Skip to main content

ยุคข้าวยากหมากแพง

สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มาก


อื่นๆ ก็อาทิเช่น

กะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาท

บวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาท

กล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว


ส่วนใบตอง และต้นกล้วย ราคาแล้วแต่เจรจา

มะพร้าว ลูกละ 5-7 บาท สวนมะพร้าวป้าแช่มเก็บเดือนละหนได้ครั้งละ 300-500 ลูก เก็บกินสบายๆ

พริก-ทั้งแดงทั้งเขียวอย่างสด กิโลกรัมละ 40 บาทขึ้นไปแล้ว ส่วนพริกแห้ง แว่วว่ากำลังขึ้นไปถึงโลละร้อยกว่าๆ

ฯลฯ

 

ลุงหนู- ได้กระดูกหมูมาราคาถูกๆ ตั้งใจว่าจะทำต้มจับฉ่ายเสียหน่อย ไม่ได้กินมานานปี ปั่นจักรยานไปตลาดนัด มุ่งตรงไปแผงผัก เลือกกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า หัวไชเท้า ผักกวางตุ้ง ผักชีล้อม อย่างละนิดละหน่อยกะว่าไม่น่าเกินสามสิบบาท พอแม่ค้าคิดเงินบอก หกสิบเจ็ดบาทค่ะ


ลุงหนูตกใจกระเป๋าสตางค์แทบร่วง

...กูต้มใส่น้ำเยอะๆ เอาไว้อุ่นกินสักเดือน แหม...เจ็บใจจริงๆ ผักสมัยนี้มันแพงชิบ...”

แกบ่นพึมพำในวงกาแฟ

ผักราคาแพง ไปถามป้าเรียง คนขายผัก แกก็ว่า

...ก็น้ำมันมันแพงนี่หว่า ไปจะรับซื้อผัก หรือขนผักไปขายก็ต้องใส่รถไป ไม่อยากขายแพงหรอก พอขายแพงลูกค้าก็บ่น ขายได้น้อยด้วย...”

เดินไปที่สวนผักของลุงไหว ที่แกปลูกไว้สารพัดอย่าง ทั้งถั่วฝักยาว มะเขือเทศ บวบ มะนาว

แกก็ว่า

...อ้าว-ราคายา ราคาปุ๋ยมันขนาดนี้แล้ว ถ้าผักราคาถูกก็ขาดทุนป่นปี้เท่านั้นเอง นี่ก็ว่าเมล็ดพันธุ์จะขึ้นราคาอีก เฮ้อ...เมล็ดผัก เมล็ดละบาท บริษัทมันยังรวยไม่พอหรือไง...”

ตาเอิบ เกี่ยวข้าวก่อนใครในหมู่บ้าน ได้มาร่วมสิบตัน ชาวบ้านต่างพากันถามไถ่ ปีนี้โชคดีจริงได้จับเงินแสน แต่ ตาเอิบ ส่ายหัวบอกว่า

...ได้จับแป๊บเดียวเท่านั้นแหละ พอจ่ายค่าปุ๋ยค่ายาค่ารถไถค่ารถเกี่ยวค่านู่นค่านี่ ก็เหลือไม่กี่หมื่น แล้วไอ้ที่เหลือนี่ต้องเตรียมไว้จ่ายค่าเทอมให้ลูกด้วย...”


ดูเหมือนว่า คนซื้อกระเป๋ารั่วเงินไหล คนขายได้เงินเพิ่ม แต่คนขายก็ต้องไปซื้อเขากินเหมือนกัน

สรุปแล้ว ไม่มีเงินในกระเป๋าใครเพิ่มขึ้นหรอก นอกเสียจากนายทุน+นักการเมืองขี้โกงที่หากินบนความเดือดร้อนของคนพูดภาษาเดียวกัน

แต่อย่างไรเสีย ยุคข้าวยากหมากแพง อยู่บ้านนอก หรือชุมชนที่ค่าครองชีพต่ำ ก็เครียดน้อยกว่าอยู่เมืองใหญ่ ที่ก้าวขาออกจากบ้านก็เสียตังค์แล้ว แค่ค่ารถเมล์วันๆ ก็เกินครึ่งร้อยแล้วกระมัง

อยู่บ้านนอก มีข้าวแล้ว กับข้าวก็หาเอาตามหลังบ้าน ตามหัวไร่ปลายนา ไม่มีอดตาย ปลูกนู่นปลูกนี่ขายแม่ค้า เดือนหนึ่งได้สามสี่พันก็ยังพอถูไถ แต่คนขยันเขาว่ากันเดือนละเป็นหมื่น เป็นแสน


ตัดกะเพราวันละร้อยกิโล

เก็บมะนาววันละพันกว่าลูก

ตัดกล้วยวันละยี่สิบเครือ

ตัดตะไคร้วันละร้อยกว่ามัด

ตัดใบเตยวันละห้าร้อยใบ

เก็บเห็ดฟางวันละสี่สิบห้าสิบกิโล

ฯลฯ

 

ไอ้จก ทำงานโรงงานมาหลายปี พอแต่งเมียก็ออกจากงานมาอยู่บ้านเมีย ตั้งใจว่าจะทำงานด้านเกษตร เป็นนายตัวเองสบายใจกว่า พ่อตาแม่ยาย ก็ทำนาหลายสิบไร่ ปลูกผักอีกหลายไร่ แต่อยู่ๆ ไปก็ไม่มีทีท่าว่าจะแบ่งที่ทำกินให้ไอ้จกแต่อย่างใด


ลุงหมู บ้านอยู่คนละหมู่ เพาะเห็ดมาหลายปีจนมีกินมีใช้ มาแนะนำว่า ถ้าสนใจจะเพาะเห็ด แกจะช่วย ไอ้จก ลองหาหนังสือการเพาะเห็ดมาอ่านก็เห็นว่าเข้าท่าดี เลยขอที่แม่ยายแค่ไม่กี่ตารางวาปลูกโรงเห็ดเล็กๆ ที่หลังบ้าน


พอถึงวัน ลุงหมูก็เอาก้อนเห็ดมาลงให้ เริ่มต้นที่ห้าร้อยก้อน

 

เห็ดนั้นดูแลไม่ยาก รดน้ำสามเวลา ดูแลให้สะอาด บรรยากาศชุ่มเย็น แต่อย่าให้แฉะ แค่นั้นก็เก็บได้ทุกวัน แต่เห็ดไม่เหมือนพืชผัก จะไปบังคับมันไม่ได้ ใส่ปุ๋ยฉีดยาแบบพืชก็ไม่ได้ บทมันจะออกเยอะก็ขายแทบไม่ทัน บทมันจะไม่ออก มันก็ไม่โผล่ให้เห็นแม้แต่ตุ่มเดียว


เนื่องจากเห็ดที่เพาะส่วนใหญ่จะแพ็คใส่โฟมส่งแม่ค้าทั้งหมด ชาวบ้านจึงไม่ค่อยจะได้กิน แต่ไอ้จกเพาะเห็ดได้ก็ขายแถวบ้าน จากปากต่อปาก เห็ดแบบบ้านๆ จึงขายหมดแทบทุกวัน หลังๆ มีร้านอาหารมาสั่ง ได้ส่งประจำอีกต่างหาก


พอเห็ดเริ่มออกพอได้ขาย ไอ้จกกับเมียก็ขยันดูแล หมั่นรดน้ำ เก็บขายได้วันละหลายสิบบางวันก็เป็นร้อย

ราคาเห็ดแพก(หนักหนึ่งขีด)ส่งแม่ค้า แพกละ 7 บาท


ราคาเห็ดใส่ถุง ดอกเล็กบ้างใหญ่บ้าง ถุงละสองขีด ราคาถุงละสิบบาท

เห็ดนั้น มีเท่าไรแม่ค้าก็เอาหมด จะส่งเป็นกิโลก็น่าจะได้ราคาราว 35-40 บาท

ทำให้ไอ้จกเริ่มเชื่อมั่นว่า น่าจะไปได้ดีในอนาคต ไอ้จกกะว่าจะทำโรงใหญ่ ลงสักหมื่นก้อนไปเลย ถ้าเห็นผลลัพธ์ชัดๆ อย่างนี้ กู้เงินสหกรณ์ฯ มาลงทุนก็ไม่ต้องกลัว

 

สถานการณ์ข้าวยากหมากแพง วัตถุดิบในการประกอบอาหารล้วนขึ้นราคา ความต้องการก็เพิ่มขึ้นไม่หยุด เมื่อเมียไอ้จก ขอแบ่งที่จากพ่อแม่เพื่อทำโรงเห็ดก็ไม่มีปัญหา อะไรๆ มันก็ทำท่าจะดี

 

แต่ติดอยู่นิดเดียว

ก็ตรงที่ว่า ผักทั้งหลายที่เขาปลูกไว้นั้น ต้องฉีดยา แล้วเมื่อฉีดยา ก็เลี่ยงไม่ได้ที่มันจะฟุ้งเข้าไปในโรงเพาะเห็ด แล้วเมื่อเห็ด ซึ่งไวต่อทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และสารเคมี โดนยาฆ่าแมลงเข้า มันก็จะไม่ออกดอก


จะไม่ให้ฉีดก็ไม่ได้ เพราะที่ดินนี้ มันไม่ใช่ของไอ้จก

จะไปเช่าที่เขา ก็ไม่คุ้มแน่ๆ เพราะที่ๆ มีน้ำก็แพง ส่วนที่ถูกๆ ก็ไม่มีน้ำ ไกลบ้าน ดูแลไม่ได้

ถึงความสัมพันธ์กับพ่อตาแม่ยายจะดี ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเขายังต้องปลูกผักยังต้องฉีดยา ไอ้จกก็หมดสิทธิ์เพาะเห็ด

แม้ว่าเห็ดยังคงราคาดี คนซื้อก็มีมากมาย

แต่อะไรๆ ที่ทำท่าจะดี หรือ ลู่ทางทำกินที่ทำท่าจะไปได้สวย ก็จำต้องเอวังด้วยประการฉะนี้

 

...อะไรๆ มันก็ดี ยกเว้นแต่ว่า...มันไม่ใช่ที่ของเรา...”

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
แกชื่อยายอิ่ม ผู้เคยเฉิดฉายในวงสังคม เพราะคัดสรรเฉพาะสามีรวย หนีออกจากบ้านไปมีผัวตั้งแต่อายุสิบสอง ผ่านมาสี่สิบกว่าปี มีผัวมากี่คน คงนับได้ยากเสียแล้ว พอยายอิ่มแก่ตัวลูกก็หนีหาย ต่างคนต่างไป ไม่มีใครเลี้ยง สุดท้าย แกคว้าตาหงอก ผู้(อ้างว่า)เป็นผู้ดีเก่ามาไว้หาเลี้ยงจนได้ สมัยสาวๆ ยายอิ่มได้มรดกจากพ่อแม่ไปเยอะ แต่ขายกินจนหมด แกมีชื่อเสียงมากด้านความคด ในข้องอในกระดูก ถึงขนาดที่ แม้แต่พี่น้องด้วยกันก็ยังโดน จนต้องตัดพี่ตัดน้องกันนั่นแหละ ในที่สุด พอแก่ตัวไม่มีที่จะอยู่ ต้องมาบีบน้ำตาขอที่จากแม่เฒ่า ซึ่งแม่เฒ่าแกก็ค่อยอยากจะให้ เพราะให้ไปมากแล้ว (แต่เอาไปขายกินหมด)…
ฐาปนา
นี่คือตลาดนัดประจำตำบล ที่เปิดมายาวนานหลายสิบปี ในละแวกใกล้เคียง 3-4 ตำบล เป็นที่รู้กันว่า ถ้า “นัดวันอาทิตย์” ก็ต้องมาที่นี่ ในระดับอำเภอ ตลาดนัดวันอาทิตย์ตอนเช้าของที่นี่ น่าจะใหญ่ที่สุด คึกคักที่สุด ลานกว้างพื้นที่หลายไร่ข้างวัด มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งสินค้ากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พอเริ่มสว่าง คนก็เริ่มมา หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่คนกำลังเยอะ เพราะมีของให้เลือกมาก และแดดยังไม่ร้อน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มวายประมาณแปดโมง จอดรถที่ข้างตลาด หรือ ถ้าไม่อยากเบียดเสียดก็ไปจอดในวัด บรรยากาศคึกคักของตลาดเห็นได้แต่ไกล ซอยอาหารทะเลตรงกับทางเข้าด้านที่ตรงมาจากวัด มีคนพลุกพล่านที่สุด…
ฐาปนา
ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด
ฐาปนา
เช้าตรู่ของวันอากาศดีเสียงตามสายประกาศให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตอนบ่ายโมงตรง ณ ศาลาของหมู่บ้านพอบ่ายโมงครึ่ง สมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มากันพร้อมหน้าเจ้าหน้าที่สหกรณ์มากันสามคน คนที่ดูอาวุโสกว่าใคร พูดมากกว่าใคร และเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าใคร เป็นหัวหน้าชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้รับกระดาษคนละหนึ่งแผ่น ปากกาคนละหนึ่งด้าม อ่านดู ก็เห็นว่าเป็นแบบฟอร์มสำรวจเรื่อง “ความพอเพียงในครัวเรือน”
ฐาปนา
ที่นี่อยู่ไม่ห่างจากทะเล ป่าและเขาก็อยู่ไม่ไกล มีคลองส่งน้ำจากเขื่อนผ่านพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำนาได้ปีละสองครั้ง ด้านป่าบนติดเขื่อน เขาปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ได้ผลที่มีรสชาติไม่น้อยไปกว่าทางภาคใต้หรือทางภาคตะวันออก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ถนัดปลูกผัก เพราะเก็บขายได้ตลอดทั้งปี แต่ละวันจะมีรถสิบล้อขนผักผลไม้ วันละหลายสิบคันวิ่งจากตำบลต่างๆ ในอำเภอ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พระประแดง สมุทรปราการ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ พร้อมด้วยผลิตผลทางการเกษตรสารพัดอย่าง ตั้งแต่ของจำเป็นในครัวอย่าง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก หอม กระเทียม ไปจนถึงผักเจ้าประจำบนแผงผักทั้ง กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ บวบ…
ฐาปนา
ดั้งเดิม ก่อนที่แต่ละบ้านจะมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของตัวเอง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “รั้ว” อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละบ้านในละแวกก็ล้วนพี่น้อง หรือนับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวให้บอกได้ว่าเป็นแดนใคร แต่จะถึงขั้นปักเสาขึงลวดหนาม หรือก่อกำแพงล้อมนั้นน้อยราย เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเงิน เขตบ้านใครก็บ้านมัน ถึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ไม่ก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครคนหนึ่งเกิดอยากทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตน จากที่เคยชี้นิ้วบอกว่านี่เขตใคร การออกเอกสารสิทธิ์…
ฐาปนา
วัยเยาว์ของเธอ ขณะที่หัวใจครึ่งหนึ่งเปี่ยมด้วยความฝันและความหวัง ทะเยอทะยานปรารถนา แต่หัวใจอีกครึ่งกลับอ่อนไหว บอบช้ำง่าย ทั้งยังอ่อนด้อยต่อโลกแห่งเหตุผล อนาคตเลือนลางอยู่ในความฝันยามหลับ และวนเวียนอยู่ในความคิดยามตื่น เธอร่ำร้องหาบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อาจบอกได้ มองไม่เห็น ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดสิ้นสุด พลังสร้างสรรค์ของเธอฟุ้งกระจาย ไร้ทิศทาง เมื่อคำว่า ความพร้อม อยู่ห่างจากความเข้าใจ เธอจึงได้แต่ก่นโทษตนเองอยู่เป็นนิจ เธอร่อนเร่ไปในเมืองของผู้อื่น จากเมืองสู่เมือง แลกความเพียรกับเงินเลี้ยงชีพ ยิ้มแย้มให้คำดูหมิ่นเพื่อจะได้เห็นเกียรติของตนเสื่อมค่าลง
ฐาปนา
(มะพร้าวกะทิ)ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาดฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวแต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผมอาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ…
ฐาปนา
แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนาหมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระแกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว…
ฐาปนา
ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติกเช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาลทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิตเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน…
ฐาปนา
เสียงจักจั่นกรีดปีกจากป่าเชิงดอย ฝ่าไอแดดร้อนมาถึงเคหะสถานเงียบงัน รถกระบะบรรทุกหนุ่มสาวร่างเปียกปอนยืนล้อมถังน้ำใบใหญ่แล่นผ่านไปหญิงชราถือสายยางเดินออกมาหน้าบ้าน ฉีดน้ำใส่พื้นถนน ไอน้ำระเหยขึ้นเด็กๆ หิ้วถังพลาสติก ขัน ปืนฉีดน้ำ มองสองข้างทางอย่างมีความหวังร้านขายน้ำปั่น น้ำแข็งไส ขายดีจนต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่มในช่วงบ่ายเจ้าของโรงทำน้ำแข็ง หน้าบาน แต่ลูกจ้างหน้าเหี่ยว เพราะข้าวสารขึ้นราคาลิตรละหลายบาทแต่ค่าแรงเท่าเดิม    ดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ใกล้ชิดโลก เหมือนคนรักที่ได้เจอกันแค่ปีละครั้งมวลอากาศอบอ้าวเข้าเกาะกุมผิว ยึดทุกรูขุมขน เหงื่อเค็มถูกขับซึมเสื้อ เหนอะหนะ…
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ…