สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์การเมือง อธิบายเรื่องชนชั้นที่แตกต่างกันในแต่ละวิถีการผลิต (Mode of Production) ผู้ที่ครอบครองเงินทุน ปัจจัยการผลิตย่อมมีอำนาจเหนือกว่าในการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ครอบครองทรัพยากร สังคมจึงแบ่งออกเป็นสองชนชั้นคือ ชนชั้นผู้กดขี่เป็นคนร่ำรวย มั่งคั่ง เป็นอภิสิทธิ์ชน และชนชั้นผู้ถูกกดขี่เป็นคนยากจน แร้นเค้น ด้อยโอกาส
กลุ่มคนที่มั่งคั่ง ร่ำรวย ย่อมมีอำนาจและอิทธิผลทางการเมือง จึงออกกฎหมายปกป้องทรัพย์สมบัติ และผลประโยชน์ของพวกเขา มีกลไกบังคับใช้คือ มีทหารไว้สำหรับเข่นฆ่า ปราบปราม พวกที่มีความคิดเห็นแตกต่าง หรือการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่ไปขัดขวางผลประโยชน์ของชนชั้นผู้กดขี่มี ตำรวจ – ศาล – คุกตะราง ไว้คุมขังพวกที่สร้างปัญหาต่อทรัพย์สิน และความเป็นอภิสิทธิ์ชนของพวกเขาทั้งหลาย
คุก-ตะราง ไม่ได้มีไว้สำหรับอาชญากรอย่างเดียว แต่ยังใช้เป็นเครื่องมือทางชนชั้นหรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกดขี่ราษฎร ปิดหู ปิดตา และละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย โดยมีวัตถุประสงค์ให้บุคคลเหล่านี้ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมือง ยุติการแสดงความคิดเห็น หรือยุติการกระทำที่ไปขัดขวางผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย
ผู้ต้องขังหรือนักโทษจึงมีอยู่ 3 ชนิด คือ หนึ่ง พวกกระทำความผิดจริง เป็นอาชญากร เป็นอันตรายต่อสังคม สอง นักโทษการเมืองเป็นพวกมีความคิดเห็นแตกต่างไปจากผู้มีอำนาจ หรือไปขัดขวางผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ สาม เป็นพวกที่ต่อสู้พิสูจน์คดี พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง คดียังไม่สิ้นสุด ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
นักโทษสองประเภทหลังนี่แหละเป็นตราบาป และเป็นความชั่วช้าสามานย์ของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย ที่มีมาช้านานแล้ว ผู้พิพากษาได้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง ร่ำรวยมั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินทองมากมายไม่ต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สิน กลายเป็นพวกอภิสิทธิ์ชนเอาเปรียบประชาชนเสมอมา
สองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม โดยเนื้อแท้แล้วก็คือ การกดขี่ เอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น เป็นการเลือกปฏิบัติ ให้คนกลุ่มหนึ่งรอดพ้นจากการบังคับใช้กฎหมาย เป็นการอะลุ้มอล่วยในหมู่พวกพ้องชนชั้นเดียวกัน แม้แต่เป็นคนยากจนซึ่งเป็นชนชั้นผู้ถูกกดขี่ แต่ถ้าได้กระทำความผิดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นผู้กดขี่เอารัดเอาเปรียบย่อมได้รับการยกเว้นจาก ตำรวจ – ศาล – คุกตะราง ในทางกลับกันในหมู่ชนชั้นสูง ผู้กดขี่หากขัดผลประโยชน์กันเองก็อาจถูกกลไกเหล่านี้เล่นงานได้
ปรากฏการณ์สองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับกลุ่มคนเสื้อสีแดงในนามของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมาก็คือบทสะท้อนการต่อสู้ทางชนชั้น เมื่อกลุ่มคนเสื้อเหลืองกระทำความผิดฉกาจฉกรรจ์ แต่ปกป้องผลประโยชน์ของอำมาตย์ ย่อมได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกดำเนินคดี หรือได้รับการผ่อนปรน ส่วนกลุ่มคนเสื้อแดงทำความผิดเล็กน้อย กระทั่งไม่ผิดเลย เพียงถูกกล่าวหาให้ร้ายป้ายสี พวกเขาต้องตายกลางถนนเหมือนหมู หมา กา ไก่ หรือไม่ก็ถูกจับไปขังคุกตะราง ไม่ให้สิทธิประกันตัว หรือลงโทษกันอย่างรุนแรง
คุก – ตะราง แต่ดั้งเดิม แยกย้ายกันสังกัดอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ มากมายหลายแห่ง หรืออาจสร้างขึ้นมาเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น คุกใต้ถุนจวนเจ้าเมืองแพร่ คุกเมืองลำปาง คุกอยู่ใต้ปราสาทเจ้าผู้ครองเมือง
แต่เดิมกษัตริย์มีอำนาจสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว การตัดสินคดีความขึ้นอยู่กับกษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด หากราษฎรจะร้องทุกข์ถวายฎีกาต่อกษัตริย์จะต้องถูกเฆี่ยนตี เสียเงิน จึงจะยอมให้ตีกลอง การไต่สวนมักเป็นไปในลักษณะการทรมานให้รับสารภาพ และการลงโทษเป็นแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ให้เกิดความเจ็บปวด ให้เข็ดหลาบ ซึ่งมีหลายวิธีเช่น การเฆี่ยนตี การใส่ขื่อคา การบีบขมับ การตอกเล็บ ถ่างแขน-ขา การใส่หีบปิดฝา การใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ การตัดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งเช่น ตัดนิ้วมือ ควักลูกนัยน์ตา ส่วนการประการชีวิตใช้วิธีการป่าเถื่อนอำมหิต เช่น กดให้จมน้ำตาย แขวนคอ ตัดหัว เอาไฟครอก
สมัยรัชการที่5 ปี 2443 ได้สร้างคุกขึ้นมาใหม่เรียกว่ากองมหันตโทษที่บริเวณสวนรมณีนาถ ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพ ต่อมาจึงสร้างคุกขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งที่ตำบลบางขวาง จังหวัดนนทบุรี ใช้ชื่อว่าเรือนจำกองมหันตโทษต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเรือนจำกลางบางขวางในปัจจุบัน ส่วนที่ถนนมหาไชยเปลี่ยนชื่อเป็นเรือนจำกองลหุโทษ จนถึงปี 2505 ได้มีการก่อสร้างเรือนจำกลางคลองเปรมขึ้นมา พอปี 2513 จึงยุบที่ถนนมหาไชยย้ายมาที่เรือนจำกลางคลองเปรม ในปี 2516 จึงจัดตั้งเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งติดกันกับเรือนจำกลางคลองเปรมบนเนื้อที่ 24 ไร่ 72 ตารางวา ส่วนที่ถนนมหาไชยปี 2535 กลายเป็นสวนสาธารณะที่มีชื่อว่า “สวนรมณีนาถ”
คุกตะรางแต่ไหน แต่ไรมาเป็นที่คุมขังพวกอันธพาล และอาชญากร การถูกคุมขังเป็นนักโทษทำให้ขาดเสรีภาพในชีวิตทุกด้าน เป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ลงไปโดยสิ้นเชิง จึงเป็นชีวิตที่โดดเดี่ยว อ้างว้าง ทุกข์ทรมานแสนสาหัส ทั้งทางร่างการ และจิตใจ แม้พ้นโทษไปแล้ว สังคมยังตราหน้าว่าเป็นคนคุก ไม่อาจใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม|
แม้ปัจจุบันคุกจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น นักโทษมีมาตรฐานความเป็นอยู่ดีขึ้นเพื่อเปรียบเทียบกับสภาพคุกแต่โบราณกาล แต่คุกก็คือคุกอยู่วันยังค่ำ เมื่อไรก็ตามที่คุณเข้าคุก ความเป็นคนจะสูญหายไปทันที ดังนั้นไม่จำเป็นก็อย่าเยื้องย่างเข้ามาในคุกเป็นอันขาด
วันที่ 3 กันยายน 2555
บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
นช.สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สุกัญญา พฤกษาเกษมสุขเขียนจดหมายถึงสามีผู้ต้องขังข้อหากระทำความผิดตามกฏหมายอาญา มาตรา112 /เป็นเวลา 80สัปดาห์แล้วที่สมยศไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจาก The Economist Caracus , Mexico city, Santiago, Sao Paulo
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
โดย .. จิม ยาร์ด เล (Jim Yard Ley)
ถอดความโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข