หากท่านผู้อ่านได้อ่านบทความก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความเรื่อง “การเข้าถึงเทคโนโลยี ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความแตกต่างทางสังคม และสังคมในแนวขนาน” หรือเรื่อง “เว็บยุค2.0 สื่อพลเมือง และการท้าทายกระแสหลัก” และเรื่อง “ICT ตัวการแห่งการเปลี่ยนแปลง และผลลัพท์ทางสังคมที่ย้อนแย้ง” ข้าพเจ้าเชื่อว่าบทความเหล่านี้ จะทำให้ทุกท่านที่อ่านเริ่มตระหนัก ข้อเท็จจริงที่ว่า ICT เป็นตัวแปรต้นของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ว่า สังคมของเราทุกวันนี้ มีความหลากหลายทางระบบความคิด ความเชื่อ และมีความแตกต่างทางด้านค่านิยมมากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมข้างต้น แน่นอนว่าไม่ได้ถูกผลักดัน ด้วยความก้าวหน้าทางด้าน ICT อย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ข้าพเจ้าเห็นว่า ระดับความรู้และพื้นฐานการศึกษาที่สูงขึ้นของสมาชิกในสังคม ยังเป็นอีกตัวแปรหนึ่ง ที่ส่งเสริมความหลากหลายและความแตกต่างทางความคิด
กระนั้นก็ดีข้าพเจ้าไม่คิดว่า เราสามารถปฏิเสธบทบาทสำคัญของ ICT ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือ ซึ่งช่วยให้ความหลากหลายของ ระบบความคิด แนวความเชื่อ และค่านิยมในสังคม เกิดการสื่อสาร เผยแพร่ และกระจายตัว อย่างรวดเร็วและในวงกว้างทั่วสังคม
ในอดีตการเกิดขึ้นของความหลากหลายทางด้านระบบความคิด แนวความเชื่อ และค่านิยมในสังคม เป็นไปอย่างยากลำบาก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่ยึดถืออยู่เดิมในสังคมทำได้ยาก เนื่องจากการสื่อสารวงกว้างเพื่อพัฒนา เผยแพร่ และกระจาย ระบบความคิด และแนวความเชื่อใหม่ๆ ทำได้ยากและมีต้นทุนสูง
การเกิดและพัฒนาขึ้นของระบบความคิด แนวความเชื่อ และค่านิยมใหม่ทางสังคม ซึ่งนำมาสู่ความหลากหลายในบั้นปลาย ในอดีตนั้น เริ่มต้นจากการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างผู้นำทางความคิด เพื่อก่อร่างสร้างแนวความคิดความเชื่อใหม่เบื้องต้น และเพื่อให้แนวความคิดความเชื่อดังกล่าว ได้รับการพัฒนา ยอมรับ และขยายผลในวงกว้าง จึงมีความจำเป็นต้องสื่อสารกับสังคม ซึ่งมีความยากลำบากตลอดกระบวนการดังกล่าว
เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ICT ได้ทำให้กระบวนการเกิดและพัฒนาขึ้นของระบบความคิด แนวความเชื่อ และค่านิยมใหม่ทางสังคม เป็นกระบวนการที่ง่ายและใช้ต้นทุนน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยแทนที่ผู้นำทางความคิด ต้องใช้เวลายาวนานในการติดต่อสื่อสารและเดินทาง เพื่อการตกผลึกทางความคิดร่วมกัน ปัจจุบันสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน ผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารที่หลากหลายและราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นการใช้อีเมล การใช้โปรแกรมข้อความโต้ตอบออนไลน์ต่างๆ เช่น Windows Live Messenger และ Google Talk หรือว่าการใช้ระบบโทรศัพท์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบโทรศัพท์พื้นฐาน ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือโปรแกรมโทรศัพท์ผ่านอินเตอร์เนต เช่น Skype และ IP telephony ต่างๆ
ในส่วนของขั้นตอนการสื่อสารกับสังคม เพื่อทำให้แนวความคิดใหม่ดังกล่าว ได้รับการพัฒนา ยอมรับ และขยายผลในวงกว้าง ความก้าวหน้าทาง ICT ในปัจจุบัน ได้ให้กำเนิดเครื่องมือซึ่งช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลและสื่อสารกับมวลชนในวงกว้าง ทำได้อย่างง่ายดาย มีประสิทธิภาพ อย่างรวดเร็ว และด้วยต้นทุนต่ำ
ตัวอย่างเช่น จากอดีตที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการสื่อสารมวลชน ต้องพึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ สถานีวิทยุ และสถานีโทรทัศน์ ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด อันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องการการลงทุนที่สูง และส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยรัฐ มาสู่ยุคปัจจุบัน ที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ของจำนวนสมาชิกในสังคม ที่มีความสามารถครอบครองอุปกรณ์ ICT ต่างๆ ที่มีความสามารถในการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ และการเชื่อมต่ออินเตอร์เนต เพื่อสร้างและเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารมวลชนออนไลน์ต่างๆอย่างอิสระ เช่น สถานีวิทยุออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ออนไลน์ การกระจายภาพและเสียงตามความต้องการ (Video and Audio on demand) กระดานข่าว (Web board) และพื้นที่บทความออนไลน์ (Blog)
ปรากฏการณ์ข้างต้น ทำให้ปัจจุบันระบบความคิด แนวความเชื่อ และค่านิยมเดิม ซึ่งเป็นมาตรฐานในสังคม ถูกท้าทายถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น อีกทั้งระบบความคิด แนวความเชื่อ และค่านิยมใหม่ สามารถเกิดได้เร็วขึ้น ในวงกว้าง และอย่างหลากหลาย
ปรากฏการณ์ดังกล่าว กำลังนำความเปลี่ยนแปลง ในระดับปัจจัยพื้นฐาน มาสู่ทุกสังคม อย่างรุนแรง หากผู้นำสังคมและสมาชิกทุกคนไม่ตระหนัก และเริ่มให้ความสำคัญกับการรับมือกับมัน เนื่องจากกลไกทางสังคมเดิมของแต่ละสังคม อาจไม่สามารถรองรับระบบความคิด แนวความเชื่อ และค่านิยมของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งมีโอกาสแตกต่างกันไปได้อย่างมากมาย
กลไกทางสังคมที่เหมาะสมสำหรับยุคปัจจุบัน ในความคิดของข้าพเจ้า ไม่ใช่กลไกทางสังคมที่มุ่งควบคุม หรือสร้างมาตรฐานสังคม ให้ทุกคนคิดและทำตามในลักษณะเดียวกัน หากแต่ต้องเป็นกลไกที่ช่วยโอบอุ้มความหลากหลายทางระบบความคิด แนวความเชื่อ และค่านิยม ทำให้สมาชิกในสังคมอยู่ได้กับความหลากหลายนั้น และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางสังคม เพื่อทำให้สังคมมีความสงบสุข และสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ ICT สร้างปรากฏการณ์และความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นมา ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ICT เองก็จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือ ที่ช่วยสร้างทางออกให้กับปัญหาดังกล่าวด้วย
เนื่องจาก ICT คือเทคโนโลยีที่มนุษย์เป็นผู้สร้างและนำไปใช้ เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคม ดังนั้นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ICT เอง แต่ผลลัพธ์นั้นจะเป็นไปตามวิสัยทัศน์ ของผู้สร้างและนำ ICT ไปใช้ (สามารถขยายความเพิ่มเติมได้จากบทความ “ICT เทคโนโลยีสะท้อนวิสัยทัศน์”)
นั่นหมายความว่า หากผู้นำในสังคมตระหนักถึงสถานการณ์ข้างต้น ICT ก็สามารถถูกนำมาใช้เพื่อรับมือกับความหลากหลายทางสังคมได้ โดยใช้ ICT เป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนากลไกทางสังคม ซึ่งช่วยโอบอุ้มความหลากหลายทางระบบความคิด แนวความเชื่อ และค่านิยม ของสมาชิกทุกคนในสังคม ช่วยให้สมาชิกในสังคมทุกคน อยู่กับความหลากหลายได้อย่างมีความสุข และช่วยให้สังคมใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางสังคมนี้ได้
ในสถานการณ์ที่โลกใบนี้วุ่นวายสับสน จากความหลากหลายทางสังคม โดยมี ICT เป็นตัวเร่งผลักดันให้ความหลากหลายนั้นเกิดขึ้น ICT ก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ช่วยจัดการความหลากหลายนั้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้นำ ICT ไปใช้เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคม ซึ่งนั้นก็คือเราทุกคน ว่าต้องการอย่างไร
ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องอยู่กับความหลากหลายอย่างมีความสุข