เก้าคำถามใหญ่ ๆ เรื่องราคาน้ำมัน

ในขณะที่กระแสสังคมส่งสัญญาณไม่พอใจกับราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ลดการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในส่วนของ ดีเซล ลิตรละ 2 บาท

โดยปกติ ผู้ซื้อน้ำมันดีเซลหมุนเร็วต้องจ่ายค่ากองทุนน้ำมันลิตรละ 1.70 บาทและกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์ลังงานอีกลิตรละ 0.75 บาท รวม 2.45 บาท ต่อไปนี้ก็ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนทั้งสองนี้จำนวน 0.45 บาทต่อลิตร

การแก้ปัญหาดังกล่าวคงจะสร้างความพอใจให้กับผู้บริโภคในสังคมไทยได้ระดับหนึ่ง แต่ถามว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ที่ตรงประเด็นแล้วหรือ?

ปัญหาราคาน้ำมันจริงๆ แล้วมี 2 ระดับ คือ

ระดับโลก ที่มีการผูกขาดโดยพ่อค้าน้ำมันเพียงไม่กี่ตระกูลที่สัมพันธ์กับนักการเมืองผู้มีอำนาจในการก่อสงครามและตลาดหุ้น ตลาดเงิน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความต้องการและการตอบสนองที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศและอื่น ๆ ซึ่งในระดับนี้ประเทศไทยเรารวมทั้งรัฐบาลชุดไหน ๆ ก็คงทำอะไรไม่ได้เลย

ระดับภายในประเทศ กิจการตรงนี้มีหลายขั้นตอนเริ่มตั้งแต่ การจัดซื้อน้ำมันดิบเข้ามารวมทั้งการขุดเจาะเองภายในประเทศ การกลั่น (โรงกลั่น 7 โรง ปัจจุบันมีกำลังการกลั่นได้เกินความต้องการใช้ภายในประเทศประมาณ 30%) การค้าน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นไปยังปั๊มต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนการขายปลีกของปั๊มที่มีอยู่ประมาณ 19,000 ปั๊ม

ปัญหาระดับประเทศนี้แหละที่รัฐบาลต้องมีส่วนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

จะแก้ปัญหานี้ได้จะต้องค้นหาให้ได้เสียก่อนว่า ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ต่อไปนี้เป็นคำถามที่ชวนให้คิด

 

คำถามที่หนึ่ง ใครเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันในประเทศไทย

คำตอบคือ ผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้กำหนด รัฐบาลไม่ได้มีส่วนในการกำหนดราคาแต่อย่างใด ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีและกองทุนเท่านั้น ในวันที่ 6 สิงหาคม รัฐบาลเก็บภาษีและเงินกองทุนกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลิตร 10.18 บาท คิดเป็น 35% ของราคาหน้าปั๊ม

หลายท่านอาจจะไม่เชื่อว่ารัฐบาลปล่อยให้พ่อค้าน้ำมันกำหนดราคาได้เองอย่างเสรี ผมมีหลักฐานจากเอกสารของ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ซึ่งเป็นองค์กรที่อ้างว่าเป็นอิสระและเป็นกลางทางวิชาชีพ) เราสามารถค้นได้จาก www.ptit.org/events/RefineryMargin9May05.pdf พอสรุปได้ว่า

ก่อนปี 2534 รัฐบาลเป็นผู้ตั้งราคาหน้าปั๊มและกำหนดค่าการตลาดเอง โดยยึดหลักการว่าตั้งให้ราคาอยู่ในระดับที่ประชาชนกินดีอยู่ดีและพัฒนาประเทศได้

แต่หลังจากปี 2534 เอกสารชิ้นนี้ (จัดทำในปี 2548) ระบุว่า "ผู้ค้าปลีกเป็นผู้กำหนดราคาให้เป็นไปตามกลไกของการแข่งขันในธุรกิจขายปลีก" อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เข้าแทรกแซงราคาเป็นครั้งคราว เช่น ตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2547 (รัฐบาลทักษิณ)

