Skip to main content
บ้านนอก แม้จะไม่สะดวกแต่ก็สบาย ถึงจะร้อนแดดแต่พอเข้าร่มก็เย็น ผิดกับเมืองใหญ่ ที่ร้อนอบอ้าวตลอดปี ฝนจะตกแดดจะออก ความร้อนก็ยังคงสถิตย์อยู่เสมือนเป็นอุณหภูมิประจำเมือง


ใครเลยจะคิดว่า ความร้อนจากในเมืองจะแผ่ลามเข้ามาถึงหมู่บ้านที่ปราศจากกลิ่นฟาสต์ฟู้ด

 

ข้อมูลข่าวสารปรากฎทั้งรูปและเรื่องบนหนังสือพิมพ์ในร้านกาแฟ เสียงรายงานข่าวลอยมาจากวิทยุที่แขวนอยู่ข้างตัวเด็กเลี้ยงวัว ทั้งภาพเคลื่อนไหวทั้งเสียงส่งตรงมาเข้าจานดาวเทียมสีเหลืองสดใสเหนือหลังคาร้านค้าของป้านุ้ย ที่ๆ ใครต่อใครก็มาชุมนุมกันตั้งแต่เช้า บ้างซื้อยาสูบ ซื้อขนมเป็นเสบียงก่อนไปนาน บ้างตั้งวงกาแฟกระป๋อง เขียวบ้าง เหลืองบ้าง แดงบ้าง บ้างก็ซดเอ็ม กระทิง หรือเป็นเป๊ก(สุราขาว) ก็แล้วแต่รสนิยม


เสียงคุยขโมงโฉงเฉงในแต่ละวัน หนีไม่พ้นเรื่องการบ้านการเมือง

หมู่บ้านเล็กแค่นี้ จึงรู้ๆ กันอยู่ว่าใครเป็นพวกเสื้อเหลือง และใครเป็นพวกเสื้อแดง

พวกใครก็พวกมัน

ทีแรก ต่างคนต่างอยู่ ต่างพูดชื่นชมฝ่ายตัวเองในหมู่พวกตัวเองเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์แรงขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์ร่วมก็เลยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องมีการปะทะคารมกันพอหอมปากหอมคอ

"...ลูกสาวข้าเพิ่งโดนให้ซองขาว ต้องออกจากโรงงาน...ทำงานมาตั้งหลายปี จู่ๆ เจ้านายเขาก็บอกว่า ไม่มีออเดอร์แล้ว ต้องปิดโรงงาน...นี่ก็เห็นว่ารอเงินชดเชยอะไรอยู่..." ลุงไฉ นั่งรำพึงอย่างเศร้าๆ

"...แล้วโดนออกกันเยอะไหมเล่า?" น้าติ่ง ถาม

"...ก็เห็นว่า ร่วมพันคน ก็ทั้งโรงงานนั่นแหละ...เห็นมันว่า เขาทยอยปิดกันไปตั้งหลายโรงแล้ว ยังไม่เห็นรัฐบาลจะเข้ามาช่วยอะไรได้เลย..."


"...อย่าไปหวังเล้ย...รัฐบง รัฐบาล วันๆ คิดแต่เรื่องผลประโยชน์ คิดแต่เรื่องจะกอดเก้าอี้ตัวเองไว้ ชาวบ้านเดือดร้อนจะตาย ไม่เห็นมาดูดำดูดี..." ตาใบ ส่ายหน้าเบะปาก แกเป็นพวกไม่เอาคนหน้าเหลี่ยม

"...น้ำเน่ากันมาตั้งนานนมเน ซื้อเสียงกันเข้าไปโกงกินบ้านเมือง ไอ้พวกนี้มันไม่เคยคิดแก้ปัญหาอะไรจริงๆ จัง หรอก..." ตาใบว่า อย่างใส่อารมณ์


พี่อุ้ย กับ ไอ้ปุ๋ย หัวคะแนนอดีตนักการเมืองซีกรัฐบาล(ปัจจุบันโดนดอง) กำลังซดกระทิงแดงยืนอยู่หน้าร้าน ยืนฟังมานาน อดรนทนไม่ได้ เลยต้องเดินเข้าไปร่วมวงบ้าง


"...ตาใบ ฉันว่าแกก็พูดเกินไป รัฐบาลเขามีงานเยอะแยะ ก็ต้องเห็นใจกันบ้าง จะให้แก้ปัญหาได้ภายในสามวันเจ็ดวันก็มีแต่เทวดาเท่านั้นแหละ..." พี่อุ้ย แก้ต่างแทนเจ้านาย


ตาใบหันขวับมอง เบะปากแล้วส่ายหน้า

"...ไม่ต้องเป็นเทวดา ไม่ต้องแก้ภายในสามวันเจ็ดวันก็ได้ แค่ขอให้แก้ ไม่ใช่เตะถ่วงไปเรื่อย...ข้ายังไม่เห็นมันจะแก้อะไรสำเร็จสักอย่าง..."

