Skip to main content

ตอบ 'ข้อโต้แย้งของ พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก (กิตติศักดิ์ ปรกติ)' ภาค๒

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

     หลังจากที่ผมได้เผยแพร่บทความโต้แย้งพระยานิติวิบัติดำน้ำลึก (กิตติศักดิ์ ปรกติ) นักกีฬาดำน้ำทีมชาติแห่งคณะนิติศาสตร์ มธ. ไปแล้วนั้น[๑] พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก (กิตติศักดิ์ ปรกติ) ท่านได้เขียนบทความโต้แย้งผมเรื่อง "ว่าด้วยความมีส่วนได้เสียและข้อห้ามนั่งพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ – อีกครั้ง"[๒] ซึ่งจากบทความโต้แย้งของท่าน ผมขอตอบข้อโต้แย้งของท่าน ดังนี้

ในส่วนที่ ๑ ของบทความเป็นการอธิบายมาตรา ๑๘ ของรัฐบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญฯ (เยอรมัน) ตามความเข้าใจเดิมของท่าน และชี้ว่า ในคราวนี้ "รัฐสภา" ไม่ได้โต้แย้ง "ตุลาการที่มีเหตุกังวล/อคติ" ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายนุรักษ์ มาประณีต เอง จึงช่วยไม่ได้นั้นเนื่องจาก "รัฐสภา" ไม่ยอมรับเขตอำนาจศาลเอง ผมขอเรียนท่านว่า ตามที่ผมเรียนไปในบทความโต้แย้งท่านพระยานิติวิบัติดำน้ำลึก ผมชี้ว่า ตุลาการทั้งสามไร้มโนสำนึกแห่งวิชาชีพ จึงไม่ถอนตัวออกจากองค์คณะ เป็นเช่นนั้นครับ กล่าวคือ ถึงแม้คู่ความจะไม่โต้แย้ง แต่ด้วยมโนสำนึกแห่งวิชาชีพตุลาการ ย่อมต้องจำนนด้วยความละอายในความด่างพร้อยที่จะนั่งพิจารณาคดีด้วยตนเอง หาจำต้องรอให้คู่ความโต้แย้งไม่ นี่คือเรื่องมโนสำนึกแห่งวิชาชีพ

     ส่วนกรณีการตีความมาตรา ๑๘ (๓) ของท่าน ซึ่งตัวบทบัญญัติว่าเป็นคนละกรณีกับมาตรา ๑๘ (๑) ซึ่งผมอธิบายไปในบทความโต้แย้งนั้น ท่านก็ยังยืนกรานว่า การไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ ไม่ถือเป็นกรณีตามมาตรา ๑๙ อยู่นั่นเอง ทั้งที่สองเรื่องนี้เป็น "ส่วนได้เสีย" คนละประเภทกันแต่ท่านก็นำมา "เหมาเข่ง" ด้วยกัน (ว่าหากไม่ใช่ประเภทหนึ่งแล้ว ย่อมไม่ใช่ประเภทที่สองด้วย --- ซึ่งตามตัวบทไม่อาจตีความเช่นนั้นได้) ก็เป็นเรื่องจนปัญญาที่จะอรรถาธิบายกันต่อไปด้วยทิฐิมานะของท่านเอง

ส่วนที่ ๒ ของบทความ ท่านกล่าวอ้างว่า ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ (ไทย) ไม่ได้แยกประเภทไว้อย่างเยอรมัน ที่มีกรณี "ส่วนได้เสียโดยเหตุภายนอก" ด้วย ประเด็นนี้เป็นเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ ตรา "ข้อกำหนด" ขึ้นใช้เองไปพลางขณะที่ยังไม่มี พรป.วิธีพิจารณาคดีศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ "หลักเกณฑ์" ในข้อกำหนดนั้น ให้อิสระแก่ตุลาการไว้อย่างกว้างขวาง แต่โดยเหตุที่ "เหตุบกพร่องของตุลาการ" เป็น "เหตุ" ที่มีลักษณะร่วมในทุกระบบกฎหมาย หรือกล่าวได้ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไป ที่มุ่งกำจัดบุคคลที่มีส่วนได้เสียในการพิจารณาคดีเข้าเป็น "ตุลาการ" การตั้งข้อรังเกียจ เป็นการรักษาความยุติธรรมให้แก่กระบวนพิจารณาคดีครับ และปรากฏอยู่ในทุกระบบกฎหมาย เมื่อ "ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ"(ไทย) มิได้กำหนดไว้ นั่นหมายความว่าเป็น ข้อกำหนดที่ไม่บรรจุรายละเอียด ฉะนั้น จึงต้องนำหลักเกณฑ์ทั่วไปหรือหลักกฎหมายทั่วไปมาปรับใช้เพื่อความยุติธรรมในการพิจารณาวินิจฉัยคดี ครับ ดังที่ได้กล่าวย้ำในบทความโต้แย้งว่า "นี่คือมโนสำนึกแห่งวิชาชีพ(ตุลาการ)" นั่นเอง จะอ้างว่าข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ(ไทย) เปิดช่องให้คนมีอคติมาเป็นตุลาการนั่งพิจารณาได้ จึงไม่ต้องห้ามนั้น คงเป็นอีกข้อโต้แย้งหนึ่งซึ่งขาดไร้มโนสำนึกเช่นกัน

ส่วนที่ ๓ พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก อธิบาย ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญไทย ไว้ "คลาดเคลื่อน" ครับ ในการพิจารณารับคำร้อง แบ่งเป็น ๒ กรณี

     คือกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่งตั้ง "ตุลาการประจำคดี" (ข้อ ๒๕ และข้อ ๒๗) กับ กรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ "ไม่ได้แต่งตั้งตุลาการประจำคดี" (ข้อ ๒๖)

     ๓.๑. กรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ "ไม่ได้แต่งตั้งตุลาการประจำคดีไว้" และ "ศาลเห็นว่าจำเป็นเร่งด่วน" ก็เป็นกรณีที่การรับคำร้องหรือไม่รับคำร้องนั้น ให้องค์คณะซึ่งตรวจและมีคำสั่งรับคำร้องนั้นเอง เป็น "องค์คณะเต็ม" โดยไม่ต้องผ่าน "ตุลาการประจำคดี" ครับ (ข้อ ๒๖) จะเห็นได้ชัดเจนว่า ตามที่พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก กล่าวอ้างว่า บุคคลอื่นอาจนั่งเป็นองค์คณะเต็มได้โดยไม่ตรวจรับคำร้อง จึงเป็นการอธิบายที่คลาดเคลื่อนโดยชัดแจ้ง

     ๓.๒. แม้กระนั้นก็ตาม ในกรณีที่ประธานศาล แต่งตั้ง "ตุลาการประจำคดี" ไว้ เนื่องจาก "ตุลาการประจำคดี" อย่างน้อย ๓ นาย ที่ทำหน้าที่พิจารณารับหรือไม่รับคำร้องนั้น ถือเป็น "ตุลาการเจ้าของสำนวน" ในคดีนั้น (ข้อ ๒๕ วรรคสาม) หาใช่ "ผู้พิพากษาเวร" ดั่งศาลยุติธรรมไม่

     "ตุลาการประจำคดี" นั้น ไม่มีอำนาจชี้ขาดคดี มีหน้าที่เพียง "รับคำร้องไว้พิจารณา" เท่านั้น หาก "ตุลาการประจำคดี" มีความเห็น "ไม่รับคำร้อง" จะต้องนำเรื่องเข้า "องค์คณะเต็ม" ในการพิจารณายืนยันว่า "ไม่รับคำร้อง" อีกครั้งหนึ่ง จึงจะมีผลผูกพันคู่ความในนาม "ศาลรัฐธรรมนูญ" (ข้อ ๒๗)

     เราจะเห็นได้ว่า อำนาจของ "ตุลาการประจำคดี" หาได้มีผลผูกพันคู่ความหรือส่งผลออกไปภายนอกไม่ หากแต่อำนาจในการพิจารณา "ไม่รับคำร้อง" เป็นของ "องค์คณะเต็ม" โดยแท้ โดยหลัก ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้อง คือ รับตาม 'รูทีน' ก็ว่าได้ แต่เมื่อใดที่ "ตุลาการประจำคดี" มีความเห็นจะไม่รับคำร้อง ต้องให้ "องค์คณะเต็ม"พิจารณาไม่รับคำร้องเสมอ (เฉพาะกรณีไม่ปฏิบัติตาม 'รูทีน' นั่นเอง)

     กรณีจึงไม่ใช่ว่า "ผู้ที่ไม่ได้ร่วมเป็นองค์คณะพิจารณามาแต่ต้น อาจร่วมสั่งไม่รับหรือรับได้" อย่างที่ "พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก" ได้กล่าวอ้าง เพราะ "องค์คณะเต็ม" นั้นมีอยู่เป็นองค์ประกอบที่ไม่ได้เข้าดำเนินการ "ตามรูทีน" ครับ กล่าวได้ว่า การพิจารณาตาม 'รูทีน' (รับคำร้อง) ตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ให้เป็นอำนาจของ "ตุลาการเจ้าของสำนวน ๓ ราย" นั่นเอง

     จะเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็น กรณี ๓.๑. หรือ ๓.๒. องค์คณะตุลาการที่มีอำนาจปฏิเสธคำร้องของผู้ยื่นคำร้องได้นั้น คือ "องค์คณะเต็ม" ในทุกกรณีครับ และไม่อาจมีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่องค์คณะเต็มเข้ามาแทรกสอดภายหลังได้ และกรณีรับคำร้องโดยไม่มีการตั้งตุลาการประจำคดีเอาไว้ก่อน และเป็นเรื่อง "สำคัญเร่งด่วน" ตามข้อกำหนดก็ให้ "องค์คณะเต็ม" ทำหน้าที่โดยทันที

