เรียนถามอาจารย์บวรศักดิ์ และอาจารย์กิตติศักดิ์เกี่ยวกับแนวทางของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ


"นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า เมื่อเรายึดอำนาจอธิปไตยมาเป็นของปวงชนชาวไทยได้สำเร็จแล้ว ตั้งรัฐบาลของประชาชนแล้ว ตั้งสภาประชาชนขึ้นมาแล้ว อยากจะรู้ว่าหน้าตาของสภาประชาชนเป็นอย่างไร ตนขอกราบเรียนอธิบายตรงนี้ว่า เมือประชาชนสามารถยึดคืนอำนาจอธิปไตยมาเป็นของปวงชนชาวไทยได้สำเร็จหลังปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 2557 นี้ พวก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พวกระบอบทักษิณกระเจิดกระเจิงไปหมดแล้ว วันนั้นประชาชนจะมีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เป็นผู้ที่มีอำนาจอธิปไตยสูงสุด เราก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนขึ้นมา เลือกคนดีที่ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง ที่ไม่เป็นขี้ข้าระบอบทักษิณ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคณะรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลชั่วคราวของประชาชน เพื่อดูแลบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่ทำการปฏิรูปประเทศไทย"

http://www.isranews.org/isranews-news/item/26319-su_26319.html#.UsWC9fxK...

จากการอภิปรายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณในวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๗ นี้ จำเป็นต้องเรียนถามไปยังนักวิชาการสองท่าน

ท่านแรก ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ในฐานะที่ท่านแรก เป็นผู้เสนอทฤษฎี "ในระบอบประชาธิปไตยไทย อำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน" และ "เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญ ก็ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ปวงชนนั้นกลับคืนมายังพระมหากษัตริย์" ดังนี้

“ในระบอบประชาธิปไตยไทย อำนาจอธิปไตยอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่ประชาชนเท่านั้นที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรก เหตุผลทางประเพณีในสังคมวัฒนธรรมไทยอันเกิดจากการสั่งสมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพระมหากษัตริย์กับประชาชน ประการที่สอง เหตุผลทางนิติศาสตร์ แต่ไหนแต่ไรมา อำนาจอธิปไตยอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ครั้นเมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอำนาจอธิปไตยอยู่ก็สละพระราชอำนาจนั้นให้ประชาชนทั้งประเทศด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญ แล้วลดพระองค์ลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ยังทรงใช้อำนาจนั้นแทนประชาชน ด้วยเหตุนี้ ในทางกฎหมาย เมื่อมีการรัฐประหารเลิกรัฐธรรมนูญ ก็ต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยที่เคยพระราชทานให้ปวงชนนั้นกลับคืนมายังพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นเจ้าของเดิมมาก่อน ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ดังนั้นในทางกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลต่างประเทศก็ไม่ต้องรับรองรัฐบาลไทยใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงโดยรัฐประหารเป็นเรื่องภายใน แต่ระดับสูงสุดคือสถาบันพระมหากษัตริย์ยังดำรงอยู่ และยังทรงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่กลับคืนมาเป็นของพระองค์ด้วย ส่วนคณะรัฐประหารไม่ใช่เจ้าของอำนาจอธิปไตย หากมีอำนาจปกครองบ้านเมืองในเวลานั้นตามความเป็นจริงเท่านั้น และเมื่อคณะรัฐประหารประสงค์จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อจัดทำแล้วเสร็จ ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเพื่อขอให้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อลงพระปรมาภิไธยก็เท่ากับว่าพระมหากษัตริย์สละอำนาจอธิปไตยกลับคืนมาที่ประชาชนอีกครั้งหนึ่ง”

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม ๒, สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ครั้งที่ ๕, ๒๕๕๐, หน้า ๑๘๒-๑๘๓.

ศ.ดร.บวรศักดิ์ ได้ร่วมเดินขบวน ในนามของศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีภาพถ่ายปรากฏหลักฐานชัดเจน ผมจึงอยากทราบเพื่อความชัดเจนว่าท่านเห็นอย่างไรกับแนวคิดของนายสุเทพ ตามข้อเสนอของนายสุเทพฯ พระมหากษัตริย์ไปอยู่ตรงไหน ต้องลงพระปรมาภิไธยตั้งนายสุเทพฯหรือไม่ ตั้งสภาประชาชนหรือไม่


ท่านที่สอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้เสนอทฤษฎี "คณะรัฐประหารเป็นตัวแทนเชิด พระมหากษัตริย์ให้สัตยาบันการกระทำของตัวแทนเชิด แทนประชาชน" ดังนี้

เมื่อมีการยึดอำนาจการปกครอง อำนาจแท้จริงมิได้ตกเป็นของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองหรือคณะรัฐประหารโดยเด็ดขาด อำนาจปกครองหรืออำนาจอธิปไตยยังคงอยู่กับประชาชน แต่เป็นกรณีที่คณะผู้ยึดอำนาจตั้งตนเป็น “ตัวแทนเชิด” อ้างเหตุจำเป็นเพื่อเข้ายึดอำนาจการปกครอง และทำการใช้อำนาจบริหาร และนิติบัญญัติซึ่งเป็นของประชาชนแทนประชาชนชั่วคราว จนกว่าจะมีการคืนอำนาจแก่ประชาชนด้วยการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยในระหว่างนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์และศาลยุติธรรมยังคงเป็นองค์กรของรัฐที่ดำรงอยู่เสมอ ไม่ว่าในการยึดอำนาจหรือรัฐประหารครั้งใดๆ พระมหากษัตริย์ยังคงเป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนในฐานะประมุขแห่งรัฐและศาลยุติธรรมก็เป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนในฐานะองค์กรวินิจฉัยข้อพิพาทและพิพากษาอรรถคดีต่อไป ดังนั้น เมื่อคณะรัฐประหารจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จึงต้องกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นผู้แทนของประชาชนในฐานะ “มหาสมมติ” การพระราชทานรัฐธรรมนูญจึงอาจถือเสมือนเป็นการให้สัตยาบันแก่คณะรัฐประหารซึ่งเป็นตัวแทนเชิดนั้นแทนประชาชนอีกด้วย

กิตติศักดิ์ ปรกติ, “สถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งสืบทอดมาจากจารีตประเพณีและบทบัญญัติแห่งกฎหมาย : ศึกษากรณียึดอำนาจการปกครองหรือวิกฤตการเมือง,” ใน รวมบทความทางวิชาการ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี, (ปทุมธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552), น. 79.

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ขึ้นอภิปรายบนเวที กปปส หลายครั้ง ผมจึงอยากทราบเพื่อความชัดเจนว่าท่านเห็นอย่างไรกับแนวคิดของนายสุเทพ ตามข้อเสนอของนายสุเทพฯ พระมหากษัตริย์ไปอยู่ตรงไหน ต้องลงพระปรมาภิไธยตั้งนายสุเทพฯหรือไม่ ตั้งสภาประชาชนหรือไม่