"...แหม...ลุงก็พูดเกินไป..." ไอ้ปุ๋ยผสมโรงช่วยลูกพี่ "...รัฐบาลเขาเพิ่งมาเป็นแค่ไม่กี่เดือน แถมยังไม่มีทำเนียบจะอยู่ ได้แค่นี้ก็ดีถมแล้ว ลุงจะเอายังไงอีก..."


คราวนี้ ตาใบ ชักจะฉุน น้ำเสียงเริ่มใส่อารมณ์

"...มาเป็นแค่ไม่กี่เดือนก็จริง แต่มันก็ไอ้พรรคเดิมที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ใช่เรอะ?... จะมาอ้างนู่นอ้างนี่ได้ยังไง แล้วที่ไม่มีทำเนียบอยู่มันก็สมควรแล้ว มันจะได้เข้าใจชีวิต คนพเนจรไม่มีบ้านจะอยู่มั่ง ว่าเขารู้สึกยังไง...ที่จริง มันไม่น่าจะได้เงินเดือนกันเสียด้วยซ้ำ โกงกินกันทีเป็นสิบๆ ล้าน..."

"อ้าวๆ...ลุง พูดให้มันดีๆ นา เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน มาว่าคนนั้นคนนี้โกง ไม่มีหลักฐาน ระวังเขาจะฟ้องติดคุกหัวโตตอนแก่นะลุง..." ไอ้ปุ๋ย ชี้หน้า


ตาใบ ลุกพรวด เงื้อหมัดขยับจะเข้าหา ไอ้ปุ๋ยผงะถอยหนีด้วยไม่คิดว่าคนแก่จะเลือดร้อนขนาดนี้ คนอื่นๆ ในร้านเลยต้องเข้าห้ามกันวุ่นวาย

พี่อุ้ยรีบพาไอ้ปุ๋ยเผ่นออกจากร้าน ขณะที่ตาใบร้องท้า ตะโกนด่าไอ้ปุ๋ยถึงพ่อถึงแม่

งานนี้ คนที่ถูกมองว่าผิดเต็มๆ คือไอ้ปุ๋ย เพราะตาใบ เป็นพี่ชายแท้ๆ ของแม่มันเอง

 

เรื่องตาใบจะชกไอ้ปุ๋ย แค่ครึ่งวัน คนก็รู้กันไปทั่ว น้าแป้น กับยายจุก ยืนคุยกันอยู่ข้างถนน

"...ก็ไอ้อุ้ยไอ้ปุ๋ยมันพวกรัฐบาล ก็รู้ๆ กันอยู่...แต่ว่าก็ว่าเถอะนะ พวกตาใบเขานั่งคุยกันอยู่ก่อนแล้ว เข้ามาสอดทีหลังเขามันก็ไม่ถูก..." น้าแป้น วิเคราะห์สถานการณ์

"...อ๋อ...ตาใบแกไม่ชอบรัฐบาล เป็นพวกเสื้อเหลืองว่างั้นสิ..." ยายจุกว่า

"...งั้นสิ อาทิตย์ที่แล้ว แกไปร่วมชุมนุมตั้งหลายคืน ยังกลับมาเล่าให้ฉันฟังเลย..." น้าแป้นว่า น้ำเสียงแฝงความชื่นชมเล็กน้อย


แต่ยายจุก ส่ายหัว

"...พวกไร้สาระ...งานการไม่มีจะทำ ไปนั่งชุมนุมตะโกนโหวกเหวกกันอยู่ได้ บ้านเมืองถอยหลังก็เพราะไอ้พวกนี้แหละ..."


พอยายจุกแสดงตัวว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม น้าแป้นชักหน้าตึง เพราะแม้แกจะไม่เคยใส่เสื้อสีเหลือง แต่ก็แอบเชียร์อยู่ห่างๆ

"...แหม...ยาย พูดแบบนี้มันก็ไม่ถูกนา...พวกนี้เขาเสียสละเพื่อไปเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาติบ้านเมือง ไอ้คนอยู่ข้างบนหัวเรา ไอ้พวกรอมอตอ สอสอ สอวอ สอพลอ อะไรทั้งหลาย มันก็ไม่เคยมาเห็นหัวคนอย่างเราหรอก นี่ถ้าไม่มีการชุมนุมขึ้นมา พวกเราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า ไอ้พวกนี้มันโกงมันกินกันมากมายขนาดไหน..."


"...ไม่จริงหรอก...ข้าว่า มันก็โกหกทั้งเพ ปั้นน้ำเป็นตัวกันไปวันๆ ใครมันจะมีเรื่องเลวๆ ของคนอื่นมาพูดอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืนเป็นเดือนๆ แบบนี้...ถ้าไม่แต่งเรื่องขึ้นมา มันก็จะเก่งเกินไปละ..." ยายจุกทำท่าจะเดินหนี แต่น้าแป้นไม่ยอม

"...นี่ยาย ฉันว่ายายกับฉันนี่มันคนละพวกกันแล้วล่ะ ต่อไปยายไม่ต้องมาขอยืมอะไรบ้านฉันอีกนะ ต่างคนต่างอยู่ดีกว่า..."


ยายจุกหันขวับ

"...เออ...งั้นเอ็งก็ไม่ต้องมาเดินผ่านบ้านข้าอีก วันหลังจะออกถนนน่ะ เดินอ้อมไปทางนู้นก็แล้วกัน อย่าผ่านมาให้ข้าเห็นเชียว..."


น้าแป้นกับยายจุก เถียงกันอีกหลายประโยค แต่ละประโยคก็เริ่มออกห่างจากเรื่องที่เถียงกันตอนต้น กลายเป็นทวงบุญทวงคุณ กระทั่งกลายเป็นการแจกคำด่าแรงๆ โชคดี ที่เพื่อนบ้านมาช่วยแยก ก่อนที่จะมีใครทนไม่ได้ ลงมือตบตีฝ่ายตรงข้ามเสียก่อน

 

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ใครต่อใครก็เริ่มแสดงตัวชัดเจนว่า ถือหางข้างไหน โชคดีที่ไม่มีเรื่องกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นอีก แต่บรรยากาศในหมู่บ้านก็เริ่มตึงเครียดมากขึ้น เวลาพวกใคร-พวกใคร ต้องมาเจอกัน ที่เคยทักทายกันก็ไม่ทัก ที่เคยคุยกันก็ไม่คุย ที่เคยไหว้วานกันได้ก็ไม่มีอีกแล้ว หากต่างพวกต่างสีก็ต้องจ้างอย่างเดียว


กระทั่งญาติพี่น้อง เคยไปมาหาสู่กันก็ไม่ไปอีกแล้ว บ้านไหนมีจานดาวเทียมสีเหลือง หรือบ้านไหนเปิดแต่ช่องที่เคยเป็นอดีตช่องสิบเอ็ด ก็เป็นที่รู้กัน


คนเดือดร้อน ก็น่าจะเป็นคนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน เวลาไปประชุมหมู่บ้าน หรือไปงานตามบ้าน จะรู้สึกถึงบรรยากาศ "มาคุ" มึนๆ ตึงๆ ชวนอึดอัดพิลึก ยิ่งถ้ามีวงสุราแล้วด้วย ต้องเลียบๆ เคียงๆ ดูดีๆ ว่าเป็นพวกไหน เดี๋ยวเข้าไปผิดวง จะลุกหนีไม่ทัน


"...เฮ้อ...พี่น้องกันแท้ๆ...ยังแทบจะตีกันตาย...เมื่อไรมันจะเลิกๆ กันเสียทีวะ... " ผู้ใหญ่บ้าน บ่นอย่างเหนื่อยหน่าย ก่อนซดเบียร์(คนเดียว)อึกใหญ่


รอยร้าวนี้ แผ่ลามไปทั่วหมู่บ้าน และคงไม่ใช่แค่หมู่บ้านเดียว หลายหมู่บ้าน หลายชุมชน ทุกหัวระแหง แม้แต่คนที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุด ก็คงจะคิดไม่ออกว่า ทำอย่างไร จึงจะประสานรอยร้าวนี้ให้กลับมาดีดังเดิมได้อีกครั้งหนึ่ง


งานนี้ไม่ว่า ใครจะชนะ แต่ที่แพ้และพังยับเยินแน่ๆ คือ ประเทศชาติ

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
แกชื่อยายอิ่ม ผู้เคยเฉิดฉายในวงสังคม เพราะคัดสรรเฉพาะสามีรวย หนีออกจากบ้านไปมีผัวตั้งแต่อายุสิบสอง ผ่านมาสี่สิบกว่าปี มีผัวมากี่คน คงนับได้ยากเสียแล้ว พอยายอิ่มแก่ตัวลูกก็หนีหาย ต่างคนต่างไป ไม่มีใครเลี้ยง สุดท้าย แกคว้าตาหงอก ผู้(อ้างว่า)เป็นผู้ดีเก่ามาไว้หาเลี้ยงจนได้ สมัยสาวๆ ยายอิ่มได้มรดกจากพ่อแม่ไปเยอะ แต่ขายกินจนหมด แกมีชื่อเสียงมากด้านความคด ในข้องอในกระดูก ถึงขนาดที่ แม้แต่พี่น้องด้วยกันก็ยังโดน จนต้องตัดพี่ตัดน้องกันนั่นแหละ ในที่สุด พอแก่ตัวไม่มีที่จะอยู่ ต้องมาบีบน้ำตาขอที่จากแม่เฒ่า ซึ่งแม่เฒ่าแกก็ค่อยอยากจะให้ เพราะให้ไปมากแล้ว (แต่เอาไปขายกินหมด)…
ฐาปนา
นี่คือตลาดนัดประจำตำบล ที่เปิดมายาวนานหลายสิบปี ในละแวกใกล้เคียง 3-4 ตำบล เป็นที่รู้กันว่า ถ้า “นัดวันอาทิตย์” ก็ต้องมาที่นี่ ในระดับอำเภอ ตลาดนัดวันอาทิตย์ตอนเช้าของที่นี่ น่าจะใหญ่ที่สุด คึกคักที่สุด ลานกว้างพื้นที่หลายไร่ข้างวัด มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งสินค้ากันตั้งแต่ตีสี่ตีห้า พอเริ่มสว่าง คนก็เริ่มมา หกโมงถึงเจ็ดโมงเช้า เป็นช่วงเวลาที่คนกำลังเยอะ เพราะมีของให้เลือกมาก และแดดยังไม่ร้อน ก่อนที่ตลาดจะเริ่มวายประมาณแปดโมง จอดรถที่ข้างตลาด หรือ ถ้าไม่อยากเบียดเสียดก็ไปจอดในวัด บรรยากาศคึกคักของตลาดเห็นได้แต่ไกล ซอยอาหารทะเลตรงกับทางเข้าด้านที่ตรงมาจากวัด มีคนพลุกพล่านที่สุด…
ฐาปนา
ทุกเช้า ประมาณตีสี่ครึ่ง หอกระจายข่าวกลางหมู่บ้านจะเปิดข่าวเช้า(มืด)จากสถานีวิทยุของจังหวัด เป็นสัญญาณให้ทุกบ้านตื่นนอน เตรียมตัวมาปฏิบัติภารกิจประจำวัน หุงข้าว ทำกับข้าว เตรียมใส่บาตร เตรียมตัวรอขึ้นรถไปโรงเรียน เตรียมตัวรอขึ้นรถไปทำงาน ใครไม่ตื่นก็ต้องตื่น เพราะเสียงดังจนตามเข้าไปถึงในฝัน รายการเช้ามืด เริ่มต้นด้วยเพลงปลุกใจให้ยึดมั่นในสถาบัน แล้วตามด้วยธรรมเสวนา จากเจ้าอาวาสวัดที่เป็นที่รู้จักของคนในจังหวัด ตามด้วยสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องการเกษตร การทำมาหากิน โครงการต่างๆ จากรัฐบาล และ การปฏิบัติงานของหน่วยงานในจังหวัด
ฐาปนา
เช้าตรู่ของวันอากาศดีเสียงตามสายประกาศให้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกันตอนบ่ายโมงตรง ณ ศาลาของหมู่บ้านพอบ่ายโมงครึ่ง สมาชิกสหกรณ์ฯ ก็มากันพร้อมหน้าเจ้าหน้าที่สหกรณ์มากันสามคน คนที่ดูอาวุโสกว่าใคร พูดมากกว่าใคร และเรียกเสียงหัวเราะได้มากกว่าใคร เป็นหัวหน้าชาวบ้านที่เข้าร่วมประชุมได้รับกระดาษคนละหนึ่งแผ่น ปากกาคนละหนึ่งด้าม อ่านดู ก็เห็นว่าเป็นแบบฟอร์มสำรวจเรื่อง “ความพอเพียงในครัวเรือน”
ฐาปนา
ที่นี่อยู่ไม่ห่างจากทะเล ป่าและเขาก็อยู่ไม่ไกล มีคลองส่งน้ำจากเขื่อนผ่านพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำนาได้ปีละสองครั้ง ด้านป่าบนติดเขื่อน เขาปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ได้ผลที่มีรสชาติไม่น้อยไปกว่าทางภาคใต้หรือทางภาคตะวันออก แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ถนัดปลูกผัก เพราะเก็บขายได้ตลอดทั้งปี แต่ละวันจะมีรถสิบล้อขนผักผลไม้ วันละหลายสิบคันวิ่งจากตำบลต่างๆ ในอำเภอ มุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พระประแดง สมุทรปราการ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ฯลฯ พร้อมด้วยผลิตผลทางการเกษตรสารพัดอย่าง ตั้งแต่ของจำเป็นในครัวอย่าง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริก หอม กระเทียม ไปจนถึงผักเจ้าประจำบนแผงผักทั้ง กะเพราะ โหระพา สะระแหน่ บวบ…
ฐาปนา
ดั้งเดิม ก่อนที่แต่ละบ้านจะมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของตัวเอง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “รั้ว” อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละบ้านในละแวกก็ล้วนพี่น้อง หรือนับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวให้บอกได้ว่าเป็นแดนใคร แต่จะถึงขั้นปักเสาขึงลวดหนาม หรือก่อกำแพงล้อมนั้นน้อยราย เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเงิน เขตบ้านใครก็บ้านมัน ถึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ไม่ก้าวก่ายกันอยู่แล้ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครคนหนึ่งเกิดอยากทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตน จากที่เคยชี้นิ้วบอกว่านี่เขตใคร การออกเอกสารสิทธิ์…
ฐาปนา
วัยเยาว์ของเธอ ขณะที่หัวใจครึ่งหนึ่งเปี่ยมด้วยความฝันและความหวัง ทะเยอทะยานปรารถนา แต่หัวใจอีกครึ่งกลับอ่อนไหว บอบช้ำง่าย ทั้งยังอ่อนด้อยต่อโลกแห่งเหตุผล อนาคตเลือนลางอยู่ในความฝันยามหลับ และวนเวียนอยู่ในความคิดยามตื่น เธอร่ำร้องหาบางสิ่งบางอย่างที่เธอไม่อาจบอกได้ มองไม่เห็น ไม่รู้จุดเริ่มต้น ไม่รู้จุดสิ้นสุด พลังสร้างสรรค์ของเธอฟุ้งกระจาย ไร้ทิศทาง เมื่อคำว่า ความพร้อม อยู่ห่างจากความเข้าใจ เธอจึงได้แต่ก่นโทษตนเองอยู่เป็นนิจ เธอร่อนเร่ไปในเมืองของผู้อื่น จากเมืองสู่เมือง แลกความเพียรกับเงินเลี้ยงชีพ ยิ้มแย้มให้คำดูหมิ่นเพื่อจะได้เห็นเกียรติของตนเสื่อมค่าลง
ฐาปนา
(มะพร้าวกะทิ)ตอนอายุสิบขวบ ผมค้นพบว่าโลกนี้มีผลไม้ประหลาดที่เรียกว่า “มะพร้าวกะทิ” เมื่อพ่อซื้อมันมาจากตลาดฟังดูน่าหัวเราะ เหมือนชาวเมืองมาคอนโดค้นพบว่าโลกนี้มีน้ำแข็ง ในนวนิยายมหัศจรรย์เรื่องหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวแต่นี่คือเรื่องจริงในวัยเด็กของผมอาจเป็นเพราะมันไม่ใช่ของที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่นที่ผมอยู่ ไม่ใช่ของที่หากินได้ทั่วไป จึงได้มีราคาสูงถึงลูกละ 50 บาท ซึ่งแน่ละ สำหรับยี่สิบปีก่อน ถือว่า แพงมาก แล้วเมื่อแพงขนาดนี้ ก็ย่อมไม่ใช่ของที่จะซื้อกันบ่อยๆผมจำความตื่นเต้นในการเจอหน้าครั้งแรกได้ดี มะพร้าวอะไรกัน มีเนื้อเต็มลูก ไม่แข็งแต่นิ่มๆ หยุ่นๆ รสชาติก็ลื่นๆ มันๆ…
ฐาปนา
แกชื่อยายหอม เป็นคนอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีแม่ของแกมีเชื้อลาวพวน พ่อของแกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้าน แต่เดิมแกอยู่ตำบลอื่น แล้วย้ายมาอยู่ที่นี่ แกเป็นคนรุ่นแรกที่มาหักร้างถางพงทำไร่ทำนาหมู่บ้านยุคบุกเบิก มองไปทางไหนก็มีแต่ป่า สัตว์ป่าชุกชุม เข้าป่าเจอเสือ หรือเสือแอบเข้ามากินวัวในหมู่บ้าน เป็นเหตุการณ์ประจำวัน คอกวัวสมัยนั้น ต้องกั้นเป็นฝาจึงพอกันเสือได้ ชาวบ้านกินเนื้อเก้ง เนื้อกวาง เนื้อไก่ป่า บ่อยกว่าเนื้อหมู หนองน้ำเต็มไปด้วยปลาตัวโตๆ ตะพาบตัวเท่ากระด้ง เรื่องผีสางนางไม้อยู่แนบชิดชุมชนมากกว่าเรื่องวัดเรื่องพระแกเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนนั้นแกยังเป็นสาว…
ฐาปนา
ในวัยหนุ่มสาว ขณะที่จิตใจยังถูกครอบงำด้วยความโรแมนติกเช่นเดียวกับหลายคน ผมฝันถึงบ้านที่มองเห็นภูเขา ฟ้ากว้าง ได้เฝ้ามองหมู่เมฆเคลื่อนคล้อย อาบกายด้วยแสงอัสดงทุกวัน หรือ บ้านที่อยู่ริมทะเล เห็นเส้นขอบฟ้าไร้จุดสิ้นสุด ไกวเปลตามลมเห่ ต้นมะพร้าวโยกเอน นอนฟังเสียงคลื่นกล่อมชั่วกาลทว่าในบริบทของชีวิต ผู้ที่สามารถมีบ้านอย่างที่ฝันมีไม่มากเลย ทั้งเมื่อมีแล้วก็ยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี กว่าจะแต่งเติมภาพฝันจนเสร็จจริง คนที่ให้ค่ากับความฝันสูงยิ่งทั้งไม่ยอมให้ความยากลำบากในชีวิตจริงมาบั่นทอนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ได้รับที่พำนักของหัวใจชั่วชีวิตเงื่อนไขของแต่ละคนไม่เท่ากัน…
ฐาปนา
เสียงจักจั่นกรีดปีกจากป่าเชิงดอย ฝ่าไอแดดร้อนมาถึงเคหะสถานเงียบงัน รถกระบะบรรทุกหนุ่มสาวร่างเปียกปอนยืนล้อมถังน้ำใบใหญ่แล่นผ่านไปหญิงชราถือสายยางเดินออกมาหน้าบ้าน ฉีดน้ำใส่พื้นถนน ไอน้ำระเหยขึ้นเด็กๆ หิ้วถังพลาสติก ขัน ปืนฉีดน้ำ มองสองข้างทางอย่างมีความหวังร้านขายน้ำปั่น น้ำแข็งไส ขายดีจนต้องสั่งน้ำแข็งเพิ่มในช่วงบ่ายเจ้าของโรงทำน้ำแข็ง หน้าบาน แต่ลูกจ้างหน้าเหี่ยว เพราะข้าวสารขึ้นราคาลิตรละหลายบาทแต่ค่าแรงเท่าเดิม    ดวงอาทิตย์กลับมาอยู่ใกล้ชิดโลก เหมือนคนรักที่ได้เจอกันแค่ปีละครั้งมวลอากาศอบอ้าวเข้าเกาะกุมผิว ยึดทุกรูขุมขน เหงื่อเค็มถูกขับซึมเสื้อ เหนอะหนะ…
ฐาปนา
“...ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ…