ดอกเสี้ยวขาว
ยามเช้าในหุบเขาผาแดง หมอกขาวยังคงปกคลุมทั่วท้องนา ความหนาวเริ่มย่างกรายมาเยือน ท้องทุ่งในยามนี้เต็มไปด้วยผู้คนต่างรวมแรงร่วมใจกันเอามื้อเอาแฮง (ลงแขก) บ้างช่วยกัน ตีข้าว (นวดข้าว) มัดข้าว และตัดข้าว หลังจากที่ต้องรอคอยมานานหลายเดือนกับการรอคอยผลผลิตแห่งฤดูกาล
'การตัดข้าว' ในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า การอดข้าว ไม่กินข้าว แต่เป็นนวัตกรรมใหม่บวกกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้นขึ้นเอง โดยใช้รถตัดหญ้าแบบสะพาย มาดัดแปลง เปลี่ยนใบมีด และทำที่รองรับข้าว เพื่อใช้แทนการเกี่ยวข้าวของชาวนาในอดีต
เครื่องตัดข้าว หรือเครื่องเกี่ยวข้าว นี้เป็นการคิดค้นโดยชาวบ้านแม่ป๋าม เป้าหมายเพื่อลดต้นทุนในการเกี่ยวข้าว เมื่อตัดข้าวเสร็จ ชาวบ้านก็จะช่วยกันมัดข้าว และช่วยกันตีข้าว
พัฒนาการของการทำนา ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มจากการปลูกเพื่อกิน ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก สมัยนั้นชาวนาจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ช่วยกันทำมาหากิน หลังจากนั้นเริ่มมีการเอามื้อเอาแรง (ลงแขก) ช่วยกันภายในชุมชน ก่อเกิดความสามัคคีปรองดองกัน มีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง ไปมาหาสู่กันในชุมชน
ปี พ.ศ. 2550 จำได้ว่า ผมเคยจ้างเหมาชาวบ้านจากชุมชนอื่นมาเกี่ยวข้าว เพราะแรงงานในชุมชนเริ่มมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน ออกไปทำงานต่างถิ่น จำต้องพึ่งแรงงานจากภายนอก
ผ่านพ้นไปเพียงขวบปี พัฒนาการของการทำนาได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ปีนี้ผมได้เลื่อนตำแหน่งโดยไม่รู้ตัว จากเป็นลูกชาวนาเป็นลูกผู้จัดการนาไปโดยปริยาย เพราะไม่ต้องไปก้มๆเงย ๆ เกี่ยวข้าวให้ปวดหลัง จากเดิมที่ใช้คนเกี่ยวข้าว 10 คนต่อวัน ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อเต็มที่ แต่ปัจจุบัน ใช้คนเพียง 2 คน ทำให้ค่าแรงงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่ต้องคิดว่าคุ้มหรือไม่ และดูแล้วประสิทธิภาพก็ไม่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม ในความไม่แตกต่างย่อมมีความแตกต่าง ถ้ามองถึง การตัดข้าว อาจทำให้เห็นความสัมพันธ์ของคนในชุมชนอาจค่อยๆเลือนหายไป ทำให้การทำนาเปลี่ยนไป ต่อไป ลูกหลานอาจจะไม่รู้จัก คำว่า เกี่ยวข้าว จับเคียวเกี่ยวข้าวไม่เป็น ได้แต่จับปากกา ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้ชาวนารู้ดี คำถามอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรกับสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลง
ที่สำคัญการปรับตัวของชาวนา เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ถึงแม้นักคิดสายวัฒนธรรมชุมชน อาจมองว่าเป็นทำลาย ความเป็นลูกทุ่ง ความเป็นชุมชน อยากให้ทำนาแบบดั้งเดิมทั้งหมด ใช้ควาย ใช้คนเพียงอย่างเดียว แต่ผมคิดว่าเราคงต้องกลับมาคิด วิเคราะห์ เพื่อที่จะประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเป็นจริง
ใช่ พวกเราไม่ได้หลงลืมรากเหง้าแห่งชาวนา ความสัมพันธ์ของคนยังคงมีอยู่ ตราบใดยังมีผืนดิน ให้บ่มเพาะเมล็ดพันธ์แห่งฤดูกาล ความเป็นชาวนายังคงหยัดยืนอยู่ต่อไป
รวงข้าวรอการตัด
ตัดข้าว
เครื่องตัดข้าว
คนตัดข้าว
การมัดข้าว
การตีข้าว