชกาลที่ ๕ ระบบไพร่มันจะล่มสลายอยู่แล้ว อาการทรุดหนักปรากฏชัดในสมัยรัชกาลที่ ๒ ออกพระราชกำหนดขอร้องให้ไพร่ที่หนีเข้าป่า ให้ออกมาจากป่าเสียเถิด แล้วจะไม่เอาผิดใดๆทั้งสิ้น และให้โอกาสเปลี่ยนมูลนายได้ตามชอบใจ และเสนออีกว่า ถ้าไพร่เห็นมูลนายคนไหนกดขี่ ก็ไปขอขึ้นทะเบียนสังกัดมูลนายคนใหม่ได้เรื่อย ๆ (ซึ่งการให้อำนาจเปลี่ยนมูลนายได้นี้สะท้อนถึงการ "ยอมถอย" อย่างถึงที่สุดของระบบไพร่)

แม้กระนั้น การประนีประนอมนี้ก็ไม่ทำให้สภาพการณ์ดีขึ้น - ไพร่ ซึ่งเป็น "แรงงานสำคัญในระบอบศักดินา" มีปริมาณน้อยลงน่าวิตกอย่างถึงขีดสุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในเมืองก็เหลือแต่ทาสซึ่งไม่ใช่ "แรงงาน" ของระบบ (ไพร่ก็หนีซุกซ่อนตามป่า จะจับก็จับตัวไม่ได้เพราะซ่องสุมกำลังกันเยอะ ร.๓ ออกประกาศให้เลิกซ่องเสีย ก็ปราบไม่สำเร็จ หรือไม่ก็หนีไปบวช หรือขายตัวไปเป็นทาส) กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ในระบบไพร่ทาส ถ้าคุณไม่มีไพร่ ก็ไม่มีแรงงาน ในเมืองเหลือแต่ทาส ซึ่งไม่มีประโยชน์ในการผลิตและไม่ก่อรายได้ทางภาษี มีทาสก็หมดเปลืองทรัพยากรเปล่าๆ รับใช้นายเงินเท่านั้น และทาสก็ขึ้นกับนายเงินอย่างเดียว(ในความสัมพันธ์ทางหนี้) ไม่ได้ขึ้นต่อมูลนายสูงสุด คือ กษัตริย์ (อย่างเช่นไพร่)

นั่นหมายความว่า ในทางข้อเท็จจริง ระบบไพร่-ทาส มันอยู่ไม่ได้โดยปัญหาโครงสร้างของ "สถาบันไพร่" อยู่แล้วน่ะครับ เป็นปัญหามาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ บ้างเมืองรกร้าง คนหนีเข้าป่า มีมาเฟีย(มูลนายผู้มีอิทธิพล)ช่วยเหลือพวกไพร่หนีเข้าป่าแลกกับการเก็บของ ป่าส่งส่วยให้มาเฟีย - ส่งผลกระทบต่อการขาดแรงงานทั้งระบบครับ และการเปิดการค้าเสรีและทลายการผูกขาดการค้า(อันเนื่องมาจากสนธิสัญญา เบาว์ริ่ง) ก็เป็นปัจจัยหนึ่งเช่นกันที่ทำให้ต้องเพิ่มการผลิต อีกทั้งความเข้าใจผิดในข้อสัญญาระหว่างประเทศที่ไปทำกับนานาชาติ (นักประวัติศาสตร์ไทยปัจจุบันก็อ่านสัญญาระหว่างประเทศฉบับนี้โดยเข้าใจผิด เนื่องจากไม่รู้วิธีพิจารณาผลทางกฎหมายระหว่างประเทศ จากเงื่อนไขในอนุมาตราต่างๆของข้อตกลง) และส่งผลให้เกิดทหารแยกพลเรือนขึ้นจากความเข้าใจผิดครั้งนั้น ฯลฯ

การจะสร้าง modern state มันต้องการ "คน" หากปล่อยให้สภาพการณ์ดำรงระบบไพร่-ทาส คนก็จะหนีเข้าป่า เมืองจะร้าง ไม่มีสรรพกำลังที่จะเป็นมือเท้ารับใช้พวกเจ้าอีกต่อไป (การเป็นทาสนั้นสบายกว่าการเป็นไพร่ เพราะทาสนั้นได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีครับ แม้จะมีศักดินาต่ำสุด แต่ความเป็นอยู่นั้นดีกว่าไพร่ สถานะ "ไพร่" เนี่ยคนไม่อยากเป็นกันหรอก ไพร่หนีสถานะนี้ไปขายตัวเป็นทาสหมด เพราะไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน จนต้องมีกฎหมายห้ามขายตัวเป็นทาส - แม้เมื่อเลิกทาสแล้ว จึงยังมีคนจำนวนนึงที่ยังอยากเป็นทาสอยู่ เพราะสบาย อยู่แบบคนใช้ในครัวเรือนนี่เอง ไม่ต้องไปแบกหาม ใช้แรงงานหลายๆเดือนแบบไพร่ ไม่ต้องส่งส่วยอีกต่างหาก ไม่ต้องเสียภาษี เพราะทาสคือทรัพย์ - เหมือนสัตว์ เขาไม่เก็บเงินจากเดรัจฉานกัน)

สรุป รัชกาลที่ ๕ มาประกาศเลิกทาส ก็เมื่อ "ตลาดวาย" ไปเสียแล้ว เพราะในความเป็นจริง รัชกาลที่ ๕ ก็คุมไพร่ไม่อยู่ เมื่อไม่มีไพร่ ราชสำนักก็อยู่ไม่ได้(ขาดแรงงานอย่างยิ่งยวด) ระบบไพร่และทาส มันจึงต้องพินาศโดยตัวโครงสร้างของมันเอง - เมื่อดึงไพร่ออกจากระบบ ก็เหลือแต่ "ทาส" ซึ่งรับใช้แต่นายเงิน ไม่เป็นปัจจัยการผลิต ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน ไม่ใช่ทหารในยามปกติ ซึ่งทหารหรือไพร่จะเป็นกำลังสำคัญในการแสดงออกถึงอำนาจ (อำนาจแบบดิบๆ รวมศูนย์โดยกำจัดอิทธิพลท้องถิ่น ต้องมีอาวุธ มีคนเยอะๆ ให้อำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง) ในการสร้างรัฐสมัยใหม่ เมื่อทาสไร้ประโยชน์เสียเช่นนี้ก็ต้องยกเลิกทาส แล้วให้ทุกคนเปลี่ยนจากตีทะเบียนเลกทะเบียนทาส มาตีทะเบียนราษฎร แทน ทุกคนขึ้นตรงต่อกษัตริย์ทั้งหมด ไม่มีมูลนายกลุ่มอิทธิพลอื่นใดอีกต่อไป พวกไพร่เดิมก็ออกมาจากป่า เพราะไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานทีละหลายๆเดือนอีกแล้ว และต่อแต่นั้นการทำงานก็เพิ่งจะเริ่มระบบ "เงินเดือน" เพื่อจูงใจให้คนออกจากป่าเข้ามาทำงานในเมือง คือ การทำงาน ต้องได้ค่าตอบแทน นี่เป็นธรรมเนียมใหม่ ให้คนยอมกลับเข้าเมืองอีกครั้ง (ก่อนหน้านั้น ไพร่ทำงานฟรี ไม่มีเงินเดือนให้ ไม่มีค่าตอบแทน - สัญญาจ้างแรงงานในระบบไพร่จึงไม่มีความสำคัญในระบบกฎหมาย - ทั้งนี้การใช้แรงงานฟรีๆ ก็แลกกับความคุ้มครองตามกฎหมายตราสามดวง ครับ ถ้าคุณไม่ตีทะเบียนเป็นไพร่ คุณก็จะเป็นพวกจรจัด กฎหมายตราสามดวงไม่คุ้มครองให้ ใครจะฆ่าจะแกงคนจรจัด ก็ไม่ผิดกฎหมาย และถ้าคนจรจัดถูกราชการจับได้ ก็จะถูกส่งเป็น ไพร่หลวง/พวกเกณฑ์แรงงานหนักเดนตาย)

ร.๕ ไม่ได้เลิกทาสด้วยความเมตตากรุณาหรอก ไม่ใช่เพราะมองการณ์ไกลด้วย แต่กลไกของระบบไพร่-ทาส มันไปต่อไม่ได้จริงๆ น่ะ เรื้อรังมาสามรัชกาลแล้วล่ะครับ และเป็นการประกาศแบบตลาดวายแล้วด้วย พวกทาสเองก็รักสบาย ไม่อยากทำงาน ถนัดกับการเกาะเจ้านายเงิน เลี้ยงดูจนตาย เรื่องราวมันก็เป็นแบบนี้.

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
เกร็ดความรู้ : เหตุใดคณะนิติราษฎร์เสนอให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ในรูป "รัฐธรรมนูญ" พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พระยาพหลฯมิได้อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ในย่ำรุ่ง ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ (เทียบเคียงบันทึกความทรงจำและบทความคุณปรามินทร์) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล (เผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุค ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๕)
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปกิณกะว่าด้วยการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ : ปัญหาจากการเดินตามศาลรัฐธรรมนูญงดโหวตวาระสาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
 ธรรมชาติของการใช้อำนาจรัฐโดยกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ว่าด้วยการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕* พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ๑.มุมมองทางกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อความคิดเรื่องหลัก The King can do no wrong ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, รวบรวม หมายเหตุ : ท่านที่จะนำไปใช้กรุณาให้เครดิตการค้นคว้าฐานข้อมูลดิบของผมด้วย  ๑.ขุนหลวงพระไกรสี (เทียม)
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ส.ส.จังหวัดพิบูลสงครามต้องพ้นจากสมาชิกภาพเพราะเหตุไทยคืนดินแดนส่วนนั้นแก่รัฐอื่นรึไม่ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
"พระราชหัตถเลขาแสดงพระปีติโสมนัสภายหลังการรัฐประหารสำเร็จ ถึงจอมพล ป.พิบูลสงคราม" (ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๐) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล [ค้นคว้าเอกสารและเรียบเรียง] "...นอกจากจะปรากฏไว้ใน ประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังเป็นตัวอย่างอันดี งามแก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไปอีก ด้วย...
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พัฒนาการผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน, ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ :ในระบบกฎหมายไทย [โดยสังเขป] พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ในบทความนี้จำแนกการเข้าสู่ตำแหน่ง "องค์ที่ทำหน้าที่ดำเนินพระราชภาระแทนพระองค์" ออกเป็น ๓ ประเภท ๑.สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ๒.สมัยเปลี่ยนระบอบการปกครอง ๓.สมัยนับแต่ปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ จะเผยข้อสังเกตในชั้นนี้เบื้องต้น เพื่อให้เห็นประเด็นในการอ่านของชั้นถัดไป
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์คำแนะนำของศาลปกครอง : ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องศาลปกครองเพื่อตรวจสอบ กสทช.? พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ตามข่าวที่ระบุว่า ศาลปกครอง ให้คำแนะนำผู้ฟ้องคดีไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมาฟ้องศาลปกครองได้นั้น๑ คำแนะนำดังกล่าวเป็นคำแนะนำที่ไม่ได้พิจารณาอำนาจการฟ้องคดีของผู้ตรวจการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่อย่างใด ผมจะอธิบายโดยสังเขปดังนี้
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์หยุด แสงอุทัย เรื่อง "อำนาจที่เป็นกลาง" (Pouvoir neutre) ของกษัตริย์ในการยุบสภาฯ ได้ตามอำเภอใจ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
 เกร็ดบางตอน - วิกฤติตุลาการ ๓๔ กับ การวิจารณ์กษัตริย์ในวงตุลาการ