Skip to main content
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง


ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด

 

ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง บ้างก็ซดเอ็ม กระทิง หรือเป็นเป๊ก(สุราขาว) ก็แล้วแต่รสนิยม


เสียงคุยขโมงโฉงเฉงในแต่ละวัน หนีไม่พ้นเรื่องการบ้านการเมือง

หมู่บ้านเล็กแค่นี้ จึงรู้ๆ กันอยู่ว่าใครเป็นพวกเสื้อเหลือง และใครเป็นพวกเสื้อแดง

พวกใครก็พวกมัน

ทีแรก ต่างคนต่างอยู่ ต่างพูดชื่นชมฝ่ายตัวเองในหมู่พวกตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์แรงขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์ร่วมก็เลยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องมีการปะทะคารมกันพอหอมปากหอมคอ

"...ลูกสาวข้าเพิ่งโดนให้ซองขาว ต้องออกจากโรงงาน...ทำงานมาตั้งหลายปี จู่ๆ เจ้านายเขาก็บอกว่า ไม่มีออเดอร์แล้ว ต้องปิดโรงงาน...นี่ก็เห็นว่ารอเงินชดเชยอะไรอยู่..." ลุงไฉ นั่งรำพึงอย่างเศร้าๆ

"...แล้วโดนออกกันเยอะไหมเล่า?" น้าติ่ง ถาม

"...ก็เห็นว่า ร่วมพันคน ก็ทั้งโรงงานนั่นแหละ...เห็นมันว่า เขาทยอยปิดกันไปตั้งหลายโรงแล้ว ยังไม่เห็นรัฐบาลจะเข้ามาช่วยอะไรได้เลย..."


"...อย่าไปหวังเล้ย...รัฐบง รัฐบาล วันๆ คิดแต่เรื่องผลประโยชน์ คิดแต่เรื่องจะกอดเก้าอี้ตัวเองไว้ ชาวบ้านเดือดร้อนจะตาย ไม่เห็นมาดูดำดูดี..." ตาใบ ส่ายหน้าเบะปาก แกเป็นพวกไม่เอาคนหน้าเหลี่ยม

"...น้ำเน่ากันมาตั้งนานนมเน ซื้อเสียงกันเข้าไปโกงกินบ้านเมือง ไอ้พวกนี้มันไม่เคยคิดแก้ปัญหาอะไรจริงๆ จัง หรอก..." ตาใบว่า อย่างใส่อารมณ์


พี่อุ้ย กับ ไอ้ปุ๋ย หัวคะแนนอดีตนักการเมืองซีกรัฐบาล(ปัจจุบันโดนดอง) กำลังซดกระทิงแดงยืนอยู่หน้าร้าน ยืนฟังมานาน อดรนทนไม่ได้ เลยต้องเดินเข้าไปร่วมวงบ้าง


"...ตาใบ ฉันว่าแกก็พูดเกินไป รัฐบาลเขามีงานเยอะแยะ ก็ต้องเห็นใจกันบ้าง จะให้แก้ปัญหาได้ภายในสามวันเจ็ดวันก็มีแต่เทวดาเท่านั้นแหละ..." พี่อุ้ย แก้ต่างแทนเจ้านาย


ตาใบหันขวับมอง เบะปากแล้วส่ายหน้า

"...ไม่ต้องเป็นเทวดา ไม่ต้องแก้ภายในสามวันเจ็ดวันก็ได้ แค่ขอให้แก้ ไม่ใช่เตะถ่วงไปเรื่อย...ข้ายังไม่เห็นมันจะแก้อะไรสำเร็จสักอย่าง..."

"...แหม...ลุงก็พูดเกินไป..." ไอ้ปุ๋ยผสมโรงช่วยลูกพี่ "...รัฐบาลเขาเพิ่งมาเป็นแค่ไม่กี่เดือน แถมยังไม่มีทำเนียบจะอยู่ ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว ลุงจะเอายังไงอีก..."


คราวนี้ ตาใบ ชักจะฉุน น้ำเสียงเริ่มใส่อารมณ์

"...มาเป็นแค่ไม่กี่เดือนก็จริง แต่มันก็ไอ้พรรคเดิมที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ใช่เรอะ?... จะมาอ้างนู่นอ้างนี่ได้ยังไง แล้วที่ไม่มีทำเนียบอยู่มันก็สมควรแล้ว มันจะได้เข้าใจชีวิต คนพเนจรไม่มีบ้านจะอยู่มั่ง ว่าเขารู้สึกยังไง...ที่จริง มันไม่น่าจะได้เงินเดือนกันเสียด้วยซ้ำ โกงกินกันทีเป็นสิบๆ ล้าน..."

"อ้าวๆ...ลุง พูดให้มันดีๆ นา เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน มาว่าคนนั้นคนนี้โกง ไม่มีหลักฐาน ระวังเขาจะฟ้องติดคุกหัวโตตอนแก่นะลุง..." ไอ้ปุ๋ย ชี้หน้า


ตาใบ ลุกพรวด เงื้อหมัดขยับจะเข้าหา ไอ้ปุ๋ยผงะถอยหนีด้วยไม่คิดว่าคนแก่จะเลือดร้อนขนาดนี้ คนอื่นๆ ในร้านเลยต้องเข้าห้ามกันวุ่นวาย

พี่อุ้ยรีบพาไอ้ปุ๋ยเผ่นออกจากร้าน ขณะที่ตาใบร้องท้า ตะโกนด่าไอ้ปุ๋ยถึงพ่อถึงแม่

งานนี้ คนที่ถูกมองว่าผิดเต็มๆ คือไอ้ปุ๋ย เพราะตาใบ เป็นพี่ชายแท้ๆ ของแม่มันเอง

 

เรื่องตาใบจะชกไอ้ปุ๋ย แค่ครึ่งวัน คนก็รู้กันไปทั่ว น้าแป้น กับยายจุก ยืนคุยกันอยู่ข้างถนน

"...ก็ไอ้อุ้ยไอ้ปุ๋ยมันพวกรัฐบาล ก็รู้ๆ กันอยู่...แต่ว่าก็ว่าเถอะนะ พวกตาใบเขานั่งคุยกันอยู่ก่อนแล้ว เข้ามาสอดทีหลังเขามันก็ไม่ถูก..." น้าแป้น วิเคราะห์สถานการณ์

"...อ๋อ...ตาใบแกไม่ชอบรัฐบาล เป็นพวกเสื้อเหลืองว่างั้นสิ..." ยายจุกว่า

"...งั้นสิ อาทิตย์ที่แล้ว แกไปร่วมชุมนุมตั้งหลายคืน ยังกลับมาเล่าให้ฉันฟังเลย..." น้าแป้นว่า น้ำเสียงแฝงความชื่นชมเล็กน้อย


แต่ยายจุก ส่ายหัว

"...พวกไร้สาระ...งานการไม่มีจะทำ ไปนั่งชุมนุมตะโกนโหวกเหวกกันอยู่ได้ บ้านเมืองถอยหลังก็เพราะไอ้พวกนี้แหละ..."


พอยายจุกแสดงตัวว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม น้าแป้นชักหน้าตึง เพราะแม้แกจะไม่เคยใส่เสื้อสีเหลือง แต่ก็แอบเชียร์อยู่ห่างๆ

"...แหม...ยาย พูดแบบนี้มันก็ไม่ถูกนา...พวกนี้เขาเสียสละเพื่อไปเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาติบ้านเมือง ไอ้คนอยู่ข้างบนหัวเรา ไอ้พวกรอมอตอ สอสอ สอวอ สอพลอ อะไรทั้งหลาย มันก็ไม่เคยมาเห็นหัวคนอย่างเราหรอก นี่ถ้าไม่มีการชุมนุมขึ้นมา พวกเราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า ไอ้พวกนี้มันโกงมันกินกันมากมายขนาดไหน..."


"...ไม่จริงหรอก...ข้าว่า มันก็โกหกทั้งเพ ปั้นน้ำเป็นตัวกันไปวันๆ ใครมันจะมีเรื่องเลวๆ ของคนอื่นมาพูดอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืนเป็นเดือนๆ แบบนี้...ถ้าไม่แต่งเรื่องขึ้นมา มันก็จะเก่งเกินไปละ..." ยายจุกทำท่าจะเดินหนี แต่น้าแป้นไม่ยอม

"...นี่ยาย ฉันว่ายายกับฉันนี่มันคนละพวกกันแล้วล่ะ ต่อไปยายไม่ต้องมาขอยืมอะไรบ้านฉันอีกนะ ต่างคนต่างอยู่ดีกว่า..."


ยายจุกหันขวับ

"...เออ...งั้นเอ็งก็ไม่ต้องมาเดินผ่านบ้านข้าอีก วันหลังจะออกถนนน่ะ เดินอ้อมไปทางนู้นก็แล้วกัน อย่าผ่านมาให้ข้าเห็นเชียว..."


น้าแป้นกับยายจุก เถียงกันอีกหลายประโยค แต่ละประโยคก็เริ่มออกห่างจากเรื่องที่เถียงกันตอนต้น กลายเป็นทวงบุญทวงคุณ กระทั่งกลายเป็นการแจกคำด่าแรงๆ โชคดี ที่เพื่อนบ้านมาช่วยแยก ก่อนที่จะมีใครทนไม่ได้ ลงมือตบตีฝ่ายตรงข้ามเสียก่อน

 

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ใครต่อใครก็เริ่มแสดงตัวชัดเจนว่า ถือหางข้างไหน โชคดีที่ไม่มีเรื่องกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นอีก แต่บรรยากาศในหมู่บ้านก็เริ่มตึงเครียดมากขึ้น เวลาพวกใคร-พวกใคร ต้องมาเจอกัน ที่เคยทักทายกันก็ไม่ทัก ที่เคยคุยกันก็ไม่คุย ที่เคยไหว้วานกันได้ก็ไม่มีอีกแล้ว หากต่างพวกต่างสีก็ต้องจ้างอย่างเดียว


กระทั่งญาติพี่น้อง เคยไปมาหาสู่กันก็ไม่ไปอีกแล้ว บ้านไหนมีจานดาวเทียมสีเหลือง หรือบ้านไหนเปิดแต่ช่องที่เคยเป็นอดีตช่องสิบเอ็ด ก็เป็นที่รู้กัน


คนเดือดร้อน ก็น่าจะเป็นคนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน เวลาไปประชุมหมู่บ้าน หรือไปงานตามบ้าน จะรู้สึกถึงบรรยากาศ "มาคุ" มึนๆ ตึงๆ ชวนอึดอัดพิลึก ยิ่งถ้ามีวงสุราแล้วด้วย ต้องเลียบๆ เคียงๆ ดูดีๆ ว่าเป็นพวกไหน เดี๋ยวเข้าไปผิดวง จะลุกหนีไม่ทัน


"...เฮ้อ...พี่น้องกันแท้ๆ...ยังแทบจะตีกันตาย...เมื่อไรมันจะเลิกๆ กันเสียทีวะ... " ผู้ใหญ่บ้าน บ่นอย่างเหนื่อยหน่าย ก่อนซดเบียร์(คนเดียว)อึกใหญ่


รอยร้าวนี้ แผ่ลามไปทั่วหมู่บ้าน และคงไม่ใช่แค่หมู่บ้านเดียว หลายหมู่บ้าน หลายชุมชน ทุกหัวระแหง แม้แต่คนที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด ก็คงจะคิดไม่ออกว่า ทำอย่างไร จึงจะประสานรอยร้าวนี้ให้กลับมาดีดังเดิมได้อีกครั้งหนึ่ง


งานนี้ไม่ว่า ใครจะชนะ แต่ที่แพ้และพังยับเยินแน่ๆ คือ ประเทศชาติ

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...ที่สุดแล้ว ปัญหาการเมืองรวมถึงปัญหาส่วนตัวทุกเรื่อง เมื่อสืบเสาะลงไปให้ลึกที่สุดจะพบว่า เป็นปัญหาทางจิตวิญญาณทั้งนั้น ทุกชีวิตเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ฉะนั้นปัญหาทุกอย่างของชีวิตจึงมีต้นตอมาจากจิตวิญญาณและจะแก้ไขได้ด้วยวิธีทางจิตวิญญาณ สงครามเกิดขึ้นเพราะใครบางคนมีสิ่งที่อีกคนอยากได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้คนบางคนทำสิ่งที่อีกคนไม่อยากให้ทำความขัดแย้งทุกชนิดเกิดจากการวางความปรารถนาไว้ผิดที่สินติเดียวที่จะยั่งยืนได้ในโลกหล้าคือศานติภายในให้แต่ละคนค้นพบสันติในใจตน เมื่อนั้นเธอจะพบว่า เธอไม่ต้องพึ่งพาอะไรอีก...”(สนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 หน้า 204)
ฐาปนา
เมื่อครั้งยังเด็ก ผมเคยเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีชะตากรรมที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ทุกๆ อย่างถูกกำหนดไว้หมดแล้ว ทุกๆ อย่างถูกลิขิตไว้หมดแล้ว ตั้งแต่เกิดจนตาย พอเติบโตขึ้น ความเชื่อเรื่องชะตากรรมก็เปลี่ยนไป ผมเชื่อว่ามีแค่สามสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้วและเราไม่อาจล่วงรู้ได้ นั่นคือ การเกิด คู่ครอง และการตาย ไม่นานมานี้ ผมมองชะตากรรมอีกแบบหนึ่ง ผมคิดว่า ชะตากรรม คือ สิ่งที่เข้ามาสู่ชีวิตเพื่อให้เราเลือก ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และมันจะส่งผลต่อเรา เราจะเรียนรู้และเติบโตจากมัน เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปจากมุมมองที่เรามีต่อมัน ลองย้อนมองกลับไปถึงอดีตของเราแต่ละคน สิ่งที่เราเลือก เสมือนจุดๆ หนึ่ง…
ฐาปนา
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ลมหนาวคลายความยะเยือกลง เหลือเพียงลมเย็นโชยเฉื่อย เจือกลิ่นหอมของไม้เมืองหนาวหลายชนิดที่ยังคงผลิดอกแม้ฤดูหนาวสิ้นสุด แล้วเมืองเชียงใหม่ก็เข้าสู่ช่วงเวลาพิเศษของคนหนุ่มสาวอีกครั้ง“วันแห่งความรัก” (Valentines Day) ที่ใครหลายคนรอคอยอันที่จริง แม้จะเรียกกันว่า วัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริบทของสังคมเปลี่ยนไป ด้วยอานุภาพแห่งความรักและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความรัก จึงไม่อาจจำกัดให้วันแห่งความรักอยู่แค่เพียง วันที่ 14 ของเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น วันแห่งความรักได้ขยายช่วงเวลาเป็น สัปดาห์แห่งความรัก จนกระทั่งเป็น เดือนแห่งความรัก ในที่สุด นอกจากบรรยากาศแห่งความรัก…
ฐาปนา
ไม่ทราบว่าใครเป็นเหมือนผมบ้างหลังจากข้าวของพาเหรดกันขึ้นราคา แต่รายได้มันไม่ได้ขึ้นตามไปด้วย ทำให้ต้องปรับตัวทุกทางเพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้ถีงขั้นต้องใช้คำว่า “เพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้” นั่นละครับเพราะรายได้ที่ไม่แน่นอน ไม่มากมาย บวกกับสภาพหนี้ทั้งงานราษฎร์งานหลวง จากที่เคยตามใจปากตามใจตัวได้บ้างก็ต้องกลายมาเป็น “งด” แทบจะทุกรายการ จะกินขนมสักสิบยี่สิบบาทก็เปลี่ยนไปเป็นอาหารญี่ปุ่นสำหรับคนจน (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป) ดีกว่านี่ก็แว่วว่า บะหมี่ซองเหล่านี้จะขึ้นราคากันแล้วเราคงต้องไปหาดินอร่อยๆ กินกันแทนข้าวแล้วกระมัง ก่อนที่ดินอร่อยๆ จะได้รับความนิยมขึ้นมา แล้วดินก็จะขึ้นราคาอีก
ฐาปนา
“...ยังไม่เคยเห็นธนาคารไหนในโลกให้ดอกเบี้ยร้อยเปอร์เซนต์ ฝากพันให้พัน ฝากหมื่นให้หมื่น ฝากล้านให้ล้าน ไม่เคยเห็น แต่ธรรมชาติจะให้มากกว่านั้นแทบทุกเรื่อง ถ้าเราฝากธรรมชาติ อย่างเช่น ถ้าเราเอาเงินสิบบาทไปฝากธนาคาร ถ้าเขาให้ดอกร้อยเปอร์เซนต์ สิ้นปีก็ได้สิบบาท รวมที่ฝากเป็นยี่สิบบาท คือสูงสุดแล้ว แต่ถ้าฝากธรรมชาติ ก็เหมือนฝากให้คนอื่นทำงาน สมมติต้นกล้วยห้าบาท ค่าปลูกกล้วยอีกห้าบาท รวมเป็นต้นทุนสิบบาท พอสิ้นปีได้ปลีกล้วยมาอันหนึ่ง เครือกล้วยอีกเครือหนึ่ง หน่อกล้วยอีกสองหน่อ อันนี้ไม่รู้ราคาเท่าไรแล้ว ถามว่ามันได้ร้อยเปอร์เซนต์ หรือกี่ร้อยเปอร์เซนต์…
ฐาปนา
กิจกรรมส่วนที่สองของโครงการ one year # 2 ของมูลนิธิที่นา ที่ผมเข้าร่วม คือกิจกรรมเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ เริ่มต้นด้วยการประชุมแนะนำโครงการและให้ผู้เข้าร่วมโครงการแต่ละคนวาดรูปพืช ที่ตนเองอยากปลูก หรือ สัตว์ที่ตนเองอยากเลี้ยง ซึ่งในช่วงเวลาสามเดือนของกิจกรรมส่วนที่สองนี้ ทุกคนจะต้องดูแลสิ่งมีชีวิตของตนเองสองวันต่อมา เราเดินทางไปชมการทำเกษตรกรรมอินทรีย์และการดูแลสุขภาพวิถีไทที่ “สวนสายลมจอย” อำเภอสันกำแพง พื้นที่ไม่ถึงสิบไร่แห่งนี้ ถูกปรับเปลี่ยนจากพื้นที่นามาเป็นร่องสวน และบ่อเลี้ยงปลา, เต็มไปด้วยมะพร้าว พืชผล พืชผัก และสมุนไพรนานาชนิดจากการทำนาทำสวนที่ใช้สารเคมีในอดีต…
ฐาปนา
หวังให้ประเทศเล็กที่มีพลเมืองน้อยมีอาหารพอที่จะเลี้ยงดูพลเมืองมากกว่าที่เขาต้องการถึงสิบเท่าร้อยเท่าให้ประชาชนเห็นคุณค่าของชีวิตและไม่ท่องเที่ยวพเนจรไปไกลถึงแม้จะมีพาหนะเรือและรถก็ไม่มีใครปรารถนาจะขับขี่ถึงแม้จะมีเกราะและอาวุธก็ไม่มีโอกาสจะใช้ให้กลับไปใช้การจดจำเรื่องราวด้วยการผูกเงื่อนแทนการเขียนหนังสือให้เขานึกว่าอาหารพื้นๆนั้นโอชะเสื้อผ้าอันสามัญนั้นสวยงามบ้านเรือนธรรมดานั้นสุขสบายประเพณีวิถีชีวิตนั้นน่าชื่นชมในระหว่างเพื่อนบ้านต่างเอาใจใส่ซึ่งกันและกันจนอาจได้ยินเสียงไก่ขันสุนัขเห่าจากข้างบ้านและตราบจนวันสุดท้ายของชีวิตจะไม่มีใครได้เคยออกไปนอกประเทศของตนเลย(บทที่ 80 ประเทศในฝัน,…
ฐาปนา
หากให้ลองย้อนคิดดูว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไปเราได้ทำอะไรไปบ้าง คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะระบุให้ครบถ้วน เพราะการกระทำเป็นรูปธรรม มีผลลัพธ์ชัดเจน มีร่องรอยที่ติตตามได้แต่หากให้ลองย้อนคิดดูว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไป เราได้ "พูด" อะไรไปบ้าง ต้องไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ เว้นเสียแต่ว่า วันนั้นเราจะพูดน้อยจนนับคำได้คำพูด คือความคิดที่แสดงออกเพื่อสื่อสาร ซึ่งเนื้อแท้ของสิ่งที่ต้องการสื่อสารนั้นก็คือ ความรู้สึก ความรู้สึกคือภาษาของวิญญาณ เป็นหัวใจเป็นแก่นแกนกลางของการสื่อสารทุกชนิด แต่เราก็มักจะหลงลืมหัวใจของการสื่อสารนี้ไป และไปให้ค่ากับคำพูดเสียมากกว่าฉะนั้น หากเปลี่ยนคำถามเสียใหม่ว่า ในหนึ่งวันที่ผ่านไป…
ฐาปนา
 ผมเพิ่งจะไปเที่ยววัดพระธาตุดอยสุเทพมาครับ หลังจากไม่ได้ไปมาเป็นเวลาร่วมสิบปี  ครั้งสุดท้ายที่ขึ้นไปคือตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย พอย้ายมาอยู่ทางเหนือก็ไม่ได้โอกาสเสียที มาสบโอกาสเอาก็ตอนลมหนาวเริ่มมาเยือนนี่เอง ขับมอเตอร์ไซต์ขึ้นดอยตอนเช้า อากาศเย็นสบาย ใช้เวลาสัก 20-30 นาทีเท่านั้นวัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นสถานที่อันดับแรกที่ใครต่อใครที่มาเชียงใหม่จะต้องมาเยือนมาชม มากราบไหว้ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง ที่นี่จึงเต็มไปด้วยผู้คนมากมายตลอดเวลา ยิ่งในช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว ดูเหมือนว่า ดอยสุเทพคือสถานที่แรกที่ทุกคนต้องมา…
ฐาปนา
คืนหนึ่งผมฝันถึงสถานที่หนึ่งซึ่งผมไม่เคยคาดคิดว่าจะฝันถึงสถานที่แห่งนั้นเป็นทางเดินที่ทอดยาว เชื่อมระหว่างอาคารหนึ่งไปสู่อาคารหนึ่งผมเดินไปตามทางนั้นด้วยความรู้สึกประหลาด ประหลาดเพราะรู้ว่านี่คือความฝัน แต่ทั้งรู้ว่าฝันผมกลับตื่นตื่นโพลงอยู่ในความฝัน ผมเดินไปตามทางด้วยความตื่นโพลง และรู้สึกราวกับกำลังเดินอยู่ในภาพวาดซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่ง แม้แต่ใบไม้แห้งก็แทบจะไม่ไหวติง ผมรู้จักสถานที่แห่งนั้นดี มันคือทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารพักอาศัยไปยังอาคารปฏิบัติรวมของศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา สถานที่ที่ผมไปอบรมวิปัสสนาเป็นเวลาสิบวันผมพยายามหาเหตุผลว่า ทำไมผมจึงฝันถึงสถานที่แห่งนั้น…
ฐาปนา
หากได้รับตั๋วเครื่องบินไป-กลับยุโรป พร้อมเงินติดกระเป๋าไปเที่ยวฟรีๆ 10 วัน เป็นใครย่อมไม่รอช้า ทั้งพร้อมจะเลื่อน – ลา – หยุด ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไป มันคงเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิตที่น้อยคนจะมีโอกาส แต่ด้วยเงื่อนไขเดียวกันนี้ หากเปลี่ยนจากไปเที่ยวยุโรป 10 วัน เป็นการไป ‘วิปัสสนา’ 10 วันแทน หลายคนคงต้องคิดหนัก เราหมายใจจะท่องเที่ยวไปให้ทั่วประเทศ ทั่วทวีป ทั่วโลก จากทะเลลึกถึงภูเขาที่สูงที่สุด จากมหานครสู่ป่าดิบ จากกลางตลาดที่คราคร่ำด้วยผู้คนสู่ทะเลทรายเวิ้งว้าง แต่เรากลับไม่สนใจที่จะท่องเที่ยวสำรวจ ‘จิต’ ของเราเอง ... แปลกมั้ย ?ในฐานะชาวพุทธ ไม่ว่าจะกล่าวด้วยความภาคภูมิ…
ฐาปนา
ผมสมัครเข้าร่วมโครงการหนึ่งปี “ชุมชนทดลอง # 2” ของมูลนิธิที่นา [1] ด้วยความไม่รู้ กล่าวคือ ไม่รู้เรื่องวิปัสสนา ไม่รู้เรื่องศิลปะ และไม่รู้เรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ  ความไม่รู้นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะถ้ารู้แล้วคงไม่ต้องมาเมื่อได้คุยกับทีมงานหลายท่านก่อนเริ่มโครงการ ก็ได้รับความห่วงใยเกรงว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะคาดหวังมากเกินไป เนื่องจาก the land ไม่ใช่ utopia ซึ่งผมก็เข้าใจ ขณะเดียวกันผมเองก็ห่วงใยเกรงว่า ทีมงานจะคาดหวังกับผู้เข้าร่วมโครงการมากเกินไปเช่นเดียวกันเพราะในความต่างของปัจเจกที่มาอยู่ร่วมกันภายใต้เงื่อนไขหลวมๆ นี้ หากผู้เข้าร่วมไม่มีความชัดเจนในจุดประสงค์ของตนเอง…