Skip to main content
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง


ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด

 

ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง บ้างก็ซดเอ็ม กระทิง หรือเป็นเป๊ก(สุราขาว) ก็แล้วแต่รสนิยม


เสียงคุยขโมงโฉงเฉงในแต่ละวัน หนีไม่พ้นเรื่องการบ้านการเมือง

หมู่บ้านเล็กแค่นี้ จึงรู้ๆ กันอยู่ว่าใครเป็นพวกเสื้อเหลือง และใครเป็นพวกเสื้อแดง

พวกใครก็พวกมัน

ทีแรก ต่างคนต่างอยู่ ต่างพูดชื่นชมฝ่ายตัวเองในหมู่พวกตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์แรงขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์ร่วมก็เลยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องมีการปะทะคารมกันพอหอมปากหอมคอ

"...ลูกสาวข้าเพิ่งโดนให้ซองขาว ต้องออกจากโรงงาน...ทำงานมาตั้งหลายปี จู่ๆ เจ้านายเขาก็บอกว่า ไม่มีออเดอร์แล้ว ต้องปิดโรงงาน...นี่ก็เห็นว่ารอเงินชดเชยอะไรอยู่..." ลุงไฉ นั่งรำพึงอย่างเศร้าๆ

"...แล้วโดนออกกันเยอะไหมเล่า?" น้าติ่ง ถาม

"...ก็เห็นว่า ร่วมพันคน ก็ทั้งโรงงานนั่นแหละ...เห็นมันว่า เขาทยอยปิดกันไปตั้งหลายโรงแล้ว ยังไม่เห็นรัฐบาลจะเข้ามาช่วยอะไรได้เลย..."


"...อย่าไปหวังเล้ย...รัฐบง รัฐบาล วันๆ คิดแต่เรื่องผลประโยชน์ คิดแต่เรื่องจะกอดเก้าอี้ตัวเองไว้ ชาวบ้านเดือดร้อนจะตาย ไม่เห็นมาดูดำดูดี..." ตาใบ ส่ายหน้าเบะปาก แกเป็นพวกไม่เอาคนหน้าเหลี่ยม

"...น้ำเน่ากันมาตั้งนานนมเน ซื้อเสียงกันเข้าไปโกงกินบ้านเมือง ไอ้พวกนี้มันไม่เคยคิดแก้ปัญหาอะไรจริงๆ จัง หรอก..." ตาใบว่า อย่างใส่อารมณ์


พี่อุ้ย กับ ไอ้ปุ๋ย หัวคะแนนอดีตนักการเมืองซีกรัฐบาล(ปัจจุบันโดนดอง) กำลังซดกระทิงแดงยืนอยู่หน้าร้าน ยืนฟังมานาน อดรนทนไม่ได้ เลยต้องเดินเข้าไปร่วมวงบ้าง


"...ตาใบ ฉันว่าแกก็พูดเกินไป รัฐบาลเขามีงานเยอะแยะ ก็ต้องเห็นใจกันบ้าง จะให้แก้ปัญหาได้ภายในสามวันเจ็ดวันก็มีแต่เทวดาเท่านั้นแหละ..." พี่อุ้ย แก้ต่างแทนเจ้านาย


ตาใบหันขวับมอง เบะปากแล้วส่ายหน้า

"...ไม่ต้องเป็นเทวดา ไม่ต้องแก้ภายในสามวันเจ็ดวันก็ได้ แค่ขอให้แก้ ไม่ใช่เตะถ่วงไปเรื่อย...ข้ายังไม่เห็นมันจะแก้อะไรสำเร็จสักอย่าง..."

"...แหม...ลุงก็พูดเกินไป..." ไอ้ปุ๋ยผสมโรงช่วยลูกพี่ "...รัฐบาลเขาเพิ่งมาเป็นแค่ไม่กี่เดือน แถมยังไม่มีทำเนียบจะอยู่ ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว ลุงจะเอายังไงอีก..."


คราวนี้ ตาใบ ชักจะฉุน น้ำเสียงเริ่มใส่อารมณ์

"...มาเป็นแค่ไม่กี่เดือนก็จริง แต่มันก็ไอ้พรรคเดิมที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ใช่เรอะ?... จะมาอ้างนู่นอ้างนี่ได้ยังไง แล้วที่ไม่มีทำเนียบอยู่มันก็สมควรแล้ว มันจะได้เข้าใจชีวิต คนพเนจรไม่มีบ้านจะอยู่มั่ง ว่าเขารู้สึกยังไง...ที่จริง มันไม่น่าจะได้เงินเดือนกันเสียด้วยซ้ำ โกงกินกันทีเป็นสิบๆ ล้าน..."

"อ้าวๆ...ลุง พูดให้มันดีๆ นา เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน มาว่าคนนั้นคนนี้โกง ไม่มีหลักฐาน ระวังเขาจะฟ้องติดคุกหัวโตตอนแก่นะลุง..." ไอ้ปุ๋ย ชี้หน้า


ตาใบ ลุกพรวด เงื้อหมัดขยับจะเข้าหา ไอ้ปุ๋ยผงะถอยหนีด้วยไม่คิดว่าคนแก่จะเลือดร้อนขนาดนี้ คนอื่นๆ ในร้านเลยต้องเข้าห้ามกันวุ่นวาย

พี่อุ้ยรีบพาไอ้ปุ๋ยเผ่นออกจากร้าน ขณะที่ตาใบร้องท้า ตะโกนด่าไอ้ปุ๋ยถึงพ่อถึงแม่

งานนี้ คนที่ถูกมองว่าผิดเต็มๆ คือไอ้ปุ๋ย เพราะตาใบ เป็นพี่ชายแท้ๆ ของแม่มันเอง

 

เรื่องตาใบจะชกไอ้ปุ๋ย แค่ครึ่งวัน คนก็รู้กันไปทั่ว น้าแป้น กับยายจุก ยืนคุยกันอยู่ข้างถนน

"...ก็ไอ้อุ้ยไอ้ปุ๋ยมันพวกรัฐบาล ก็รู้ๆ กันอยู่...แต่ว่าก็ว่าเถอะนะ พวกตาใบเขานั่งคุยกันอยู่ก่อนแล้ว เข้ามาสอดทีหลังเขามันก็ไม่ถูก..." น้าแป้น วิเคราะห์สถานการณ์

"...อ๋อ...ตาใบแกไม่ชอบรัฐบาล เป็นพวกเสื้อเหลืองว่างั้นสิ..." ยายจุกว่า

"...งั้นสิ อาทิตย์ที่แล้ว แกไปร่วมชุมนุมตั้งหลายคืน ยังกลับมาเล่าให้ฉันฟังเลย..." น้าแป้นว่า น้ำเสียงแฝงความชื่นชมเล็กน้อย


แต่ยายจุก ส่ายหัว

"...พวกไร้สาระ...งานการไม่มีจะทำ ไปนั่งชุมนุมตะโกนโหวกเหวกกันอยู่ได้ บ้านเมืองถอยหลังก็เพราะไอ้พวกนี้แหละ..."


พอยายจุกแสดงตัวว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม น้าแป้นชักหน้าตึง เพราะแม้แกจะไม่เคยใส่เสื้อสีเหลือง แต่ก็แอบเชียร์อยู่ห่างๆ

"...แหม...ยาย พูดแบบนี้มันก็ไม่ถูกนา...พวกนี้เขาเสียสละเพื่อไปเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาติบ้านเมือง ไอ้คนอยู่ข้างบนหัวเรา ไอ้พวกรอมอตอ สอสอ สอวอ สอพลอ อะไรทั้งหลาย มันก็ไม่เคยมาเห็นหัวคนอย่างเราหรอก นี่ถ้าไม่มีการชุมนุมขึ้นมา พวกเราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า ไอ้พวกนี้มันโกงมันกินกันมากมายขนาดไหน..."


"...ไม่จริงหรอก...ข้าว่า มันก็โกหกทั้งเพ ปั้นน้ำเป็นตัวกันไปวันๆ ใครมันจะมีเรื่องเลวๆ ของคนอื่นมาพูดอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืนเป็นเดือนๆ แบบนี้...ถ้าไม่แต่งเรื่องขึ้นมา มันก็จะเก่งเกินไปละ..." ยายจุกทำท่าจะเดินหนี แต่น้าแป้นไม่ยอม

"...นี่ยาย ฉันว่ายายกับฉันนี่มันคนละพวกกันแล้วล่ะ ต่อไปยายไม่ต้องมาขอยืมอะไรบ้านฉันอีกนะ ต่างคนต่างอยู่ดีกว่า..."


ยายจุกหันขวับ

"...เออ...งั้นเอ็งก็ไม่ต้องมาเดินผ่านบ้านข้าอีก วันหลังจะออกถนนน่ะ เดินอ้อมไปทางนู้นก็แล้วกัน อย่าผ่านมาให้ข้าเห็นเชียว..."


น้าแป้นกับยายจุก เถียงกันอีกหลายประโยค แต่ละประโยคก็เริ่มออกห่างจากเรื่องที่เถียงกันตอนต้น กลายเป็นทวงบุญทวงคุณ กระทั่งกลายเป็นการแจกคำด่าแรงๆ โชคดี ที่เพื่อนบ้านมาช่วยแยก ก่อนที่จะมีใครทนไม่ได้ ลงมือตบตีฝ่ายตรงข้ามเสียก่อน

 

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ใครต่อใครก็เริ่มแสดงตัวชัดเจนว่า ถือหางข้างไหน โชคดีที่ไม่มีเรื่องกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นอีก แต่บรรยากาศในหมู่บ้านก็เริ่มตึงเครียดมากขึ้น เวลาพวกใคร-พวกใคร ต้องมาเจอกัน ที่เคยทักทายกันก็ไม่ทัก ที่เคยคุยกันก็ไม่คุย ที่เคยไหว้วานกันได้ก็ไม่มีอีกแล้ว หากต่างพวกต่างสีก็ต้องจ้างอย่างเดียว


กระทั่งญาติพี่น้อง เคยไปมาหาสู่กันก็ไม่ไปอีกแล้ว บ้านไหนมีจานดาวเทียมสีเหลือง หรือบ้านไหนเปิดแต่ช่องที่เคยเป็นอดีตช่องสิบเอ็ด ก็เป็นที่รู้กัน


คนเดือดร้อน ก็น่าจะเป็นคนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน เวลาไปประชุมหมู่บ้าน หรือไปงานตามบ้าน จะรู้สึกถึงบรรยากาศ "มาคุ" มึนๆ ตึงๆ ชวนอึดอัดพิลึก ยิ่งถ้ามีวงสุราแล้วด้วย ต้องเลียบๆ เคียงๆ ดูดีๆ ว่าเป็นพวกไหน เดี๋ยวเข้าไปผิดวง จะลุกหนีไม่ทัน


"...เฮ้อ...พี่น้องกันแท้ๆ...ยังแทบจะตีกันตาย...เมื่อไรมันจะเลิกๆ กันเสียทีวะ... " ผู้ใหญ่บ้าน บ่นอย่างเหนื่อยหน่าย ก่อนซดเบียร์(คนเดียว)อึกใหญ่


รอยร้าวนี้ แผ่ลามไปทั่วหมู่บ้าน และคงไม่ใช่แค่หมู่บ้านเดียว หลายหมู่บ้าน หลายชุมชน ทุกหัวระแหง แม้แต่คนที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด ก็คงจะคิดไม่ออกว่า ทำอย่างไร จึงจะประสานรอยร้าวนี้ให้กลับมาดีดังเดิมได้อีกครั้งหนึ่ง


งานนี้ไม่ว่า ใครจะชนะ แต่ที่แพ้และพังยับเยินแน่ๆ คือ ประเทศชาติ

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
เมื่อแรกแรกที่มีข่าวว่าโรคนี้เกิดขึ้นในโลก ใครใครก็พากันเรียกชื่อมันว่าไข้หวัดหมู เพราะว่ากันว่ามันเป็นโรคของหมูที่ดันมาติดคน(ถ้าหากมีโรคของคนไปติดหมูไม่รู้จะเรียกว่าไข้หวัดคนด้วยหรือเปล่า) แต่ต่อมาเขาไม่อยากให้เรียกไข้หวัดหมู เพราะเกรงว่าจะเป็นการใส่ร้ายหมูซึ่งไม่มีความผิด และจะทำให้หมูทั่วโลกพลอยถูกรังเกียจ แต่คงไม่ใช่ความกลัวว่าหมูจะประท้วง เพราะถึงอย่างไรหมูก็มีสิทธิ์อันชอบเพียงอย่างเดียวคือสิทธิ์ในการเป็นอาหารของมนุษย์ ไม่สามารถชูป้ายประท้วงหรือเขวี้ยงก้อนอิฐใส่ตำรวจปราบจลาจลได้แต่ประการใด
ฐาปนา
ไม่เคยมีใครถามถึงความยินยอมพร้อมใจของทั้งคู่เลยว่าอยากจะย้ายจากบ้านเกิดเมืองนอนที่หนาวเย็นและเต็มไปด้วยพวกพ้อง มาอยู่ในเมืองร้อนที่ห่างไกลหลายพันกิโลเมตร หรือไม่ ถึงจะมีคนถาม แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตอบได้ หรือแม้พวกเขาจะตอบว่า "ไม่อยากไป" แต่พวกเขามีสิทธิ์ปฏิเสธละหรือ ? ...
ฐาปนา
10 คำถามตั้งต้น เพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ที่ถูกเรียกว่า "นักลงทุน"1. จากคำพูดของนักธุรกิจการเมืองที่มักจะอ้างถึง"ความเชื่อมั่นของนักลงทุน" อยู่เสมอ น่าสงสัยว่านักลงทุนจะเป็นมนุษย์ประเภทขาดความเชื่อมั่น มากกว่ามนุษย์ปกติทั่วไป หรือไม่?ตอบ ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าสันนิษฐานอย่างไม่มีฐานอ้างอิง การลงทุนก็จำเป็นต้องใช้ความเชื่อมั่นไม่น้อยไปกว่าการพนัน ทว่าในแง่ของเหตุผลน่าจะมากกว่า เพราะการพนันจะใช้ปัจจัยด้านอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจ ขณะที่การลงทุนจะต้องใช้เหตุผล ตัวเลข ตัวแปร เอกสารต่างๆ มากมายก่อนการตัดสินใจที่เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อน…
ฐาปนา
ลุงอู๋ ผู้ใหญ่บ้านประกาศเรียกประชุมชาวบ้านหมู่สิบสองตั้งแต่เช้าตรู่ เสียงประกาศนั้นเน้นย้ำนักหนาว่า หนึ่งทุ่มตรงวันนี้ทุกคนต้องไปร่วมประชุมให้ได้ เพราะนี่คือเรื่องความเจริญก้าวหน้าของหมู่บ้าน และีทุกคนจะได้ประโยชน์ โชคดีที่วันนั้น เป็นช่วงว่างจากการทำไร่ ทำนา ที่สำคัญ ละครสุดฮิตที่ชาวบ้านติดกันก็เพิ่งจะจบลงไป พอตอนค่ำ ชาวหมู่บ้านจึงมาประชุมที่ศาลาอย่างหนาตา
ฐาปนา
ลุงเหมือน อดีตทหารผ่านศึก คนปลูกแตงโมมือวางท้อปไฟว์ประจำหมู่บ้าน นั่งมองไร่แตงโมอย่างสบายอารมณ์ปีนี้แตงโมราคาดีไม่น้อย พ่อค้ามารับซื้อหน้าไร่กิโลกรัมละสิบห้าถึงยี่สิบห้าบาท ยิ่งลูกใหญ่ยิ่งได้ราคา มดแมลงก็ไม่ค่อยจะกวนเท่าไร ลุงเหมือนกะว่าปีนี้คงได้เงินจากแตงโมสักห้าหกหมื่น แล้วจากนั้นจะได้ปลูกกะเพรา โหระพา ใบแมงลัก แบบ "พอเพียง-เพียงพอ" บ้าง
ฐาปนา
ยายช้อย คนเคยรวย ชีวิตเปลี่ยนไปมาก หลังจากเป็นหนี้สหกรณ์ฯ หลายแสน ก็ใครจะไปคิดเล่า อยู่ๆ เคยเลี้ยงหมูได้กำไรทีละเป็นแสน จู่ๆ หมูราคาตก กำไรที่คาดหวังเลยเข้าเนื้อแทน เมื่อทนทำต่อไป ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน ทุนหายกำไรหด จนกลายเป็นหนี้ ถึงที่สุดก็ต้องหยุดเลี้ยง ยายช้อยผู้เคยเดินชูคอสั้นๆ ป้อมๆ ของแกไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะเมียอดีตกำนันหลายสมัย มาบัดนี้ กลับไม่สง่าผ่าเผยเป็นคุณนายกำนันเหมือนเดิมอีกแล้ว
ฐาปนา
เกษตรทางเลือก เกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรแนวใหม่ ฯลฯ ล้วนแต่น่าสนใจ และกำลังเป็นทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคตทว่า ชาวบ้านจำนวนมากก็ยังคงรู้จักอยู่แค่อย่างเดียวคือ เกษตรเคมี ฟังดูอาจจะขัดกับความรู้สึกของคนชั้นกลางจำนวนหนึ่ง ที่กำลังอินกับกระแสรักสุขภาพ แต่ก็โปรดรับรู้เถิดว่า ผักที่ท่านซื้อจากตลาด(ไม่ว่าจะติดแอร์หรือไม่ก็ตาม) เกือบจะร้อยเปอร์เซนต์ ล้วนมีสารเคมีทั้งสิ้น  มากบ้างน้อยบ้างตามประเภทของผัก และตามปริมาณการใช้ของผู้ปลูก
ฐาปนา
ผมยังจำได้ดี ภาพของชายวัยเจ็ดสิบนั่งอยู่บนโต๊ะไม้ตัวเล็กๆ คร่ำเคร่งอยู่กับการจิ้มนิ้วไปบนแป้นพิมพ์ดีด ขณะที่ข้างกายมีถังอ๊อกซิเจนขนาดใหญ่ต่อสายยางยาวมาสู่จมูกเป็นภาพที่ชวนให้ครั่นคร้าม ไม่น้อยไปกว่าชื่อเสียงเรียงนามในฐานะตำนานที่ยังมีชีวิตเจ้าของบ้านหันมาบอกให้รอประเดี๋ยว เดี๋ยวจะไปนั่งคุยด้วย ผู้นำทางจึงกระซิบให้ลงไปนั่งรอที่ห้องรับแขก
ฐาปนา
ชีวิตชาวนาชาวไร่ สินค้าที่ใช้ ร้อยละเก้าสิบเก้าหนีไม่พ้นซื้อจากร้านค้าในหมู่บ้าน นานๆ จะได้เข้าตลาดในอำเภอ หรือ ห้างใหญ่ในตัวจังหวัดเสียที ก็ของใช้จำเป็นอย่าง สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ยาสระผม ฯลฯ มันเป็นของประเภท ที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ไม่ต่างกัน ราคาอาจถูกแพงกว่ากันบ้างไม่กี่บาท น้อยรายที่สนใจรักสวยรักงามถึงขนาดต้องใช้เครื่องสำอางค์ราคาเป็นร้อยเป็นพัน หรือ สินค้าเกรดเอ คุณภาพเกินร้อยอย่างที่เขาชอบโฆษณา
ฐาปนา
หลายปีที่ผ่านมา พื้นที่การเกษตรขยายตัวอย่างช้าๆ จากพื้นที่ดินเค็มหรือพื้นที่ดอนอันแห้งแล้งก็แปรเปลี่ยนเป็นที่สวน ที่ไร่ ที่นา เมื่อพื้นที่ขยายตัวไปมาก คลองส่งน้ำก็ถูกขุดต่อไปจนถึงพื้นที่ บางแห่งคลองไปไม่ถึงก็ขุดหาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อจะพลิกฟื้นผืนดินไร้ชีวิตให้กลับมามีชีวิตให้ได้อัตราเร่งเพิ่มขึ้น เมื่อราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ข้าว" มีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่ดินรกร้าง ที่ป่ารกเรื้อ ถูกรถไถจัดการเสียเรียบเตียน ไม่กี่วันก็พร้อมสำหรับการเพาะปลูก คลองส่งน้ำสายใหม่(เทคอนกรีต) ที่จะถูกต่อมาจากลำคลองสายหลักอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เสียงรถเกรดดิน รถบรรทุก รถบด…
ฐาปนา
กลางเดือนกุมภาพันธ์ ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่  หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง
ฐาปนา
แสงสีแดงพาดผ่านท้องฟ้าสีดำ เหนือดินแดนปาเลสไตน์เหนือหมู่ตึกอันแออัดและทรุดโทรม ลูกเหล็กบรรทุกดินระเบิดพุ่งปะทะคอนกรีตหนึ่งลูก สองลูก สิบลูก ร้อยลูก พันลูก หมื่นลูก แสนลูก ล้านลูก