Skip to main content

picture

ผมมีความเชื่อว่า
คนที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาบ้านเรา ถ้าหากไม่หลงไปปฏิบัติผิดที่ผิดทาง ท่านคงจะรู้กันดีทุกคนนะครับ ว่าเป้าหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติเพื่อลดละและปล่อยวาง  ความยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นตัวของเรา – เป็นของของเรา ซึ่งทางพุทธบ้านเราถือว่าเป็นต้นตอรากเหง้าของความทุกข์ทางใจทั้งหลายทั้งปวง

ส่วนจะเป็นทุกข์มากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับใจของเรา ที่เข้าไปยึดเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวกำหนด พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเข้าไปยึดถือมากก็ย่อมเป็นทุกข์มาก ถ้าเข้าไปยึดถือน้อยก็เป็นทุกข์น้อยนั่นเอง

ครับ
นี่เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมที่เข้าใจได้ยาก หรือถ้าสามารถเข้าใจได้แล้ว...ก็ยังมีเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือการปฏิบัติให้ได้จริงและเป็นจริง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฝืนใจปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา ที่ล้วนแล้วแต่เกิดมาเพื่อเรียนรู้การยึดมั่นถือมั่น มากกว่าการลดละและปล่อยวาง...

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรื่องนี้ ซึ่งถือกันว่าเป็นแก่นของพุทธศาสนาที่พระเดชพระคุณท่านพุทธทาสภิกขุ เคยพูดเอาไว้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้คน จะกลายเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่คนจะเข้าใจและปฏิบัติได้ พวกเราส่วนมากที่สักแต่ได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธ จึงกลายเป็นคนที่อยู่ใกล้...แต่กลับไกลจนสุดหล้าฟ้าเขียวจากของดีที่อยู่ใกล้ตัว เพราะมันฝืนความเคยชิน ฝืนใจคนกิเลสหนาอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ  เหลือเกินครับพระคุณเจ้า...

จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกอีกเหมือนกัน
ที่คนที่หันหลังให้กับทางโลกย์เข้าไปหาทางธรรม ถึงขั้นเข้าวัดวาหรือสำนักปฏิบัติธรรม เพื่อปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง จึงมักจะเป็นคนที่ได้ประสบกับความทุกข์ทางใจอันใหญ่หลวงมาแล้วอย่างหนักหนาสาหัส และมองเห็นความทุกข์นั้นด้วยตัวเองจริง ๆ เท่านั้น ที่มักจะพากันเข้าไปด้วยความสมัครใจ และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเมื่อเดินมุ่งหน้าเข้าไปแล้ว ก็ยากยิ่งที่จะถอยหลังกลับมา

ดังเช่นกรณี ท่านศาสตราจารย์ อุบาสิกา คุณรัญจวน อินทรกำแหง นักปฏิบัติธรรม อาวุโส ผู้มีชื่อเสียงขจรขจายในวงการพุทธ ศาสนา ได้ให้สัมภาษณ์ คุณขวัญใจ เอมใจ เอาไว้ในหนังสือสารคดีประจำเดือนมีนาคม 2543 เกี่ยวกับเส้นทางการปฏิบัติธรรมของท่านเอาไว้ตอนหนึ่ง ซึ่งตรงกับประเด็นที่ผมได้เกริ่นกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ และควรค่าแก่การศึกษา ดังต่อไปนี้

สารคดี : เหตุผลหลักที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ท่านตัดสินใจบวชคืออะไรคะ ดิฉันได้ยินมาว่า มีความ    คิดสองทาง มองว่าคนที่มาบวชนั้น หนึ่ง เพราะมีความทุกข์ สอง เป็นคนที่กำลังแสวงหา บางคนมองไกลไปถึงว่า พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้แสวงหาอีกท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ

อ.รัญจวน : เห็นทุกข์ค่ะ แต่ก่อนนี้ไม่รู้ ทั้ง ๆ ที่อาการของความทุกข์ก็คืออาการซัดส่ายของใจ วุ่นวายไม่เป็นปกติ แต่ไม่รู้ว่าอยู่กับความทุกข์ เพราะไม่เคยศึกษา พอมาตอนหลังก็มีเหตุที่ทำให้เริ่มเห็นความทุกข์ชัดขึ้น คือเรื่องหลานชาย ดิฉันมีหลานชายที่ดิฉันเลี้ยงเอาไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ  เขาเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาด เรียนหนังสือดี อยู่มหาวิทยาลัยก็เรียกว่าเป็นดารา แต่เขาเป็นคนคิดมาก ดิฉันไม่รู้ว่าเขาคิดมากขนาดไหน ภายนอกของเขาเป็นคนที่รื่นเริงบันเทิงใจมาก อยู่ที่ไหนมีแต่จะทำให้ที่ตรงนั้นมีเสียหัวเราะ เพื่อนฝูงจะไปไหนก็มาขอให้เขาไปด้วย เพราะเขาเป็นคนนำ ทำให้เพื่อนฝูงสนุกสนาน มีปัญหาอะไรก็แก้ไขปัญหาให้เพื่อน แต่ผลที่สุด เขาก็แก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้ ต้องเข้าไปอยู่โรงพยาบาลจนทุกวันนี้  เขาไม่ก้าวร้าว แต่จะพูดจะคิดอะไรเลื่อนลอย อยู่กับความหลัง อยู่กับอนาคต แต่ไม่อยู่กับปัจจุบัน ตอนนั้นดิฉันเริ่มรู้แล้วว่า อ้อ...ความทุกข์มันเป็นเช่นนี้เอง

แล้วก็นั่งคิด เอ...นี่เราเลี้ยงเขาผิดหรือเปล่า ทั้งที่เราก็ประชาธิปไตยพอสมควร มีอะไรก็พูดอภิปรายกัน ไม่ได้เก็บกักอะไรเขาเลย ก็ถามตัวเอง โทษตัวเอง รู้สึกเศร้าใจ ยิ่งเมื่อเห็นดอกเตอร์หนุ่ม ๆ ก็นึกในใจ หลานเราก็เป็นได้ แล้วเขาก็เป็นได้อีกตั้งหลายอย่าง เป็นนักดนตรี นักพูด นักเขียน แต่กลับมาเป็นอย่างนี้ นี่ละจิตที่ทุกข์จริง ๆ ก็ตอนนั้น

สารคดี : เรื่องหลานชายถือเป็นเหตุปัจจัยหลักที่ทำให้เห็นทุกข์ กระทั่งตัดสินใจบวช
อ.รัญจวน : ใช่ค่ะ เริ่มเห็นความทุกข์ชัดเจนขึ้น ทั้ง ๆ ที่เราอยู่กับความทุกข์มาตลอดชีวิตอย่างที่เล่ามาแล้ว นี่ที่สำคัญมากนะคะ คนทุกคนในโลกนี้คลุกคลีกับความทุกข์มาตลอด แต่ทุกข์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันกลับมองไม่เห็น มันมีอยู่ตลอดทั้งวัน  ตลอดระยะทางของชีวิต เกือบจะทุกขณะทุกชั่วโมง ก็ที่เดี๋ยวเราดีใจ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวชอบใจ เดี๋ยวไม่ชอบใจอีกแล้ว นั่นละ

แต่เพราะไม่เคยเรียนรู้ ก็เลยไม่รู้ว่า เรามีชีวิตอยู่กับความทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่ง สิ่งที่เรารักมาก ยึดถือมาก...ว่ามันเป็นของเราเกิดวิปริตขึ้นมา มันถึงตีตูมเข้ามาที่ใจ ทำไมถึงเห็นว่าเป็นทุกข์มาก ทุกข์ใหญ่  เพราะเราไม่เคยได้ฝึกอบรมใจ เพื่อจะต้อนรับทุกเล็ก ๆ  ที่ผ่านใจเข้ามาตลอดชีวิตของเรา เราไม่เคยรู้ เราไม่เคยจัดการ ที่หลังมันก็จะสะสมความทุกข์ ความไม่พอใจมาเรื่อยทีละน้อย ๆ แล้วพอมีอะไรใหญ่มาก ๆ ลงมาตูมเดียว จึงไม่มีความต้านทานที่จะรับ
แต่สำหรับตัวเอง พอจะรับได้บ้าง ไม่ถึงเป็นบ้าเป็นหลังไปกับความทุกข์ ไม่ได้ล้มสลบสิ้นสติลงไป ที่เน้นเรื่องนี้ก็อยากจะบอกทุกคนว่า เราควรจะต้องศึกษาเรื่องความทุกข์ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอริยสัจสี่ และเมื่อเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นทุกข์ใหญ่ เช่นไฟไหม้บ้าน เกิดอุบัติเหตุตายทั้งหมู่ ลูกสาวหลานสาวถูกข่มขืน ยำยี มันก็จะไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ชอกช้ำจนถึงเสียสติ

