ขอเธอเป็นเช่นดวงดาวที่พราวแสง เด่นสีแดงพร่างฟ้าเวหาหน
สาดแสงส่องทำลายล้างความมืดมน เพื่อผองชนคนทุกข์ยากฝากชีวี
\\/--break--\>
จิตสำนึก-อุดมการ[1] ทั้งความคิด ต้องลิขิตผลิตซ้ำนำวิถี
วัตถุนิยมประวัติศาสตร์-วิภาษวิธี[2] เป็นทฤษฎีชี้นำสร้างสังคม
สังคมเก่ากดมนุษย์ ลดคุณค่า[3] กรรมกร-ชาวนา[4]ต้องขื่นขม
ถูกกดขี่-ขูดรีดมานานนม ทุนนิยม[5] ต้องทำลายให้หมดไป
การต่อสู้ทางชนชั้นยังไม่สิ้น เลนินนิสต์-มาร์กซิสต์ต้องเคลื่อนไหว
จัดตั้งพรรค-ประชาชน-ปฏิวัติไทย ร่วมสร้างสรรค์ประชาธิปไตย[6] ให้ยืนยาว
ส่งความหวัง-กำลังใจให้แด่เพื่อน เพื่อย้ำเตือนภาระกิจแห่งหนุ่มสาว
ดุจตะวัน-จันทราและดวงดาว ทุกค่ำเช้าเป็น โคมทองส่องนำทาง
ปานจิต จันทรา
[1] โปรดดู หลุยส์ อัลธูแซร์ : อุดมการและกลไกทางอุดมการของรัฐ(กาญจนา แก้วเทพ แปลและเรียบเรียง)
โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ
[2] เป็น หัวใจของลัทธิมาร์กซ์ กล่าวคือ ส่วนที่เป็นมรรควิธี(Methodology) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์สังคม ผู้สนใจโปรดดู สุวินัย ภรณวลัย : บททดลองเสนอทฤษฎีสังคมนิยมในแง่ของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์
(บทที่ 1 : สังคมนิยมกับมรรควิธี หน้า 1 - 20)
[3] คือ ความผิดแปลกสภาวะหรือความแปลกแยก(Alienation)
ผู้สนใจโปรดดู สุรพงษ์ ชัยนาม : มากซ์และสังคมนิยม(หน้า 56 - 77)
[4] หมายความรวมถึง ชาวสลัม ชาวประมงพื้นบ้าน ฯลฯ ในนามของ ชนชั้นกรรมาชีพ(Proletariat)
[5] หมายถึง ด้านที่เลวร้ายของระบบทุนนิยม กล่าวคือ ด้านความสัมพันธ์ทางการผลิต(Relations of Production) ส่วน ด้านที่ก้าวหน้ากล่าวคือ ด้านพลังการผลิต(Productive Forces) ต้องคงไว้เพื่อเป็นมรดกให้กับสังคมใหม่
โปรดดู ฉลาดชาย รมิตานนท์และ ปรีชา เปี่ยมพงษ์ศานต์ : ลัทธิมาร์กซ์และสังคมนิยม
[6] หมายถึง ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม มิใช่ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม ที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน
โปรดดู สุวินัย ภรณวลัย : ประวัติศาสตร์ขบวนการความคิดสังคมนิยมโดยสังเขป
(บทที่ 3 ตอนที่ 3 : ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์ หน้า 131 - 166)