Skip to main content

ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน


ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน


รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด


หกโมงเช้า พระเดินมาบิณฑบาตร ก็พอดีกับรายการยอดนิยมประจำวัน

ข่าวสารบ้านเรา”


ฟังชื่อรายการชวนให้คิดว่าเป็นการเอาหนังสือพิมพ์มากาง อ่านข่าว แล้วก็วิเคราะห์+วิจารณ์ อย่างที่สื่อมวลชนมักง่าย เอ๊ย ! นิยมกันอยู่ แต่ที่จริง นี่เป็นรายการที่เอาตำแหน่งงานว่างมาเล่าสู่กันฟัง ไม่ว่าจะของรัฐหรือของเอกชน ทั้งในจังหวัดและในจังหวัดใกล้เคียง


ที่น่าสนใจคือ นอกจากข่าวสารอันเป็นประโยชน์สำหรับผู้ว่างงาน ที่กำลังหางานทำ หรือที่กำลังคิดจะเปลี่ยนงาน ลีลาเฉพาะตัวของผู้จัดทั้งสามคน ทำให้รายการมีสีสัน มีอารมณ์ขัน สร้างความครึกครื้นให้แก่ผู้ฟังที่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่


แม้จะเป็นจังหวัดไม่ใหญ่ แต่ที่นี่ก็มีบริษัทห้างร้านไม่น้อย อาจเพราะเป็นเมืองที่ทำทั้งการเกษตรและการประมง กิจการที่เกี่ยวเนื่องจึงมีมากมายหลายอย่าง ทั้งโรงงาน โรงแรม ก็มีตลอดถนนใหญ่ที่มุ่งสู่ภาคใต้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเขตจังหวัดไปจนสุดเขตอีกด้านหนึ่ง ตำแหน่งงานทางราชการก็มีประปราย ส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้าง


ถ้าเป็นห้างร้าน ก็รับพนักงานทีละ 1-3 อัตรา

ถ้าเป็นโรงแรมก็รับพนักงานทีละ 3-10 อัตรา

ถ้าเป็นโรงงานก็รับพนักงานทีละ 1-100 อัตรา หรือ มากถึง 200-300 อัตราก็มี


ไม่ว่าที่ไหนจะประกาศรับสมัครพนักงาน รายการนี้ก็จะนำเสนอให้ตลอด ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสให้คนได้มีงานทำแล้ว ยังให้กำลังใจด้วยคำคมน่าคิด สุภาษิตประจำวันเป็นประจำ บางทีก็มีหยอดมุก เย้าแหย่กันพอขำๆ ท้ายรายการยังมีปัญหาอะไรเอ่ย มาทายกันสนุกๆ ด้วย


วันไหนไม่ได้ฟังรายการนี้ เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง

แต่วันไหนที่ได้ฟังรายการนี้ แล้วได้ยินบางประโยคที่ผู้จัดรายการมักจะชอบย้ำเตือนอยู่บ่อยๆ ก็ทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ


“...
ก็ขอให้ขยันทำงานกัน ต้องอดทนนะครับอย่าไปย่อท้อ งานอะไรก็แล้วแต่ต้องใช้ความอดทน...นี่ก็มีบางบริษัทแจ้งมาว่า พนักงานทำงานกันไม่ค่อยทนเลย อยู่กันได้ไม่นานก็ออกอีกแล้ว ต้องอดทนกันนะครับ ต้องอดทน...”


ฟังแรกๆ ดูเหมือนเป็นการให้กำลังใจ แต่พอบ่อยเข้า รู้สึกเหมือนเป็นการตำหนิติเตียน ฟังดูคล้ายกับว่า คนเป็นลูกจ้างเป็นพนักงานที่ทำงานได้ไม่นาน เป็นคนเหลาะแหละ หยิบโหย่ง ชอบเปลี่ยนงานบ่อย ทั้งที่จริงนั้น การออกจากงานไม่ได้มีสาเหตุแค่ไม่อดทน


ผู้ที่ออกจากงานมีเหตุผลมากกว่านั้น แต่ในฐานะคนฟัง แม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่อาจไปชี้แจงได้


ใครทำงานเป็นลูกจ้างมานานปี คงรู้ดีว่า การออกจากงานบ่อยๆ นั้นเป็นอย่างไร

เพราะเมื่อออกจากงาน ก็ต้องไปทำที่ใหม่ ต้องปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ ระบบใหม่


การออกจากงานบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องดี ประสบการณ์ในการทำงานกะพร่องกะแพร่ง จะเอาไปใช้เป็นเครดิตในการหางานใหม่ก็ไม่ได้ ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ ไม่มีใครอยากออกจากงาน


ส่วนพวกที่ทำงานแบบเข้าๆ ออกๆ นั้น เอาเข้าจริงก็มีแต่พวกพนักงานรายวัน ที่ทำๆ หยุดๆ กันเป็นปกติอยู่แล้ว

งานราชการ เข้ายาก ออกก็ยาก

งานบริษัท ห้างร้าน โรงแรม เข้ายาก แต่ออกง่าย

งานโรงงาน เข้าง่าย ออกง่าย

เมื่อออกมาแล้วก็บอบช้ำกายใจ ได้แต่เยียวยากันไปตามอัตถภาพ


ไม่มีใครอยากออกจากงานกันบ่อยๆ ถ้าที่ทำงานนั้นดีจริง หรืออย่างน้อยก็พอทน แต่ในบรรดางานทุกประเภท รับรองได้ว่า งานด้านอุตสาหกรรมโรงงาน เครียดที่สุด น่าเบื่อที่สุด ปลอดภัยน้อยที่สุด และได้รับค่าแรงต่ำที่สุด

ไม่แปลก ที่งานโรงงานจะมีอัตราการเข้าๆ ออกๆ สูงที่สุด โดยเฉพาะพนักงานฝ่ายผลิต

เมื่อเข้าๆ ออกๆ มาก โรงงานก็ต้องรับสมัครไว้มากๆ


รายการข่าวสารบ้านเรา ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างอย่างตรงไปตรงมา ห้างร้าน บริษัทใดยังไม่ได้พนักงานในตำแหน่งที่ต้องการ จะประกาศซ้ำวันเว้นวัน ทางรายการก็ประกาศให้


แต่การที่ไม่มีใครไปสมัคร หรือ ตำแหน่งยังว่างอยู่ตลอด หรือ รับสมัครพนักงานจำนวนมากเป็นประจำ มันก็ประกาศโดยนัยอยู่แล้วว่า โรงงานแห่งนั้น บริษัทแห่งนั้น “คนเขารู้กันหมดแล้วว่าเป็นอย่างไร”

- มีเจ้านายหลายคน แต่ละคนชิงดีชิงเด่น แบ่งพรรคแบ่งพวก เด็กใครเด็กมัน

- ใช้งานสารพัดอย่าง ทำงานเกินหน้าที่ เห็นพนักงานเป็นแค่ “ทรัพยากร” ไม่ได้อย่างใจก็บ่นว่า

- เอาเปรียบสารพัด หักนู่น หักนี่ จนคนทำงานหมดกำลังใจ

- เอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำ สื่อสารไม่ได้ เข้ากับคนงานไทยไม่ได้ เกิดปัญหากระทบกระทั่ง

- สภาพแวดล้อมย่ำแย่ เสียงดัง สารเคมีเหม็นคลุ้ง อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ มีกระทั่งคนตายแต่ถูกปิดข่าว (ด้วยความร่วมมือของปลวกในระบบราชการ)

ฯลฯ

โรงงานดีๆ ก็มี แต่น้อยเหลือเกิน ส่วนใหญ่จะเข้าข่ายต้องทนทำ


ชีวิตประจำวัน ออกจากบ้านรถขึ้นรถรับส่งแต่เช้ามืด ทำโอทีถึงทุ่ม-สองทุ่ม นั่งรถกลับบ้าน เข้านอนตอนสีทุ่ม ตื่นแต่เช้ามืดไปทำงาน ได้หยุดสัปดาห์ละหนึ่งวัน ห้ามป่วยห้ามลาถ้าไม่อยากโดนหักเงิน หรือโดนเจ้านายเขม่น ชีวิตเป็นวัฏจักรเวียนวน


หากมีทางเลือกอื่น หลายคนก็ออกจากวงเวียนชีวิตคนโรงงานไป

แต่เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องทน


ประสาชาวบ้าน เมื่อรู้ว่าลูกหลานใครเรียนจบ คำถามยอดนิยมคือ ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร ได้เงินเดือนเท่าไร โดยเฉพาะคำตอบสุดท้าย อาจทำให้พ่อแม่คุยเขื่องไปได้ทั้งตำบล


คนรุ่นเก่า มองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ทำอะไรก็ได้ที่มีเงินเดือนประจำ ทว่าความมั่นคงนี้ ก็ต้องแลกด้วยสารพัดความกดดันที่ต้องแบกรับ อย่างที่คนไม่เคยยืนตรงนั้นไม่มีทางเข้าใจ


งานประจำไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียทั้งหมด การทำงานประจำนาน-ไม่นาน ก็ไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จในชีวิต โรงงานเห็นคนเป็นแค่ฟันเฟืองตัวหนึ่ง หลายคนทำได้ก็ทำไป หลายคนทำไม่ได้ ทนไม่ได้ ก็ลาออกไป


ไม่ใช่ และ ไม่มีปัจจัยใดๆ มาวัดได้ว่า นี่คือ การประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว


บางที การได้ทำงานโรงงาน ก็อาจจะมีข้อดีอยู่เหมือนกัน ในแง่ที่ว่า ทำให้คนที่ทำได้รู้ว่าตัวเองเกลียดระบบนี้มากแค่ไหน

คนทำงานโรงงานแค่สามวัน อาจจะรู้จักตัวเองมากกว่าคนที่ทำมาสามปีก็ได้


ผู้จัดรายการข่าวสารบ้านเราทำหน้าที่ได้ดีแล้ว ใครหลายคนได้งานทำเพราะรายการนี้

แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น


อย่าทำให้คนที่ออกจากงาน ด้วยปัจจัยบีบคั้นที่เขาไม่อาจควบคุมได้

ต้องถูกค่อนแคะว่าเป็น “คนไม่อดทน” เลย


บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก