ปิยบุตร แสงกนกกุล: "กิตติศักดิ์วิธี"

 

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อธิบาย พูด เขียน ยกข้ออ้างข้อสนับสนุน จะใช้วิธีการที่ผมขอตั้งชื่อว่า "กิตติศักดิ์วิธี" ดังต่อไปนี้

1. หยิบยกตัวอย่างของต่างประเทศ เพื่อ "ลากเข้า" ไทย โดยตัดตอน-เปรียบเทียบเอาเฉพาะบางท่อนบางตอนในส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง เพื่อสนองตอบตาม "ธง" ของตนเองที่ตั้งเอาไว้

หากใครอ่านแล้ว ฟังแล้ว ไม่ไปตรวจสอบรายละเอียดของต่างประเทศว่ามีกำเนิดอย่างไร รายละเอียดอย่างไร มีประเด็นแตกต่างกับของเราอย่างมีนัยสำคัญตรงไหน (ซึ่งกิตติศักดิ์จะไม่นำมาบอก) ก็จะหลงเคลิบเคลิ้มไป

ดังเช่น การยกตัวอย่างว่า

1.1. ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่ตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ไทยก็ต้องตรวจได้

โดยจงใจไม่อธิบายว่า ที่เขาตรวจสอบนั้น เขาใช้กลไกการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตรวจตอนรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้แล้ว ไม่มีการตรวจแทรกเข้ามาระหว่างทาง ไม่มีการสั่งให้หยุดกระบวนการแก้ และตรวจได้เพียงว่ากระทบต่อนิติรัฐ สหพันธรัฐ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ นอกจากนี้ ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญมาจากสภาผู้แทนเลือกมา 8 วุฒิสภาเลือกมา 8

1.2. ยกคดี อาร์โนลด์ ชวารซเนคเกอร์ มาเพื่อ "โต้" กับนิติราษฎร์ว่า ลบล้างคำพิพากษาไม่ได้ (โปรดดูคำตอบของนิติราษฎร์ได้ในเว็บ)

1.3. ยกกรณีกัวตานาโม โดยจงใจไม่บอกว่า ระบบของไทย คือ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีอำนาจจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น แต่สหรัฐอเมริกา เป็นแบบกระจายอำนาจการควบคุม ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ

1.4. ยกกรณีศาลสูงสหรัฐอเมริกาที่ตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่ออ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยก็ทำได้ ทั้งๆที่ ระบบของไทย คือ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีอำนาจจำกัดเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น แต่สหรัฐอเมริกา เป็นแบบกระจายอำนาจการควบคุม ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ

1.5. ยกกรณีการเปลี่ยนผ่านสู่เสรีประชาธิปไตยในเยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี "ลาก" เข้าหา "สภาประชาชน" ตามที่ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์เสนอ ทั้งๆที่มีความแตกต่างอย่างยิ่งในสองประการ คือ 

ประการแรก
การปฏิวัติอย่างสันติของประชาชนในสามประเทศดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่เสรีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งทั่วไป เสรี เท่าเทียม ลับ หลายพรรค กลายเป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รับรองเสรีภาพ

แต่ความคิด "สภาประชาชน" ของ ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ คืออะไร?

ประชาชนกลุ่มหนึ่งชุมนุมกัน บุกยึดสถานที่ราชการ สถานีโทรทัศน์ สร้างความปั่นป่วนโกลาหล เพื่อไปสู่ "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย

ซึ่งรูปแบบ "สภาประชาชน" แบบพวกท่านนั้น คือ พวกฟาสซิสม์ พวกมุสโสลินี

ประการที่สอง
การปฏิวัติอย่างสันติของประชาชนในสามประเทศดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่เสรีประชาธิปไตย เป็นการล้มระบอบการเมืองแบบเก่า ก่อตั้งระบอบการเมืองแบบใหม่ หรือ "ปฏิวัติ"

หาก ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ยกสามประเทศนี้มาอ้างว่าเหมือนกับการต่อสู้ของสุเทพและพวกที่จะตั้งสภาประชาชน ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ก็ควร "กล้าหาญ" พูดให้ชัดด้วยว่า เป็นการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงระบอบการเมือง ล้มระบอบทีเ่ป็นอยู่ ก่อตั้งระบอบใหม่

กล้าพูดหรือไม่ครับ

ถ้ากล้า ระบอบการเมือง-ระบบกฎหมายที่ดำรงอยู่และยังไม่ถูกล้ม จะได้เข้าไปจัดการท่านว่า ล้มล้างการปกครอง

ท่านอย่าเขิน และตีกินให้มากนัก เล่นรอให้ชนะแล้วถึงค่อยมาอธิบายว่า ปฏิวัติประชาชน เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ณ วันนี้ กล้าพูดตรงๆสิครับ ว่า จะล้มล้างการปกครองระบอบเดิม ก่อตั้งระบอบใหม่ (เหมือนที่สามประเทศเขาทำกัน แต่ของเขานั้นไปสู่ระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่ท่านจะไปสู่ฟาสซิสม์)

