กษัตริย์เกษียณอายุ : ความก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญภูฎาน

 

นับตั้งแต่ต้นปี ๒๐๑๓ มีข่าวพระราชินีเบียอาทริซของเนเธอร์แลนด์สละราชสมบัติให้ลูกชายเป็นกษัตริย์ต่อ ต่อเนื่องด้วยโป๊ปเบเนดิกท์ที่ ๑๖ ลาออกจากตำแหน่งสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

ทั้งสองคนได้ให้เหตุผลการลาออกไปในทิศทางเดียวกัน คือ เรื่องอายุ สุขภาพ และโลกที่เปลี่ยนไปตามกาลสมัย 

 

ปัญหาเรื่องกษัตริย์ชราภาพมากจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ปัญหาเรื่องถึงเวลาแล้วที่กษัตริย์ควรสละราชสมบัติให้รัชทายาทขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์แทน คงไม่เกิดขึ้นในประเทศภูฏาน 

 

ใช่... เป็นประเทศภูฎานที่คนไทยจำนวนมากคลั่งไคล้กษัตริย์หนุ่มรูปงาม ประเทศภูฎานที่คนไทยจำนวนมากเชื่อว่าเขาลอกเศรษฐกิจพอเพียงและรูปแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของราชอาณาจักรไทยไป 

 

รัฐธรรมนูญภูฎาน มาตรา ๒ วรรค ๖ กำหนดว่า หากกษัตริย์ (เรียกว่า Druk Gyalpo) อายุ ๖๕ ปี ต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้มกุฎราชกุมาร หรือ มกุฎราชกุมารี (แล้วแต่กรณี) ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นกษัตริย์แทน 

 

พูดง่ายๆ คือ กษัตริย์ภูฏานเกษียณอายุที่ ๖๕ ปี

 

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญภูฏานยังกำหนดกลไกการปลดกษัตริย์ออกจากตำแหน่งไว้ด้วย 

 

สมาชิก ๒ ใน ๓ ของสภาขอให้พิจารณามติว่า กษัตริย์ละเมิดรัฐธรรมนูญ หรือ กษัตริย์อยู่ในสภาวะไร้ความสามารถอย่างถาวร จากนั้นกษัตริย์หรือผู้แทนกษัตริย์ ก็จะมาชี้แจงที่สภา 

 

หากสภาลงมติด้วยเสียง ๓ ใน ๔ ว่ากษัตริย์ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือ กษัตริย์ไร้ความสามารถ ก็จะไปสู่ขั้นตอนของการออกเสียงประชามติ

 

หากประชาชนผู้มาออกเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ลงมติตามที่สภามีมติมา กษัตริย์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้รัชทายาทเป็นกษัตริย์แทน

 

ภูฎานเขียนไว้ในมาตรา ๑ วรรค ๒ ว่า ภูฎานปกครองในระบอบ Constitutional Monarchy บทบัญญัตินี้รัฐสภาห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลง หากจะแก้ ต้องใช้วิธีการออกเสียงประชามติเท่านั้น ดังนั้น หากภูฏานจะเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐก็ทำได้ โดยใช้การออกเสียงประชามติ