เป็นเรื่องน่าแปลกครับ ในปี 2551 คนไทยใช้น้ำมันประมาณ 4 หมื่นล้านลิตร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่ได้เข้ามาควบคุมแต่อย่างใด ได้แต่หวังว่าให้มีการแข่งขันโดยเสรี แต่ในความเป็นจริงเป็นการค้าเสรีจริงหรือ

 

คำถามที่สอง ตลาดน้ำมันไทยมีการแข่งขันเสรีจริงหรือ

โรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศมีทั้งหมด 7 โรง มีกำลังการผลิตได้รวมกันประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สิงคโปร์ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) แต่ในจำนวนนี้ ร้อยละ 85 อยู่ในเครือของบริษัท ปตท. จำกัด

ร้อยละ 34% ของยอดจำหน่ายน้ำมันหน้าปั๊มติดตรา ปตท. บริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับสองมียอดจำหน่ายเพียงประมาณ 12 % เท่านั้น

ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ จะถือว่าเป็นการแข่งขันโดยเสรีได้ไหม? ผมว่าท่านผู้อ่านคงตอบได้

 

คำถามที่สาม ราคาหน้าโรงกลั่นกำหนดจากอะไร

เจ้าของโรงกลั่นในประเทศจะเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น แต่เพื่อให้ดูดี เจ้าของโรงกลั่นจะอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ท่าเรือสิงคโปร์ (ราคาเอฟโอบี)

ถ้าราคาที่สิงคโปร์ลิตรละ 10 บาท (สมมุติ) ราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยก็จะกำหนดเป็นลิตละ 10 บาท บวกค่าใช้จ่ายในการขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากสิงคโปร์ (ตัวแทนบริษัทบอกในที่ประชุมกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ว่าประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลหรือ ประมาณ 22 สตางค์ต่อลิตร) การกำหนดราคาส่งออกก็ทำนองเดียวกัน

คนทั่วไปที่ไม่ได้สืบค้นข้อมูลด้วยตนเองอย่างเกาะติดก็จะเชื่อตามนี้ แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

 

คำถามที่สี่ ทำไมราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นไทยจึงแพงกว่าสิงคโปร์

ผมพบข้อมูลของทางราชการชิ้นหนึ่ง เมื่อผมนำมาแปลงให้เป็นหน่วยเดียวกันที่เข้าใจง่ายแล้วพบว่า ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นไทยแพงกว่าราคาเอฟโอบีในสิงคโปร์ถึงลิตรละ 1.52 บาท (ดีเซลหมุนเร็ว วันที่ 3 มีนาคม 2552) ขอย้ำว่านี่เป็นราคาที่ไม่เกี่ยวกับภาษี

ผู้แทนของบริษัทน้ำมัน แย้งผมว่า การดูราคาน้ำมันจะดูวันเดียวไม่ได้ ต้องดูกันทั้งปี ผมก็กลับมาทำการบ้านเพิ่มเติม โดยการคิดทั้งปี 2550 (ตามที่กระทรวงพลังงานเปิดเผย) ก็พบอาการแบบเดิม คือราคาหน้าโรงกลั่นไทยแพงกว่าสิงคโปร์

มาวันนี้ ผมพยายามตรวจสอบข้อมูลปี 2552 ตามที่กระทรวงพลังงานเปิดเผย เนื่องจากข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่ต้องเสียเวลาในการสืบค้น ผมจึงเลือกเอาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ข้อมูลเป็นค่าเฉลี่ยรายสัปดาห์รวม 15 สัปดาห์ติดต่อกัน พบความจริงดังนี้

ราคาน้ำมันดิบที่ตลาดดูไบลิตรละ 11.20 บาท

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ท่าเรือสิงคโปร์ลิตรละ 13.47 บาท

แต่ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่หน้าโรงกลั่นไทยลิตรละ 13.88 บาท

น้ำมันเบนซิน 95 ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

ถ้าคิดว่าแพงกว่าเพราะค่าการขนส่งก็ลิตรละ 22 สตางค์เท่านั้น (เขาบอก) แต่นี่มันถึง 41 สตางค์

คนไทยใช้น้ำมันปีละ 4 หมื่นล้านลิตร คิดเป็นเงินก้อนเท่าไหร่ครับ

นอกจากนี้ ผมพบว่า ค่าการกลั่นของไทยแพงกว่ากลุ่มประเทศยุโรปเยอะเลย

 

คำถามที่ห้า คนไทยต้องจ่าย "ค่าขนส่งเทียม" จริงหรือ

ในขณะที่พ่อค้าน้ำมันคิดต้นทุนน้ำมันดิบ โดยการอ้างอิงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกแล้วบวกค่าขนส่งจากตลาดโลกเข้ามาเมืองไทยกับน้ำมันดิบทั้งหมดที่เข้าโรงกลั่น แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า ประเทศเราสามารถขุดน้ำมันได้เองภายในประเทศถึงร้อยละ 22 ของน้ำมันดิบที่เข้าโรงกลั่น (อีก 78% เป็นการนำเข้า)

แต่ปรากฏว่า พ่อค้าน้ำมันคิดค่าขนส่งน้ำมันดิบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

นี่คือ "ค่าขนส่งเทียม"

ปี 2551 น้ำมันดิบในประเทศไทยที่เข้าโรงกลั่น(ยังไม่รวมคอนเดนเสตที่ได้จากหลุมก๊าซ) ถึง 84 ล้านบาร์เรล คิดเป็นค่าขนส่งเทียมที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเกือบ 3 พันล้านบาท

 

คำถามที่หก ค่าการตลาดคืออะไร ลิตรละเท่าใด ถูกหรือแพงเกินไป

ค่าการตลาดมี 2 ราคาคือราคากรุงเทพฯและปริมณฑล กับราคาต่างจังหวัด

ค่าการตลาดคือ ราคาหน้าปั๊ม ลบด้วยผลรวมของราคาหน้าโรงกลั่นกับภาษีและเงินกองทุน ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นราคาที่รวมค่าขนส่งแล้ว แต่ในต่างจังหวัดจะคิดค่าขนส่งต่างหาก ค่าการตลาดจึงไม่ใช่กำไรของเจ้าของปั๊ม กำไรของเจ้าของปั๊มเท่ากับค่าการตลาดลบด้วยค่าใช้จ่ายภายในปั๊มและค่าดอกเบี้ย

ผู้แทนของบริษัท ปตท. ชี้แจงในวงเสวนาของวุฒิสภาว่า "ค่าการตลาดที่เหมาะสมอยู่ที่ลิตรละ 1.50 บาท โดยเจ้าของปั๊มได้รับลิตรละ 70-80 สตางค์"

เรื่องนี้ใครรู้จักเจ้าของปั๊มกรุณาสอบถามหาความจริงให้หน่อยครับ ที่ผมทราบมานั้นประมาณ 40 สตางค์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ผมพบว่า บางช่วง (8 ตุลาคม ถึง 13 พฤศจิกายน 51) ค่าการตลาดเท่ากับ 3.10 บาทต่อลิตร แต่ในบางช่วง (12 พฤษภาคมถึง 15 มิถุนายน 51) ค่าการตลาดเท่ากับ 1.42 บาท เหตุผลเพราะอะไร ผมไม่ทราบครับ แต่ความผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยมาก

ถ้าถามว่าค่าการตลาด 1.50 บาทต่อลิตรนั้นถูกหรือแพงเกินไป ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องเป็นผู้ค้นหาคำตอบมาให้ประชาชน

อย่างไรก็ตาม ผมพบว่าในประเทศแคนาดา ค่าการตลาดลิตรลิตรละ 1.50 โดยเกือบเท่ากันตลอดทั้งปี ไม่แกว่งไปแกว่งมาเหมือนบ้านเรา แต่ค่าใช้จ่ายภายในปั๊มน่าจะแพงกว่าในประเทศไทย เพราะค่าครองชีพสูงกว่าบ้านเรา

 

คำถามที่เจ็ด ทำไมพ่อค้าส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกในราคาที่ถูกกว่าที่ขายให้คนไทย

จากข้อมูลของทางราชการเช่นเดิม ผมพบว่า ในปี 2551 พ่อค้าส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกไปขายในราคา 103.25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นจำนวน 77 ล้านบาร์เรล (รวมเป็นเงิน 2.78 แสนล้านบาท) แต่นำเข้ามาในราคา 107.84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นจำนวน 14.3 ล้านบาร์เรล

ในปี 2550 ก็ทำนองเดียวกัน ในขณะที่ราคาส่งออกอยู่ที่ระดับ 75.60 แต่ขายภายในประเทศอยู่ที่ประมาณ 79.25 $/บาร์เรล

เรื่องนี้เหมือนกับราคาน้ำตาลทราย ที่คนในประเทศ(ผู้มีบุญ!) ซื้อแพงกว่าราคาส่งออก

ผู้แทนของบริษัท ปตท. อธิบายว่า "น้ำมันส่งออกส่วนหนึ่งเป็นน้ำมันเตาที่ราคาต่ำ ดังนั้นราคาเฉลี่ยจึงต่ำกว่า" ผมกลับมาค้นคว้าใหม่ พบว่าที่ผู้แทนบริษัทพูดก็เป็นความจริง แต่ก็ไม่ยอมบอกสัดส่วนที่แท้จริง

ที่ผมเรียนมาทั้งหมดในข้อนี้ ยังไม่ได้ตอบว่า "ทำไม ราคาส่งออกจึงถูกว่าภายในประเทศ"

ผมคิดเอานะครับว่า "เพราะการส่งออกต้องมีการแข่งขันกับบริษัทอื่น ๆ ในโลก แต่ในประเทศไทยเป็นการผูกขาด (85%) เป็นหมูในอวย"

 

คำถามที่แปด บริษัทน้ำมันควรจะมีกำไรเท่าใด

คำตอบในข้อนี้น่าจะสะท้อนภาพรวมได้ดี จากเอกสารที่ค้นได้จาก http://www.api.org พบว่า กำไรขั้นต้นของบริษัทน้ำมันในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 5.7% แต่ในปี 2551บริษัท ปตท. อยู่ที่ร้อยละ 8.5 บางปีเกือบถึง 10%

ตัวเลขนี้คงบอกอะไรได้ชัดเจนอยู่ในตัว

 

คำถามที่เก้า การแก้ปัญหาราคาน้ำมันของรัฐบาลนี้ถูกต้องตรงประเด็นไหม

ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลดลงจริงครับ แต่ความเป็นธรรมระหว่างผู้บริโภคกับพ่อค้าน้ำมัน ระหว่างเจ้าของปั๊มกับพ่อค้ารายใหญ่ รัฐบาลนี้แกล้งทำเป็นไม่เห็นครับ

ความไม่เป็นธรรมจึงยังคงดำรงอยู่ต่อไป แล้วสังคมนี้จะมีความสงบและสันติสุขได้อย่างไร

 

 

 

ความเห็น

Submitted by คนผ่านมา on

ระดับภายในประเทศ กำลังการกลั่น กับ กำลังการจุดเจาะน้ำมันดิบภายในประเทศเป็นเท่าไรอย่างไหนเยอะกว่าครับ
ปัญหาที่แท้จริง คือ คนรู้ไม่จริงที่พยายามคิดว่าตัวเองฉลาดมากกว่าครับ

ใครเป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันในประเทศไทย <

ลองไปศึกษาเศรษฐศาตร์ดูนะครับ เรื่อง Demand Supply
แล้วก็ลองศึกษาเรื่องการนำเข้าส่งออกดู ว่าพวกน้ำมันเนี่ย เวลาส่งออกไปต่างประเทศ รัฐบาลประเทศไหน เขาเก็บภาษี สรรพสามิต กับเงินกองทุนน้ำมัน เงินกองทุนสิ่งแวดล้อมบ้าง

เรื่องการแข่งขันเสรี นี่คุณไม่ต้องห่วงหรอกครับ ถ้าปตท. ขายแพง ก็มีน้ำมันมาจากสิงค์โปร์ มาเลเซียเองครับ เรื่องนี้แนะนำให้ไปศึกษาเศรษฐศาตร์ดูนะครับ เรื่อง Demand Supply เช่นกันครับ

ราคาส่งออกมี 2 แบบ คือ FOB กับ CIF ราคา FOB ไม่มีค่าประกัน และค่าขนส่งไปยังประเทศปลายทางครับ
ส่วนเรื่องราคาหน้าโรงกลั่น มันก็ขึ้นกับต้นทุนของเขาครับ ถ้าต้นทุนการผลิตสูง เขาก็ต้องขายแพงขึ้น ไม่มีใครอยากขาดทุน แต่ถ้าขายแพงไป จนนำเข้าถูกกว่า บริษัทไม่ปรับปรุงก็ต้องเจ๊งไปเอง ตามหลักเศรษฐศาสตร์

Submitted by คนผ่านมา on

อีกอย่าง เมื่อไรคนไทยจะเลิกมั่ว เรื่องดีเซลซะทีครับ
มันมี LSD กับ HSD แล้วก็ ULSD
คนไทยเรียกเป็น Low Speed Diesel, High Speed Diesel

จริงๆ มัน Low Sulfur Diesel กับ High Sulfur Diesel แล้วก็ Ultra Low Sulfur Diesel ต่างหากครับ

ขุดได้ 22% แล้วทำไมต้องจ่ายค่าขนส่งเทียม แล้วทีเหลือ มัน วาร์ป เข้าประเทศมาโดยไม่ต้องเสียค่าส่งเหรอครับ

ค่าการตลาดคือ กำไรที่จะให้ยี่ปั้ว ซาปั้วครับ
แล้วสำหรับสินค้าที่ราคาผันผวน ช่วงราคาขาลง ต้องให้ ค่าการตลาดสูงครับ ไม่มีใครอยาก stock สินค้า เก็บไว้มีแต่ด้อยค่า
แต่ช่วงราคาขาขึ้น บางทีค่าการตลาดให้เกือบๆ 0 ก็มีครับ
และแนะนำให้ศึกษาเรื่องการลงทุนประกอบด้วย
ลองหาอ่านนิยามเกี่ยวกับ ROA ROE และ Net Profit Margin ดูครับ

คำถามที่เจ็ด ทำไมพ่อค้าส่งน้ำมันสำเร็จรูปออกในราคาที่ถูกกว่าที่ขายให้คนไทย
เพราะการส่งออกเก็บได้แต่ภาษีส่งออก และสำหรับพวก Commodity มีการซื้อขายในตลาดการลงทุน หากคิดภาษีในอัตราที่ไม่สอดคล้องกับตลาดโลก ก็จะส่งออกไม่ได้
ไม่มีใครโง่ซื้อของแพง

Submitted by คนผ่านมา on

และเนื่องจากภาษีหลากอย่างจะไม่มีการจัดเก็บกับสินค้าส่งออก ราคาจึงถูกกว่าในประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น VAT
ถ้าคุณเคยไปสนามบินบ้างในชีวิตนี้ น่าจะพอเห็นป้าย VAT Refund บ้าง
การส่งออกไม่ รัฐบาลของประเทศผู้ส่งออกไม่สามารถเรียกเก็บ VAT ได้ครับ

คำถามที่แปด บริษัทน้ำมันควรจะมีกำไรเท่าใด
ลองหาอ่านเรื่อง ROE ROA และ Net Profit Margin ดูนะครับ ว่ามันต่างกันอย่างไร
ถ้า Net Profit Margin ควรอยู่ 5.7% จะมาลงทุนเปิดโรงกลั่น ทำแท่นขุดเจาะน้ำมันทำไมครับ
รอช่วงดอกสูงๆ ซื้อ Bond 10 ปี ดีกว่าไหม?

นักทุนรวยๆ เขาไม่โง่หรอกครับ โง่แล้วเขาจะรวยเหรอ?

ดีเซลหมุนเร็วลดลงจริงครับ เพราะจริงๆ มันคือ ดีเซลกำมะถันสูง หลายประเทศเขาไม่ใช้ เพราะไม่ผ่านมาตรฐานสิ่งแวดล้อม พอ Demand ลด ราคาก็ ลดตามครับ

ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ น่าจะมีคณะบริหารกับเศรษฐศาสตร์นี่ครับ น่าจะลองไปให้อาจารย์ที่คณะนั้นอธิบาย เรื่องธุรกิจ การลงทุน และเศรษฐศาสตร์ให้ฟังก่อนนะครับ

Submitted by คนผ่านมา on

http://www.petronasgas.com/internet/pgb/PGBcorp.nsf/3b269571c10e71e54825...$FILE/Petronas%20Gas%20Berhad%20Annual%20Report%202009.pdf

ลองไปอ่านดูนะครับ Petronas กำไรก่อนภาษีอยู่ที่ 36.1-44.6% หลังหักภาษีอยู่ที่ 27.2-41.8% ตัวเลขย้อนหลัง ปี 2005-2009
ถ้า ปิโตรนาส ขายน้ำมันได้ถูกว่า แต่กลับมีกำไรมากกว่าบริษัทน้ำมันไทย 3-4 เท่า คุณก็ลองไปคิดดูละกันว่าตัวเลขนี้มันบอกอะไร

แล้วก็ สินค้านำเข้าอย่าลืม คิดภาษีนำเข้าด้วยนะครับ
เห็นเมื่อก่อน ชอบคิดว่า น้ำมันดิบ วาร์ปเข้าประเทศไทยมาไม่เสียค่าส่ง
แล้วก็เนรมิตตัวเองเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ โดยไม่ต้องเสียค่ากลั่น
แต่ยังเห็นหลายคนคิดว่า สินค้าผ่านกรมศุลากากรเข้าประเทศได้โดยไม่เสียภาษีนำเข้ากับ VAT อยู่

Submitted by ไม่ได้กินหญ้า on

http://www.petronas.com.my/internet/corp/centralrep2.nsf/f0d5fd0d9c25fbd...$FILE/FY2008%20Media%20Release%20-%2015%20July%202008.pdf

http://www.petronasgas.com/internet/pgb/PGBcorp.nsf/3b269571c10e71e54825...$FILE/Petronas%20Gas%20Berhad%20Annual%20Report%202009.pdf

ลองดูว่า Petronas เค้าได้กำไรกี่ % นะครับ

http://www.petrochina.com.cn/resource/EngPdf/LTN20080319139.pdf

อันนี้ของ Petrochina

ไม่ลองดูละครับว่ารัฐเก็บภาษีกับเก็บเข้ากองทุนไปเท่าไหร่ ที่เห็นๆ นะ ทางตรงนะครับ

อย่าลืมว่าในค่าการกลั่น กับ ค่าการตลาด ยังมีภาษีแฝงอยู่อีก

Submitted by คนผ่านมา on

แล้วก็ก่อนจะอ้างประเทศแคนาดาน่ะครับ ศึกษาประเทศเขาดีแล้วเหรอครับ
รู้ปริมาณน้ำมันแหล่งน้ำมันดิบในประเทศเขาแล้วเหรอครับ ว่าเขามีแหล่งน้ำมันดิบเป็นอันดับที่เท่าไรของโลก? ผมใบ้ให้ก็ได้ Top3
แล้วรู้เกี่ยวกับราคาไฟฟ้าเขาหรือเปล่าครับ?