กล้าหาญแบบคุณสุเทพหน่อยครับ

เป็นต้น

2. หยิบยกกฎหมายเอกชนบ้าง กฎหมายอาญาบ้าง เข้ามาปะปนกับการให้เหตุผลในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมาสนองตอบต่อ "ธง" ที่ตนตั้งเอาไว้ ทั้งๆที่เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็น แน่นอน กฎหมายมหาชนก็นำกฎหมายเอกชนมาใช้อยู่บ้าง เช่น ละเมิด ฯลฯ แต่กรณีที่กิตติศักดิ์นำมาอ้างปนกันจนมั่วนั้น ไม่มีทางเข้ากันได้เลย

ดังตัวอย่างเช่น

2.1. นำเรื่อง "ตัวการ ตัวแทน ตัวแทนเชิด ผู้เยาว์ ผู้แทน" มาใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง "ประชาชน คณะรัฐประหาร กษัตริย์" จนมั่วไปหมด เพื่อตอบปัญหาให้ได้ว่า ทำไมรัฐประหารแล้วกษัตริย์ต้องลงนาม (โปรดดู การอภิปรายของผมในงานเปิดตัวหนังสืออาจารย์ณัฐพล ใจจริง)

2.2. นำเรื่อง "ป้องกัน" ในกฎหมายอาญา มาใช้อธิบายให้แก่ผู้ชุมนุมสุเทพและพวก โดยอ้างว่า เป็นการใช้สิทธิป้องกันเพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายถูกละเมิด

เป็นต้น

หากท่านใดที่ไม่ศึกษากฎหมาย หรือไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ ฟังแล้ว อ่านแล้ว ก็อาจเคลิบเคลิ้มไปตามกิตติศักดิ์

3. ยกตัวอย่างโดยการใช้เมตาฟอร์ ให้คนเข้าใจง่ายๆ จนเคลิบเคลิ้มไป ทั้งๆที่เมตาฟอร์ที่ยกมานั้น คนละเรื่องกับเรื่องที่อธิบายอยู่

พบเห็นได้บ่อยครั้ง เวลาฟังกิตติศักดิ์บรรยาย

ตัวอย่างล่าสุด คือ ไปออกไทยพีบีเอส แล้วยกตัวอย่าง "ระบอบทักษิณ" เปรียบเทียบกับ การนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาชุมนุมที่ราชดำเนิน ราคา 1 พันบาท แต่ถูกเก็บ 2 พันบาท

4. การอธิบายแบบข้ามประเด็นไปมา โดดไปโดดมา กำลังถกเถียงกันอยู่เรื่องหนึ่ง กิตติศักดิ์ก็จะรีบพูดๆๆๆ เพื่อเปลี่ยนประเด็นโยงไปอีกเรื่อง ให้คู่เถียง หรือผู้ฟังมึนงง จากนั้น ก็จะลากกลับเข้ามาประเด็นเดิมใหม่ ใครตามไม่ทันก็จะเคลิ้มว่าคนนี้ยกตัวอย่างเก่ง เปรียบเทียบดี เป็นพหูสูต รู้หลายเรื่องหลายประเด็น แต่จริงๆแล้ว "ฟุ้ง" เสียมากกว่า

5. การแสดงออกซึ่งความใจกว้าง รับฟังความเห็นต่าง ท่าทีถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่พูดจาแรงๆ สุภาพนุ่มนวล ผันให้ทุกๆเรื่องเป็นการแสดงความเห็นที่ต่างกัน ทั้งๆที่บางเรื่องเป็นเรื่องถูก-ผิด เรื่องไม่เป็นไปตามหลักการ

ผู้ใดได้ฟัง ได้เห็นท่าที่ของกิตติศักดิ์ ก็จะเกิดความประทับใจในความใจกว้าง

...

แท็คติกทั้งหลายของกิตติศักดิ์นี้ ถูกนำมาใช้เพื่อ "สร้าง" คำอธิบาย "สร้าง" การให้เหตุผลประกอบ เพื่อไปสู่ "ธง" ที่เขาตั้งเอาไว้ล่วงหน้า

หากเราต้องการสอบทานความคิดของเขา การให้เหตุผลของเขา จำเป็นต้องสืบค้นข้อมูลให้ครบ และลองบันทึกความเห็นของเขาเมื่อวันก่อน แล้วนำมาเปรียบกับวันนี้ดูว่า ความคิดของเขาสม่ำเสมอหรือไม่ หรือแปรเปลี่ยนไปตาม "ธง" ที่เขามีอยู่ในใจ