สารคดี : อาการของท่านเองตอนที่เจอทุกข์ใหญ่มากในตอนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง
อ.รัญจวน : ข้างนอกนี่ไม่เป็นอะไร แต่ข้างในรู้สึกเหนื่อย...เหนื่อยมากเหลือเกิน เพราะพอหลานชายออกจากโรงพยาบาล แล้วก็ต้องเอาเขามานอนเตียงข้าง ๆ ติดกัน แล้วก็ต้องคอยพูดคอยปลอบใจ ให้กำลังใจ แนะนำต่าง ๆ  ไหนจะงานสอนที่รามคำแหง แล้วตอนนั้นเป็นประธานสภาอาจารย์รามคำแหง ซึ่งเริ่มมีเป็นครั้งแรกด้วย พอมาถึงบ้านก็ต้องมาทำงานพยาบาลด้วย แล้วพยาบาลโรคทางใจนี่หนักกว่าโรคทางกายนัก เพราะฉะนั้น นอกจากทุกข์เพราะสงสารว่าเขาเป็นอย่างนี้แล้ว ยังทุกข์เพราะเหนื่อยอีก มันเหนื่อยสายตัวแทบขาดทีเดียว เหนื่อยทุกอย่างทั้งกายและใจ เลยรู้ว่า อ๋อ...ลักษณะของความทุกข์ที่เกิดขึ้นมันเป็นเช่นนี้เอง

ถ้ามองจากตอนนี้ ถามว่า ที่ตอนนั้นตัวเองทุกข์เพราะอะไร ก็ตอบว่า ทุกข์เพราะอุปทาน ยึดมั่นถือมั่น  ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นเราก็ไม่ทุกข์  มีเด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆ ที่มีอาการอย่างหลานชายของเราอีกนับพันนับหมื่น ทำไมเราไม่ไปทุกข์กับเขา ก็เพราะเขาไม่ใช่หลานเรา นี่ธรรมะบอก เพราะเราไปยึดมั่น เพราะฉะนั้นจึงทุกข์มาก นี่ถ้าไม่ใช่หลานของเรา มีอะไรจะช่วยได้ก็คงช่วยกันไปเท่าที่กำลังจะช่วยได้  แต่ไม่ต้องเสียใจเศร้าหมองจนไม่คิดถึงเหตุผลอย่างใช้สติปัญญา

ครับ ผมหวังว่า บทสัมภาษณ์ บทนี้ของอาจารย์รัญจวน ที่สูญเสียหลานชายที่ท่านรัก และเป็นเหตุทำให้ท่านหันหน้าเข้ามาปฏิบัติธรรมตราบจนเท่าทุกวันนี้ คงจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งเป็นต้นตอความทุกข์ทางใจของคนเราได้ง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากความเข้าใจนี้กันทุกคนนะครับ.

17 ตุลาคม 2550
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

ภาพประกอบจาก http://dungtrin.com ขอบคุณครับ

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
"นางแบบภาพประกอบ สุธาทิพย์ โมราลาย คอลัมนิสต์วรรณกรรมกุลสตรี ถ่ายโดยผู้เขียน" สมัยหนึ่ง ขงจื๊อกับศิษยานุศิษย์เดินทางไปรัฐชี้ เส้นทางผ่านป่าใหญ่เชิงภูเขาไท้ซัว ได้ยินเสียงร่ำไห้ของสตรีนางหนึ่งแว่วมาแต่ไกล ขงจื๊อหยุดม้า นิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดขึ้นว่า “เสียงร้องไห้ฟังโหยหวนน่าเวทนานัก หญิงผู้นั้นคงได้รับทุกข์แสนสาหัสเป็นแน่” จื๊อกุงศิษย์ผู้ใกล้ชิดรับอาสาไปถามเหตุ หญิงนั้นกล่าวแก่จื๊อกุงว่า “น้าชายของฉันถูกเสือขบตายไม่นานมานี้ ต่อมาสามีของฉันก็ถูกเสือกินอีก บัดนี้เจ้าวายร้ายก็คาบเอาลูกชายตัวเล็กๆของฉันไปอีก” จื๊อกุงถามว่า “ทำไมท่านไม่ย้ายไปอยู่เสียที่อื่นเล่า” เธอตอบสะอื้น “ฉันย้ายไม่ได้ดอก” “…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเกาะติดสถานการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้มาแบบวันต่อวัน ตั้งแต่นปช.คนเสื้อแดงเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพมาเผชิญหน้ากับรัฐบาลเมื่อกลางเดือนมีนา และเป็นเสียงเล็กๆเสียงหนึ่งในหน้าบล็อกกาซีนของเว็บประชาไท ที่คอยประสานเสียงกับผู้คนอีกมากมายหลายฝ่ายในสังคม ที่พยายามตะโกนบอกทั้งฝ่ายคนเสื้อแดงและรัฐบาลให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ที่จะทำให้ผู้คนล้มลงตายและบาดเจ็บ เพราะเชื่อกันว่า ยังมีทางเลือกที่สามารถตกลงกันได้ โดยไม่ทำให้ผู้คนต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน... จนกระทั่งเว็บถูกฝ่ายควบคุมสื่อมวลชนของรัฐเข้ามาบล็อกเว็บ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
หลังจากการเจรจากัน เรื่องการยุบสภาระหว่างรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ กลุ่ม นปช. - คนเสื้อแดง ที่ขัดแย้งกันเพราะตกลงกันไม่ได้ในเรื่องเงื่อนไขของเวลา ที่ฝ่ายคนเสื้อแดงยืนยันว่าจะต้องยุบสภาภายในเวลา 15 วัน และฝ่ายรัฐบาลบอกว่ายุบสภาก็ได้แต่ต้องรออีก 9 เดือน ผ่านไปสองครั้ง และยังไม่สามารถตกลงกันได้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเกาะติดสถานการณ์ การชุมนุมเรียกร้องของมวลชนคนเสื้อแดง ที่พยายามกดดันเรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 53 เรื่อยมาจนถึงวันนี้ (24 มีนา 53) ซึ่งทีแรก หลังจากที่รัฐบาลถูกราดเลือดตอบโต้คำปฏิเสธแล้ว ต่างฝ่ายต่างมีทีท่าว่า จะหันหน้ามาเจรจาตกลงกันด้วยสันติ แต่พอเอาเข้าจริงๆก็ล้มเหลว เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่สามารถจะยอมรับกันได้ ด้วยเหตุผลที่เป็นหลักใหญ่ที่ขัดแย้งอย่างสุดๆ  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ใช่หรือมิใช่ นอกจากอำนาจนิติรัฐ และอำนาจจากกองทัพทหารตำรวจ ที่คอยแวดล้อมปกป้องครองรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังมีอำนาจที่น่ากลัวอีกอำนาจหนึ่ง ที่สามารถกำหนดชัยชนะและความพ่ายแพ้ของมวลชนคนเสื้อแดง นั่นคือ อำนาจ ของสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
เราไม่รู้ว่า รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดผิดหรือคิดถูก ที่ใช้อำนาจนิติรัฐสั่งยึดทรัพย์ ทักษิณ ชินวัตร แล้วยังหมายมาดจะใช้อำนาจนี้ ขย้ำขยี้ด้วยคดีอาญาอีกมายหลายคดี เพื่อทำลาย ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวแบบไม่ให้ได้ผุดได้เกิด ราวกับว่ารัฐบาลนี้จะยึดกุมอำนาจการบริหารประเทศแต่เพียงผู้เดียว โดยไม่มีใครกล้าเข้าไปแตะต้อง ไปจนตราบชั่วฟ้าดินสลาย
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  อ่าน ดู และฟัง เรื่องราว ของ ทักษิณ ชินวัตร จากมุมมอง คนรัก ทักษิณ ชินวัตร สื่อสาร อ่าน ดู และฟังแล้ว ก็น่าเชื่อถือว่าเป็นความจริง ตามที่เขาว่า ทักษิณ ชินวัตร มิได้เป็นคนโกง แต่ถูกเขากลั่นแกล้งทำลาย
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  26 ก.พ. 53 พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ พรุ่งนี้ ของ ทักษิณ ชินวัตร คน คน คน คน คนทั้งประเทศต่างเฝ้ารอดู ชะตากรรม ชะตากรรม ชะตากรรม ชะตากรรม ชะตากรรม ของ ทักษิณ ชินวัตร ภายใต้อำนาจศาลสถิตยุติธรรมของสังคมไทย ว่าเขาจะถูกศาลพิพากษาตัดสินอย่างไร ถูกยึดเอาทรัพย์ทั้งหมด ถูกยึดเอามากเหลือไว้แต่น้อย ถูกยึดเอาไปเพียงบางส่วน หรือไม่ถูกยึดเลยแม้แต่สลึงเดียว... คน คน คน คน คนทั้งประเทศต่างเฝ้ารอดู
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  “ความเจ็บปวดเป็นเรื่องเฉพาะตัว” ใครคนหนึ่งนิยามในเชิงสรุปเรื่องนี้ขึ้นมาลอยๆ หลังจากนั่งพูดคุยกันมามากมายหลายเรื่อง แล้วมาลงเอยที่เรื่องราวความเจ็บปวดในชีวิต ที่เราซึ่งต่างโตเป็นผู้ใหญ่ ต่างก็ได้ประสบกันมาคนละมิใช่น้อย จากประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านมาในชีวิต เช่น ความรัก ความหวัง ความฝัน ความทะเยอทะยาน หน้าที่การงาน อุบัติเหตุ การถูกทำร้าย ความเจ็บไข้ได้ป่วย หนี้สิน หรือแม้กระทั่งเรื่องราวบางเรื่อง ที่ทำให้เราขัดแย้งกับตัวเอง ฯลฯ
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมจำได้ว่า ผมเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ซึ่งเป็นเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ตามหลักของพุทธศาสนาในระดับศีลธรรม ด้วยความเชื่อว่ามันเป็นสัจธรรมของชีวิต แล้วมีผู้แย้งมาในทำนองที่ว่า ไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นกฎอันเฉียบขาดของโลกและชีวิตมนุษย์ เพราะบ่อยครั้งที่เขาทำดี...แล้วไม่เห็นได้ดี จนเขานึกท้อที่จะทำความดี
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  คุณค่าผลงานวรรณกรรม 'รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นนักเขียนที่มีผลงานหลากหลายประเภท นับตั้งแต่ข้อเขียนบรรยายภาพ คอลัมน์ในนิตยสาร เรื่องสั้น นวนิยาย และงานเขียนปกิณกะอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีงานร้อยแก้วที่มีลักษณะลีลาของร้อยกรองปลอดฉันทลักษณ์ หรือร้อยกรองรูปแบบอิสระปรากฏอยู่ เป็นช่วงสั้นๆในนวนิยายบางเรื่องด้วย ผลงานหลากประเภทดังกล่าวมีจำนวนมากมาย เฉพาะงานเขียนที่รวมเล่มแล้วมีจำนวนประมาณ 100 เล่ม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้น บทความ และข้อเขียนจากคอลัมน์ต่างๆ
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมนึกแปลกใจ ที่งานเขียนนวนิยายหลายเล่มของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ไม่ว่าจะเป็นนักอ่าน นักเขียน นักวิเคราะห์วรรณกรรม หรือแม้กระทั่งคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ประกาศยกย่องเชิดชูให้เขาเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม ปี 2538 ต่างมีความเห็นตรงกันว่า นวนิยายที่เป็นงานโดดเด่น หรือที่ภาษาทางศิลปะเรียกกันว่าเป็นงานมาสเตอร์พีซของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ คือ นวนิยายเรื่องสนิมสร้อย ใต้ถุนป่าคอนกรีท เสเพลบอยชาวไร่ ผู้มียี่เกในหัวใจ ฯลฯ โดยเฉพาะสนิมสร้อยนั้น ดูเหมือนจะถูกยกย่องไว้สูง จนไม่มีเรื่องใดมาเทียบได้ และหลงลืมหรืออาจจะจงใจหลงลืม นวนิยายเรื่องหนึ่งของเขาที่ชื่อว่า “คืนรัก”