Skip to main content

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข

 

ข่าวอาชญากรรมครึกโครมเป็นที่น่าสนใจของสาธารณชน มีอยู่ 2 ข่าวคือ ข่าวแรก คนร้ายควบรถปิ๊กอัพยิงถล่มสังหารนายฟารุต  ไทยเศรษฐ์ อายุ 27 ผี บุตรชายนายธาดา  ไทยเศรษฐ์  สส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา เสียชีวิตคารถยนต์โตโยต้าแลนด์ครุยเซอร์ รุ่นพราโด้ ทะเบียนป้ายแดง อ.5726 กทม. บนถนนสายเขาใหญ่  จ.นครราชสีมา เมื่อตอนกลางคืนวันที่ 21 สิงหาคม 2555

ตำรวจจับกุมนายมั่น  พูนทรัพย์  โฟร์แมนคุมงานก่อสร้างรีสอร์ทใน อ.ปากช่อง  สารภาพเป็นเหตุซึ่งหน้า อ้างว่าถูกกลุ่มผู้ตายยิงใสรถก่อน จึงใช้ปืนยิงตอบโต้เป็นเหตุให้นายฟารุต  ไทยเศรษฐ์ สิ้นชีวิตคารถเก๋ง

ข่าวที่สอง  เป็นอุบัติเหตุสะท้านเมืองกรุง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 นายวรยุทธ  หรือบอส  อยู่วิทยา  หนุ่มนักเรียนนอกวัย 27 ปี ลูกชายคนเล็กของนายเฉลิม  อยู่วิทยา  เจ้าพ่อธุรกิจยักษ์ใหญ่ เครื่องดื่มยาชูกำลังยี่ห้อกระทิงแดง เมาสุราขับรถซิ่งสปอร์ต เฟอรารี่ ด้วยความเร็วสูง พุ่งเข้าชน ดต.วิเชียร  กลั่นประเสริฐ  ระหว่างขี่รถจักรยานยนต์ปากซอยสุขุมวิท 49 ตายสยองคาที่ รถลากร่างตำรวจไปไกลร่วม 100 เมตร แล้วเผ่นหนีเข้าบ้านซอยสุขุมวิท 53 พล.ต.ท.คำรณวิทย์  ธูปกระจ่าง  ผบ.ชน.นำกองร้อยปราบจลาจลปิดล้อมบ้าน แต่ทว่ากลับเกิดเรื่องฉาวเมื่อ พ.ต.ท.บัญณ์ณภณ  นามเมือง  สวป.สน.ทองหล่อ นำตัวนายสุเวศ  หอมอุบล  อายุ 45 ปี พ่อบ้านของครอบครัวอยู่วิทยา สวมรอยอ้างเป็นคนขับแทน ทำให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์  ไม่พอใจสั่งให้ออกจากราชการชั่วคราว และตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย

ข่าวแรก ผลการสอบสวนมุ่งประเด็นความผิดเฉพาะหน้า ไม่ใช่การวางแผนฆาตรกรรม  ประเด็นที่น่าในใจก็คือ ทั้งสองฝ่ายพกพาอาวุธปืนติดตัวอยู่ตลอดเวลา และด้วยเหตุผลเพียงแค่การขับรถปาดหน้ากันถึงกับต้องใช้ปืนยิงใส่กันจนบรรลัยกันไปข้างหนึ่ง  แสดงว่าทุกวันนี้สังคมไทยขาดสติยั้งคิดกันไปแล้ว เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นกันเมื่อใดก็พร้อมจะใช้ความรุนแรงเข้าทำลายอีกฝ่ายหนึ่งอยู่เสมอ

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับปัจเจกชน หรือระดับกลุ่มคน เช่น การยกพวกตีกันของเด็กอาชีวะ  หรือการยกพวกตีกันระหว่างกลุ่มคนเสื้อเหลืองกับพวกเสื้อแดง ระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายค้านกับรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎร หรือแม้กระทั่งฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังทหารเข่นฆ่าประชาชนล้มตายเหมือนผักปลาดังที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 และล่าสุดการสังหารโหดคนเสื้อแดงระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา

การใช้ความป่าเถื่อนเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งสะท้อนภาวการณ์พังทลายของศีลธรรม และสติปัญญาในสังคมไทย 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ ประการแรก ศีลธรรมเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นปกครองเพื่อใช้หลอกลวงผู้อื่น หรือเป็นเพียงการผัดหน้าทาแป้งปกปิดตัวตนอัปลักษณ์ที่แท้จริง  ประการที่สอง การใช้ความรุนแรงเป็นความถูกต้องชอบธรรมเพื่อรักษาอำนาจรัฐไว้ในมือต่อไป โดยการสร้างวาทะกรรมที่ว่า “พวกมันสมควรตาย” เพราะเหตุที่ว่า คนพวกนี้มีความเห็นแตกต่างไปจากตนเอง ตรงนี้เป็นเพราะเราขาดวัฒนธรรมการเรียนรู้จากความแตกต่าง เพราะถูกปลูกฝังให้ผู้น้อยเชื่อฟังผู้ใหญ่และอำนาจอาญาสิทธิราชไม่อาจแตะต้องได้ หากมีใครมีความเห็นแตกต่างไปจากนี้ต้องกำจัดให้หมดไปจากสังคมไทย  ประการที่สาม  กระบวนการยุติธรรมบกพร่อง ฉ้อฉล  ไม่ได้เป็นหลักประกันความยุติธรรม  กลไกการสร้างสันติวิธีจึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ในที่สุดจึงต้องใช้กำลังแห่งความรุนแรง เข้าห้ำหั่นกัน

ข่าวที่สอง  เมื่อทายาทธุรกิจข้ามชาติยี่ห้อกระทิงแดงขับรถพุ่งชนตำรวจแล้วหลบหนีไปไม่มีความใยดีต่อผู้ตาย เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์นั้นหมดเยื่อใยต่อกันไปแล้ว ความเติบโตทางธุรกิจและความมั่งคั่งได้ทำลายความเป็นมนุษย์ไปจนหมดสิ้น

ค่านิยมทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว การเมาสุราขับรถด้วยความเร็วสูงกลายเป็นฮีโร่ เป็นความเท่ห์ เก๋ไก๋ อวดร่ำรวย ประชันความมั่งคั่ง ทั้งนี้ด้วยอิทธิพลแรงกระตุ้นจากภาพยนตร์ จากการโฆษณาขายสินค้า กระตุ้นการบริโภคจนเกิดกิเลสหน้าปัญญาหยาบช้า เพื่อทำกำไรมหาศาลให้กับธุรกิจระบบทุนนิยม

ในอีกด้านหนึ่งสินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลังนั้น อาศัยการโฆษณาที่เป็นการแข่งขันกันอย่างรุนแรง แต่ละสินค้าหาจุดเด่นเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ ดังเช่น “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน”  “นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่”  “มั่นใจคุณทำได้”  ความคิดเหล่านี้จะเป็นจริงได้ก็ด้วยการบริโภคสินค้าเหล่านี้ จึงเป็นการสร้างความเชื่อที่ผิดพลาด (False  Conciousness) ขึ้นในสังคม

ในทางการเมือง การโฆษณายังมีอิทธิพลต่อค่านิยมในสังคม มีการผลิตซ้ำภาพลักษณ์ ตอกย้ำอำนาจ บุญบารมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้อยู่เหนือสรรพสิ่ง เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางชนชั้นของพวกอภิสิทธิ์ชน  คนไทยจึงมีชีวิตอยู่กับมายาภาพ อยู่กันได้ด้วยความเชื่อที่มาจากการโฆษณา และการฉายซ้ำทุกวัน ทุกหน ทุกแห่ง

กรณีตัวอย่างของทายาทเศรษฐีเครื่องดื่มชูกำลัง เมาขับรถพุ่งชนเป้าหมายจนตำรวจตายสยดสยองแล้วหลบหนี เป็นความจริงที่ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ของการโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังโดยสิ้นเชิง ดังนั้นความเข้าใจและความรับรู้ของคนไทยในเรื่องศีลธรรมอันสูงส่งของบุคคลหรือผู้มีอำนาจทางสังคม อาจเป็นเพียงภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นจากการโฆษณาชวนเชื่อ โดยที่ความเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง

สังคมมายาภาพเช่นนี้จะฉุดรั้งสังคมไทยไม่ก้าวหน้าไปไหน เพราะคนป่าเถื่อนถูกทำให้เป็นคนมีเมตตา  คนบ้าตัณหากลายเป็นคนน่ายกย่องถึงกลับกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามที่ต้องพากันกราบไหว้กันอย่างโง่งมงายเต็มบ้านเต็มเมือง

ส่วนกรณีตำรวจนำพ่อบ้านของเศรษฐีดังมาเป็นแพะรับผิดแทนทายาทซึ่งเป็นการกระทำความผิดจนถูกสอบสวนความผิดทางวินัยนั้น ในความเป็นจริงกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นตำรวจ – อัยการ – ศาล ล้วนแล้วแต่เป็นการเอาผิดกับแพะกันได้อย่างง่ายดาย  คนจน และคนไร้อำนาจ (Powerless) กลายเป็นแพะรับบาป (Scapegoat) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนคนรวยและผู้มีอิทธิพลมักจะลอยนวล รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีอยู่เสมอ

ตัวอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดแพะรับบาปกันง่ายดายก็คือ การที่ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว หรือสิทธิการประกันตัว ได้กลายเป็นเครื่องมือสร้างแพะรับบาปขึ้นมาทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ศาลไม่ให้สิทธิประกันตัวต่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ทำให้พวกเขาพากันรับสารภาพ ไม่ขอต่อสู้คดีพิสูจน์ความจริง และความบริสุทธิ์ของตนเอง

เราจึงไม่อาจโทษตัวบุคคลได้แต่เพียงอย่างเดียว เพราะคนเลวระยำแบบนี้มีอยู่เกลื่อนกลาดไปหมด แต่คงต้องจัดการโครงสร้างอำนาจของศาลที่มีมากเกินไป รวมทั้งความเชื่อเหลื่อมล้ำต่ำสูง จนเป็นเหตุให้เกิดแพะรับบาปในกระบวนการยุติธรรมมากมาย เป็นตัวอย่างเกิดขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า

สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นการเพาะเชื่อความรุนแรงในสังคมไทยต่อไป มายาภาพ การปลิ้นปล้อน และการใช้อำนาจเข่นฆ่ากันอย่างป่าเถื่อนย่อมก่อให้เกิดการตอบโต้ด้วยความรุนแรง จนกลายเป็นมิคสัญญีในที่สุด

 

 

วันที่ 11  กันยายน   2555

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 สวัสดีค่ะลุงสมยศ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สุกัญญา พฤกษาเกษมสุขเขียนจดหมายถึงสามีผู้ต้องขังข้อหากระทำความผิดตามกฏหมายอาญา มาตรา112 /เป็นเวลา 80สัปดาห์แล้วที่สมยศไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจาก The Economist Caracus , Mexico city, Santiago, Sao Paulo
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  สมยศ พฤกษาเกษมสุข 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 โดย  ..  จิม  ยาร์ด  เล (Jim  Yard  Ley) ถอดความโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข