Skip to main content
1 

 

ในระหว่างที่เห็นการนำเสนอข่าวอย่างครึกโครมเรื่องเด็กชายเคอิโงะ ลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ออกมาตามหาพ่อ ก็คิดต่อทันทีว่า ไม่นานก็จะมีเด็กแบบเดียวกับเคอิโงะออกกันมาอีกแน่ๆ เพราะรู้ดีว่าเด็กแบบนี้ไม่ได้มีคนเดียวในประเทศไทยและยังคิดต่ออีกว่า หลังจากสื่อสามารถทำเรื่องชีวิตเด็กคนหนึ่งให้ฮือฮาได้แล้ว เรื่องของเด็กคนอื่นก็ไม่น่าสนใจอีกต่อไป แล้วทั้งรัฐและเอกชนที่โหมกระหน่ำความช่วยเหลืออย่างเช่นกรณีเคอิโงะก็จะหายไปด้วย

แล้วสิ่งที่กังวลก็เป็นจริง นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ที่สุดแล้วเรื่องเหล่านี้ก็จะหายไปดั่งไฟไหม้ฟาง ในขณะที่ปัญหาของเด็กเหล่านั้นยังคงอยู่ ความจริงแล้ว กรณีเคอิโงะน่าจะจุดประกายให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องเด็กในภาพรวม รวมทั้งปัญหาเด็กลูกครึ่งญี่ปุ่นคนอื่นๆ ที่มีชะตากรรมไม่ต่างจากเคอิโงะ

 

อย่างไรก็ตาม กรณีลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นที่ขาดพ่อนั้นว่าไปแล้วหากคิดว่าเรากำลังดูภาพยนตร์อยู่ ปรากฎการณ์นี้ก็เป็น Episode II สำหรับประเทศไทย เราเคยมีเรื่องเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาแล้ว คนที่อายุ 30 กว่าปีขึ้นไปน่าจะยังจำกันได้ว่าเราเคยเห็นกรณีของเด็กลูกครึ่งที่มีทั้งเป็นฝรั่งหัวแดง หรือตัวดำๆ ผมหยิกๆ ที่ไม่รู้ว่าพ่อเป็นใคร หรือพ่ออยู่ไหน และเด็กพวกนี้ก็รู้จักกันในนามของ "ลูกจี.ไอ"1

 

ที่มาคือ เมื่ออเมริกามาตั้งฐานทัพอยู่ในเมืองไทย เกิดปรากฎการณ์ที่ผู้หญิงมีสามีเป็นทหารอเมริกันหรือ จี.ไอ.  อาจมีบ้างที่เป็นสามีภรรยาและอยู่ต่ออย่างถาวร แต่โดยส่วนใหญ่เป็นการไปให้บริการแบบสาวบาร์ หรือ "เมียเช่า" ต่อมาผู้หญิงก็มีลูก ปรากฎการณ์เหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกในรูปแบบนวนิยาย ละคร ภาพยนตร์หรือเพลงต่างๆ มากมาย เช่น เรื่อง "ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด" ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้หญิงที่เป็นเมียเช่า หรือ ละครเรื่อง "ข้าวนอกนา" ก็สะท้อนเรื่องราวของเด็กที่เป็นลูกครึ่งอเมริกัน โดยคนหนึ่งเป็นลูกอเมริกันนิโกร อีกคนหนึ่งเป็นอเมริกันผิวขาว เป็นต้น อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นตัวเมียเช่าหรือเด็กลูกเมียเช่าล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้การถูกดูหมิ่นและถูกกดดันจากสังคมรอบข้าง ภาพยนตร์ข้าวนอกนาก็สะท้อนเรื่องนี้ได้อย่างดี



ในยุคนั้นมีเพลงที่สะท้อนความรู้สึกของสังคมที่มีต่อผู้หญิงที่เป็นเมียเช่าอยู่หลายเพลง มีเพลงหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นทัศนคติของผู้ชายยุคนั้นที่มีต่อเมียเช่าได้อย่างชัดเจนคือ เพลง "แหม่มปลาร้า" ขับร้องโดยสายัณห์ สัญญา ที่มีโทนค่อนขอดและสมน้ำหน้าผู้หญิงที่ช้ำรักเพราะจี.ไอ.กลับบ้านไป


แหม่มปลาร้า - สายัณห์ สัญญา (กดที่ชื่อเพลงเพื่อเข้าฟัง)


มีอีกเพลงที่เขียนสะท้อนให้เห็นถึงสภาพของเมียเช่าเมื่อจี.ไอ.จากไป ชื่อเพลง "จดหมายจากเมียเช่า" เนื้อร้องเขียนโดยอาจินต์ ปัญจพรรค์ เขียนถึงผู้หญิงที่พยายามติดต่อกับสามีจี.ไอ .ของหล่อนโดยใช้ภาษาแบบ Broken English มีตัวอย่างเนื้อร้องขึ้นต้นว่า "I เขียน letter ถึงเธอ Dear John จาก Flat ที่ you เคยนอน จังหวัดอุดร ประเทศ Thailand I broken heart you must understand. John จ๋า John ดอลล่าร์ขาดแคลน เมีย second hand ของ you ยังคอย " โดยเพลงจบลงที่ผู้หญิงคิดเอาดีดีทีมาฆ่าตัวตาย

 

ส่วนเด็กๆ ลูกครึ่งที่บรรดาจอห์นๆ ทั้งหลายทิ้งไว้ข้างหลังนั้นก็ไม่ได้มีชีวิตเหมือนกับลูกครึ่งอเมริกันตามโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบันนี้ เด็กเหล่านี้มีชิวิตที่ค่อนข้างระทมไม่ต่างจากแม่เพราะต้องเติบโตมาจากการถูกล้อเลียน ถูกกดดันจากเพื่อนๆ เพราะมีความแตกต่างจากเด็กไทยทั่วไปหรือที่ถูกเรียกว่า ข้าวนอกนา หากเป็นเด็กผมทองก็มักถูกเรียกว่า "ไอ้หรั่ง" ถ้าผิวดำก็จะถูกเรียกว่า "ไอ้มืด" ส่วนพวกผิวขาว ผมทอง อาจโชคดีได้รับความเอ็นดูมากกว่าหน่อยเท่านั้น นอกจากนั้นเด็กเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกยอมรับสถานะทางกฎหมายด้วยซ้ำ

 

ในอดีตกฎหมายไทยให้เด็กถือสัญชาติตามบิดา ไม่ได้ให้ถือสัญชาติตามมารดา เด็กคนไหนที่ใส่ชื่อไปว่าพ่อเป็นอเมริกันจึงไม่ได้รับสัญชาติไทย และการไม่ได้สัญชาติไทยก็ทำให้เขาไม่ได้รับสิทธิ์ใดๆ ตามกฎหมาย แม้จะเข้าโรงเรียนก็ไม่ได้มีวุฒิการศึกษา ดังนั้นหลายๆ คนจึงต้องใช้ชื่อของตาหรือชื่อของลุงเป็นพ่อเพื่อให้ได้สัญชาติไทย

 

จริงๆ แล้วนี่คือเป็นผลพวงจากที่รัฐบาลไทยยอมให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพ แต่เมื่อมีเด็กเหล่านี้เกิดขึ้น รัฐบาลกลับมองเป็นปัญหาส่วนตัวของแม่และเด็กที่ต้องเผชิญชะตากรรมเอาเอง แต่โชคยังดีว่ามีชาวสหรัฐฯ บางคนที่มีจิตสำนึกว่านี่คือผลพวงจากชาวอเมริกันจึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือ นั่นก็คือ มูลนิธิเพิร์ล เอส.บัค ช่วยเหลือให้การศึกษาและดูแลเด็กๆ เหล่านี้ รวมทั้งช่วยเขียนจดหมายติดตามพ่อให้ด้วย ซึ่งมีทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ มีเด็กหลายคนที่ในที่สุดก็สามารถเติบโตและมีการศึกษาจากความช่วยเหลือของมูลนิธินี้ ตัวอย่างคนที่เติบโตมาจาก เพิร์ล เอส บัค ที่รู้จักกันในวงการบันเทิงก็มีอยู่หลายคน เช่น มอริส เค. ชาร์ลีย์ และ อ้น สราวุธ เป็นต้น

 

ทุกวันนี้ ปัญหาเรื่องลูกจี.ไอ.ก็คลี่คลายไป ทุกคนก็เติบโตกันไปหมดแล้ว ปัญหาสัญชาติก็คงหมดไปแล้ว แต่วัฎจักรของปัญหาก็กลับมาอีกครั้งแต่คราวนี้เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น ชะตากรรมของเด็กเหล่านี้ไม่ต่างจากเด็กในยุคนั้น และบริบทของปัญหาก็ไม่ต่างกันที่เด็กออกมาแล้วไม่ได้รับการยอมรับ ผู้หญิงที่เป็นแม่ของเด็กอาจถูกมองว่าเป็นหนึ่งของคนที่สร้างปัญหานี้ขึ้น เนื่องจากเด็กเหล่านี้เกิดมาจากแม่ที่เดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น หรือตั้งใจมีลูกกับชาวญี่ปุ่นเพื่อให้ได้วีซ่าทำงานในประเทศญี่ปุ่น แต่ทว่า รากของปัญหานั้นไม่ต่างกันเลย คือ ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและค่านิยมของสังคมที่เป็นตัวขับให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องออกไปทำงานอะไรก็ได้เพื่อให้มีสถานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่เราไม่เคยนำปรากฎการณ์ในอดีตมาใช้เป็นบทเรียนเพื่อให้สถานการณ์ของผู้หญิงและเด็กดีขึ้นเลย เด็กยังถูกละเลยเหมือนเดิม ผู้หญิงถูกตำหนิว่ามีส่วนในการสร้างปัญหาสังคมเหมือนเดิม

 

ในกรณีของหญิงไทยที่ไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ส่วนใหญ่ไปเป็นหญิงบริการเนื่องจากความรู้อันน้อยนิดและไม่มีทักษะมากพอที่จะประกอบอาชีพอื่นๆ ได้ จากงานวิจัยของ พัทยา เรือนแก้ว นักวิจัยอิสระและประธานสมาคมธารา เครือข่ายหญิงไทยในเยอรมัน ซึ่งติดตามประเด็นผู้หญิงไทยในต่างแดนมาเป็นเวลา 30 ปี ได้ทำวิจัยเชิงคุณภาพเรื่อง "สิทธิหญิงไทยกรณีย้ายถิ่นแรงงานข้ามชาติ ศึกษากรณีหญิงไทยในประเทศเยอรมันและญี่ปุ่น" บอกว่าการศึกษาขั้นสูงสุดส่วนใหญ่ของผู้หญิงเหล่านี้คือจบภาคบังคับเท่านั้น

 

การเดินทางโดยขาดความรู้ รวมทั้งทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายหน้า ทำให้ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยต้องตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ หรือไม่เช่นนั้นก็อยู่ในภาวะติดหนี้สินและจะต้องทำงานชดใช้ แต่เนื่องจากสภาพที่อยู่เดิมในประเทศตนไม่ได้ให้ความหวังใดๆกับชีวิต แม้จะยังไม่รู้ว่าต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ผู้หญิงเหล่านี้ก็ยังเลือกที่จะเสี่ยงเดินทางไปทำงานต่างประเทศ จากงานวิจัยข้างต้นพบว่า เดินทางไปในญี่ปุ่นกว่า 30,000 คน(ตัวเลขปี 2007) ขณะที่ตัวเลขการประมาณการของโครงการส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงแรงงานข้ามชาติ ( Self- Empowerment Program of Migrant Women- SEPOM)2 พบว่าตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมามีหญิงไทยที่ไปทำงานที่ญี่ปุ่นถึง 1 แสนคนทีเดียว

 

แม้จะรับรู้ว่ามีการเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากมาย และการย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานนั้นก็เป็นปรากฎการณ์ที่เลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งการย้ายถิ่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักการสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยก็ไม่เคยมีมาตรการปกป้องคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงเหล่านั้น ส่วนใหญ่เมื่อพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น มาตรการที่รัฐนำมาใช้จัดการคือการออกกฎเพื่อป้องกันการเดินทาง แทนที่จะจัดการให้ความรู้ว่าหากจะต้องเดินทางไปต้องมีความรู้อะไรบ้าง อีกทั้งกฎป้องกันการเดินทางนั้นกลับเป็นหนทางที่จะผลักให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์มากขึ้นเพราะต้องอาศัยนายหน้ามากขึ้น ขาดทักษะในการป้องกันตัวเองหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

 

จากข้อมูลของ SEPOM ผู้หญิงที่กลับจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ส่วนใหญ่จะได้รับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจและขาดทักษะในการดำรงชีวิต เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ใช่ว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ยังต้องมาเผชิญกับปัญหาอีกมากมาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ บางคนก็ติดเชื้อเอชไอวีกลับมาหรือมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ รวมทั้งเด็กลูกครึ่งที่กลับมาแล้วก็ขาดคนดูแลที่ดี หรือกลายเป็นเด็กไร้สัญชาติ

 

ในกรณีของเด็กที่มีพ่อญี่ปุ่นแม่ไทยที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็เกิดจากการที่แม่ไปทำงานทีญี่ปุ่น เด็กเหล่านี้มักไม่ได้เกิดมาจากความรัก แต่เกิดจากความต้องการของแม่ที่จะมีลูกเพื่อให้ได้วีซ่าญี่ปุ่น ซึ่งอาจมีทั้งมาจากความผิดพลาดหรือถูกบังคับ ที่สุดแล้วเด็กเหล่านี้ต้องกลับมาพร้อมกับแม่ มีน้อยมากที่เด็กจะได้อยู่กับพ่อในญี่ปุ่น อาจมีบางคนที่พ่อชาวญี่ปุ่นส่งเสียให้ทางครอบครัวระยะหนึ่งแล้วต่อจากนั้นก็จะหายไป ทั้งแม่และเด็กก็กลับมามีชีวิตที่ลำบากดังเดิม หลายคนแม่ก็เดินทางไปทำงานอีกโดยทิ้งลูกไว้กับตายายหรือเพื่อนบ้านพร้อมปัญหานานา

 

นอกจากนั้นทั้งผู้หญิงและเด็กที่กลับมาจากญี่ปุ่นต่างก็มีสภาวะกดดัน เด็กเหล่านี้ก็เช่นเดียวกับเคอิโงะที่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดันเรื่องของการถูกล้อเรื่องลูกไม่มีพ่อ ส่วนผู้หญิงอาจเผชิญกับเรื่องการไม่ยอมรับของชุมชน ถึงแม้การออกจากบ้านไปของเธอเหล่านั้นก็เพื่อครอบครัวซึ่งเท่ากับการทำรายได้ให้ประเทศด้วยจากงานวิจัยของพัทยา  เรือนแก้ว ดังกล่าวข้างต้นพบว่า ในปี 2550 เพียงปีเดียวผู้หญิงที่ไปทำงานบริการในต่างประเทศส่งเงินกลับเข้าประเทศถึง 30,000 ล้านบาทซึ่งมากกว่ารายได้จากการส่งออกยางพาราและเพชรพลอยเสียอีก แต่ผู้หญิงเหล่านี้ยังถูกมองเป็นกลุ่มที่สร้างปัญหาให้กับประเทศชาติหรือสังคมแทนที่จะได้รับความเห็นใจ

 

นอกจากนั้น กรณีสัญชาติของเด็กนั้นหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมถึงยังเป็นปัญหาก็ในเมื่อปัจจุบันกฎหมายไทยยอมให้ลูกใช้สัญชาติตามแม่ได้แล้ว นั่นก็ใช่ในทางทฤษฎีแต่ในทางปฎิบัติแล้วมันไม่ได้เป็นไปโดยอัตโนมัติเพราะแม่จะต้องมีหลักฐานยืนยันเช่นสูติบัตร หรือเอกสารรับรองต่างๆ จากทางการญี่ปุ่นมาแสดงและพิสูจน์ว่าเป็นเอกสารจริงก่อนว่า เด็กคนนี้เป็นลูกของผู้หญิงคนนี้ ส่วนกรณีเอกสารหายหรือไม่มีเอกสาร เด็กก็จะมีปัญหาตั้งแต่เดินทางเข้าประเทศมาแล้ว แม้ว่าสมัยนี้โชคดีที่เทคโนโลยีก้าวหน้า การพิสูจน์ความเป็นแม่ลูกนั้นสามารถตรวจดีเอ็นเอได้ แต่การตรวจดีเอ็นเอก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่ไม่น้อย การเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งก็มีการโยนเรื่องกันไปมาระหว่างหน่วยที่เกี่ยวข้องจนทำให้เด็กเสียโอกาสไปนานกว่าจะได้สัญชาติ หรืออาจจะไม่ได้เลยก็มี เป็นเรื่องน่าสงสัยว่าทำไมประเทศไทยไม่ได้ร้อนใจกับการที่เห็นเด็กไร้สัญชาติ และไม่ใส่ใจในการจัดการให้เด็กได้สัญชาติ ทั้งที่ การมีสัญชาติของเด็กนั้นก็เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญานี้อยู่


2

ถ้าปัญหาลูกจี.ไอ. คือ Episode I ลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่นในครอบครัวระดับล่างคือ Episode II ในที่นี้ก็จะขอคาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้เลยว่า ลูกของแรงงานข้ามชาติจากลาว พม่า และ กัมพูชาก็จะเป็น Episode III ที่เราจะพบในอนาคต โดยบริบทของปัญหาอาจจะแตกต่างออกไปเล็กน้อยคืออาจมีเด็กที่ไม่มีสัญชาติและออกติดตามหาพ่อชาวไทยก็ได้ แม้กฎหมายจะยินยอมให้ร้องต่อศาลและพิสูจน์สัญชาติได้แต่ก็เช่นเดียวกับเด็กลูกไทย-ญี่ปุ่นที่ว่าจะมีกี่คนที่จะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมนี้ได้ หรือกรณีแม่เป็นหญิงไทย เด็กก็อาจจะกำพร้าพ่อได้ เนื่องจากพ่อถูกส่งกลับประเทศแล้วทิ้งลูกไว้กับแม่ เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีสิทธิที่จะขอ marriage visa ที่จะมาอยู่ด้วยกันเพราะไม่มี passport จึงไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ อาจเรียกได้ว่าคนไม่มีเอกสารไม่มีสิทธิมีรักข้ามชาติได้ตามกฎหมาย

 

สิ่งที่น่าคิดก็คือ ความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ตามมักเกิดขึ้นกับคนที่อยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็นคนยากจนไม่มีอำนาจต่อรองเท่านั้น และมักเป็นผู้หญิงที่ต้องแบกภาระปัญหาเอาเอง จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วกฎหมายของทุกประเทศล้วนแต่อำนวยความสะดวกให้กับคนมีเงินและมีอำนาจเท่านั้นที่จะใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขได้ตามกฎหมาย


1 G.I.ย่อมาจาก Government Issue เป็นคำที่ใช้เรียกทหารอเมริกันที่ถูกส่งไปรบตามดินแดนต่างๆ สำหรับประเทศไทยนั้นทหารเหล่านี้คือกลุ่มที่ไปรบในสงครามเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยยอมให้สหรัฐฯใช้เป็นฐานทัพถึง 12 แห่ง คือ ที่อู่ตะเภา ตาคลี อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม น้ำพอง สัตหีบ ลพบุรี เขื่อนน้ำพุง โคราช และ กาญจนบุรี โดยมีศูนย์บัญชาการใหญ่ และหน่วยจัสแม็ก ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ฐานทัพทั้งหมดถูกปิดไปในปี 2518 หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม


2 เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2544 โดยกลุ่มผู้หญิงที่เคยไปทำงานบริการที่ญี่ปุ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงไทยที่เคยไปขายบริการในญี่ปุ่นและกลับเข้ามาอยุ่ในชุมชน เป็นพื้นที่ที่จะแลกเปลี่ยนปัญหาและเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมเรื่องไปค้าบริการในต่างแดน

 

 

บล็อกของ สุทธิดา มะลิแก้ว

สุทธิดา มะลิแก้ว
กลายเป็นเรื่องฮือฮาสำหรับการฉลองสงกรานต์ในปีนี้ (2554) เมื่อมีคนนำคลิปของเด็กสาวขึ้นเต้นโชว์เปลือยอกในการฉลองสงกรานต์ย่านสีลมที่มีผู้คนชมและเชียร์กันอย่างเมามันมาเผยแพร่กันอย่างแพร่หลายผ่านทางสังคมออนไลน์ รวมทั้งนักข่าวทุกสำนักก็ให้ความสนใจและนำเสนอกันอย่ากว้างขวาง มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายว่า นี่เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมหรือการกระทำที่ทำลายวัฒนธรรม บางคนถึงขั้นกล่าวหาเด็กสาวเหล่านี้ว่าเป็นโรคจิตด้วยซ้ำ
สุทธิดา มะลิแก้ว
    ญี่ปุ่น นับเป็นประเทศที่มีพัฒนาการอย่างมากในเรื่องของเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในทางวัตถุอย่างรวดเร็ว มีรถไฟหัวกระสุนที่มีความเร็วสูง มีตึกสูงๆที่สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ หรือแม้แต่โรงปฎิกรณ์ปรมาณูนั้นก็ยืนยันว่ามีระบบความปลอดภัยเป็นเยี่ยม นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่มีประชากรที่มีระเบียบวินัยและคุณภาพที่พร้อมรับมือกับภัยร้ายๆได้อย่างดี ทว่า สุดท้ายแล้วเมื่อธรรมชาติพิโรธอย่างหนัก ประเทศระดับญี่ปุ่นเองก็ยังยากที่จะรับมือ ประสาอะไรกับประเทศที่ไร้ระเบียบและขาดการเตรียมการอีกหลายประเทศ เห็นภาพภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นแล้ว…
สุทธิดา มะลิแก้ว
  เป็นเวลานานหลายสิบปีที่พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนนั้นไม่ได้ถูกให้ความสนใจ ประชาชนที่อาศัยอยู่ที่นั่น แม้ต่างตอบตัวเองได้ว่าตัวเองเป็นพลเมืองของชาติใดหากต้องติดต่อกับทางราชการแต่ก็อยู่ร่วมกันด้วยดี ถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกันและทำมาหากินร่วมกันมายาวนาน การเดินข้ามไปข้ามมาในบริเวณนั้นก็มิได้เป็นปัญหา มิได้คิดว่าใครจะเข้ามารุกล้ำดินแดนใคร และในการใช้ชีวิตนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข ทว่า บัดนี้มาเกิดกรณีพิพาทอันเนื่องมาจากการอ้างสิทธิ์บนพื้นที่นี้เกิดขึ้นจากรัฐบาลทั้งสองประเทศและยังไม่อาจแน่ใจว่าข้อพิพาทนี้จะยุติลงได้เมื่อใด…
สุทธิดา มะลิแก้ว
    “พี่รีบๆไปดูเถอะ ตอนนี้ยังดีอยู่ ได้ข่าวว่านายทุนเข้าไปซื้อที่ตรงนั้นไปเยอะแล้ว ไม่ช้าก็คงจะเปลี่ยนไปแน่นอน” ผู้จัดการเกสต์เฮาส์แห่งหนึ่งใน อ.ปาย บอก เมื่อถามว่า อำเภอใหม่เป็นไงบ้าง เพราะว่าดูจะไม่ไกลจากปายมากนัก และในอนาคตอาจไม่เห็นความเป็นธรรมชาติของที่นั่นแล้ว  
สุทธิดา มะลิแก้ว
“การย้ายถิ่นไม่ได้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของธรรมชาติทางประวัติศาสตร์แต่เป็นมิติของการพัฒนาที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน” ตอนหนึ่งในรายงานการพัฒนามนุษย์ปี 2552 (Human Development Report 2009) จัดทำขึ้นโดยโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Programme –UNDP) ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้
สุทธิดา มะลิแก้ว
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่า อินโดนีเซียมีความไม่พอใจมาเลเซียเป็นอย่างยิ่งที่มาเลเซียนำเพลง ราซา ซายัง เอห์ ( Rasa Sayang Eh) มาเป็นเพลงประกอบโฆษณาการท่องเที่ยว โดยระบุว่าเพลงนั้นเป็นเพลงของอินโดนีเซียและบอกว่าเนื้อเพลงที่ร้องนั้นเป็นภาษาท้องถิ่นของเกาะอัมบน
สุทธิดา มะลิแก้ว
ไม่ว่าการตัดสินคดีของอองซาน  ซูจีจะปรากฎออกมาเยี่ยงใดก็ตาม  มินท์ เมี้ยต รู้ดีว่า คงไม่ได้เป็นไปตามตัวบทกฎหมายใดๆหรอก แต่คำตัดสินนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าผู้นำรัฐบาลทหารพม่าต้องการให้ออกมาเช่นไร ตัวเขาเองนั้นรู้ซึ้งในเรื่องนี้ดีเพราะเคยมีโอกาสได้เข้าไปสู่กระบวนการนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว และเขารู้ดีว่า ชะตากรรมของชาวพม่านั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายยิ่งกว่าพลิกฝ่ามือเสียอีก หากคนๆ นั้นบังเอิญไปทำอะไรขวางหูขวางตารัฐบาลเข้า เช่นเดียวกับตัวเขาและภรรยาที่เป็นวิศวกรอยู่ดีๆ ก็ต้องมากลายเป็นนักโทษ และสุดท้ายต้องมาลงเอยด้วยการเป็นแรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทย 
สุทธิดา มะลิแก้ว
ดูเหมือนเหตุการณ์จะประจวบเหมาะมากที่จู่ๆ ชายชาวอเมริกันคนหนึ่งได้เข้าไปบ้านพักของนางออง ซานซูจีจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในช่วงที่นางจะหมดวาระการถูกกักบริเวณเพียงไม่กี่วัน และหากนางอองซาน ซูจีถูกตัดสินจำคุกก็เท่ากับว่านางและพรรคฝ่ายค้ายนั้นอาจไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกับแผน แผนปรองดองแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (Road Map for Democracy) เป็นแน่แท้ซึ่งเรื่องนี้ชาวโลกต่างให้ความสนใจว่า จริงๆ แล้วพม่ามีความจริงใจที่จะดำเนินการให้เกิดประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน
สุทธิดา มะลิแก้ว
1   ในระหว่างที่เห็นการนำเสนอข่าวอย่างครึกโครมเรื่องเด็กชายเคอิโงะ ลูกครึ่งญี่ปุ่นที่ออกมาตามหาพ่อ ก็คิดต่อทันทีว่า ไม่นานก็จะมีเด็กแบบเดียวกับเคอิโงะออกกันมาอีกแน่ๆ เพราะรู้ดีว่าเด็กแบบนี้ไม่ได้มีคนเดียวในประเทศไทยและยังคิดต่ออีกว่า หลังจากสื่อสามารถทำเรื่องชีวิตเด็กคนหนึ่งให้ฮือฮาได้แล้ว เรื่องของเด็กคนอื่นก็ไม่น่าสนใจอีกต่อไป แล้วทั้งรัฐและเอกชนที่โหมกระหน่ำความช่วยเหลืออย่างเช่นกรณีเคอิโงะก็จะหายไปด้วย
สุทธิดา มะลิแก้ว
ท่ามกลางเปลวแดดที่แผดเผาจนผิวไหม้เกรียมแทบจะกลายเป็นเนื้อแดดเดียว  แม้จะสี่โมงเย็นแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าแสงแดดในบ้านเราจะยอมอ่อนแรงลงเลย  ยังคงสาดแสงอย่างเกรี้ยวกราดทำให้คนที่กำลังเดินอยู่นั่นแหละอ่อนแรงลงไปก่อน และแล้วก็ตั้งใจจะเรียกแท๊กซี่ (อีกแล้ว) แต่ก็ต้องยอมทนอีกนิดข้ามสะพานลอยไปเรียกรถอีกฝั่งหนึ่งดีกว่า เพื่อความสะดวกให้กับแท๊กซี่ไม่ต้องกลับรถ
สุทธิดา มะลิแก้ว
ตอนที่ 1 สุข-ทุกข์อยู่บนท้องถนนเห็นจะต้องยอมรับเสียทีว่า ตัวเองนั้นเป็นที่ใช้รถเปลืองมากๆ ส่วนใหญ่ถ้าวันไหนต้องออกจากบ้านก็คงจะใช้อย่างน้อย 2 คันทีเดียว ทั้งหมดนี้ไม่ได้อวดโอ้แต่ประการใด เพียงแต่ว่า พาหนะหลักในการเดินทางของผู้เขียนเวลาที่อยู่กรุงเทพฯ นั้นก็คือแท็กซี่ แม้จะใช้รถไฟฟ้าหรือใต้ดินบ้างก็ยังต้องนั่งแท๊กซี่ไปที่สถานีรถไฟฟ้าหรือใต้ดินอยู่ดี   ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีมานี้จึงได้พบเรื่องราวหลากหลายในระหว่างการนั่งรถแท๊กซี่ และผ่านบทสนทนากับคนขับแท๊กซี่ที่ผู้เขียนได้ใช้บริการไม่ว่าสีไหนก็ตาม (อันนี้หมายถึงสีของรถแท๊กซี่ไม่เกี่ยวกับสีในอุดมการณ์ของคนขับ)…
สุทธิดา มะลิแก้ว
"It's your responsibility" หรือ "คุณนั่นแหละต้องรับผิดชอบ" เป็นคำพูดที่ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียนพูดย้ำหลายครั้งต่อหน้าผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1 พันคนเมื่อบ่ายวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีมหกรรมภาคประชาชนอาเซียนครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 -22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวย้ำด้วยความภาคภูมิใจถึงการมีกฎบัตรอาเซียน โดยบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถก้าวไปข้างหน้า เพราะถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่ประเทศสมาชิกจะต้องปฎิบัติตาม การมีกฎบัตรจะทำให้อาเซียนมีฐานะเป็นนิติบุคคล และสิ่งที่ ดร.สุรินทร์…