ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยและเป็นนิติรัฐทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่ต้องมีศาล และศาลต้องเป็นกลางและเป็นอิสระ
แต่ความเป็นอิสระของศาล ไม่ได้หมายความว่า ศาลเป็นองค์กรที่ไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ไม่ได้หมายความว่า ศาลจะแยกตนเป็นดินแดนเอกเทศ จนไม่มีองค์กรใดสามารถเข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลได้
ศาลญี่ปุ่นเป็นรูปแบบที่น่าสนใจ และอาจนำมาพัฒนาประยุกต์ใช้กับศาลไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มาซึ่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดของญี่ปุ่นนั้น มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจชัดเจนมาก
........
ศาลสูงสุดประกอบไปด้วย ประธานศาล ๑ คน ผู้พิพากษาอีก ๑๔ คน
ให้จักรพรรดิแต่งตั้งประธานศาลสูงสุด จากการเสนอชื่อของรัฐสภา (จักรพรรดิลงนามอย่างเดียว ไม่มีดุลพินิจ) ในงานพิธีการ ประธานศาลสูงสุดมีลำดับศักดิ์เท่ากับนายกรัฐมนตรี
ผู้พิพากษาศาลสูงที่เหลือ ให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง
ผู้พิพากษาศาลสูงทั้ง ๑๕ คน ต้องนำไปให้ประชาชนให้ความเห็นชอบอีกครั้ง หลังจากเข้ารับการปฏิบัติหน้าที่แล้ว พอมีการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศครั้งถัดไป ก็ต้องนำรายชื่อทั้ง ๑๕ คนนี้ไปให้ประชาชนไปให้ความเห็นชอบ และการให้ความเห็นชอบนี้ต้องทำทุก ๑๐ ปี
ผู้พิพากษาศาลล่างมาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี โดยให้ศาลสูงจัดทำบัญชีรายชื่อขึ้นมา
ผู้พิพากษาศาลสูงเกษียณอายุ ๗๐ ปี
ผู้พิพากษาศาลล่างมีวาระ ๑๐ ปี ต่อวาระได้เรื่อยๆ และเกษียณอายุ ๖๕ ปี
ญี่ปุ่นใช้ระบบศาลเดี่ยว และศาลสูงทำหน้าที่ตรวจสอบไม่ให้กฎหมายขัดรัฐธรรมนูญด้วย
ผู้พิพากษาศาลสูงอาจถูกปลดได้ตามกระบวนการกล่าวหาสาธารณะ หากบุคคลใดร้องเรียนมา ให้คณะกรรมการชุดหนึ่งพิจารณา ประกอบด้วย ผู้พิพากษาที่รัฐสภาเลือกกันขึ้นมา ๑๔ คน ผู้พิพากษาจะถูกปลดได้ในกรณีที่ละเมิดหน้าที่ตามวิชาชีพของตนหรือปฏิบัติหน้าที่อย่างละเลย กระทำการอันเสื่อมเสียเกียรติของผู้พิพากษาทั้งในหน้าที่และนอกหน้าที่ (ปัจจุบัน มีผู้พิพากษาถูกปลดไป ๕ คน)
ปัจจุบัน ผู้พิพากษาศาลสูง เป็นผู้พิพากษาอาชีพ ๖ คน เคยเป็นทนายความ ๔ คน เคยเป็นอัยการ ๒ คน เคยเป็นข้าราชการประจำ ๒ คน และเคยเป็นศาสตราจารย์กฎหมาย ๑ คน