ทำไมน้ำมันถูก ค่าไฟถูก มีน้ำตกไนเองการ่าแล้ว เขาเอาไปทำอะไรได้ครับ?

“คดีโลกร้อน” กับ “เทวดาท่าจะบ๊องส์”

 

 

“คดีโลกร้อน”
เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย 

ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี

ใช้ไฟฟ้าอย่างไร จึงได้ประโยชน์จากรัฐบาล “ประชานิยม”

22 December, 2010 - 12:08 -- prasart
 
 
ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี

ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว

บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย

ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท สองราย พบว่าแต่ละรายใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วยไปเพียงเล็กน้อย  เมื่อเป็นดังนี้ ผู้ใช้ต้องจ่ายทั้งหมด เช่น ใช้ไป 112 หน่วย ก็ต้องจ่ายทั้งหมด 112 หน่วย ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เกินจาก 90 หน่วยเท่านั้น

ค่าไฟฟ้าสำหรับ 112 หน่วย คิดเป็นเงิน 350 บาท (ในจำนวนนี้เป็นค่าเอฟทีหน่วยละ 92 สตางค์หรือ 103.04 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 22.89 บาท หมายเหตุ ในเดือนตุลาคม 2550 ค่าเอฟทีหน่วยละ 66 สตางค์) ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งสองต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า “เงิน 350 บาทนี้ไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับเงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุคนละ 500 บาทต่อเดือน”

จากการพูดคุยดังกล่าวจึงเกิดเป็นโจทย์ให้ต้องขบคิดว่า “จะต้องใช้ไฟฟ้าอย่างไร จึงไม่เกิน 90 หน่วย” เราจึงเริ่มต้นด้วยการสำรวจเครื่องใช้ไฟฟ้าและกำลังของแต่ละชนิด        

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น ได้แก่ หลอดไฟฟ้า (หลอดละ

18 วัตต์) หม้อหุงข้าว (750 วัตต์) โทรทัศน์สี (120 วัตต์) พัดลมตั้งโต๊ะ (50 วัตต์) ตู้เย็น (125 วัตต์ ขนาด 7 คิว ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 37 หน่วย) เครื่องซักผ้า (330 วัตต์) เตารีดผ้า (1,200 วัตต์) กระติกต้มน้ำ (750 วัตต์) และเครื่องบดเครื่องแกง (140 วัตต์)

ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ: ภาคกิจการไฟฟ้า

25 November, 2010 - 12:48 -- prasart

 

 

คำนำ

เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน

เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า 
“ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ”

ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง
“ความเหลื่อมล้ำ” ทางการกระจายรายได้ และการถือครองที่ดิน ฯลฯ นอกจากนี้ ผมได้ติดตามแถลงการณ์ของ “กลุ่มเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยและเครือข่ายอีก 37 องค์กร”  พบว่าไม่มีประเด็นที่บทความนี้จะกล่าวถึงแต่อย่างใด

การจะ
“ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ได้ เราจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในกลไกการใช้อำนาจรัฐ และที่มาของความเหลื่อมล้ำกันก่อน
 

ภัยธรรมชาติถี่ขึ้น เพราะโลกร้อนขึ้น : คำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์และบริษัทประกันภัย

15 November, 2010 - 10:33 -- prasart
 

“...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”  

“ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”
 

โรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร: โหมเราเอาพรื่อ หรือว่าเรา “เต้นตามจังหวะกลองที่เขาตี”?

28 October, 2010 - 13:02 -- prasart
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์ 

ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า

1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด