“คนไทยลืมง่าย” คือคำนิยามหนึ่งที่อธิบายลักษณะความคิดและนิสัยของคนไทย ได้เป็นอย่างดี คนไทยเรามักเลือกที่จะลืมและให้อภัย กับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทุกๆเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสร้างความเดือดร้อนใหญ่หรือเล็กเพียงใด
หลายคนแสดงความเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเรามีอุปนิสัยเช่นนี้ เนื่องจากคนไทยเราส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลทางด้านความคิดจากพุทธศาสนา ซึ่งปลูกฝังให้คนเรารู้จักให้อภัยกันและกัน ทำให้คนในสังคมของเรา อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและเกื้อกูลกัน ซึ่งนี้คือสิ่งที่หลายคนเห็นว่า “การลืมง่าย” ก่อให้เกิดผลดีกับบ้านเมืองของเรา
อย่างไรก็ดีธรรมชาติของเหรียญย่อมต้องมีสองด้าน...ผลที่ตามมาอีกด้านหนึ่งของเหรียญ ก็คือ การที่คนไทยเรา ปล่อยให้ความผิดพลาดเดิมๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่รู้จักเรียนรู้และป้องกัน และทำให้เราไม่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้รวดเร็วเท่าที่ควร หรือบางครั้งย่ำอยู่กับที่เสียด้วยซ้ำ
และผลลัพธ์ของการไม่รู้จักเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต ทำให้เราต้องสูญเสียอย่างมากมาย ทั้งในแง่ของเงินทอง และในเรื่องของโอกาส เพื่อการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งด้วยความสูญเสียเช่นนี้ เป็นการยากที่ประเทศไทยและคนไทยของเรา จะอยู่รอดในโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราการแข่งขันสูง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และด้วยอัตราเร็วที่เพิ่มขึ้นทุกทีๆ
ทางเดียวที่จะสามารถก้าวตามกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ของสิ่งแวดล้อมทางการแข่งขันในโลกปัจจุบัน คือต้องขยายขีดความสามารถในการพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง หรือถ้าให้เข้ากับยุคสมัยก็คือ ต้องสามารถพัฒนาขีดความสามารถ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมของตน ได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง
เพื่อให้มีความสามารถในลักษณะข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด และไม่ปล่อยให้ความผิดพลาด ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการพัฒนา เกิดขึ้น ผ่านไป และกลับมาเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
การผลักดันให้ “การเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต” เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในสังคมไทย ถึงแม้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเป็นเรื่องในระดับของค่านิยม ที่จำเป็นต้องปลูกฝังลงในสังคมไทย แต่ถือเป็นเรื่องจำเป็น สำคัญ และต้องรีบดำเนินการอย่างที่สุด
หากไม่นับเรื่องการปรับทัศนคติทางสังคม ซึ่งจำเป็นต้องใช้แนวทางการรณรงค์ เพื่อยกระดับค่านิยมในสังคม และเป็นการดำเนินการที่ต้องใช้เวลา การเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต สามารถดำเนินการได้ง่าย เป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากความสามารถของ ICT ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เพื่อการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
แน่นอนว่าการเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ประกอบขึ้นด้วยกิจกรรมในหลายขั้นตอน ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาด การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลดดังกล่าว การจัดทำบทสรุป การดำเนินการให้ผลของการศึกษาได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และการตีแผ่ผลการศึกษาให้กับผู้ที่สนใจและผู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงต่อไป
ด้วยพลังและความสามารถของ ICT ทั้งในแง่ของการประมวลผล จัดเก็บและแบ่งปันข้อมูล ในแง่ของการควบคุมชั้นการเข้าถึงข้อมูลแต่ละประเภท ในแง่ของการสนับสนุนการติดต่อสื่อสารจากระยะไกล และในแง่ของการปรับปรุงรูปแบบการทำงานของระบบได้ค่อนข้างยืดหยุ่น ทำให้กิจกรรมและขั้นตอนต่างๆข้างต้น สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และในต้นทุนที่ประหยัด
ด้วยความสามารถทั้งหมดข้างต้นของ ICT การดำเนินการเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต สามารถเกิดขึ้นได้ดังนี้
เมื่อมีการดำเนินโครงการหรือมีการทำงานใดแล้วเกิดความผิดพลาดล้มเหลว จักต้องมีการประเมินผลโครงการหรือการทำงานนั้นทันที ซึ่งด้วยความสามารถของ ICT ในด้านการสนับสนุนการติดต่อสื่อสารระยะไกล จักช่วยให้การประสานงานระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดกับโครงการหรือการทำงานนั้น เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และในต้นทุนที่ประหยัด
การรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาด การประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล การจัดทำบทสรุป การดำเนินการให้ผลของการศึกษาได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยความสามารถของ ICT ในด้านการสนับสนุนการประมวลผลข้อมูล การจัดเก็บและแบ่งปันข้อมูล และการนำเสนอข้อมูลได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งจักช่วยให้การทำงานระหว่างกลุ่มคนกับข้อมูลในลักษณะต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้ย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และในต้นทุนที่ประหยัด
การจัดเก็บข้อมูลการประเมินผล ในรูปแบบที่สามารถเข้าถึงได้โดยผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ก็เป็นอีกขั้นตอนสำคัญ ที่ทำให้ผลลัพธ์ของการเรียนรู้จากความผิดพลาด มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงในการผิดพลาดหรือล้มเหลวอย่างซ้ำซากในวงกว้าง ซึ่งตรงจุดนี้ความสามารถของ ICT ในแง่ของการควบคุมชั้นการเข้าถึงข้อมูลแต่ละประเภท เข้ามาช่วยบริหารชั้นความลับของการเปิดเผยข้อมูล เพื่อทำให้การเปิดเผยและการเข้าถึงข้อมูลทำได้อย่างถูกต้อง และด้วยความสบายใจของทุกฝ่ายว่า ผู้เข้ามาใช้ประโยชน์ข้อมูลสามารถเข้าถึงข้อมูลในระดับที่เหมาะสม หากการควบคุมชั้นความลับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับข้อมูลนั้นๆ
การที่ ICT มีรูปแบบการทำงานที่สามารถถูกปรับปรุงรูปได้ค่อนข้างยืดหยุ่น เป็นอีกความสามารถหนึ่ง ที่ทำให้ระบบการทำงานหรือโครงการต่างๆ นิยมนำ ICT เข้ามาใช้งาน เพื่อช่วยให้การทำงานต่างๆ เมื่อมีการเรียนรู้จากความผิดพลาดแล้ว สามารถนำข้อแก้ไขต่างๆ มาพัฒนารูปแบบการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากการเรียนรู้จากความผิดพลาดแล้ว ความสามารถของ ICT ยังถูกประยุกต์ใช้ในทำนองเดียวกัน หากแต่เพื่อเรียนรู้จากความสำเร็จได้อีกด้วย
โครงการหรือการทำงานใด ที่ประสบความสำเร็จ เราต้องนำมาวิเคระห์และสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จ และดำเนินการตีแผ่ผลการวิเคราะห์นี้ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและสนใจรับทราบอย่างทั่วถึง เพื่อสนับสนุนให้โครงการหรือการทำงาน ในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกัน ตระหนักถึงและนำความรู้ดังกล่าว ไปใช้เป็นกรอบการดำเนินการ เพื่อการมีแนวโน้มในการประสบความสำเร็จเช่นเดียวกันต่อไป
ข้าพเจ้ามั่นใจว่า หากสังคมไทยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ จากทั้งความผิดพลาดและความสำเร็จที่ผ่านไป ย่อมทำให้สังคมไทยสามารถหลีกเลี่ยงสภาพแห่งการผิดพลาดหรือล้มเหลวซ้ำซาก พร้อมทั้งทำให้การดำเนินการต่างๆของเรา ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น ยอมทำให้ประเทศของเรามีแนวโน้มแห่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้น และสามารถก้าวทันกับอัตราเร็วแห่งการเปลี่ยนแปลงไปของโลกใบนี้ ได้ในท้ายที่สุด
ความสามารถของ ICT ช่วยเราได้มากมายขนาดนี้แล้ว เหลือเพียงแต่ว่าเราจะช่วยกันรณรงค์ เพื่อยกระดับให้ การให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต เป็นค่านิยมสำคัญลำดับต้นๆของสังคมเรา ได้รวดเร็วและมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น
ข้าพเจ้าไม่อยากให้เราปล่อยโอกาสอันดีนี้หลุดลอยไป