Skip to main content

ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน


ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน


รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด


หกโมงเช้า พระเดินมาบิณฑบาตร ก็พอดีกับรายการยอดนิยมประจำวัน

ข่าวสารบ้านเรา”


ฟังชื่อรายการชวนให้คิดว่าเป็นการเอาหนังสือพิมพ์มากาง อ่านข่าว แล้วก็วิเคราะห์+วิจารณ์ อย่างที่สื่อมวลชนมักง่าย เอ๊ย ! นิยมกันอยู่ แต่ที่จริง นี่เป็นรายการที่เอาตำแหน่งงานว่างมาเล่าสู่กันฟัง ไม่ว่าจะของรัฐหรือของเอกชน ทั้งในจังหวัดและในจังหวัดใกล้เคียง


ที่น่าสนใจคือ นอกจากข่าวสารอันเป็นประโยชน์สำหรับผู้ว่างงาน ที่กำลังหางานทำ หรือที่กำลังคิดจะเปลี่ยนงาน ลีลาเฉพาะตัวของผู้จัดทั้งสามคน ทำให้รายการมีสีสัน มีอารมณ์ขัน สร้างความครึกครื้นให้แก่ผู้ฟังที่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่


แม้จะเป็นจังหวัดไม่ใหญ่ แต่ที่นี่ก็มีบริษัทห้างร้านไม่น้อย อาจเพราะเป็นเมืองที่ทำทั้งการเกษตรและการประมง กิจการที่เกี่ยวเนื่องจึงมีมากมายหลายอย่าง ทั้งโรงงาน โรงแรม ก็มีตลอดถนนใหญ่ที่มุ่งสู่ภาคใต้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเขตจังหวัดไปจนสุดเขตอีกด้านหนึ่ง ตำแหน่งงานทางราชการก็มีประปราย ส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้าง


ถ้าเป็นห้างร้าน ก็รับพนักงานทีละ 1-3 อัตรา

ถ้าเป็นโรงแรมก็รับพนักงานทีละ 3-10 อัตรา

ถ้าเป็นโรงงานก็รับพนักงานทีละ 1-100 อัตรา หรือ มากถึง 200-300 อัตราก็มี


ไม่ว่าที่ไหนจะประกาศรับสมัครพนักงาน รายการนี้ก็จะนำเสนอให้ตลอด ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสให้คนได้มีงานทำแล้ว ยังให้กำลังใจด้วยคำคมน่าคิด สุภาษิตประจำวันเป็นประจำ บางทีก็มีหยอดมุก เย้าแหย่กันพอขำๆ ท้ายรายการยังมีปัญหาอะไรเอ่ย มาทายกันสนุกๆ ด้วย


วันไหนไม่ได้ฟังรายการนี้ เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง

แต่วันไหนที่ได้ฟังรายการนี้ แล้วได้ยินบางประโยคที่ผู้จัดรายการมักจะชอบย้ำเตือนอยู่บ่อยๆ ก็ทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ


“...
ก็ขอให้ขยันทำงานกัน ต้องอดทนนะครับอย่าไปย่อท้อ งานอะไรก็แล้วแต่ต้องใช้ความอดทน...นี่ก็มีบางบริษัทแจ้งมาว่า พนักงานทำงานกันไม่ค่อยทนเลย อยู่กันได้ไม่นานก็ออกอีกแล้ว ต้องอดทนกันนะครับ ต้องอดทน...”


ฟังแรกๆ ดูเหมือนเป็นการให้กำลังใจ แต่พอบ่อยเข้า รู้สึกเหมือนเป็นการตำหนิติเตียน ฟังดูคล้ายกับว่า คนเป็นลูกจ้างเป็นพนักงานที่ทำงานได้ไม่นาน เป็นคนเหลาะแหละ หยิบโหย่ง ชอบเปลี่ยนงานบ่อย ทั้งที่จริงนั้น การออกจากงานไม่ได้มีสาเหตุแค่ไม่อดทน


ผู้ที่ออกจากงานมีเหตุผลมากกว่านั้น แต่ในฐานะคนฟัง แม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่อาจไปชี้แจงได้


ใครทำงานเป็นลูกจ้างมานานปี คงรู้ดีว่า การออกจากงานบ่อยๆ นั้นเป็นอย่างไร

เพราะเมื่อออกจากงาน ก็ต้องไปทำที่ใหม่ ต้องปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ ระบบใหม่


การออกจากงานบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องดี ประสบการณ์ในการทำงานกะพร่องกะแพร่ง จะเอาไปใช้เป็นเครดิตในการหางานใหม่ก็ไม่ได้ ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ ไม่มีใครอยากออกจากงาน


ส่วนพวกที่ทำงานแบบเข้าๆ ออกๆ นั้น เอาเข้าจริงก็มีแต่พวกพนักงานรายวัน ที่ทำๆ หยุดๆ กันเป็นปกติอยู่แล้ว

งานราชการ เข้ายาก ออกก็ยาก

งานบริษัท ห้างร้าน โรงแรม เข้ายาก แต่ออกง่าย

งานโรงงาน เข้าง่าย ออกง่าย

เมื่อออกมาแล้วก็บอบช้ำกายใจ ได้แต่เยียวยากันไปตามอัตถภาพ


ไม่มีใครอยากออกจากงานกันบ่อยๆ ถ้าที่ทำงานนั้นดีจริง หรืออย่างน้อยก็พอทน แต่ในบรรดางานทุกประเภท รับรองได้ว่า งานด้านอุตสาหกรรมโรงงาน เครียดที่สุด น่าเบื่อที่สุด ปลอดภัยน้อยที่สุด และได้รับค่าแรงต่ำที่สุด

ไม่แปลก ที่งานโรงงานจะมีอัตราการเข้าๆ ออกๆ สูงที่สุด โดยเฉพาะพนักงานฝ่ายผลิต

เมื่อเข้าๆ ออกๆ มาก โรงงานก็ต้องรับสมัครไว้มากๆ


รายการข่าวสารบ้านเรา ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างอย่างตรงไปตรงมา ห้างร้าน บริษัทใดยังไม่ได้พนักงานในตำแหน่งที่ต้องการ จะประกาศซ้ำวันเว้นวัน ทางรายการก็ประกาศให้


แต่การที่ไม่มีใครไปสมัคร หรือ ตำแหน่งยังว่างอยู่ตลอด หรือ รับสมัครพนักงานจำนวนมากเป็นประจำ มันก็ประกาศโดยนัยอยู่แล้วว่า โรงงานแห่งนั้น บริษัทแห่งนั้น “คนเขารู้กันหมดแล้วว่าเป็นอย่างไร”

- มีเจ้านายหลายคน แต่ละคนชิงดีชิงเด่น แบ่งพรรคแบ่งพวก เด็กใครเด็กมัน

- ใช้งานสารพัดอย่าง ทำงานเกินหน้าที่ เห็นพนักงานเป็นแค่ “ทรัพยากร” ไม่ได้อย่างใจก็บ่นว่า

- เอาเปรียบสารพัด หักนู่น หักนี่ จนคนทำงานหมดกำลังใจ

- เอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำ สื่อสารไม่ได้ เข้ากับคนงานไทยไม่ได้ เกิดปัญหากระทบกระทั่ง

- สภาพแวดล้อมย่ำแย่ เสียงดัง สารเคมีเหม็นคลุ้ง อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ มีกระทั่งคนตายแต่ถูกปิดข่าว (ด้วยความร่วมมือของปลวกในระบบราชการ)

ฯลฯ

โรงงานดีๆ ก็มี แต่น้อยเหลือเกิน ส่วนใหญ่จะเข้าข่ายต้องทนทำ


ชีวิตประจำวัน ออกจากบ้านรถขึ้นรถรับส่งแต่เช้ามืด ทำโอทีถึงทุ่ม-สองทุ่ม นั่งรถกลับบ้าน เข้านอนตอนสีทุ่ม ตื่นแต่เช้ามืดไปทำงาน ได้หยุดสัปดาห์ละหนึ่งวัน ห้ามป่วยห้ามลาถ้าไม่อยากโดนหักเงิน หรือโดนเจ้านายเขม่น ชีวิตเป็นวัฏจักรเวียนวน


หากมีทางเลือกอื่น หลายคนก็ออกจากวงเวียนชีวิตคนโรงงานไป

แต่เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องทน


ประสาชาวบ้าน เมื่อรู้ว่าลูกหลานใครเรียนจบ คำถามยอดนิยมคือ ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร ได้เงินเดือนเท่าไร โดยเฉพาะคำตอบสุดท้าย อาจทำให้พ่อแม่คุยเขื่องไปได้ทั้งตำบล


คนรุ่นเก่า มองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ทำอะไรก็ได้ที่มีเงินเดือนประจำ ทว่าความมั่นคงนี้ ก็ต้องแลกด้วยสารพัดความกดดันที่ต้องแบกรับ อย่างที่คนไม่เคยยืนตรงนั้นไม่มีทางเข้าใจ


งานประจำไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียทั้งหมด การทำงานประจำนาน-ไม่นาน ก็ไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จในชีวิต โรงงานเห็นคนเป็นแค่ฟันเฟืองตัวหนึ่ง หลายคนทำได้ก็ทำไป หลายคนทำไม่ได้ ทนไม่ได้ ก็ลาออกไป


ไม่ใช่ และ ไม่มีปัจจัยใดๆ มาวัดได้ว่า นี่คือ การประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว


บางที การได้ทำงานโรงงาน ก็อาจจะมีข้อดีอยู่เหมือนกัน ในแง่ที่ว่า ทำให้คนที่ทำได้รู้ว่าตัวเองเกลียดระบบนี้มากแค่ไหน

คนทำงานโรงงานแค่สามวัน อาจจะรู้จักตัวเองมากกว่าคนที่ทำมาสามปีก็ได้


ผู้จัดรายการข่าวสารบ้านเราทำหน้าที่ได้ดีแล้ว ใครหลายคนได้งานทำเพราะรายการนี้

แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น


อย่าทำให้คนที่ออกจากงาน ด้วยปัจจัยบีบคั้นที่เขาไม่อาจควบคุมได้

ต้องถูกค่อนแคะว่าเป็น “คนไม่อดทน” เลย


บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…