Skip to main content

อุดมการณ์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกอยู่นั้น มีจุดก่อตัวมาจากระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ที่เข้ามาพร้อม ๆ กับกระแสแห่งการพัฒนาของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ที่ทำให้เกิดเสรีทางการลงทุนจนนำมาซึ่งรูปแบบการจ้างงานรูปที่มีความยืดหยุ่นต่อการบริหารจัดการของบรรษัท และสามารถตอบโจทย์นักลงทุนในการลดภาระต้นทุนความเสี่ยงและเพิ่มอัตรากำไรได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการลดขนาดของกำลังแรงงานตามอุปทานของตลาดผู้บริโภค ทำให้เกิดความยืดหยุ่นในสายพานการผลิตอย่างสูงสุด และสามารถโอนย้ายความเสี่ยงไปยังฝ่ายลูกจ้างได้แทบจะทั้งหมด เพราะไม่มีการจ้างประจำ สามารถเลิกจ้าง/ไม่ต่อสัญญา ได้อย่างรวดเร็ว


ที่น่าแปลกใจคือ ปรากฏการณ์การขูดรีดแรงงานที่กล่าวมานี้ กลับไม่ได้ปรากฏเฉพาะในการจ้างงานภาคเอกชนดังที่เข้าใจ แต่การที่แรงงานถูกขูดรีดและเอารัดเอาเปรียบจากฝ่ายนายจ้าง รวมถึงการที่คนงานจะต้องเผชิญชะตากรรมอยู่ในระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคงอย่างเดียวกันกับในภาคเอกชนนั้น ได้ปรากฏขึ้นท่ามกลางการจ้างงานของภาครัฐ กล่าวคือ ภาครัฐเองก็ได้หยิบเอาวิธีการจ้างงานระยะสั้นเข้ามาแทนที่การจ้างงานแบบเดิมที่เป็นการจ้างงานระยะยาว กระทั่งแนวคิดในการจัดการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ได้เกิดขึ้น การจ้างงานจึงเน้นที่ประสิทธิภาพการทำงานสูงและใช้ทรัพยากรตลอดจนบุคคลกรขององค์กรอย่างคุ้มค่าที่สุด อันเป็นอิทธิพลของกระแสการจ้างงานในภาคเอกชนที่เน้นเรื่องของผลกำไร และขาดทุนเป็นหลัก


โดยมีหลักคิดมาจากทฤษฎีว่าด้วยเรื่องความคุ้มทุนและการลดไขมันส่วนเกินในสายพานการผลิต (ไล่แรงงานที่เกินจำเป็นออกเสมือนรีดไขมันส่วนเกิน) เมื่อแนวคิดดังกล่าวได้แผ่ขยายรูปแบบเข้ามาสู่การจ้างงานในภาครัฐ จึงได้ส่งผลให้จำนวนข้าราชการหรือพนักงานประจำ ลดจำนวนลง  เพิ่มลูกจ้างชั่วคราว(แบบถาวร) หรือจัดซื้อแรงงานในรูป”พัสดุ”  ซึ่งรูปแบบการจ้างงานแนวใหม่นี้ ถูกขนานนามว่า “การจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการในภาครัฐ” หรือที่คำศัพท์ทั่วไปในระบบการเงินการบริหาราชการเรียกว่า “การจ้างเหมาบริการ”


ที่มาของมาตรการข้างต้นมาจาก ความล้มเหลวในการปรับลดโครงสร้างการจ้างงานภาครัฐที่มีขนาดใหญ่เทอะทะจนเกินไปให้มีความเหมาะสมแก่ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน แต่กลับพบว่าขนาดของส่วนราชการไม่ได้เล็กลงไปตามการปรับลดจำนวนข้าราชการด้วย เพราะปริมาณคนทำงานภาครัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามภารกิจของรัฐที่ขยายตามนโยบายทางการเมืองที่เข้าไปรองรับสิทธิของประชาชนเจ้าของคะแนนโหวต


เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลางในการลดภาระทางงบประมาณด้านบุคลากรประจำ  เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่าง ๆ ถูกผลักให้เข้าสู่จ้างงานแบบชั่วคราว ดังนั้น คนทำงานส่วนใหญ่ในภาครัฐจึงอยู่ในสถานะของ “ลูกจ้างชั่วคราว” ที่ไม่ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการหรือพนักงานประจำ แต่ที่ร้ายแรงที่สุดคือการเปลี่ยนรูปแบบการจ้าง จากเดิมที่เป็น “การจ้างแรงงาน” มาเป็น “การจ้างทำของ” หรือแม้กระทั่งเป็น “การจัดซื้อพัสดุ” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์จ้างงานและปัญหาแรงงานที่เกิดขึ้นแพร่หลายในหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ ส่วนงานที่ทำหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง


จากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้เห็นถึงแนวโน้มการจ้างงานที่เกิดขึ้นว่า งานประจำหรืองานที่มีความมั่นคงมีอัตราลดต่ำลงไป แต่ในทางกลับกันการจ้างงานชั่วคราวหรือการจ้างงานระยะสั้นด้วยวิธีการจ้างเหมาบริการ ได้ทวีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อันหมายถึงคนทำงานจำนวนมากจะต้องตกอยู่ภายใต้ระบบการจ้างงานที่ไม่มั่นคง ทั้ง ๆ ที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของสังคม แต่กลับเป็นฝ่ายที่ถูกขูดรีดและอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งการปราศจากอำนาจต่อรอง การไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน และต้องอยู่ในสังคมที่มีสภาวะ “ไร้เสถียรภาพ” ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายแรงงานเลย


ทั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรับรู้ต่อสังคมในข้อความจริงว่า บัดนี้ การจ้างงานที่ไม่มั่นคงได้เกิดขึ้นแล้วในภาครัฐ ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดรูปแบบอยู่เฉพาะแต่ภาคเอกชนอย่างที่เคยเป็น การศึกษาในประเด็นการจ้างงานที่ไม่มั่นคงในภาครัฐว่ามีลักษณะอย่างไร และรัฐได้อาศัยเครื่องมือหรือวิธีการอย่างไรในการสร้างมาตรฐานการจ้างงานขูดรีดขึ้นมาได้อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างความชอบธรรมให้แก่ความไม่ชอบธรรม จึงสำคัญมากยิ่งกว่าการศึกษาเรื่องแรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานประจำ

มายาคติที่ว่าการทำงานในภาครัฐเป็นการทำงานที่มีความมั่นคง นั้นสะท้อนผ่านลักษณะของ “การจ้างงานที่ไม่มั่นคงในภาครัฐ” ที่เห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสิทธิแรงงาน 5 ประการ คือ

1) คนกลุ่มนี้อยู่ในระบบการจ้างงานแบบไม่มั่นคง จ้างงานยืดหยุ่นเสี่ยงว่าจะตกงานหรือหมดสัญญาจ้างต้องว่างงาน (Flexible but Vulnerable)


2) แรงงานรับจ้างอิสระได้รับผลตอบแทนที่ไม่แน่นอน อาจจะได้หรือไม่ได้ผลตอบแทนในอัตราที่ตกลงกันไว้ รวมถึงไม่มีอัตรารายได้ขั้นต่ำ (Zero Hours Contracts = Exploitation - No Minimum Wage Standard) 


3) รูปแบบสัญญาจ้างทำของยังผลักภาระความเสี่ยงให้แรงงานรับจ้างอิสระแบกรับไว้เอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชั่วโมงการทำงานที่หนักต่อเนื่องยาวนานกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและสุขภาพอย่างเรื้อรัง (Outsourcing = Risk Externalization) 


4) แรงงานรับจ้างอิสระผูกพันกับผู้ว่าจ้างภายใต้ระบบสัญญาจ้างทำของ คนทำงานจึงมิใช่แรงงานภายใต้บังคับกฎหมายแรงงานและสวัสดิการสังคมทำให้แรงงานรับจ้างอิสระเข้าไม่ถึงหลักประกันสิทธิแรงงานตามกฎหมาย (Subcontracting = Non-Employment Legal Rights)


5) การจ้างงานถูกกระจายผ่านระบบสอบแย่งชิงแข่งขันกัน โดยไม่ผ่านสมาคมหรือสหภาพแรงงานที่มีข้อมูลสมมาตรเพื่อดูแลปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้หางาน จนนำมาสู่ปัญหาการแข่งขันแย่งงานกันเองจนไม่อาจรวมกลุ่มได้ (Divide and Rule but No Labour Association)

 

หากรัฐต้องการสร้างความพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดความเจริญทั่วถึงทุกคน (Inclusive Growth) ย่อมต้องให้หลักประกันแก่คนด้อยโอกาสว่าจะมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกับผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจการเมืองในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ  โดยเน้นว่าต้องมีการเพิ่มรายได้ต่อหัวจากความเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งจากการเพิ่มผลิตผลและโอกาสในการจ้างงาน รวมทั้งต้องส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยนโยบายเชิงรุกของรัฐหรือการแบ่งปันจากตัวตนอื่น ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างที่เป็นเอกชน หรือนายจ้างที่เป็นหน่วยงานรับเอง


ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการสร้างสถาบันทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้กลุ่มต่าง ๆ ในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบอบการปกครองหรือสถาบันเศรษฐกิจการเมืองทางกฎหมายของรัฐเข้ามาจัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนโดยจัดให้มีสถาบันที่ทุกกลุ่มมีส่วนร่วม (Inclusive Institutions) ที่คนจำนวนมากเข้าไปร่วมกำหนดอนาคตของสังคมในกระบวนการปกครองและป้องกันการแสวงหาผลประโยชนเพื่อกลุ่มของตนและเครือข่าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นผ่านการเลือกตั้ง การชุมนุม การรวมกลุ่ม และการแสดงออกของเหล่าคนทำงาน


การปฏิรูปสถาบันทางการเมืองและระบอบทางกฎหมายจึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อทำให้เกิดสังคมที่คนทุกกลุ่มได้พัฒนาคุณภาพชีวิต   การสร้างสังคมพหุนิยม (pluralistic society) ที่ยอมรับการมีตัวตนของคนกลุ่มใหม่ๆที่เกิดขึ้นสังคมให้มีศักดิ์ศรีมีสิทธิสามารถเข้าไปมีโอกาสร่วมตัดสินใจในสถาบันทางการเมืองเพื่อสร้างระบอบกฎหมายที่รับรองสิทธิของคนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกิดคนกลุ่มใหม่ปริมาณมหาศาลที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงที่จะด้อยสิทธิอย่างกลุ่มแรงงานรับจ้างอิสระ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่อยู่ทั้งในการยอมรับของภาคเอกชน หน่วยงานรัฐ หรือไม่ปรากฏแม้แต่ในนโยบายของพรรคการเมือง

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
หากสังคมไทยมีแนวโน้มจะเป็น สังคมทุนนิยม องค์กร สถาบัน จารีต ต่างๆ เสื่อมลง คนสัมพันธ์ผ่านระบบตลาด แคร์คนอื่นน้อยลง ขาดสำนึกร่วมในความอยุติธรรมทางสังคม หรือ มีสำนึกเชิง “ปัจเจก” มากขึ้นเรื่อยๆ
ทศพล ทรรศนพรรณ
อาจจะดูแปลกประหลาดไปสักหน่อยสำหรับบางท่านเมื่อพูดว่ากฎหมายได้รับรอง “สิทธิที่จะพักผ่อน” ไว้เป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง เพราะคนไทยถือว่าการขยันตั้งใจทำมาหากินหามรุ่งหามค่ำเป็นศีลธรรมอันดีงามประเภทหนึ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติ หรือต้องแสดงออกให้สังคมเห็นเป็นประจักษ์ และสังคมก็ยกย่องบุคคลสำคัญโดยพิจารณา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การลดช่องว่าง ด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองมาจัดการเศรษฐกิจรัฐสวัสดิการ สร้างความมั่นคงขจัดความขัดแย้งด้วยแนวทางเจือจานบนพื้นฐานของภราดรภาพป้องกันการลุกฮือของมวลชน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
มหกรรมฟุตบอลโลกจบลงไปแล้วด้วยชัยชนะของกองเชียร์ฝ่ายสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกลุ่มสนับสนุนสิทธิของผู้อพยพ เนื่องทีมแชมป์โลกเป็นการรวมตัวของนักฟุตบอลที่มิได้มีพื้นเพเป็นคนฝรั่งเศส (พูดอย่างถึงที่สุด คือ มิได้มีบุพการีที่เกิดในดินแดนฝรั่งเศส)
ทศพล ทรรศนพรรณ
พอมาอยู่ที่ยุโรป ถึงได้รู้ว่า อิตาลี กับ สเปน มันไม่แคร์เรื่อง ขาดดุลตัวเลขเลย เพราะมันเอาไปลงทุนไว้กับคน รอถอนทุนคืน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การเลือกตั้งท้องถิ่นในแคว้นคาตาลุนญ่า ราชอาณาจักรสเปน จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2015 ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศสเปนประมาณ 2 เดือน ความตื่นตัวของประชาชนสูงเพราะอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบกันไปทั่ว
ทศพล ทรรศนพรรณ
เกษตรพันธสัญญาที่ดี มีการสร้างความร่ำรวยให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ลดความไม่แน่นอนในการผลิตและประกันว่ามีตลาดขายสินค้าแน่นอน หากมีปัญหาระหว่างการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์จะมีการแบ่งรับความเสียหายกับบรรษัท นั้นมีจริง
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผลิตบนหลักการอย่างหนึ่ง เช่น ทำกำไรจากกิจการอะไรที่ให้เงินเยอะ ไม่คำนึงถึงชีวิตเพื่อนมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมบริโภคบนหลักการอีกอย่างหนึ่ง เช่น การอุดหนุนสินค้าที่โฆษณาว่าห่วงใยสังคม หรือแสดงออกว่าเสพกิจกรรมการกุศลอาการ พร่องความดี
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาชนบทถือเป็นภารกิจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคต้านภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องการขจัดภัยคุกคาม ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่กันดารให้มี น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก เพื่อขับไล่พวกที่ปลุกระดมโดยอาศัยความแร้นแค้นเป็นข้ออ้างให้ฝ่อไปเพราะเชื่อว่าเมื่อ “การพัฒนา” มาถึง คอมมิวนิสต์ก็จะแทรกซึมไม่ได้
ทศพล ทรรศนพรรณ
กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ ผมได้ตกเป็นเหยื่อ "ความมักง่าย" เข้าแล้วครับท่านผู้อ่าน
ทศพล ทรรศนพรรณ
            ความสัตย์ซื่อและยึดถือกฎหมายด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า            มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสำนักกฎหมายบ้านเมือง ว่า คำสั่งทั้งหลายของรัฐาธิปัตย์ถือเป็นกฎหมายอย่างเด็ดขาด