Skip to main content

“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”

(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49)

ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนด้วยตัวของมันเอง ก็ถูกสิ่งอื่นทำให้ต้องเปลี่ยน

“มนุษย์” เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้

สมมติว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเป็นเวลายี่สิบปีเราจะไม่ส่องกระจกเลย เราใช้ชีวิต เราพบผู้คน เราสื่อสารกับพวกเขาเหล่านั้น เราฟังข่าวจากวิทยุ-โทรทัศน์ เราอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ เราทำงาน เราทานอาหาร เราอ่านหนังสือ เราออกกำลังกาย เราเหนื่อย เราพักผ่อน เราประสบความสำเร็จ เราเลี้ยงฉลอง เรามีความสุข เราเดินทาง เราล้มเหลว เราร้องไห้ เราทุกข์ เราเศร้า แล้วเราก็หายเศร้า เรากลับไปใช้ชีวิตอีกครั้ง วนเวียนเป็นวัฏจักรเช่นนี้

หนึ่งวันผ่านไป เมื่อเราลืมตาตื่นในวันต่อมา ภายนอกเรายังเป็นเราคนเดิม แต่ ภายในตัวเราไม่ใช่คนเดิมอีกแล้ว ชีวิตหนึ่งวันที่ผ่านได้ทำให้เราเปลี่ยนไปแม้จะเล็กน้อยและเชื่องช้าอย่างยิ่งก็ตาม หนึ่งปีผ่านไป หลังผ่านพ้นการฉลองปีใหม่ ย้อนมองกลับไป เราอาจจะตกใจเมื่อคิดได้ว่าเราผ่านอะไรมาบ้างในหนึ่งปีนั้น

ห้าปีผ่านไป สิบปีผ่านไป ยี่สิบปีผ่านไป เมื่อส่องกระจกอีกครั้งเราอาจจะจำตัวเองไม่ได้เสียแล้ว รูปร่างหน้าตาของเรายังมีเค้าเดิมอยู่ อาจจะกร้านโลกขึ้น อ่อนเยาว์น้อยลง แต่ภายในนั้น อาจจะไม่เห็นร่องรอยของยี่สิบปีก่อนอยู่เลย

ความสำคัญของระยะเวลาที่ผ่านไปสำหรับมนุษย์ ไม่ว่าจะแค่หนึ่งวันหรือยี่สิบปี ไม่ใช่อายุ ไม่ใช่สังขาร ไม่ใช่ความรู้ แต่คือการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนั้น เราถูกทำให้เปลี่ยน หรือ เราได้เลือกที่จะเปลี่ยนด้วยตนเอง

แน่ละการดำเนินชีวิตมันก็ต้องมีทั้งสองด้าน แต่ด้านไหนล่ะที่มีมากกว่ากัน ถ้าให้ตอบอย่างจริงใจที่สุด คนส่วนใหญ่จะถูกเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อม มากกว่าการเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง ชีวิตของคนจำนวนไม่น้อยจึงดำเนินไปพร้อมกับคำถามว่า “ชีวิตคืออะไร?” หรือ “เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?” ผุดขึ้นมาในใจอยู่เสมอ

นานมาแล้วที่ผมเคยถามคำถามข้างต้น ถามและพยายามที่จะแสวงหาคำตอบ ได้คำตอบที่น่าคิดบ้าง ได้คำตอบที่เหลวไหลบ้าง เมื่อเวลาผ่านไป คำถามนี้ก็สำคัญน้อยกว่าคำถามที่ว่า พรุ่งนี้จะกินอะไร หรือ จะมีทางหาเงินได้มากกว่านี้อย่างไร จนไม่นานมานี้เอง ที่หลายสิ่งหลายอย่างได้ทำให้ผมเริ่มมองเห็นคำตอบของคำถามที่เกือบจะลืมเลือนไปแล้ว แม้จะไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนเหมือนหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่ก็รู้แล้วว่า ชีวิตไม่ได้ดำเนินไปอย่างไร้เป้าหมาย ทุกชีวิตมาอยู่บนโลกด้วยเป้าหมายอะไรบางอย่าง ท่ามกลางทางเลือกและทางแยกมากมาย เราทุกคนมีสิทธิ์ เลือก ไม่ใช่เป็นเพียง ผู้ถูกเลือก

ความเชื่อของคนนั้น ก่อรูปขึ้นด้วยประสบการณ์ชีวิต การตั้งคำถาม ความขัดแย้ง จนประสบกับตัวตนที่ชัดเจนที่สุดของตนเอง จำเพาะเรื่องความเชื่อส่วนบุคคล กว้างไกลไปถึงความเชื่อเรื่องชีวิต ก็สามารถพูดคุยได้อย่างไม่รู้จบสิ้น คุณค่าของใครก็ของมัน หนทางของใครก็ของมัน ไม่ควรก้าวก่าย ไม่ควรหยามเหยียด ไม่ควรดูถูกกัน กระนั้น ก็ไม่อาจแกล้งทำเป็นลืมได้ว่า โลกนี้ก็มีหนทางของมันเองเช่นกัน และสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำต่อโลก ผลของมันก็ย่อมสะท้อนแก่ตัวมนุษย์เอง

สัจธรรมประการหนึ่ง ที่พบได้ในคำสอนของหลายๆ ศาสนา ไม่จำเพาะเพียงศาสนาพุทธ นั่นคือคำสอนที่ว่าด้วยการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเท่านั้นที่เรามีชีวิตอยู่ อดีตนั้นล่วงเลยไปแล้ว และอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันจึงสำคัญทุกขณะ แน่นอน เราไม่อาจยึดจับปัจจุบันได้ เพราะปัจจุบันย่อมเคลื่อนไปด้วยตรรกะของเวลา แต่สิ่งที่เชื่อมโยงตัวเรากับปัจจุบันขณะได้นั้นมีอยู่ นั่นคือ “สติ” ของเรานั่นเอง

ผมยกคำสอนของท่าน ติช นัท ฮันห์ ขึ้นในตอนต้นเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่า ชีวิตของเราจะไม่มีค่าอะไรเลยถ้าเราไม่ได้ดำรงชีวิตอย่างมีสติ รู้ในสิ่งที่เรากำลังทำ อยู่กับปัจจุบันขณะ เรื่องนี้ดูเหมือนจะง่ายแต่จริงๆ แล้วลึกซึ้งมาก หากพยายามทำความเข้าใจ เราจะรู้ถึงคุณค่าของปัจจุบันขณะของการมีชีวิต นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในโลกที่คนส่วนใหญ่ละเลยความสำคัญของปัจจุบันขณะ มุ่งแต่จะพุ่งไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ทำ บางคนห่วงกังวลถึงสิ่ง

ที่ล่วงไปแล้ว และบางคนก็มัวแต่คาดหวังกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เราจึงมองไม่เห็นคุณค่าของปัจจุบัน ขณะที่ชีวิตเรายังดำรงอยู่ ขาดภูมิต้านทานการตระหนักรู้ความสุขในปัจจุบัน เมื่อทุกข์มากเข้าก็กลายเป็นว่ามองไม่เห็นคุณค่าของชีวิตตนเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพื่อจะสอนธรรมะนะครับ เพียงแค่อยากแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างมีสติ เห็นคุณค่าของสติ ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เราดำเนินชีวิตไปอย่างตระหนักรู้แล้ว ยังทำให้คนรอบข้างเราได้ตระหนักรู้ไปพร้อมกับเราด้วย

ก่อนหน้าที่คอลัมน์ “ทางใบไม้”จะเกิดขึ้น ผมเขียนคอลัมน์ “สถานการณ์ไม่ปกติ” มาประมาณปีกว่า แรกเริ่มเดิมทีตั้งใจจะเขียนในกรอบเรื่องสังคม การเมือง เศรษฐกิจ แต่ไปๆ มาๆ ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจไว้ทั้งหมด ชีวิตที่ดำเนินไป ทำให้ผมหันเหความสนใจไปในเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในสังคมปัจจุบันมากกว่า คอลัมน์ของผมช่วงหลังๆ ก็มักจะมีเรื่องในแนวทางนี้ค่อนข้างมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในด้านคอลัมน์ของประชาไท ผมจึงขออนุญาตเปลี่ยนแนวทางการเขียนให้ตรงกับสิ่งที่ตั้งใจไว้

คำว่า ใช้ชีวิต ผมคิดว่าเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางและลึกซึ้ง เพราะทุกคนมีเพียงหนึ่งชีวิต หนึ่งชีวิตนี้คุณจะใช้อย่างไร เพื่อใคร เพื่ออะไร นี่เป็นคำถามสำคัญยิ่ง ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล ทั้งในระดับสังคม กระทั่งลึกซึ้งไปจนถึงระดับปรัชญาและศาสนา

ขึ้นต้นด้วยธรรมะ แต่ขอเรียนว่าคอลัมน์ “ทางใบไม้” ไม่ใช่คอลัมน์เกี่ยวกับธรรมะ เพราะผมไม่ใช่นักบวช ทั้งไม่มีความรู้มากพอจะสอนใครได้ แต่ผมสนใจที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ ความเห็น ในเรื่องการใช้ชีวิตตามแนวทางที่มนุษย์ควรจะเดิน และคาดว่าด้วยกรอบเท่านี้ ก็น่าจะกว้างใหญ่พอที่จะไม่ทำให้ผมอับจนปัญญาในการหาเรื่องนำมาเสนอ ผมเริ่มต้นด้วยเรื่องของสติ เพราะเชื่อว่า ชีวิตจะมีคุณค่าเมื่อเราใช้ชีวิตอย่างมีสติ อย่างน้อยที่สุด ก็ขอให้มีสติรู้ตัวในสิ่งที่ทำ สิ่งที่รับผิดชอบ และสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้ในขณะนี้

ถ้าใช้ชีวิตอย่างหลับไหล หรือครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่ ก็น่าจะลองทบทวนดู ว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้ชีวิต อย่างขาดสติ หรือมีสติ และต่อไป เราจะยังใช้ชีวิตแบบเดิม หรือ เปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผมไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ขนาดจะปลุกใครให้ตื่นได้หรอกครับ คนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั้นก็คือตัวท่านเองตัวท่านเองเท่านั้น ที่จะปลุกตัวท่านเองให้ตื่นขึ้นตัวท่านเองเท่านั้น ที่จะสร้างตัวท่านเองให้เป็นอย่างที่ท่านต้องการ

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
พี่หวี จอดรถเครื่องที่ใต้ร่มมะขาม แกเดินหน้าเซ็งมานั่งที่เปล คุยเรื่องนู้นเรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง นอนแกว่งเปลถอนหายใจสามเฮือกใหญ่ ก่อนจะระบายความในใจออกมาด้วยประโยคเดิมๆ ว่า "...เบื่อว่ะ...ไอ้เปี๊ยกกับเมียมันทะเลาะกันอีกแล้ว..."เจ้าบุญ น้าเปีย เจ้าปุ๊ก ที่กำลังนั่งแกะมะขามสุกเอาไว้ทำมะขามเปียก ก็หันมาพยักหน้ารับรู้ แล้วก็ปล่อยให้พี่หวีได้พูดระบายความเครียดไป ถามบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะนั่งฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ
ฐาปนา
  ปลายสัปดาห์นั้น หมู่บ้านคึกคักเป็นพิเศษ เพราะผู้ใหญ่บ้านประกาศล่วงหน้ามานานหลายวันแล้วว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงพื้นที่มาตรวจเยี่ยมชาวบ้าน มารับฟังปัญหา จึงขอเชิญชาวบ้านมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกันซึ่งอันที่จริง การขอเชิญ นั้น ก็มีการขอร้อง กึ่งๆ ขอแรง ปะปนอยู่ด้วย เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านส่วนใหญ่กำลังวุ่นกับงานในไร่ เตรียมจะปลูกแตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาวกันนานๆ จะมีเจ้าใหญ่นายโตมาเยี่ยมหมู่บ้าน ใครต่อใครก็เลยต้องทำความสะอาด ปัดกวาดบ้านกันใหญ่ เพราะเดี๋ยวถ้าเกิดแจ๊กพ็อต ผู้ว่าฯ เดินเข้ามาหาถึงบ้าน แล้วบ้านรกยังกับรังนก เป็นได้อายเขาตายเลย…
ฐาปนา
ชาวนาชาวไร่ ฟังวิทยุ มากกว่าดูโทรทัศน์ มากกว่าดูหนัง มากกว่าอ่านหนังสือ เพราะการงานในไร่ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ไม่เอื้ออำนวยให้เอาสายตาและเวลาไปใช้อย่างอื่น เสียงเพลงและ เสียงข่าว จึงดังแว่วมาตามลมตั้งแต่ริมคลองส่งน้ำด้านทิศเหนือไปจนจรดทุ่งนาติดชายป่า ด้านทิศใต้ สมัยนี้วิทยุเครื่องเล็กๆ ใช้ถ่านก้อนเดียว เครื่องละแค่ไม่กี่ร้อย ใครๆ ก็ซื้อได้ ขนาดเจ้าโหน่ง เด็กเลี้ยงวัว ยังห้อยโทรศัพท์มือถือฟังวิทยุได้ ... น่าน! เท่ห์ซะไม่มี ฟังกันมากที่สุด ก็ต้องเป็นเพลงลูกทุ่งทั้งเก่าทั้งใหม่ รองลงมาก็สตริง ส่วนคนมีอายุก็ชอบฟังข่าว ฟังเทศน์ฟังธรรม
ฐาปนา
สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง
ฐาปนา
ปลายเดือนตุลาคม ผมกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดครั้งแรกในรอบหลายปี ทั้งที่จริง ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแต่อย่างใด เพราะครอบครัวของผม บ้านของผม ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว สิ่งที่ยังเหลืออยู่ มีเพียงความทรงจำตลอดสิบแปดปีที่ผมได้เติบโตมา โรงเรียน บ้านพักอาจารย์ สนามเด็กเล่น หอนาฬิกา ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน สถาบันราชภัฎซึ่งเมื่อก่อนคือวิทยาลัยครู ทุกๆ สถานที่ที่คุ้นเคย ยังปรากฎภาพชัดเจนทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่กับสิ่งที่เห็นตรงหน้าในวันนี้ เหลือเพียงแค่ร่องรอยบางส่วนจากอดีต เพราะวันนี้ เมืองเติบโตขึ้นมาก อาคารเก่าๆ ถูกรื้อถอนกลายเป็นห้างสรรพสินค้า พื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่เห็นมาตั้งแต่เล็ก…
ฐาปนา
คณะลิเกมาสู่หมู่บ้านด้วยเหตุบังเอิญวันหนึ่ง ยายนุ้ยทำบุญที่บ้านตอนเช้า พอตกบ่าย ก็นิมนต์พระหลานชายที่บวชมาได้สามพรรษาสอบได้นักธรรมโท มาเทศน์ พอตกค่ำ แกก็จ้างลิเกมาเล่นที่ศาลากลางหมู่บ้านวันนั้น ที่บ้านยายนุ้ยจึงมีคนหนาตา โดยเฉพาะช่วงที่มีลิเก เพราะนานนักหนาแล้วที่ไม่มีลิเกมาเล่นในหมู่บ้าน สมัยนี้เวลามีงาน ถ้าไม่ใช่วงดนตรี(อิเลกโทน)นุ่งน้อยห่มน้อย ก็เป็นหนังกลางแปลง ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ใครต่อใครก็อยากดู พระเอกรูปหล่อ นางเอกนัยตาคม ตัวโกงหน้าโหด ตัวตลกน่าเตะ เครื่องเพชรแวววับทิ่มทะแยงตา เสียงระนาด ตะโพน รัวเร้าใจ “แหม...ถ้าเป็นไชยา มิตรชัย ละก้อ...เหมาะเลยนิ..…
ฐาปนา
เรื่องมันเริ่มจากคำบอกเล่าของทิดช่วง ในงานศพงานหนึ่ง แกเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า กลางดึกคืนก่อน แกลุกจากที่นอนมายืนฉี่ที่ริมรั้ว อากาศเย็น น้ำค้างกำลังลง ขณะที่แกกำลังระบายน้ำทิ้งอย่างสบายอารมณ์ สายตาของแกก็เหลือบไปเห็น ดวงไฟดวงใหญ่ ลอยขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในความมืดที่ปลายรั้วอีกด้านหนึ่ง ห่างจากตัวแกไปสักสี่ห้าสิบเมตร พอแกเสร็จภารกิจ ชะรอยจะคิดว่าเป็นตัวอะไรสักอย่างมาหากิน แกเลยออกปากไล่ว่า “ชิ้วๆ” เท่านั้นเอง ดวงไฟนั้นก็พุ่งตรงเข้ามาหาแก ทำเอาแกสะดุ้งโหยงจนต้องเผ่นเข้าไปใต้ถุนบ้าน แกกดสวิทช์เปิดไฟใต้ถุน สว่างพรึบ มองซ้าย...มองขวา...มองหน้า...มองหลัง มันคืออะไรกันวะ...? หรือว่า...…
ฐาปนา
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง…
ฐาปนา
ณ วงกาแฟ (กระป๋อง) ยามเช้า ตาผวน ลุงใบ และ ตาสุข สามเฒ่านั่งเสวนาเปรียบเทียบเรื่องข้าวกับเรื่องการเมือง “ข้าว่า เรื่องข้าวมันก็เหมือนเรื่องการเมืองนั่นแหละ” ตาสุข เปิดประเด็น “อธิบายที?” ลุงใบถาม “เวลาปลูกข้าว เราก็ต้องเลือกพันธุ์ดีๆ ใช่มั้ยล่ะ ถ้าข้าวพันธุ์ดีก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยใส่ยามาก ทดน้ำเข้านาอย่างเดียว มันก็งอกงาม แต่ข้าวพันธุ์แย่ๆ มันก็ต้องใส่ปุ๋ยหลายกระสอบ ฉีดยาหนักๆ แต่พอโตก็ดันเม็ดลีบ ทำให้ข้าวเสียราคาป่นปี้หมด การเมืองมันก็อย่างเดียวกันละว้า... ถ้าได้คนดีๆ ไปมันก็ไม่โกงกินมาก มันก็ทำงานของมันไป ดีๆ ชั่วๆ อย่างน้อยมันก็บริหารของมันได้ แต่ถ้าได้ไอ้พวกเลวๆ ไป มันก็โกงมันก็กิน…
ฐาปนา
แต่ไหนแต่ไรมา ราคาข้าวแต่ละปีไม่เคยห่างไปจากระดับเกวียนละสี่พัน ห้าพัน อย่างดีที่สุดคือหกพัน เขยิบขึ้นๆ ลงๆ อยู่แค่ สองร้อยบ้าง สามร้อยบ้าง ชาวนาได้ข้าวพอกิน เหลือก็ขาย แต่พอหักค่าปุ๋ยค่ายา ค่าไถ ค่าเกี่ยว ก็ไม่พอกิน สุดท้ายก็ต้องเข้าเมืองไปหางานทำอยู่ดี หน้านาก็ทำนา หมดหน้านาก็เข้ากรุง เป็นวัฎจักรชีวิตสืบทอดจาก ชาวนาเจเนอเรชั่นปู่ จนถึง รุ่นหลาน ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง มาปีนี้ ข้าวเกวียนละหมื่นต้นๆ พอหายใจหายคอได้บ้าง กระนั้นหนี้สินก้อนโตก็ยังยืนค้ำหัวให้กลุ้มใจทุกครั้งที่คิดถึง ตาจิ้มเกี่ยวข้าวได้แปดเกวียน หักนู่นหักนี่ไปแล้วเหลือเข้ากระเป๋าสามหมื่นกว่า บางคนว่า…
ฐาปนา
ยุคข้าวยากหมากแพง สินค้าเกษตรจำพวกพืชผักเวลานี้ ราคาดีแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ข้าวซี่งแม้จะราคาตกมาหน่อย แต่ก็ดีกว่าปีก่อนๆ มากอื่นๆ ก็อาทิเช่นกะเพรา-ผักใบ ขาดไม่ได้สำหรับร้านอาหารตามสั่ง แม่ค้าขายที่หน้าแผงกำละ 5-7 บาท แต่แม่ค้าคนกลางมารับซื้อที่หน้าไร่กิโลกรัมละ 5-10 บาทบวบ-ผักธรรมดาแต่ราคาไม่เคยตก ราคาจากสวนกิโลกรัมละ 7-10 บาทกล้วยน้ำว้า-ผลไม้บ้านๆ ธรรมดาสุดๆ แต่ขอโทษที-นาทีนี้ พ่อค้ามารับซื้อถึงสวนกล้วย หวีละ 8 บาทเป็นอย่างน้อย(ลูกเล็ก) เครือหนึ่งมีสักสิบหวี ก็เกือบร้อยบาทแล้ว
ฐาปนา
สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่…