นายกรณ์ จาติกวณิช เปรียบเทียบ กปปส ของนายสุเทพและพวกกับภาพยนตร์ Les Misérables ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่า มีการตั้ง barricade สกัดกั้นเหมือนกัน (คนเสื้อแดงชุมนุมตอนปี 53 ก็มีนะครับ ทำไมกรณ์ไม่พูดถึงเลย)
"Barricade (ด่านกั้น)
ในการกบฏในเมืองปารีสเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๓๒ ประชาชนชาวปารีสกลุ่มหนึ่ง ได้ลุกขึ้นมาปิดเมืองด้วยการก่อ 'barricade' หรือ 'ด่านกั้น' ตามแยกถนนทั่วเมือง สุดท้ายก็พ่ายแพ้กำลังอาวุธของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เพราะไม่สามารถปลุกมวลชนชาวปารีสให้ลุกขึ้นมาได้ในจำนวนที่เพียงพอ
จากความพ่ายแพ้นี้จึงทำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอีกเป็นสิบปี
การกบฏครั้งนี้เป็นที่มาของหนังสือเรื่อง Les Miserables โดย Victor Hugo ซึ่งเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ และได้มีการดัดแปลงหนังสือเป็นละครและหนังภาพยนต์
สำหรับผู้ที่กลัวว่าฝรั่งจะไม่เข้าใจแนวการต่อสู้ของกปปส.กรณี 'shutdown bangkok' ก็ให้เขาไปดูหนังยอดฮิตเรื่องที่ว่าแล้วกันครับ เขาเองต่อสู้กันมาอย่างนี้ กว่าจะได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
ส่วนที่บ้านเราเอง ไม่มีใครอยากเห็นความวุ่นวายใดๆทั้งสิ้น แต่ลองทบทวนดูสิครับ รัฐบาลนี้เคยยอมทำอะไรที่สมควรทำโดยไม่ต้องให้มีใครมากดดันบ้าง
ก็ขอให้ทุกคนมีสติอย่าให้ต้องมีการแลกเปลี่ยนด้วยชีวิตเท่านั้น ทั้งสองฝ่ายต้องไม่มีการติดอาวุธ เพราะเราเห็นแล้วว่ามีอาวุธเมื่อไร ก็มีความรุนแรงเมื่อนั้น"
ที่มา https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10152182043484740&set=
การเปรียบเทียบเหตุการณ์ในภาพยนตร์ Les Misérables กับ กปปส แสดงให้เห็นถึงความโง่เขลาทางประวัติศาสตร์ของนายกรณ์อย่างยิ่ง
หรือหากนายกรณ์ไม่โง่เขลา ก็แสดงว่านายกรณ์จงใจบิดเบือน ตัดต่อ ประวัติศาสตร์ นำเฉพาะส่วนที่ได้มาใช้ประโยชน์
เมื่อต้นปีที่แล้ว ผมได้ไปพูดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ในงานฉายภาพยนตร์รอบพิเศษ หารายได้ให้นักโทษการเมือง ที่สยามพารากอน พี่เป้ วาด รวี ได้ถอดการบรรยายของผมมาเป็นตัวอักษร และผมได้ขัดเกลาภาษาเรียบเรียงใหม่ ต่อไปจะนำไปรวมเล่ม
ผมขอนำมาลงให้ได้อ่านกันก่อน
...