     ข้อโต้แย้งของพระยานิติวิบัติดำน้ำลึก อธิบายโดยความสะเพร่าไม่พิจารณา "ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ" อย่างเป็นระบบ แต่เป็นเพียงการหยิบยกข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ บางข้อมาอ้างเพื่อสนับสนุนอย่างมิจฉาทิฐิว่า ศาลรัฐธรรมนูญ" มี "ตุลาการเวร" อย่างศาลยุติธรรม (ซึ่งจะไม่นั่งพิจารณา) ทั้งที่โดยโครงสร้างและระบบการจัดการคดีของศาลรัฐธรรมนูญหาเป็นดังที่พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก ได้กล่าวอ้างไว้ไม่.
____________________
เชิงอรรถ
[๑] พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, "โต้พระยานิติวิบัติดำน้ำลึก (กิตติศักดิ์ ปรกติ) เรื่องหลักความมีส่วนได้เสียและข้อห้ามนั่งพิจารณาคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดี "ที่มา สว."" ใน http://blogazine.in.th/blogs/phuttipong/post/4473
[๒] กิตติศักดิ์ ปรกติ, "ว่าด้วยความมีส่วนได้เสียและข้อห้ามนั่งพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ – อีกครั้ง" ใน https://www.facebook.com/notes/kittisak-prokati/ว่าด้วยความมีส่วนได้เสียและข้อห้ามนั่งพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ-อีกครั้ง/10152042163770979

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
เกร็ดความรู้ : เหตุใดคณะนิติราษฎร์เสนอให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ในรูป "รัฐธรรมนูญ" พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พระยาพหลฯมิได้อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ในย่ำรุ่ง ๒๔ มิ.ย.๒๔๗๕ (เทียบเคียงบันทึกความทรงจำและบทความคุณปรามินทร์) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล (เผยแพร่ครั้งแรกทางเฟซบุค ๒๕ มิ.ย.๒๕๕๕)
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปกิณกะว่าด้วยการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ : ปัญหาจากการเดินตามศาลรัฐธรรมนูญงดโหวตวาระสาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
 ธรรมชาติของการใช้อำนาจรัฐโดยกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ว่าด้วยการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕* พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ๑.มุมมองทางกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วยการอภิวัฒน์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อความคิดเรื่องหลัก The King can do no wrong ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, รวบรวม หมายเหตุ : ท่านที่จะนำไปใช้กรุณาให้เครดิตการค้นคว้าฐานข้อมูลดิบของผมด้วย  ๑.ขุนหลวงพระไกรสี (เทียม)
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ส.ส.จังหวัดพิบูลสงครามต้องพ้นจากสมาชิกภาพเพราะเหตุไทยคืนดินแดนส่วนนั้นแก่รัฐอื่นรึไม่ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
"พระราชหัตถเลขาแสดงพระปีติโสมนัสภายหลังการรัฐประหารสำเร็จ ถึงจอมพล ป.พิบูลสงคราม" (ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๐) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล [ค้นคว้าเอกสารและเรียบเรียง] "...นอกจากจะปรากฏไว้ใน ประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังเป็นตัวอย่างอันดี งามแก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไปอีก ด้วย...
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พัฒนาการผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน, ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร, ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ :ในระบบกฎหมายไทย [โดยสังเขป] พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ในบทความนี้จำแนกการเข้าสู่ตำแหน่ง "องค์ที่ทำหน้าที่ดำเนินพระราชภาระแทนพระองค์" ออกเป็น ๓ ประเภท ๑.สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ๒.สมัยเปลี่ยนระบอบการปกครอง ๓.สมัยนับแต่ปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ จะเผยข้อสังเกตในชั้นนี้เบื้องต้น เพื่อให้เห็นประเด็นในการอ่านของชั้นถัดไป
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์คำแนะนำของศาลปกครอง : ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินฟ้องศาลปกครองเพื่อตรวจสอบ กสทช.? พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล ตามข่าวที่ระบุว่า ศาลปกครอง ให้คำแนะนำผู้ฟ้องคดีไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมาฟ้องศาลปกครองได้นั้น๑ คำแนะนำดังกล่าวเป็นคำแนะนำที่ไม่ได้พิจารณาอำนาจการฟ้องคดีของผู้ตรวจการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่อย่างใด ผมจะอธิบายโดยสังเขปดังนี้
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บทวิจารณ์หยุด แสงอุทัย เรื่อง "อำนาจที่เป็นกลาง" (Pouvoir neutre) ของกษัตริย์ในการยุบสภาฯ ได้ตามอำเภอใจ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
 เกร็ดบางตอน - วิกฤติตุลาการ ๓๔ กับ การวิจารณ์กษัตริย์ในวงตุลาการ