ในระยะหลัง มักเชื่อกันว่าคนกรุงเทพมหานครนิยมพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด และผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ก็เป็นบทพิสูจน์อีกครั้ง แต่หากลองย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งในอดีต จะพบว่าคนกรุงเทพฯไม่ได้นิยมพรรคประชาธิปัตย์ราวกับสนาม กทม เป็นของตายของพรรคประชาธิปัตย์
การเลือกตั้ง ส.ส. ในพื้นที่กรุงเทพฯ ๒๕๔๔ และ ๒๕๔๘ พรรคไทยรักไทยชนะพรรคประชาธิปัตย์
การเลือกตั้ง ส.ส. ในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านั้น ก็มีพรรคพลังธรรม พรรคประชากรไทย มาเบียดกับพรรคประชาธิปัตย์เสมอ
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม พรรคประชาธิปัตย์แพ้มาตลอด ตั้งแต่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ๒ สมัย, ร.อ.กฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา, พิจิตต รัตตกุล, สมัคร สุนทรเวช พึ่งมาเมื่อครั้งอภิรักษ์ โกษะโยธิน ต่อเนื่องมา ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร นี่เองที่ประชาธิปัตย์เริ่มผูกขาดสนามนี้ได้
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยพยายามสร้างนโยบายต่างๆเพื่อผลิตคนชั้นกลางใน กทม ให้กลับมาเลือกพรรคเพื่อไทย พยายามดึงเอาคน กทม ที่เคยเลือก ทรท เมื่อปี 44และ 48 กลับมาให้ได้ ซึ่งคนเหล่านี้ครั้งหนึ่งเขาเคยเชียร์ทักษิณ แต่คนเดียวกันอาจร้อง "ทักษิณ ออกไปๆ" และใช้คำ "เผาบ้าน เผาเมือง" โจมตีอยู่ในเวลานี้ก็ได้
ผลปรากฏว่า ยังไม่สำเร็จ สู้กระแสปลุกระดมเรื่องเผาบ้าน-เผาเมือง เรื่องยึดประเทศ ไม่ได้
ผมเห็นว่า ความคิดจิตใจลึกๆของแต่ละคน ยังอยู่ในเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของสองชุดความคิดซึ่งถือกำเนิดนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา 49และพัฒนาตัวแสดงออกอย่างเด่นชัดเรื่อยมา
การตัดสินใจเลือกทางการเมืองของแต่ละคน ยังยืนอยู่บนพื้นฐนของชุดความคิด ชุดอุดมการณ์ มากกว่า นโยบาย
นี่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาของบ้านเมืองนี้มันอยู่ที่นั้นจริงๆ
เมื่อระบบคิดของคนในสังคมแตกแยกอย่างชัดเจน (แตกแยกในลักษณะที่มันอยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของอำนาจสูงสุดเป็นของใครกันแน่ ไม่ใช่เรื่องของนโยบายเศรษฐกิจสังคม) และมีจำนวนที่สูสีกันอย่างมากเช่นนี้ แม้ทำนโยบายดีเท่าไร รณรงค์หาเสียงเท่าไร ก็ไม่สำเร็จ ชนะใจ ครองใจกันได้ยาก เหมือนพูดกันคนละภาษา อยู่กันคนละโลก
นโยบายเศรษฐกิจเป็นเรื่องดี เห็นผลไว สะท้อนความสำเร็จของงานได้ชัดและเร็ว
แต่การติดชุดอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญกว่า
แม้มันต้องใช้เวลานาน จนเราอาจอยู่ไม่ทันเห็นผลลัพธ์ของมันก็ตาม
น่าเสียดายที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นปัญหาของเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าชนะการเลือกตั้งกี่ครั้ง ก็ปล่อยให้ศูนย์การจัดการความรู้ อุดมการณ์ อยู่ในมือของเทรดิชันแนล อีลิท ตลอดกาล
ตรงกันข้ามกับนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเข้ามาจัดการเรื่องพวกนี้ในสมัยเป็นนายกฯ สร้างพันธมิตรกับนักวิชาการ เอ็นจีโอ สื่อ และส่งผลมาจนถึงวันนี้
หากพรรคเพื่อไทยตั้งใจให้พรรคตนเองเป็นพรรคที่จัดการเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น เป็นพรรคที่พร้อมจะทำงานเศรษฐกิจ และอยู่กับระบอบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็แล้วไป ลืมเรื่องที่เขียนมาได้ แล้วพรรคเพื่อไทยและพวก ก็ทำนโยบายเศรษฐกิจต่อไป...
จนใบอนุญาตการเป็นรัฐบาลหมดอายุเมื่อไร ก็... คงตีกันอีกรอบ