การลุกขึ้นสู้ (L’insurrection) : วัฒนธรรมการเมืองของฝรั่งเศสในช่วง ค.ศ. 1800[1]
ในภาพยนตร์เรื่อง Les Misérables มีฉากการลุกขึ้นสู้ของกลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาว การลุกขึ้นสู้ (L’insurrection) ที่ปรากฏในภาพยนตร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 และ 6 มิถุนายน 1832 ก่อนหน้านั้น ฝรั่งเศสเกิดการปฏิวัติอีกรอบในวันที่ 27,28 และ 29 กรกฎาคม 1830เพื่อโค่นกษัตริย์ Charles X และสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบใหม่ที่เรียกกันว่า Monarchie de Juillet ตามชื่อเดือนกรกฎาคมที่เกิดการปฏิวัติ โดยให้ Louis Philippe แห่งราชวงศ์ Orléans เป็นกษัตริย์ Eugene De Lacroix ได้วาดภาพ La liberté guidant le peuple เพื่ออุทิศให้กับการปฏิวัตินี้ จะเห็นได้ว่าการปฏิวัติกรกฎาคม 1830 ยังคงให้ฝรั่งเศสมีกษัตริย์อยู่ แต่เปลี่ยนกษัตริย์เป็นอีกราชวงศ์หนึ่งแทน ชนชั้นกระฎุมพีเกรงกลัวว่าหากให้เป็นสาธารณรัฐแล้วก็อาจเกิดเหตุการณ์แบบยุค La Terreur ได้อีก กลัวผี Jacobin จะกลับมาหลอกอีก จึงยอมให้มีกษัตริย์ต่อไป แต่ขอกษัตริย์ที่ก้าวหน้าและหัวฏิรูป โดยมีรัฐธรรมนูญกำกับการใช้อำนาจของกษัตริย์เอาไว้ ฝ่ายสาธารณรัฐนิยมเห็นว่า พวกนี้ฉวยโอกาสเอาดอกผลจากการปฏิวัติ 1830 ไป
แม้ฝรั่งเศสจะรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์กลับมาตั้งแต่ปี 1814 แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปราบปรามความคิดแบบสาธารณรัฐนิยมได้สำเร็จแล้ว เชื้อมูลของคนที่นิยมสาธารณรัฐยังคงมีอยู่ในฝรั่งเศส เหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ในวันที่ 5และ6 มิถุนายน 1832เป็นการลุกขึ้นสู้ครั้งแรกของฝ่ายสาธารณรัฐนิยม นับตั้งแต่ปฏิวัติ 1830 เป็นต้นมา เป็นการประกาศครั้งแรกว่าไม่เอาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่ต้องการสาธารณรัฐ ซึ่งในท้ายที่สุดผลเป็นอย่างไร อยากให้ท่านดูภาพยนตร์เอง แต่ผมขออนุญาตอภิปรายถึงการลุกขึ้นสู้ในฝรั่งเศสในฐานะเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นช่วงตั้งแต่ ปี 1800 เป็นต้นมา
การลุกขึ้นสู้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะว่า ภายหลังการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส 1789 ระบบการเมืองฝรั่งเศสยังคงไม่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงออกในทางการเมืองผ่านการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง สิทธิเลือกตั้งสงวนให้กับบุคคลที่จ่ายภาษีถึงเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งก็ได้แก่ ชนชั้นกระฎุมพีขึ้นไป และสิทธิเลือกตั้งก็เป็นของเพศชายเท่านั้น ผู้หญิงไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ต่อให้เป็นเศรษฐินีอย่างไรก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ดังนั้น คนส่วนใหญ่ของประเทศ ประมาณร้อยละ 70 กลับไม่ได้แสดงออกทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง หากคนเหล่านี้ต้องการแสดงออกในทางการเมืองจะทำเช่นไร? พวกเขาก็ต้องไปแสดงออกทางการเมืองบนท้องถนน
การลุกขึ้นสู้คืออะไร? ถ้าท่านฟังที่ผมพูดวันนี้ ก็อาจลืมคำว่า “การชุมนุมอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ” ไปเลย การลุกขึ้นสู้ไม่มีกฎหมายหรือกติกาใดๆทั้งสิ้น ติดอาวุธได้หมด ถามว่าแบบนี้ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่? หลักการพื้นฐานของการลุกขึ้นสู้ คือ ไม่ยอมรับกฎหมายที่เป็นอยู่ตั้งแต่แรก ระบบกฎหมายที่ใช้อยู่เป็นการกดขี่ เราจึงไม่ยอมรับ เป็นการต่อสู้พุ่งเป้าไปที่ “ระบอบ” เพราะฉะนั้นจึงมีความชอบธรรมที่ชุมนุมแบบใดก็ได้ ติดอาวุธก็ได้ เพราะประกาศไม่เอาระบอบที่เป็นอยู่แม้แต่น้อยเลย การลุกขึ้นสู้จึงไม่จำเป็นต้องรณรงค์ว่า พวกเราต้องชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ
การลุกขึ้นสู้อ้างความชอบธรรมจากอะไร? พวกเขากลับไปหากฎธรรมชาติโดยอธิบายว่าอำนาจเป็นของประชาชน ในเมื่อระบอบที่เป็นอยู่ เราไม่อาจยอมรับได้อีกต่อไป ต้องการโค่นล้มระบอบที่เป็นอยู่ทั้งหมด เป็นการกลับไปหาสิทธิอันชอบธรรมของมนุษย์แต่ดั้งเดิม
ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐมีวิธีจัดการการลุกขึ้นสู้อย่างไร? มีทั้งวิธีการหนักและเบา วิธีการหนัก คือ ใช้กองกำลังทหาร-ตำรวจเข้าไปปราบปรามอย่างหนักหน่วงรุนแรง เมื่อมีความวุ่นวายเกิดขึ้น ผู้คนก็เบื่อหน่ายหรือไม่สนับสนุนการลุกขึ้นสู้ ส่วนวิธีการเบา เป็นวิธีระยะยาว เช่น ขยายสิทธิเลือกตั้งออกไปมากขึ้น ถ้าทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งทั่วไปเท่าเทียมกันหมด เปิดโอกาสให้แสดงออกในทางการเมืองมากขึ้น ความต้องการลุกขึ้นสู้ก็ค่อยๆลดน้อยถอยลงไป
ต่อมา ฝรั่งเศสเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐอีกครั้งในปี 1848 แต่สาธารณรัฐที่ 2 นี้มีอายุไม่ยาวนานนัก ก็ถูกหลุยส์ นโปเลียนโค่นล้มและเปลี่ยนให้ฝรั่งเศสเป็นจักรวรรดิอีกรอบหนึ่ง โดยตนเองเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในยุคนี้เอง นโปเลียนที่ 3 มีแนวนโยบายบูรณะเมืองปารีสใหม่ เขาได้มอบหมายให้ Georges Eugène Haussmann ผู้ว่าการเมืองปารีสวางผังเมืองปารีสใหม่ทั้งหมด การจัดวางผังเมืองปารีสใหม่นี้ทำให้การลุกขึ้นสู้กระทำได้ยากขึ้น เพราะ กลุ่มติดอาวุธลุกขึ้นสู้มักตั้งด่านหรือ barricade ขึ้นตามหัวมุมถนน ตามตรอกซอกซอยเล็ก ๆ แต่ผังเมืองใหม่ของปารีสได้สร้างถนนเส้นใหญ่ เป็นบล็อกๆ ถ้าเกิดมีการชุมนุมขึ้นอีก ต้องใช้คนจำนวนมากในการปิดถนน ตั้งด่านกั้น การสลายการชุมนุมและการปราบปรามก็ทำได้ง่าย เพราะถนนเส้นใหญ่ เข้าออกสะดวก
วิธีบั่นทอนฝ่ายก้าวหน้าอีกวิธีหนึ่ง คือ Bureaucratisation พวกแกนนำการชุมนุมและการต่อสู้ โดยดึงคนเหล่านี้เข้ามาทำงานให้รัฐ มอบตำแหน่งสำคัญให้ทำ มอบบทบาทสำคัญให้ เมื่อทำงานให้กับรัฐ ความกระตือรือร้นในการต่อสู้ทางการเมืองหรือปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมก็เริ่มหดหายไป ใครจะไปชุมนุมหรือต่อสู้ต่อก็เชิญ แต่สำหรับคนเหล่านี้ จบแล้ว วิธีการนี้ใช้บ่อยเมื่อคราวหลังปฏิวัติใหญ่ใหม่ๆ กลุ่ม Sans-culotte บางส่วนถูกดึงให้เข้าไปทำงานกับรัฐ เป็นส่วนหนึ่งของระบบรัฐการ พอมาทำงานก็ไม่มีหัวคิดเปลี่ยนแปลงล้มระบอบอะไรอีกแล้ว
Victor Hugo ประเมินการลุกขึ้นสู้อย่างไร? เขาเห็นว่าการลุกขึ้นสู้ในปี 1830 และ 1832 แม้มีคนตาย แม้ไม่ชนะ แต่ได้สร้างประชาชนขึ้นมาใหม่อีก การปฏิวัติรุดหน้าขึ้นไปอีก แสดงว่าการลุกขึ้นสู้ก็ประสบผลสำเร็จพอสมควร
แล้วเราควรประเมินการลุกขึ้นสู้อย่างไร? ผมเห็นว่าเราไม่อาจประเมินให้ความชอบธรรมทั้งหมด หรือจะวิจารณ์ว่าการลุกขึ้นสู้ไม่ดีทั้งหมดก็คงไม่ได้ เพราะในขณะที่เรากำลังประณามการลุกขึ้นสู้ เราอาจกำลังเก็บดอกเก็บผลจากการลุกขึ้นสู้อยู่ เช่น ในภาพยนตร์นี้ การลุกขึ้นสู้ของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมเมื่อปี ๑๘๓๒ ประสบกับความพ่ายแพ้ แต่สุดท้ายฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่ 3 เมื่อ 1870 หากมีคนในยุคหลังย้อนกลับไปประณามการลุกขึ้นสู้ในปี 1832 ก็ต้องไม่ลืมว่า ณ เวลานั้น เขากำลังยืนอยู่บนดอกผลที่การลุกขึ้นสู้ได้มีส่วนสร้างขึ้นมาทีละเล็กละน้อย ดังนั้น การย้อนกลับไปพิจารณาความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาจประเมินความผิดพลาดในแง่บทเรียนว่ายังไม่สุกงอมพอ ยังไม่ถึงเวลา แต่ถ้าถึงขนาดประณามว่าพวกนี้ไม่ได้เรื่องหรอก ก้าวหน้าเห่อไปเรื่อย ไร้เดียงสา ก่อความวุ่นวายให้บ้านเมือง ก็ต้องไม่ลืมว่า การประณามนี้อยู่บนดอกผลของเหตุการณ์ที่ถูกประณามได้มีส่วนสร้างขึ้นมา ระบอบเสรีประชาธิปไตยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันผ่านการต่อสู้ ผ่านเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้
การลุกขึ้นสู้ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการเมืองของฝรั่งเศสมาโดยตลอด ตั้งแต่ ปี 1800 เป็นต้นมา แต่พอเข้าสู่ 1900 เป็นต้นมา ก็เริ่มเลือนหายไป เพราะ สภาพสังคมฝรั่งเศสนั้นมีความขัดแย้งน้อยลง เศรษฐกิจดี วงการวรรณกรรม ศิลปะ วัฒนธรรม และดนตรีเฟื่องฟู มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้ง ที่ 1 ในยุคสมัยนั้นเรียกว่า “Belle époque”
อาจพอกล่าวได้ว่าการลุกขึ้นสู้กลับมาอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 1968 แม้เหตุการณ์นั้นจะไม่เหมือนกับการลุกขึ้นสู้ในอดีตเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม นักศึกษาและกรรมกรก็แพ้อีก แต่อย่างน้อยการพ่ายแพ้ก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทางก้าวหน้ามากขึ้น สังคมฝรั่งเศสได้รับการปลดปล่อยอย่างเสรีอีกรอบหนึ่ง
ในยุคปัจจุบัน การปฏิวัติในลักษณะเดิมที่เราเคยเห็นกันในประวัติศาสตร์โลกเกิดขึ้นน้อยลง การปฏิวัติเหล่านี้ถูกนำไปบรรจุในโลกบันเทิง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นวิธีการสลายการปฏิวัติ เราไม่มีโอกาสเห็นการปฏิวัติที่เกิดขึ้นจริง วันดีคืนดี หากหวลคิดถึงการปฏิวัติ ก็สามารถไปซิ้อวรรณกรรมมาอ่านเล่มหนึ่ง หรือไปตีตั๋วดูหนัง ดูเสร็จก็ฟิน แยกย้ายกันกลับบ้าน วันใดถ้าท่านมีความฮึกเหิม ไฟในตัวลุกโชน แต่สภาพเศรษฐกิจยังต้องกินต้องใช้ ที่บ้านมีธุรกิจพันล้าน ท่านก็ซื้อตั๋วมาดูหนัง ดูจบ กลับบ้าน ถือว่าฟินไปในระดับหนึ่ง ทำให้การปฏิวัติเป็นเพียง Nostalgia เข้าถึงได้ง่ายยามที่เราคิดถึง แต่เกิดขึ้นจริงได้ยากแม้เราต้องการ
[1] เรียบเรียงและปรับปรุงจากการอภิปรายในงานเสวนาภาพยนตร์เรื่อง Les Misérables เพื่อหารายได้ช่วยเหลือนักโทษการเมือง ณ สยามพารากอน วันที่ ๓ มีนาคม 2556