Skip to main content

ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน


ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน


รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด


หกโมงเช้า พระเดินมาบิณฑบาตร ก็พอดีกับรายการยอดนิยมประจำวัน

ข่าวสารบ้านเรา”


ฟังชื่อรายการชวนให้คิดว่าเป็นการเอาหนังสือพิมพ์มากาง อ่านข่าว แล้วก็วิเคราะห์+วิจารณ์ อย่างที่สื่อมวลชนมักง่าย เอ๊ย ! นิยมกันอยู่ แต่ที่จริง นี่เป็นรายการที่เอาตำแหน่งงานว่างมาเล่าสู่กันฟัง ไม่ว่าจะของรัฐหรือของเอกชน ทั้งในจังหวัดและในจังหวัดใกล้เคียง


ที่น่าสนใจคือ นอกจากข่าวสารอันเป็นประโยชน์สำหรับผู้ว่างงาน ที่กำลังหางานทำ หรือที่กำลังคิดจะเปลี่ยนงาน ลีลาเฉพาะตัวของผู้จัดทั้งสามคน ทำให้รายการมีสีสัน มีอารมณ์ขัน สร้างความครึกครื้นให้แก่ผู้ฟังที่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่


แม้จะเป็นจังหวัดไม่ใหญ่ แต่ที่นี่ก็มีบริษัทห้างร้านไม่น้อย อาจเพราะเป็นเมืองที่ทำทั้งการเกษตรและการประมง กิจการที่เกี่ยวเนื่องจึงมีมากมายหลายอย่าง ทั้งโรงงาน โรงแรม ก็มีตลอดถนนใหญ่ที่มุ่งสู่ภาคใต้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเขตจังหวัดไปจนสุดเขตอีกด้านหนึ่ง ตำแหน่งงานทางราชการก็มีประปราย ส่วนใหญ่จะเป็นลูกจ้าง


ถ้าเป็นห้างร้าน ก็รับพนักงานทีละ 1-3 อัตรา

ถ้าเป็นโรงแรมก็รับพนักงานทีละ 3-10 อัตรา

ถ้าเป็นโรงงานก็รับพนักงานทีละ 1-100 อัตรา หรือ มากถึง 200-300 อัตราก็มี


ไม่ว่าที่ไหนจะประกาศรับสมัครพนักงาน รายการนี้ก็จะนำเสนอให้ตลอด ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสให้คนได้มีงานทำแล้ว ยังให้กำลังใจด้วยคำคมน่าคิด สุภาษิตประจำวันเป็นประจำ บางทีก็มีหยอดมุก เย้าแหย่กันพอขำๆ ท้ายรายการยังมีปัญหาอะไรเอ่ย มาทายกันสนุกๆ ด้วย


วันไหนไม่ได้ฟังรายการนี้ เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง

แต่วันไหนที่ได้ฟังรายการนี้ แล้วได้ยินบางประโยคที่ผู้จัดรายการมักจะชอบย้ำเตือนอยู่บ่อยๆ ก็ทำให้รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ


“...
ก็ขอให้ขยันทำงานกัน ต้องอดทนนะครับอย่าไปย่อท้อ งานอะไรก็แล้วแต่ต้องใช้ความอดทน...นี่ก็มีบางบริษัทแจ้งมาว่า พนักงานทำงานกันไม่ค่อยทนเลย อยู่กันได้ไม่นานก็ออกอีกแล้ว ต้องอดทนกันนะครับ ต้องอดทน...”


ฟังแรกๆ ดูเหมือนเป็นการให้กำลังใจ แต่พอบ่อยเข้า รู้สึกเหมือนเป็นการตำหนิติเตียน ฟังดูคล้ายกับว่า คนเป็นลูกจ้างเป็นพนักงานที่ทำงานได้ไม่นาน เป็นคนเหลาะแหละ หยิบโหย่ง ชอบเปลี่ยนงานบ่อย ทั้งที่จริงนั้น การออกจากงานไม่ได้มีสาเหตุแค่ไม่อดทน


ผู้ที่ออกจากงานมีเหตุผลมากกว่านั้น แต่ในฐานะคนฟัง แม้ไม่เห็นด้วยแต่ก็ไม่อาจไปชี้แจงได้


ใครทำงานเป็นลูกจ้างมานานปี คงรู้ดีว่า การออกจากงานบ่อยๆ นั้นเป็นอย่างไร

เพราะเมื่อออกจากงาน ก็ต้องไปทำที่ใหม่ ต้องปรับตัวให้เข้ากับที่ทำงานใหม่ เพื่อนร่วมงานใหม่ ระบบใหม่


การออกจากงานบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องดี ประสบการณ์ในการทำงานกะพร่องกะแพร่ง จะเอาไปใช้เป็นเครดิตในการหางานใหม่ก็ไม่ได้ ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ ไม่มีใครอยากออกจากงาน


ส่วนพวกที่ทำงานแบบเข้าๆ ออกๆ นั้น เอาเข้าจริงก็มีแต่พวกพนักงานรายวัน ที่ทำๆ หยุดๆ กันเป็นปกติอยู่แล้ว

งานราชการ เข้ายาก ออกก็ยาก

งานบริษัท ห้างร้าน โรงแรม เข้ายาก แต่ออกง่าย

งานโรงงาน เข้าง่าย ออกง่าย

เมื่อออกมาแล้วก็บอบช้ำกายใจ ได้แต่เยียวยากันไปตามอัตถภาพ


ไม่มีใครอยากออกจากงานกันบ่อยๆ ถ้าที่ทำงานนั้นดีจริง หรืออย่างน้อยก็พอทน แต่ในบรรดางานทุกประเภท รับรองได้ว่า งานด้านอุตสาหกรรมโรงงาน เครียดที่สุด น่าเบื่อที่สุด ปลอดภัยน้อยที่สุด และได้รับค่าแรงต่ำที่สุด

ไม่แปลก ที่งานโรงงานจะมีอัตราการเข้าๆ ออกๆ สูงที่สุด โดยเฉพาะพนักงานฝ่ายผลิต

เมื่อเข้าๆ ออกๆ มาก โรงงานก็ต้องรับสมัครไว้มากๆ


รายการข่าวสารบ้านเรา ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ตำแหน่งงานว่างอย่างตรงไปตรงมา ห้างร้าน บริษัทใดยังไม่ได้พนักงานในตำแหน่งที่ต้องการ จะประกาศซ้ำวันเว้นวัน ทางรายการก็ประกาศให้


แต่การที่ไม่มีใครไปสมัคร หรือ ตำแหน่งยังว่างอยู่ตลอด หรือ รับสมัครพนักงานจำนวนมากเป็นประจำ มันก็ประกาศโดยนัยอยู่แล้วว่า โรงงานแห่งนั้น บริษัทแห่งนั้น “คนเขารู้กันหมดแล้วว่าเป็นอย่างไร”

- มีเจ้านายหลายคน แต่ละคนชิงดีชิงเด่น แบ่งพรรคแบ่งพวก เด็กใครเด็กมัน

- ใช้งานสารพัดอย่าง ทำงานเกินหน้าที่ เห็นพนักงานเป็นแค่ “ทรัพยากร” ไม่ได้อย่างใจก็บ่นว่า

- เอาเปรียบสารพัด หักนู่น หักนี่ จนคนทำงานหมดกำลังใจ

- เอาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำ สื่อสารไม่ได้ เข้ากับคนงานไทยไม่ได้ เกิดปัญหากระทบกระทั่ง

- สภาพแวดล้อมย่ำแย่ เสียงดัง สารเคมีเหม็นคลุ้ง อุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ มีกระทั่งคนตายแต่ถูกปิดข่าว (ด้วยความร่วมมือของปลวกในระบบราชการ)

ฯลฯ

โรงงานดีๆ ก็มี แต่น้อยเหลือเกิน ส่วนใหญ่จะเข้าข่ายต้องทนทำ


ชีวิตประจำวัน ออกจากบ้านรถขึ้นรถรับส่งแต่เช้ามืด ทำโอทีถึงทุ่ม-สองทุ่ม นั่งรถกลับบ้าน เข้านอนตอนสีทุ่ม ตื่นแต่เช้ามืดไปทำงาน ได้หยุดสัปดาห์ละหนึ่งวัน ห้ามป่วยห้ามลาถ้าไม่อยากโดนหักเงิน หรือโดนเจ้านายเขม่น ชีวิตเป็นวัฏจักรเวียนวน


หากมีทางเลือกอื่น หลายคนก็ออกจากวงเวียนชีวิตคนโรงงานไป

แต่เมื่อไม่มีทางเลือกก็ต้องทน


ประสาชาวบ้าน เมื่อรู้ว่าลูกหลานใครเรียนจบ คำถามยอดนิยมคือ ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร ได้เงินเดือนเท่าไร โดยเฉพาะคำตอบสุดท้าย อาจทำให้พ่อแม่คุยเขื่องไปได้ทั้งตำบล


คนรุ่นเก่า มองเรื่องความมั่นคงเป็นหลัก ทำอะไรก็ได้ที่มีเงินเดือนประจำ ทว่าความมั่นคงนี้ ก็ต้องแลกด้วยสารพัดความกดดันที่ต้องแบกรับ อย่างที่คนไม่เคยยืนตรงนั้นไม่มีทางเข้าใจ


งานประจำไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียทั้งหมด การทำงานประจำนาน-ไม่นาน ก็ไม่ใช่ตัววัดความสำเร็จในชีวิต โรงงานเห็นคนเป็นแค่ฟันเฟืองตัวหนึ่ง หลายคนทำได้ก็ทำไป หลายคนทำไม่ได้ ทนไม่ได้ ก็ลาออกไป


ไม่ใช่ และ ไม่มีปัจจัยใดๆ มาวัดได้ว่า นี่คือ การประสบความสำเร็จ-ล้มเหลว


บางที การได้ทำงานโรงงาน ก็อาจจะมีข้อดีอยู่เหมือนกัน ในแง่ที่ว่า ทำให้คนที่ทำได้รู้ว่าตัวเองเกลียดระบบนี้มากแค่ไหน

คนทำงานโรงงานแค่สามวัน อาจจะรู้จักตัวเองมากกว่าคนที่ทำมาสามปีก็ได้


ผู้จัดรายการข่าวสารบ้านเราทำหน้าที่ได้ดีแล้ว ใครหลายคนได้งานทำเพราะรายการนี้

แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น


อย่าทำให้คนที่ออกจากงาน ด้วยปัจจัยบีบคั้นที่เขาไม่อาจควบคุมได้

ต้องถูกค่อนแคะว่าเป็น “คนไม่อดทน” เลย


บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
แกชื่อยายอิ่ม ผู้เคยเฉิดฉายในวงสังคม เพราะคัดสรรเฉพาะสามีรวย หนีออกจากบ้านไปมีผัวตั้งแต่อายุสิบสอง ผ่านมาสี่สิบกว่าปี มีผัวมากี่คน คงนับได้ยากเสียแล้ว พอยายอิ่มแก่ตัวลูกก็หนีหาย ต่างคนต่างไป ไม่มีใครเลี้ยง สุดท้าย แกคว้าตาหงอก ผู้(อ้างว่า)เป็นผู้ดีเก่ามาไว้หาเลี้ยงจนได้ สมัยสาวๆ ยายอิ่มได้มรดกจากพ่อแม่ไปเยอะ แต่ขายกินจนหมด แกมีชื่อเสียงมากด้านความคด ในข้องอในกระดูก ถึงขนาดที่ แม้แต่พี่น้องด้วยกันก็ยังโดน จนต้องตัดพี่ตัดน้องกันนั่นแหละ ในที่สุด พอแก่ตัวไม่มีที่จะอยู่ ต้องมาบีบน้ำตาขอที่จากแม่เฒ่า ซึ่งแม่เฒ่าแกก็ค่อยอยากจะให้ เพราะให้ไปมากแล้ว (แต่เอาไปขายกินหมด)…
ฐาปนา
นี่คือตลาดนัดประจำตำบล ที่เปิดมายาวนานหลายสิบปี ในละแวกใกล้เคียง 3-4 ตำบล เป็นที่รู้กันว่า ถ้า “นัดวันอาทิตย์” ก็ต้องมาที่นี่ ในระดับอำเภอ ตลาดนัดวันอาทิตย์ตอนเช้าของที่นี่ น่าจะใหญ่ที่สุด คึกคักที่สุด ลานกว้างพื้นที่หลายไร่ข้างวัด มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งสินค้ากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พอเริ่มสว่าง คนก็เริ่มมา หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่คนกำลังเยอะ เพราะมีของให้เลือกมาก และแดดยังไม่ร้อน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มวายประมาณแปดโมง จอดรถที่ข้างตลาด หรือ ถ้าไม่อยากเบียดเสียดก็ไปจอดในวัด บรรยากาศคึกคักของตลาดเห็นได้แต่ไกล ซอยอาหารทะเลตรงกับทางเข้าด้านที่ตรงมาจากวัด มีคนพลุกพล่านที่สุด…
ฐาปนา
ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด
ฐาปนา
เช้าตรู่ของวันอากาศดีเสียงตามสายประกาศให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตอนบ่ายโมงตรง ณ ศาลาของหมู่บ้านพอบ่ายโมงครึ่ง สมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มากันพร้อมหน้าเจ้าหน้าที่สหกรณ์มากันสามคน คนที่ดูอาวุโสกว่าใคร พูดมากกว่าใคร และเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าใคร เป็นหัวหน้าชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้รับกระดาษคนละหนึ่งแผ่น ปากกาคนละหนึ่งด้าม อ่านดู ก็เห็นว่าเป็นแบบฟอร์มสำรวจเรื่อง “ความพอเพียงในครัวเรือน”
ฐาปนา
ที่นี่อยู่ไม่ห่างจากทะเล ป่าและเขาก็อยู่ไม่ไกล มีคลองส่งน้ำจากเขื่อนผ่านพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำนาได้ปีละสองครั้ง ด้านป่าบนติดเขื่อน เขาปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ได้ผลที่มีรสชาติไม่น้อยไปกว่าทางภาคใต้หรือทางภาคตะวันออก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ถนัดปลูกผัก เพราะเก็บขายได้ตลอดทั้งปี แต่ละวันจะมีรถสิบล้อขนผักผลไม้ วันละหลายสิบคันวิ่งจากตำบลต่างๆ ในอำเภอ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พระประแดง สมุทรปราการ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ พร้อมด้วยผลิตผลทางการเกษตรสารพัดอย่าง ตั้งแต่ของจำเป็นในครัวอย่าง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก หอม กระเทียม ไปจนถึงผักเจ้าประจำบนแผงผักทั้ง กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ บวบ…
ฐาปนา
ดั้งเดิม ก่อนที่แต่ละบ้านจะมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของตัวเอง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “รั้ว” อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละบ้านในละแวกก็ล้วนพี่น้อง หรือนับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวให้บอกได้ว่าเป็นแดนใคร แต่จะถึงขั้นปักเสาขึงลวดหนาม หรือก่อกำแพงล้อมนั้นน้อยราย เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเงิน เขตบ้านใครก็บ้านมัน ถึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ไม่ก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครคนหนึ่งเกิดอยากทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตน จากที่เคยชี้นิ้วบอกว่านี่เขตใคร การออกเอกสารสิทธิ์…
ฐาปนา
วัยเยาว์ของเธอ ขณะที่หัวใจครึ่งหนึ่งเปี่ยมด้วยความฝันและความหวัง ทะเยอทะยานปรารถนา แต่หัวใจอีกครึ่งกลับอ่อนไหว บอบช้ำง่าย ทั้งยังอ่อนด้อยต่อโลกแห่งเหตุผล อนาคตเลือนลางอยู่ในความฝันยามหลับ และวนเวียนอยู่ในความคิดยามตื่น เธอร่ำร้องหาบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อาจบอกได้ มองไม่เห็น ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดสิ้นสุด พลังสร้างสรรค์ของเธอฟุ้งกระจาย ไร้ทิศทาง เมื่อคำว่า ความพร้อม อยู่ห่างจากความเข้าใจ เธอจึงได้แต่ก่นโทษตนเองอยู่เป็นนิจ เธอร่อนเร่ไปในเมืองของผู้อื่น จากเมืองสู่เมือง แลกความเพียรกับเงินเลี้ยงชีพ ยิ้มแย้มให้คำดูหมิ่นเพื่อจะได้เห็นเกียรติของตนเสื่อมค่าลง
ฐาปนา
(มะพร้าวกะทิ)ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาดฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวแต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผมอาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ…
ฐาปนา
แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนาหมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระแกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว…
ฐาปนา
ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติกเช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาลทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิตเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน…
ฐาปนา
เสียงจักจั่นกรีดปีกจากป่าเชิงดอย ฝ่าไอแดดร้อนมาถึงเคหะสถานเงียบงัน รถกระบะบรรทุกหนุ่มสาวร่างเปียกปอนยืนล้อมถังน้ำใบใหญ่แล่นผ่านไปหญิงชราถือสายยางเดินออกมาหน้าบ้าน ฉีดน้ำใส่พื้นถนน ไอน้ำระเหยขึ้นเด็กๆ หิ้วถังพลาสติก ขัน ปืนฉีดน้ำ มองสองข้างทางอย่างมีความหวังร้านขายน้ำปั่น น้ำแข็งไส ขายดีจนต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่มในช่วงบ่ายเจ้าของโรงทำน้ำแข็ง หน้าบาน แต่ลูกจ้างหน้าเหี่ยว เพราะข้าวสารขึ้นราคาลิตรละหลายบาทแต่ค่าแรงเท่าเดิม    ดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ใกล้ชิดโลก เหมือนคนรักที่ได้เจอกันแค่ปีละครั้งมวลอากาศอบอ้าวเข้าเกาะกุมผิว ยึดทุกรูขุมขน เหงื่อเค็มถูกขับซึมเสื้อ เหนอะหนะ…
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ…