ราคาน้ำมัน : รัฐบาลจะสร้างความเป็นธรรมได้อย่างไร?

1. คำนำ

ขณะนี้หลายท่านคงจะรู้สึกกังวลร่วมกันว่า ราคาน้ำมันกำลังมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นจนอาจถึงหรือสูงกว่าเมื่อกลางปี 2551 (ดูกราฟประกอบ-ต่ำสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จนมาถึงเกือบ 80 ในเดือนสิงหาคมปีนี้)   ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาสู่เรามากน้อยแค่ไหนก็คงพอจะนึกกันออก

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมา วุฒิสภา โดยคณะกรรมาธิการ ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล  ซึ่งมีคุณรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน  ได้จัดให้มีการเสวนาและเสนอผลการศึกษาในประเด็นปัญหาพลังงาน โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา  การศึกษาใช้เวลาประมาณ 1 ปี มีประเด็นที่น่าสนใจ 3 อย่างที่เกี่ยวกับกิจการพลังงานในบ้านเรา  แต่เพื่อไม่ให้ประเด็นมันกว้างเกินไป คณะกรรมาธิการฯ ได้ยกประเด็นราคาน้ำมันขึ้นมานำเสนอต่อสาธารณะชนก่อน 

ผมเองได้รับเชิญไปร่วมให้ความเห็นและเสนอแนะ ผมจึงขอนำเรื่องนี้บางส่วนมาเล่าต่อในที่นี้ครับ  ผมถือโอกาสหยิบเอาหัวข้อการเสวนามาเป็นชื่อบทความนี้เสียเลย อย่างไรก็ตามผมคงเล่าได้ในบางประเด็นเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมดของการเสวนา

2. ความเป็นธรรมของใคร ?

ในฐานะอาจารย์คณิตศาสตร์  ผมจึงเริ่มตั้งคำถามให้ผู้ฟังช่วยกันคิดว่าเมื่อมองความเป็นธรรมนั้นเราคิดถึง "ความเป็นธรรมของใคร"   คงไม่ใช่หมายถึงระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบการเพียงคู่เดียวเท่านั้น

ในรายงานผลการศึกษาของคณะฯ ระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ส่งออกทั้งน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบรวมกันปีละเกือบ 3 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าข้าวส่งออกที่เป็นสินค้าหลักด้านการเกษตรของประเทศเสียอีก  ในปี 2551 ร้อยละ 22 ของน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นในบ้านเราถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ  ขณะเดียวกันร้อยละ 20 ของน้ำมันดิบที่ขุดได้ในบ้านเราก็ถูกส่งออกเช่นกัน

เมื่อเป็นดั่งนี้ ผมเริ่มเท้าความว่า ตอนผมเป็นเด็กได้อ่านหนังสือเรียนพบว่า
"ประเทศไทยส่งออกไม้สัก ไม้เต็ง ฯลฯ เป็นอันดับหนึ่ง แต่แทบไม่มีป่าไม้ในประเทศให้คนรุ่นผมได้เห็นแล้ว"

ผมย้อนไปว่า  "เมื่อ 30 ปีที่แล้วประเทศไทยส่งออกแร่ดีบุกได้มากเป็นอันดับสองของโลก เราขายแร่แทนตาลัมที่มีราคาแพงมากและเป็นยุทธปัจจัยไปในราคาถูกราวกับเศษดิน ทุกวันนี้เราไม่มีดีบุกเหลือให้ลูกหลานแล้ว"

มาวันนี้  เราพบแหล่งปิโตรเลียมซึ่งได้แก่น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านล้านบาท

หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับงบประมาณแผ่นดินของประเทศไทยได้ถึง 50 ปี  นี่เป็นมรดกที่สะสมกันมานับล้านปี  ใจคอเราคิดจะขุดให้หมดภายใน 10 - 20 ปีข้างหน้านี้หรือ   เราไม่คิดจะเก็บไว้ให้ลูกหลานของเราได้ใช้บ้างเลยเชียวหรือ

หรือถ้าอยากจะขุดให้หมดจริงๆ  เราก็น่าจะเก็บภาษีน้ำมันเพื่อมาสร้างระบบขนส่งมวลชนเช่น รถไฟฟ้าไว้ให้คนรุ่นหลังได้ใช้บ้างจะดีไหม

ผมสรุปว่า "ถ้าขืนยังขุดและใช้น้ำมันกันอย่างฟุ่มเฟือยเช่นนี้ จะไม่เป็นธรรมกับคนรุ่นหลังอย่างแน่นอน"

นั่นเป็นมิติของความเป็นธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งในประเทศเดียวกัน  ผมเรียกความเป็นธรรมนี้โดยรวมว่า ความมั่นคงด้านพลังงาน (energy security) ซึ่งต้องมองกันยาว ๆ ไม่ใช่แค่ความมั่นคงเป็นรายเดือน รายปี หรือสิบปีเท่านั้น

นอกจากนี้ ผมได้กล่าวถึงความเป็นธรรมอีก 2  ประการ คือ ความเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปตรงกันว่า สาเหตุที่ทำให้เกิด "สภาวะโลกร้อน" นั้น  ประมาณ 70 - 80 %  มาจาการใช้พลังงานฟอสซิล(หรือซากพืชซากสัตว์) ของมนุษย์นั่นเอง   สภาวะโลกร้อนได้นำภัยพิบัติมาสู่คนรุ่นเรามากขนาดไหนเราพอจะประเมินกันได้    แต่ในอนาคตภัยพิบัติเหล่านี้จะรุนแรงอย่างที่คนธรรมดา ๆ คาดไม่ถึง

ดังนั้น  การจะสร้างความเป็นธรรมต่อสภาพแวดล้อมก็คือ การลดใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งมีวิธีการลดได้ 3 ทางคือ หนึ่งหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ถ้าพูดถึงน้ำมันก็ต้องหันไปหาน้ำมันจากพืชให้มากขึ้น สองเก็บภาษีน้ำมันให้มากขึ้นเพื่อให้คนใช้น้อยลง จะเรียกภาษีชนิดนี้ว่าภาษีสิ่งแวดล้อม น้ำมันพืชไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ไม่ต้องเก็บภาษี น้ำมันจากฟอสซิลก็เก็บภาษีให้มากหน่อย เพื่อให้น้ำมันพืช เช่น ไบโอดีเซลสามารถแข่งขันได้  และ สามใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความเป็นธรรมประการสุดท้าย คือความเป็นธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ  ผมพูดถึงอย่างกว้าง ๆ ว่า เราต้องสนใจการสร้างงานและกระจายรายได้ที่เป็นธรรมด้วย ขณะเดียวกันพ่อค้าน้ำมันก็ต้องมีกลไกมาควบคุมไม่ให้ค้ากำไรเกินควร

ผมได้ยกตัวเลขให้เห็นว่า  เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2513) ประเทศไทยเรานำเข้าพลังงานเพียง 1 % ของรายได้ประชาชาติเท่านั้น  แต่พอถึงปี 2536 เราใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าถึง 1 ใน 10 ของรายได้ประชาชาติ  ล่าสุดในปี 2551 พบว่า "รายได้ทุก ๆ 100 บาทที่คนไทยหามาได้ ต้องจ่ายเป็นค่าพลังงานถึงเกือบ 20 บาท หรือประมาณ 1 ใน 5 ของรายได้ต้องจ่ายไปเป็นค่าพลังงาน"

ถ้าเราไม่คิดจะแก้ไขอะไรกันเลย ในอีก 15 ปีข้างหน้า เราจะต้องจ่ายค่าพลังงานเป็นเท่าใด  จะเป็น 2 ใน 5 ไหม?

ผมได้คุยกับนักธุรกิจระดับพันล้านบาทท่านหนึ่งโดยบังเอิญ ท่านว่า "ธุรกิจใดที่มีค่าขนส่งเกิน 20% ธุรกิจนั้นต้องเจ๊งแน่ ๆ "    

ผมฟังแล้วรู้สึกเสียวกับ "ธุรกิจบริษัทประเทศไทย"

ถ้าเรากล่าวเฉพาะน้ำมันและไฟฟ้ารวมทั้งการจ้างงาน การกระจายรายได้ พบว่ามีสัญญาณอันตรายเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว ดังตารางข้างล่างนี้

  

ผมได้เรียนต่อวงเสวนาที่มีคนฟังประมาณ 100 คนว่า "ปัจจุบันคนในวัยทำงานมีประมาณ 34 ล้านคน แต่อยู่ในภาคไฟฟ้า น้ำมัน และปั๊มน้ำมัน ประมาณ 3.4 แสนคน หรือประมาณ 1% ของแรงงานทั้งหมด แต่คนเพียงร้อยละ 1  กลับมีส่วนเกี่ยวกับรายได้ถึงร้อยละ 15 ของรายได้ประชาชาติ"

ในเรื่องคนทำงาน 1% ที่มีรายได้ถึง 15 % ของรายได้ประชาชาตินี้  ผมได้รวมเด็กปั๊มประมาณ 2 แสนคนเข้าไปใน 1% นี้แล้ว เด็กปั๊มเหล่านี้มีรายได้แค่เพียงเดือนละ 4-5 พันบาทเท่านั้น

ดังนั้น ถ้าคิดให้ละเอียดจริงๆ ยิ่งน่ากลัวกว่าที่ได้กล่าวมาแล้ว

นอกจากความเป็นธรรมใน 3 ประการหลัก คือ (1) ความเป็นธรรมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (2)  ความมั่นคงด้านพลังงานและ (3) ความเป็นธรรมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ  ผมยังได้เสนอเรื่องความเป็นธรรมในการค้าขาย ทั้งการกลั่นและค่าการตลาดด้วย

3. ความเป็นธรรมเรื่องค่าการกลั่น

ผมได้เรียนต่อวงเสวนาว่า  ผมเองเป็นนักคณิตศาสตร์ ผมไม่ทราบหรอกว่า ค่าการกลั่นของโรงกลั่น (ที่มีอยู่ 7 โรงในประเทศไทย แต่ 85%ของกำลังการผลิตเป็นโรงกลั่นในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด) นั้นถูกหรือแพงเกินไปหรือไม่ แต่ผมใช้วิธีการเปรียบกับโรงกลั่นของประเทศอื่น ๆ  พบว่า ค่าการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศไทยสูงกว่าของกลุ่มประเทศยุโรป และสิงคโปร์เยอะเลย

ในขณะ ที่ (ปี 2550) ของประเทศอื่นอยู่ที่ประมาณ 5.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ประมาณ 1.17 บาทต่อลิตร)  แต่โรงกลั่นในประเทศไทยคิดกับคนไทยในราคาประมาณ 9.2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ประมาณ 2.03 บาทต่อลิตร แพงไปถึง 86 สตางค์ต่อลิตร)

ในแต่ละปี คนไทยบริโภคน้ำมันประมาณ 4 หมื่นล้านลิตร  ดังนั้นส่วนที่คนไทยต้องแบกภาระค่าการกลั่นเกินที่ควรจะเป็นไปถึง 3.4 หมื่นล้านบาท

ไม่น้อยเลยครับ ถ้าเรานำมูลค่าส่วนเกินนี้ไปสร้างรถไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชนไว้ให้คนรุ่นหลังใช้ก็ได้ตั้งเยอะต่อปี

อนึ่ง กระทรวงพลังงานของไทยเราเคยนำเสนอข้อมูลค่าการกลั่นเฉลี่ยมาตลอด แต่นับจากปลายเดือนธันวาคม 2551 เป็นต้นมา กลับไม่มีข้อมูลนี้อีกเลย โดยไม่ทราบเหตุผลใด ๆ

การที่ผู้ประกอบการค้าไม่นำเสนอข้อมูลที่จำเป็นที่สะดวกต่อการทำความเข้าใจและมีความถูกต้องกับผู้บริโภค คิดเป็นอื่นไม่ได้นอกจาก  ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างแน่นอน

คราวนี้ลองมาพิจารณาค่าการกลั่นของโรงกลั่นไทยกันบ้างครับ

เนื่องจากกระทรวงพลังงานไม่ยอมนำเสนอค่าการกลั่นเฉลี่ย  ผมจึงนำราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันสองชนิด คือ ดีเซลหมุนเร็ว (ที่คนใช้มากที่สุด) และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 มาเขียนกราฟพร้อมกับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของกลุ่มประเทศโอเปก  ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม ถึง 5 สิงหาคม 2552 (ข้อมูลที่หายไปคือข้อมูลที่ไม่มีการนำเสนอ)

ผมทราบดีครับว่า การพิจารณาค่าการกลั่นต้องพิจารณากันตลอดทั้งปี  แต่ในที่นี้ผมต้องการชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติเพียงบางช่วงเท่านั้น (คือในกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียว)

 

จากกราฟ โดยส่วนมาก เราจะเห็นว่าราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นจะไปทำนองเดียวกัน แต่ในกรอบดังกล่าวทั้ง ๆ ที่ราคาน้ำมันดิบลดลงติดต่อกัน 2 วัน แต่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปกลับเพิ่มขึ้นติดต่อกันสองวัน

คำถามก็คือ ทำไม? และจะเกิดขึ้นอีกไหม? ไม่มีใครทราบ
เราอาจจะถามต่อไปได้อีกว่า รัฐบาลมีกลไกใดมาควบคุมราคาให้เกิดความเป็นธรรม
คำตอบคือ "ไม่มีในทางปฏิบัติ"

แต่ในทางทฤษฎี รัฐบาลได้ตั้ง "คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน"   มาจำนวน 7 คน แต่ละคนกินเงินเดือน ๆ ละ 2 ถึง 2.5 แสนบาท พร้อมค่าใช้จ่ายอีกไม่เกิน 25% ของเงินเดือน

ในจำนวนกรรมการ 7 ท่านนี้ บางท่านเคยเป็นบอร์ดของ ปตท. มาก่อน บางท่านเคยเป็นเลขานุการคณะทำงานแปรรูป ปตท. และบางท่านก็มีลูกเป็นฝ่ายวางแผนให้บริษัท ปตท.

ข้าราชการระดับสูงหลายคนที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนได้เป็นบอร์ดของบริษัทค้าน้ำมัน แต่ผลประโยชน์ที่บริษัทค้าน้ำมันยื่นให้กลับสูงกว่าเงินเดือนหลายเท่าตัว

แล้วข้าราชการเหล่านี้จะรักษาผลประโยชน์ให้ใคร ?

นี่คือความไม่เป็นธรรมที่คณะกรรมาธิการ ฯ วุฒิสภาตั้งคำถาม

ยังมีอีกหลายประเด็นที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึง แต่บทความชักจะยาวเกินไปแล้ว เอาไว้คราวต่อไปนะครับ 

 

ความเห็น

Submitted by ประสาท on

แก้ไข

3 ล้านบาท เป็น 3 แสนล้านบาท
จาก
ขณะนี้ประเทศไทยได้ส่งออกทั้งน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบรวมกันปีละเกือบ 3 ล้านบาท

Submitted by เอก on

ขอบคุณ อาจารญ์ประสาท ที่ส่งของดีมาให้อ่าน
ว่าแต่ ว วันศุกร์อ่านข้อมูลแดงบ้างไหมครับ...

“คดีโลกร้อน” กับ “เทวดาท่าจะบ๊องส์”

 

 

“คดีโลกร้อน”
เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย 

ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ใช้ไฟฟ้าอย่างไร จึงได้ประโยชน์จากรัฐบาล “ประชานิยม”

22 December, 2010 - 12:08 -- prasart
 
 
ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี

ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว

บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย

ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท สองราย พบว่าแต่ละรายใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วยไปเพียงเล็กน้อย  เมื่อเป็นดังนี้ ผู้ใช้ต้องจ่ายทั้งหมด เช่น ใช้ไป 112 หน่วย ก็ต้องจ่ายทั้งหมด 112 หน่วย ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เกินจาก 90 หน่วยเท่านั้น

ค่าไฟฟ้าสำหรับ 112 หน่วย คิดเป็นเงิน 350 บาท (ในจำนวนนี้เป็นค่าเอฟทีหน่วยละ 92 สตางค์หรือ 103.04 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 22.89 บาท หมายเหตุ ในเดือนตุลาคม 2550 ค่าเอฟทีหน่วยละ 66 สตางค์) ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “เงิน 350 บาทนี้ไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุคนละ 500 บาทต่อเดือน”

จากการพูดคุยดังกล่าวจึงเกิดเป็นโจทย์ให้ต้องขบคิดว่า “จะต้องใช้ไฟฟ้าอย่างไร จึงไม่เกิน 90 หน่วย” เราจึงเริ่มต้นด้วยการสำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าและกำลังของแต่ละชนิด        

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น ได้แก่ หลอดไฟฟ้า (หลอดละ

18 วัตต์) หม้อหุงข้าว (750 วัตต์) โทรทัศน์สี (120 วัตต์) พัดลมตั้งโต๊ะ (50 วัตต์) ตู้เย็น (125 วัตต์ ขนาด 7 คิว ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 37 หน่วย) เครื่องซักผ้า (330 วัตต์) เตารีดผ้า (1,200 วัตต์) กระติกต้มน้ำ (750 วัตต์) และเครื่องบดเครื่องแกง (140 วัตต์)

ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ: ภาคกิจการไฟฟ้า

25 November, 2010 - 12:48 -- prasart

 

 

คำนำ

เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า 
“ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ”

ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง
“ความเหลื่อมล้ำ” ทางการกระจายรายได้ และการถือครองที่ดิน ฯลฯ นอกจากนี้ ผมได้ติดตามแถลงการณ์ของ “กลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายอีก 37 องค์กร”  พบว่าไม่มีประเด็นที่บทความนี้จะกล่าวถึงแต่อย่างใด

การจะ
“ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ได้ เราจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในกลไกการใช้อำนาจรัฐ และที่มาของความเหลื่อมล้ำกันก่อน
 

ภัยธรรมชาติถี่ขึ้น เพราะโลกร้อนขึ้น : คำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์และบริษัทประกันภัย

15 November, 2010 - 10:33 -- prasart
 

“...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”  

“ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”
 

โรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร: โหมเราเอาพรื่อ หรือว่าเรา “เต้นตามจังหวะกลองที่เขาตี”?

28 October, 2010 - 13:02 -- prasart
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์ 

ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า

1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด