ดูเหมือนเหตุการณ์จะประจวบเหมาะมากที่จู่ๆ ชายชาวอเมริกันคนหนึ่งได้เข้าไปบ้านพักของนางออง ซานซูจีจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในช่วงที่นางจะหมดวาระการถูกกักบริเวณเพียงไม่กี่วัน และหากนางอองซาน ซูจีถูกตัดสินจำคุกก็เท่ากับว่านางและพรรคฝ่ายค้ายนั้นอาจไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมกับแผน แผนปรองดองแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (Road Map for Democracy) เป็นแน่แท้ซึ่งเรื่องนี้ชาวโลกต่างให้ความสนใจว่า จริงๆ แล้วพม่ามีความจริงใจที่จะดำเนินการให้เกิดประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน
ที่ผ่านมานั้น พม่าได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะเดินตาม road map โดยพยายามร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ ทว่า เป็นการร่างรัฐธรรมนูญที่ต็มไปด้วยความคลางใจของผู้สังเกตการณ์ในประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน นอกจากนั้นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญก็ไม่เอื้อให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง และยังเอื้อประโยชน์หรือยังคงให้อำนาจกับทหารและกองทัพอย่างเต็มที่ แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในรัฐธรรมนูญแต่รัฐบาลพม่าไม่ได้สนใจต่อคำท้วงติงใดๆ ในทางกลับกันรัฐบาลพม่าได้ดำเนินแผนการขั้นที่หนึ่งไปแล้วอย่างเร่งด่วน นั้นคือการจัดให้มีการลงประชามติให้มีการ “รับรอง” รัฐธรรมนูญขึ้น แม้ว่าในช่วงนั้นผู้คนยังตกอยู่สภาวะยากลำบากเพราะเพิ่งจะประสบภัยนาร์กิสอยู่ก็ตาม
ถึงแม้ว่าจะยังสรุปไม่ได้ว่า ผลการตัดสินกรณีที่มีชายชาวอเมริกันเข้าไปยังที่พักของนางอองซาน ซูจีจะออกมาเช่นไร แต่ คืนใส ใจเย็น บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวสารไทใหญ่ (Shan Herald Agency for News-S.H.A.N) และอดีตโฆษกส่วนตัวของขุนส่าและฝ่ายประชาสัมพันธ์แห่งกองทัพสหปฎิวัติรัฐฉาน (SURA) เชื่อว่า รัฐบาลทหารพม่าคงจะต้องทำทุกวิถีทางที่จะไม่ไม่ให้นางซูจีเข้ามามีส่วนร่วมในแผน road map ดังนั้น ทางที่พม่าจะเลือกก็คือต้องหาเหตุผลอะไรก็ให้สามารถตัดสินให้นางซูจีติดคุกให้ได้ และทางรัฐบาลก็คงจะพยายามจัดการเลือกตั้งตามแผนที่วางเอาไว้คือปีหน้า
ทั้งนี้ พม่าได้กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ทันในปีหน้าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย ปัจจัย 4 ประการ คือ ประการแรก การสำรวจประชากรพม่าใหม่จะเสร็จทันหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาพม่าเคยทำสำรวจสำมะโนประชากรไปแค่ 2 ครั้งคือเมื่อมี 1931 และ 1941 เท่านั้น แสดงว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันจำนวนตัวเลขประชากรในพม่าเป็นเพียงแค่ตัวเลขที่เดาไปเองเท่านั้น
ประการที่สอง คือ ในเรื่องปัญหากับกลุ่มต่างๆ จะแก้ได้หรือ เช่นว่าจะสามารถเอากลุ่มหยุดยิงทั้งหลายเข้ามาร่วมกับกองทัพพม่าได้หรือไม่ หรือจะสามารถสลายกำลังพวกนี้ได้มั้ย รวมทั้งปัญหาของว้า ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มที่มีกองกำลังที่ค่อนข้างเข้มแข็งที่สุด
ประการที่สาม คือ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างพม่ากับบังคลาเทศจะดีขึ้นมั้ย ซึ่งตรงนี้ คืนใส มองว่าได้เริ่มผ่อนคลายลงไปแล้วจึงอาจไม่ได้เป็นอุปสรรคมากมายใด ส่วนประการสุดท้าย คือ ประเด็นเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ที่จะเป็นประเด็นจะสามารถเอาใจสหรัฐฯได้หรือไม่
คืนใสได้ให้ความเห็นต่อประเด็นเรื่องความสัมพันธ์กับสหรัฐฯว่า แรกทีเดียวพม่าคิดว่า สหรัฐฯ จะปรับความสัมพันธ์กับพม่าแล้วแต่พอมีเรื่องการจับกุมนางนางซูจี สหรัฐฯก็หันกลับมาใช้นโยบายเดิมแล้วและ อย่างน้อยก็คิดว่าก็คงใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าที่จะมาทบทวนเรื่องความสัมพันธ์อีกที
“คราวนี้อันนี้ก็เป็นเรื่องที่พม่าต้องคิดหนัก จะเอายังไงดี จะจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จมั้ย หรือจะปล่อยนางอองซานแล้วยอมให้มีส่วนร่วมกับแผน road map มั้ย บางทีอาจก็ขึ้นอยู่ว่าพม่าจะใจบุญหรือเปล่า” อดีตกระบอกเสียง SURA กล่าวติดตลกในตอนท้าย
อย่างไรก็ตาม คืนใส เห็นว่า กรณีการตัดสินคดีของนางอองซาน ซูจีซึ่งคาดว่าจะจัดการให้เสร็จตั้งแต่วันศุกร์ 29 พ.ค.2552 นั้น มาตอนนี้กลับเลื่อนออกไปนั้นก็แสดงว่า พม่ากำลังปรับแผนใหม่อยู่ เพราะในการจับกุมนางอองซาน ซูจีในครั้งนี้นั้น พม่าได้รับแรงกดดันจากนานาชาติอย่างรุนแรงชนิดที่พม่าคาดไม่ถึง ความกดดันจากนานาชาติที่ไม่เพียงแค่จากองค์การสหประชาชาติ และสหรัฐฯเท่านั้น แต่ยังมีทั้งอาเซียน จีน อินเดีย และรัสเซียด้วย และการที่พม่าไม่ตัดสินคดีให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้นั้น คืนใส ชี้ว่า สามารถตีความได้ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือ ศาลไม่มีอำนาจในการตัดสินใจและอย่างทที่สองคือ พม่าต้องคิดอย่างหนักว่าจะการกับเรื่องนี้อย่างไร แต่คืนใสก็เชื่อว่า พม่าก็คงจะหาทางที่จะขัดขวางการเข้าร่วมในแผน road map ของนางซูจีอย่างแน่นอน
คืนใสมองประเด็นของการเลือกตั้งที่พม่าพยายามจะให้มีขึ้นว่า จำเป็นที่ทุกฝ่ายควรจะได้หารือกันก่อน หากเพียงเลือกตั้งเฉยๆก็คงจะไม่มีความหมายใดๆ และทางฝ่ายค้านเองก็ขอให้มีการเจรจา (dialogue) นางอองซาน ซูจีเอง ก็ได้ออกมาพูดว่า ถ้าจะมีการมาทบทวนเรื่องความสมานฉันท์แห่งชาติก็ยังไม่สายเกินไป ทว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะเป็นจังหวะก้าวสำคัญอีกประการหนึ่งนอกเหนือจากปัจจัยจากฝั่งของรัฐบาลในเรื่องของความปรองดองแห่งชาตินั้นก็คือ ความเข้มแข็งของฝ่ายค้านเอง
“ขณะนี้มันถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายค้านทั้งหมดจะต้องมาร่วมมือกันก่อน ถ้าหากฝ่ายค้านสามารถร่วมมือกันได้ สามารถวางแนวนโยบายที่ชัดเจนที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ปีหน้าพม่าจะจัดการเลือกตั้งอย่างไรก็แล้วแต่ ฝ่ายค้านต้องมาร่วมกันให้ได้ แต่ถ้าปีหน้าเราทำไม่ได้ ในช่วงชีวิตของผมก็อาจจะไม่ได้เห็นความปรองดองในชาติเกิดขึ้นได้” คืนใสกล่าว
สำหรับผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เพื่อสร้างให้เกิดความปรองดองแห่งชาติ ทั้งเป็นผู้เคยอยู่ในเกมเองและผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลายาวนาน คืนใส กล่าวถึงเงื่อนไขที่จะทำให้ประเทศพม่ามีความสมานฉันท์เกิดขึ้นว่า ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้ามาหากันและยอมกันทั้งหมด
“ผมเชื่ออยู่อย่างเดียวว่า การที่สถานการณ์จะดีขึ้นได้นั้นทุกฝ่ายต้องยอมกันทั้งหมดไม่ใช่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยอม ไม่ใช่ตานฉ่วนยอมฝ่ายเดียว ไม่ใช่ประชาชนยอมฝ่ายเดียวและไม่ใช่ฝ่ายค้านยอมฝ่ายเดียว” คืนใส กล่าว
นอกเหนือจากนี้แล้ว เขามองว่าความเปลี่ยนแปลงในพม่าจะเกิดขึ้นหรือไม่หรือจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหนเพราะต้องขึ้นกับหลายปัจจัยสำคัญ เช่น จีนจะเอาอย่างไร รัฐบาลจะเอาอย่างไร ฝ่ายค้านจะเอาอย่างไร และว้าจะเอาอย่างไร ซึ่งนั้นหมายความว่า ทั้งหมดนี้อาจจะต้องยอมให้กันเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์เกิดขึ้นในพม่า ทว่า เมื่อถามว่าเขาเองนั้นพอจะเห็นทางว่าพอจะเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะยอมให้ คำตอบก็คือ “ขณะนี้ยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์”