Skip to main content

อาจจะดูแปลกประหลาดไปสักหน่อยสำหรับบางท่านเมื่อพูดว่ากฎหมายได้รับรอง “สิทธิที่จะพักผ่อน” ไว้เป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง เพราะคนไทยถือว่าการขยันตั้งใจทำมาหากินหามรุ่งหามค่ำเป็นศีลธรรมอันดีงามประเภทหนึ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติ หรือต้องแสดงออกให้สังคมเห็นเป็นประจักษ์ และสังคมก็ยกย่องบุคคลสำคัญโดยพิจารณาว่าเขาทำงานหนักด้วยหรือไม่

แต่มนุษย์ก็ยังมีอีกหลายหลายมิติที่ต้องคำนึง หากพิจาณาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสังคมจะพบว่า การพักผ่อน หรือกิจกรรมนันทนาการทั้งหลาย กลายเป็นที่มาของ “อารยธรรม” ของมนุษย์ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเจริญงอกงามด้านความคิดสติปัญญา และสุนทรียภาพของสังคมนั้นๆด้วย

ในสังคมเกษตรกรรมและปศุสัตว์ คนใช้เวลาในการเพาะปลุกหรือดูแลสัตว์เลี้ยงตามแสงอาทิตย์ และฤดูกาล กิจกรรมทางการผลิตย่อมต้องสอดคล้องกับระยะเวลาเฉพาะเจาะจง เช่น หลังฤดูหว่านไถ ชาวนาก็จะเปลี่ยนไปทำกิจกรรมจักสาน หรือทำงานอื่นๆ  หรือฤดูเก็บเกี่ยวก็จะต้องมีกิจกรรมทำร่วมกันกับคนในชุมชนที่มาลงแขก หมดฤดูเก็บเกี่ยวก็ต้องเฉลิมฉลอง   ประเพณีและขนบธรรมเนียมจำนวนมากจึงเกิดขึ้น และกลายเป็นสายใยที่เชื่อมโยงคนในชุมชนไว้  เสมือนเป็นประชาธิปไตยในหมู่บ้าน ที่คนสามารถมาร่วมกันแสดงออก รับรู้ตัวตนซึ่งกันและกัน

แต่บางพิธีกรรมก็แสดงให้เห็นอำนาจบารมีของคนในชุมชนนั้นๆ   ผ่านการเป็นเจ้าภาพ แม่งาน ครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จนกลายเป็น “การเมือง” ของคนในชุมชนไปในตามลำดับศักดิ์สูงต่ำ 

ในสังคมอุตสาหกรรมเวลาในสถานประกอบการมีความชัดเจนมากขึ้น มีการทำงานเดิมๆซ้ำๆซากตลอดทั้งปี การง่วนแต่กับงานประจำเป็นที่มาของสารพัดโรคอย่างที่ข้อมูลด้านชีวอนามัยบ่งชี้  การกำหนดระยะเวลาพัก เปลี่ยนอิริยาบถจึงสำคัญ   เช่นเดียวกับการมีกิจกรรมกีฬา ศิลปวัฒนธรรมร่วมกันของคนในสถานประกอบการเพื่อเพิ่มความเป็น “ทีมเวิร์ค” ให้คนทำงานร่วมกันเป็นระบบประสานสอดคล้องกันไปได้ดีขึ้น   และป้องกันการเกิดโรคร้ายแรงเรื้อรังที่ทำให้แรงงานไม่อาจเพิ่มประสิทธิภาพได้ตามที่ผู้ประกอบการต้องการ

กฎหมายที่เกิดขึ้นหลังเห็นพัฒนาการของสังคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัวแล้ว จึงเล็งเห็นความสำคัญของการสร้าง “เวลาว่าง” ขึ้นมาเป็นวาล์วระบายความกดดันที่ถาโถมมาตลอดทั้งวันในชั่วโมงทำงาน จึงปรากฏ “สิทธิในการพักผ่อนและมีส่วนร่วมในกิจกรรมนันทนาการ” ควบคู่ไปกับสิทธิต่างๆที่เกี่ยวกับการทำงานหรือสิทธิแรงงานนะครับ โดยเฉพาะในประเด็นแรงงาน สภาพการจ้างงานนี่สำคัญมาก  

องค์กรแรงงานสากล (ILO) จึงพูดเรื่องนี้ทั้งทางตรง และทางอ้อมผ่านเรื่องจำนวนชั่วโมงการทำงานเอาไว้เกือบร้อยปีแล้ว   หลังประเทศสมาชิกสหประชาชาติก็รับรองสิทธิโดยปฏิญญาสากลและกติกาสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม นะครับ ผม ไม่ได้แต่งเอง

ประเทศไทยไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้ เพราะแม้แต่ค่าตอบแทน หรือความมั่นคงในการทำงานยังไม่ค่อยมีเลย  แต่ประเด็นนี้สำคัญมากในการพัฒนา คือ พัฒนาทั้งคุณภาพชีวิตคนทำงาน และพัฒนาคุณภาพเนื้องาน   และเป็นตัวบ่งชี้ด้วยซ้ำว่า ผู้ประกอบการไทยพร้อมจะก้าวให้พ้นกับดักของการรับจ้างผลิตสินค้าโหล สินค้าความประณีตต่ำ หรือปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจเชิงประณีตและสร้างสรรค์หรือยัง ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเศรษฐกิจดิจิตัลที่บอกในตัวอยู่แล้วว่ามีคนอีกจำนวนมากปฏิเสธความจำเจของการทำงานซ้ำซากหนักหน่วงของชั่วโมงทำงานในสำนักงานและโรงงาน

หากจุดแข็งของประเทศไทย คือ ภาคบริการโดยเฉพาะแรงงานอารมณ์ที่สามารถรองรับความต้องการที่มากมายของลูกค้าที่มีเข้ามาอย่างหลากหลาย พร้อมเผชิญกับลูกค้าพรีเมี่ยม ไฮเอนด์ที่มี “ความพึงพอใจของตน” เป็นที่ตั้งเข้าไปอีก การวางแผนผ่อนหนักผ่อนเบาให้คนทำงานจึงเป็นเคล็ดลับความสำเร็จในการสร้างความพึงพอใจไปไม่น้อยกว่า “การบังคับประเมินความพึงพอใจ” ที่ทำให้คนทำงานอกสั่นขวัญแขวนเช่นกัน

คนเหนื่อยคนล้า "เกินไป" แสดงออกมาได้ไม่เนียนหรอกครับ หรือถ้าเนียนก็คือเก็บกดไว้มากรอวันระเบิด ก็คือ ลาออก แล้วผู้ประกอบการก็ต้องหาคนใหม่มาฝึกหัดให้เสียเวลาและงบประมาณอบรมอีก

หากนายจ้างดูแลสภาพการทำงานและชีวิตของลูกจ้างดี งานก็จะออกมาดี  เช่นเดียวกับงานประเภทช่างฝีมือปัจจุบันเป็นงานบริการ/ช่างฝีมือ/ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เน้นกันที่รายละเอียดละเอียด ต้องรองรับความยิบย่อยของลูกค้าแต่ละราย แต่ตัวคนให้บริการหรือช่างเองอาจจะไม่สามารถซื้อบริการหรือสินค้าแบบนี้ได้เลยในชีวิต กลายเป็นความหดหู่ทางจิตวิทยาเพิ่มมาอีก   การสร้างบรรยากาศแห่งความผ่อนคลายก็จะส่งเสริมให้ช่าง/ผู้เชี่ยวชาญได้มีความสุขไว้เผื่อเป็นกำลังใจในการทำงานที่ตึงเครียดมาก

นอกจากสิทธิในการพักผ่อนสำหรับคนทำงานแล้ว  ยังมีสิทธิหนึ่งที่มักพูดถึงควบคู่ไปด้วย ก็คือ สิทธิในการได้ทำกิจกรรมนันทนาการ และสร้างสรรค์ ของผู้พึ่งพิงแรงงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้คนทำงานหายห่วง ไม่เป็นกังวลยามทำงาน ทั้งกลุ่มเด็ก และคนชรา

ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1) การแบ่งเวลาให้เด็ก คนชรามีเวลาเล่นกีฬา ศิลปะ บันเทิง ทำกิจกรรมทางวัฒนธรรม
2) ที่สถานประกอบการ จัดให้มีสถานที่และคนคอยดูแลลูกหลาน คนชราของคนทำงาน

                ในปัจจุบันรัฐไทยได้เข้ามาอุดช่องว่างแทนผู้ประกอบการ โดยการมีสถานดูแล โรงเรียน หรือโรงพยาบาลที่ดูแลคนชราและเด็ก   แต่แนวโน้มของสังคมผู้สูงอายุ และการหาแรงงานราคาถูกดูแลเด็กจะยิ่งยากขึ้นไปเรื่อย   ก็ต้องลองคิดว่าภาระและค่าใช้จ่ายในการสร้าง จ้าง และพัฒนาบุคลากรด้านนี้ควรเป็นของใคร 

ใครได้ประโยชน์ก็ควรต้องจ่าย จะจ่ายทางตรงหรือทางอ้อม ต้องตัดสินใจเสียที

 
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
หากสังคมไทยมีแนวโน้มจะเป็น สังคมทุนนิยม องค์กร สถาบัน จารีต ต่างๆ เสื่อมลง คนสัมพันธ์ผ่านระบบตลาด แคร์คนอื่นน้อยลง ขาดสำนึกร่วมในความอยุติธรรมทางสังคม หรือ มีสำนึกเชิง “ปัจเจก” มากขึ้นเรื่อยๆ
ทศพล ทรรศนพรรณ
อาจจะดูแปลกประหลาดไปสักหน่อยสำหรับบางท่านเมื่อพูดว่ากฎหมายได้รับรอง “สิทธิที่จะพักผ่อน” ไว้เป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง เพราะคนไทยถือว่าการขยันตั้งใจทำมาหากินหามรุ่งหามค่ำเป็นศีลธรรมอันดีงามประเภทหนึ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติ หรือต้องแสดงออกให้สังคมเห็นเป็นประจักษ์ และสังคมก็ยกย่องบุคคลสำคัญโดยพิจารณา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การลดช่องว่าง ด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองมาจัดการเศรษฐกิจรัฐสวัสดิการ สร้างความมั่นคงขจัดความขัดแย้งด้วยแนวทางเจือจานบนพื้นฐานของภราดรภาพป้องกันการลุกฮือของมวลชน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
มหกรรมฟุตบอลโลกจบลงไปแล้วด้วยชัยชนะของกองเชียร์ฝ่ายสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกลุ่มสนับสนุนสิทธิของผู้อพยพ เนื่องทีมแชมป์โลกเป็นการรวมตัวของนักฟุตบอลที่มิได้มีพื้นเพเป็นคนฝรั่งเศส (พูดอย่างถึงที่สุด คือ มิได้มีบุพการีที่เกิดในดินแดนฝรั่งเศส)
ทศพล ทรรศนพรรณ
พอมาอยู่ที่ยุโรป ถึงได้รู้ว่า อิตาลี กับ สเปน มันไม่แคร์เรื่อง ขาดดุลตัวเลขเลย เพราะมันเอาไปลงทุนไว้กับคน รอถอนทุนคืน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การเลือกตั้งท้องถิ่นในแคว้นคาตาลุนญ่า ราชอาณาจักรสเปน จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2015 ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศสเปนประมาณ 2 เดือน ความตื่นตัวของประชาชนสูงเพราะอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบกันไปทั่ว
ทศพล ทรรศนพรรณ
เกษตรพันธสัญญาที่ดี มีการสร้างความร่ำรวยให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ลดความไม่แน่นอนในการผลิตและประกันว่ามีตลาดขายสินค้าแน่นอน หากมีปัญหาระหว่างการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์จะมีการแบ่งรับความเสียหายกับบรรษัท นั้นมีจริง
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผลิตบนหลักการอย่างหนึ่ง เช่น ทำกำไรจากกิจการอะไรที่ให้เงินเยอะ ไม่คำนึงถึงชีวิตเพื่อนมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมบริโภคบนหลักการอีกอย่างหนึ่ง เช่น การอุดหนุนสินค้าที่โฆษณาว่าห่วงใยสังคม หรือแสดงออกว่าเสพกิจกรรมการกุศลอาการ พร่องความดี
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาชนบทถือเป็นภารกิจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคต้านภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องการขจัดภัยคุกคาม ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่กันดารให้มี น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก เพื่อขับไล่พวกที่ปลุกระดมโดยอาศัยความแร้นแค้นเป็นข้ออ้างให้ฝ่อไปเพราะเชื่อว่าเมื่อ “การพัฒนา” มาถึง คอมมิวนิสต์ก็จะแทรกซึมไม่ได้
ทศพล ทรรศนพรรณ
กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ ผมได้ตกเป็นเหยื่อ "ความมักง่าย" เข้าแล้วครับท่านผู้อ่าน
ทศพล ทรรศนพรรณ
            ความสัตย์ซื่อและยึดถือกฎหมายด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า            มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสำนักกฎหมายบ้านเมือง ว่า คำสั่งทั้งหลายของรัฐาธิปัตย์ถือเป็นกฎหมายอย่างเด็ดขาด