Skip to main content

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข

13  พฤษภาคม 2556

 

 

นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์  ชินวัตร แสดงปาฐกถาพิเศษต่อที่ประชุมประชาคมประชาธิปไตยที่เมืองอุลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา เป็นการพูดถึงประชาธิปไตยที่ได้มาด้วยเลือดเนื้อ ชีวิตของประชาชน แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เชื่อในประชาธิปไตย ใช้กำลังกดขี่เสรีภาพประชาชน ด้วยการก่อการรัฐประหารซึ่งทำให้ประเทศไทยล้าหลัง ประชาชนจึงลุกขึ้นสู้ เรียกร้องเสรีภาพจนถูกเข่นฆ่า แกนนำติดคุก และยังมีกลุ่มการเมืองจากการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยติดคุกอยู่ ในตอนท้ายได้เรียกร้องประเทศในระบอบประชาธิปไตยร่วมกันกดดัน นำเสรีภาพกลับคืนสู่ประชาชน

เป็นปาฐกถากะทัดรัด ใจความครบถ้วน มีพลัง เป็นเสมือนแสงสว่างในความมืดจนพวกผีห่าซาตานที่ชอบอยู่กับความมืดต้องปรากฏตัวออกมาอาละวาด แสดงความโง่เง่า และโฉดชั่วประชานตัวเองให้ชาวโลกได้เห็นกันชัดเจน

อันที่จริงปาฐกถานี้เป็นเพียงความจริงทั่วไปอย่างเช่น “ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อในประชาธิปไตย ใช้กำลังกดขี่เสรีภาพ” เป็นที่รับรู้กันดีอยู่แล้วนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา เป็นเวลา 81 ปีแล้วการเมืองไทยมีแต่ความต่ำช้า ป่าเถื่อนด้วยการรัฐประหาร 22 ครั้ง มีรัฐบาลบริหารประเทศ 60 ชุด ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากทหาร หรือได้รับการสนับสนุนจากคณะทหาร และอยู่ในตำแหน่งบริหารประเทศเป็นเวลา 50 ปี แต่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งไม่ถึง 30 ปี

การรัฐประหารเป็นการใช้กำลังทหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งด้วยข้ออ้างซ้ำซากอยู่ 3 ประกาคือ  1.  สังคมแตกแยก  2.  รัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น  3.  หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  แต่ในความเป็นจริงการรัฐประหารเป็นการแย่งชิงอำนาจอย่างป่าเถื่อน เป็นการปล้นบ้านกินเมืองกันอย่างเปิดเผย และมักจบลงด้วยความหายนะทุกครั้ง

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เช่นกัน ใช้ข้ออ้างตามแบบฉบังดั่งเดิม แต่ครั้งนี้มีความแตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือ หนึ่ง หลังการรัฐประหารอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงมีอิทธิพลทางการเมือง และเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกรัฐประหาร  สอง ประชาชนให้การสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยผลงานรูปธรรมในขณะเป็นนายกรัฐมนตรี และได้ร่วมกันต่อต้านรัฐประหาร และระบอบอำมาตย์  สาม เกิดความขัดแย้งขั้วอำนาจการเมืองเด่นชัด ต่อสู้ฟาดฟันกันจนสาวไส้ถึงระบบจารีตนิยมจนเกิดสภาพความเสื่อมถอยตามลำดับ

ยังมีแง่มุมที่เป็นหลุมดำอันเป็นต้นเหตุของการรัฐประหารในเมืองไทยที่ทำให้ชายไทย และต่างประเทศตื่นรู้จากถ้อยคำพรั่งพรูโวหารจากชนชั้นนำตัวอย่างเช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พูดไว้ว่า “บุคคลซึ่งดูเหมือนมีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เข้ามาวุ่นวายองค์กรที่มีในระบบรัฐธรรมนูญมากไป” ( 29 มิถุนายน 2549)  หรือคำพูดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กล่าวไว้ว่า “ม้าจะมีคอก มีเจ้าของคอก เวลาแข่งไปเอาเด็กจ๊อกกี้ ไปจ้างมาขี่ม้า เขาไม่ได้เป็นเจ้าของม้า” จนในที่สุดนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

เมื่อประชาชนต่อต้านรัฐประหารจนต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ผลปรากฏว่าประชาชนเลือกพรรคพลังประชาชนมาเป็นรัฐบาล แต่กลับถูกประท้วงจากกลุ่มคนเสื้อเหลือง ด้วยการยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบิน แต่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้จน พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ พูดว่าเป็น “ม็อบมีเส้น”

วาสนา นาน่วม ผู้เขียนหนังสือ ลับ ลวง พลาง ภาค 2 บันทึกไว้ว่าในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เคยกล่าวไว้ในวงสนทนาแห่งหนึ่งว่า “รู้ไหมว่า พวกคุณกำลังสู้อยู่กับใคร ไม่มีวันชนะหรอก” เช่นเดียวกัน พลเอกสนธิ  บุญยรัตกลิน ซึ่งถูกพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ถามว่า  ใครเป็นคนสั่งให้ทำรัฐประหาร  พลเอกสนธิ ตอบว่า “คำถามบางประการเปิดเผยไม่ได้ แม้ตายแล้วก็เปิดเผยไม่ได้”

วาทะรหัสนัยที่เป็นหลุมดำการเมืองไทยเหล่านี้กลายเป็นปริศนาทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หลายคนได้ข้อสรุปแบบฟันธงไปแล้ว อีกจำนวนมากที่ยังงุนงงกับการรับประหารครั้งนี้

ปาฐกถาของยิ่งลักษณ์ไม่ได้หวือหว๋า เป็นเพียงลักษณะทั่วไปของพัฒนาการประชาธิปไตยที่ทั่วโลกได้ผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันมาก่อน เป็นการเชิดชูประชาชนที่ได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเราเองด้วยซ้ำไป  ดังนั้นการที่พรรคประชาธิปัตย์ออกแถลงการณ์ตอบโต้ส่งไปทั่วโลกจึงเป็นการเปิดเผยธาตุแท้พรรคการเมืองอิงแอบกับเผด็จการ ดังที่คุณอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความเห็นไว้แจ่มชัด เป็นการประจานตนเองว่าอยู่เคียงข้างกับผด็จการทหาร เป็นการกระทำด้วยความสิ้นคิด โง่เง่า เป็นที่น่าอับอายขายขี้หน้าเหลือเกิน

ส่วนเรื่องถ้อยคำที่ใช้โจมตีนายกรัฐมนตรีอย่างหยาบคายต่าง ๆ นา ๆ นั้น บรรดาผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีได้ตอบโต้สาสมแก่เหตุแล้ว เป็นสีสันประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีจึงไม่ควรถือสาเอาความ

สาระสำคัญเร่งด่วนหลังจากการปาฐกถาแล้วก็คือ “นิรโทษกรรม ปล่อยนักโทษการเมือง” ให้หมดไป แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แก้ไขความเดือดร้อนของชาวบ้านที่มาชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาลโดยเร็ว พัฒนาเศรษฐกิจให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป มิเช่นนั้นแล้วก็จะกลายเป็นคนดีแต่พูดเหมือนกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่นกัน

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 สวัสดีค่ะลุงสมยศ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สุกัญญา พฤกษาเกษมสุขเขียนจดหมายถึงสามีผู้ต้องขังข้อหากระทำความผิดตามกฏหมายอาญา มาตรา112 /เป็นเวลา 80สัปดาห์แล้วที่สมยศไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจาก The Economist Caracus , Mexico city, Santiago, Sao Paulo
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  สมยศ พฤกษาเกษมสุข 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 โดย  ..  จิม  ยาร์ด  เล (Jim  Yard  Ley) ถอดความโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข