Skip to main content
เชื่อกันว่าคนเราออกเดินทางด้วยเหตุผลที่ต่างกัน บางคนใช้ความต้องการที่จะอยู่กับครอบครัวเป็นตัวช่วยอธิบาย บางคนก็ให้คุณค่ากับการแสวงหาและการเผชิญโลกใหม่ แต่กับการเดินทางครั้งนี้ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเหตุผลของมันคืออะไร มากที่สุดก็รู้เพียงแค่ “เราต้องออกเดินทาง”

นี่อาจเป็นเพียงบันทึก ของผู้ชายขี้เหงา ที่แค่อยากเปลี่ยนที่ดืมเบียร์ จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ผิด... แต่ใครจะรู้ว่าหลังจากกลับมาเราไม่ได้เป็นคนเดิมแล้ว

เพียงเวลาสั้นที่อยู่ที่โขงเจียม กลางเดือนเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมเดินทางไปกับเป้ใบใหญ่ ก่อนจะกลับมาทำความเข้าใจกับชีวิต และจัดการตัวเองให้เข้าที่เข้าท่า พร้อมที่จะขายวิญญาณให้กับงานที่ทำอีกครั้ง ก็ได้แต่หวังว่าเรื่องเล่าเล็กๆ เมื่อเทียบกับโลกขนาดใหญ่ ต่อจากนี้ จะทำใครหลายๆ ออกเดินทางเพื่อสำรวจชีวิตทั้งภายนอก และภายในไปพร้อมกัน... (พูดซะอย่างกับว่าเป็นรุ่นใหญ่...เอาเข้าจริงแล้วชีวิตแค่นี้ยังเจนโลกไม่มากพอ)

เช้าวันแรกผมเดินทางถึง บขส. อุบลราชธานี เมื่อจัดการตัวเองเสร็จสิ้น ก็ต่อรถตู้จาก บขส. มุ่งหน้าสู่ อำเภอโขงเจียมทันที ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็ถึงที่หมาย จากนั้นก็นั่งรถสามล้อเข้าไปที่บ้านพักริมแม่น้ำโขง ก่อนจะทอดร่างปล่อยความคิด ความรู้สึกที่แบกมาจากกรุงเทพฯ ให้หลุดลอยไป

ทางแยกระหว่างโขงกับมูน

“หนุ่มๆ เรือที่บอกให้ลุงหาไว้เขามาแล้วนะ...”

เสียงเจ้าของบ้านโขงเจียม ดังมาจากนอกห้อง พร้อมเสียงเคาะประตู เป็นสัญญานเตือนว่าอีก 15 นาที ข้างหน้าผมจะต้องอยู่บนเรือ ล่องไปตามแม่น้ำมูน ไปสิ้นสุดที่แก่งตะนะ ก่อนจะวนกลับมาที่ทางแยกระหว่างโขงกับมูน  หรือที่จุดขายที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันในนาม  “แม่น้ำสองสี”

ผมลงเรือที่หน้าบ้านพัก พร้อมกับนักท่องเที่ยวอีก 4 คน ผู้ชาย 2 ผู้หญิง 2 เรายิ้มทักทายให้กัน พอได้รู้คราวๆว่า เขาจัดทิปเที่ยวกันเป็นประจำ น่าเสียดายที่วันที่ผมมาถึงเป็นวันเดียวกันกับวันที่พวกเขากำลังจะกลับ หลังจากเสร็จภาระกิจล่องแม่น้ำมูน เราก็ต่างแยกย้ายกันไป

เชื่อไหมว่า...เมื่อเส้นชีวิตเราได้ตัดผ่านเข้าไปในเส้นชีวิตของใครแล้ว เสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิตเราได้ถูกแบ่งปันให้กับเขาไป เสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิตเขาก็ส่งผ่านมาให้เราเช่นกัน แม้จะแค่ช่วงสั้นๆ แต่อย่างไรก็ตามชีวิตเรากับชีวิตเขาย่อมแตกต่างไปจากเดิม อย่างน้อยที่สุดก็หลงเหลือความทรงจำสีจางๆ เอาไว้ให้คิดถึง...

“สมัยแต่ก่อนคนที่นี่หาปลากันซะส่วนใหญ่ แต่เดี๋ยวนี้ปลาน้อยลงไปมาก เห็นว่าเขาสร้างเขื่อนสร้างอะไร กันเต็มไปหมด เมื่อก่อนคนหาปลาเป็นคนรวย แต่เดี่ยวนี้ไม่ใช่แล้ว” ลุงคนขับเรือรูปร่างกำยำ ดวงตาคมโต ผิวเข็ม ได้เล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงของสายน้ำ และชีวิตตลอดสองฝากฝั่งมูน จนเป็นบรรจบลงที่ทางแยกระหว่างแม่น้ำสองสาย ที่ต่อให้มองอย่างไรก็ยังคงเห็นเป็นแม่สายเดียวกัน เพียงแต่แยกทิศทางการไหลไปหล่อเลี้ยงมนุษย์ที่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่

ลุงเล่าว่า เมื่อก่อนแกเคยหาปลาเป็นอาชีพ รายได้ต่อเดือน มากกว่าคนจบปริญญาตรีในยุคนี้เสียอีก เพราะปลาที่นี่มีหลายสายพันธุ์ ผลัดเปลี่ยนหมุ่นเวียนกันไปตลอดปี แต่เดี๋ยวนี้ปลาบางสายพันธุ์ที่เคยจับได้มีน้อยลง บางสายพันธุ์ก็หายไปพร้อมกับการสร้างเขื่อนขวางกั้นการเดินทางของปลา

เรือที่เคยออกหาปลา ถูกดัดแปลง เสริมที่นั่ง สร้างหลังคา กลายเป็นเรือโดยสารสำหรับนักท่องเที่ยว ผมนั่งอยู่บนเรือลำนั้น ลุงเล่าต่อไปว่า หลายคนเปลี่ยนอาชีพไปรับจ้าง ค้าขาย แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่มีที่ไป และยังหาปลาอยู่เหมือนเดิม การท่องเที่ยวก็ใช่ว่าจะมีตลอดปี แต่กับปลาที่เคยหาได้ในแม่น้ำมูนเคยมีอยู่ตลอด แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว

“ชาวบ้านเขาสู้ เขาเรียกร้องเรื่องนี้มานานแล้ว 20 กว่าปีแล้ว พูดไปก็เหมือนไม่มีใครได้ยิน” ชายคนเดิมพูด หลังจากผมถามว่าแล้วชาวบ้านอยู่กันได้อย่างไร ถ้ามันส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตขนาดนี้ และนั่นคือคำตอบ...

“เอ็งรู้ไหม จริงๆ แล้วแม่น้ำมูนกับแม่น้ำโขงมันก็เป็นแม่น้ำเดียวกัน มันเป็นไปตามธรรมชาติ เขื่อนตามธรรมชาติก็มี แก่งหิน สันดอน ธรรมชาติออกแบบมาให้เราหมดแล้วหนุ่ม คนเราเองนี่แหละที่เข้าไปวุ่นวายกับมัน และผลกระทบมันก็เกิดขึ้น แต่ไม่มีใครรับผิดชอบ”

ลุงพูดขึ้นอีกครั้งเมื่อล่องเรือกันมาถึงแก่งตะนะ สถานที่ซึ่งลุงแกเรียกมันมันว่าเขื่อนตามธรรมชาติ ซึ่งทำหน้าที่สอดคล้องไปกับระบบนิเวศของธรรมชาติ ถึงฤดูที่น้ำหลาก เกาะแก่งเหล่านี้ก็จมหายไป แต่เมื่อถึงฤดูแล้งมันก็ทำหน้าที่เป็นเขื่อน และฝายชะลอน้ำกักเก็บน้ำให้เราได้ใช้ตลอดปี ปลาก็สามารถที่จะฝืนว่ายทวนกระแสน้ำ กระโดขามเกาะแก่ง ไปตามวิถีทางของมันได้ น่าเสียดายที่ผมไม่ได้เห็นอะไรอย่างที่ลุงเล่าอีกแล้ว

บังเอิญเก็บภาพคู่รักไว้ได้บริเวณแก่งตะนะ ใครก็ไม่รู้

“แล้วเอ็งละเป็นอะไร ทำไมออกเที่ยวคนเดียว....” ลุงสบตากับผมพร้อมรอยยิ้ม ที่พอจะเดาออกว่าเด็กคนนี้มีปัญหาอะไรบางอย่าง ผมนั่งคุยกับลุงจนค่ำ ที่บ้านพัก ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป...

ก่อนขึ้นรถกลับกรุงเทพผมนึกถึงคำพูดของลุงคนขับเรืออีกครั้ง เคล้าไปกับรอยยิ้มที่จริงใจที่สุดเท่ามนุษย์จะมีให้กัน “หนุ่มเอาไว้หยุดยาวกลับมาอีกนะ ลุงมีเรื่องจะเล่าอีกเยอะ ยังไงก็สู้หน่อย เดียวมันก็ผ่านไป เอ็งดูชาวบ้านที่นี่สิเราสู้กันมาไม่รู้กี่ปีแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังสู้อยู่”

น่าเสียดายเมื่อกลับมาเขียนเรื่องเล่าเล็กๆ นี้ ผมจำชื่อลุงคนขับเรือไม่ได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าความทรงจำสั้นๆ มันจะหาย มันคงอยู่ และให้พลังกับเราได้เสมอ...

 

บล็อกของ นักข่าวสายหว่องๆ

นักข่าวสายหว่องๆ
ในโลกนี้คงไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผล แม้แต่กับเหตุการณ์ที่ดูไร้เหตุผลที่สุดต่างก็มีเหตุผลอธิบายในตัวของมันเอง น้ำหนักของความมีเหตุมีผลอาจจะขึ้นอยู่กับว่า เราพอที่จะรับกับชุดคำอธิบายเหล่านั้นได้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนกับเรื่องบ้างเรื่องเหตุผลก็มีไว้เพียงสร้างความชอบธรรมกับการกระทำบางอย่างที่ระยำตำบอนเท่านั้น
นักข่าวสายหว่องๆ
ผมกลับไปหาเขาอีกที หลังจากผลประชามติออกมา อาจจะไม่ใช่เพราะความซึมเศร้าอย่างที่ว่า แต่เป็นเพราะมันตรงกับวันนัด เราพูดคุยกัน เขาสังเกตุได้ว่าท่าทีผมเปลี่ยนไปจากเดิม เขาถาม ตอนนี้เรื่องที่อยู่ในหัวคุณคือเรื่องอะไร ยากที่จะปฎิเสธเรื่องเดียวที่วิ่งวนอยู่ในหัว 2-3 วันมานี้คือเรื่องการเมือง
นักข่าวสายหว่องๆ
แม้ผมจะหลงรักในถ้อยคำของ คาริล ยิบราน แต่ใช่ว่า จะเห็นด้วยกับเขาไปเสียทั้งหมด เขามองความรักงดงาม และศรัทธากับมันมากเกินไป
นักข่าวสายหว่องๆ
บันทึก ของผู้ชายขี้เหงา ที่แค่อยากเปลี่ยนที่ดืมเบียร์ จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ผิด