Skip to main content

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ

อากาศครึ่งหนึ่งที่มนุษย์ใช้หายใจมาจากมหาสมุทร การหมุนวนของของน้ำเย็น-น้ำอุ่นในมหาสมุทรคือเครื่องควบคุมสภาพอากาศของโลก ปลาจากท้องทะเลคือแหล่งโปรตีนสำคัญที่จุนเจือคนทั้งโลก ตำนานลึกลับ เร้าใจ หลายเรื่องผุดขึ้นจากท้องทะเล พวกเราทุกคนล้วนมีจุดกำเนิดเดียวกัน-มหาสมุทร

..........

ในแง่รสนิยม ผมหลงรักท้องทะเล หลงใหลวิถีชีวิตและจารีตของชาวเรือ และอยู่ในช่วงพยายามแนะนำตัวกับโลกใต้น้ำ ทั้งหมดนี้ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับทักษะการว่ายน้ำอันขาดแคลน เมื่อเงื่อนไขอำนวย ผมเลือกหลบหนีกรุงเทพฯ ไปซุกซ่อนตามชายหาดและเกาะแก่ง แม้จุดหมายปลายทางจะงดงาม แต่ระหว่างทางกลับเป็นห้วงความเป็นความตายที่ผมหวาดกลัวที่สุด เราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกลางห้วงน้ำเวิ้งว้าง คลื่นโตๆ สักลูกกับทิศทางเรือที่ผิดเหลี่ยมมุม อนาคตอาจจบลงตรงนั้น

ปลายเดือนเมษายน ฤดูการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะกำลังวาย ลมมรสุมค่อยๆ แผ่ปกคลุมทะเลอันดามันใต้ จึงไม่ต้องแย่งอากาศ อาหาร และทะเลกับใคร สายลมร้ายเสมือนอ้อมแขนเฝ้าทะนุถนอมหลีเป๊ะให้ฟื้นตัว

นักท่องเที่ยวน้อยลง จังหวะชีวิตของหลีเป๊ะและการหมุนเวียนของเงิน เต้นและวนในอัตราที่ช้าลง เจ้าหน้าที่รัฐ ครู ทหาร ยังใช้ชีวิตตามปกติ ชาวเลหรือผู้คนรอบๆ เกาะใช้เวลานี้หยุดพักและซ่อมแซมเรือ จากการสังเกตและพูดคุย (เพียงเล็กน้อย) พอให้รู้เลาๆ ว่า ผู้คนบนเกาะหลีเป๊ะส่วนใหญ่อพยพมาจากที่อื่นด้วยหลายๆ เหตุผล เศรษฐกิจเป็นเหตุผลหลัก หลายคน-หมอนวด พนักงานเสิร์ฟ พนักงานโรงแรม-มาเกาะหลีเป๊ะเพื่อหารายได้จากนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนัก (ยกเว้นผม) และจากไปเมื่อลมมรสุมย้อนกลับมา วนเวียนเป็นวงจรชีวิตที่ต้องดิ้นรน

เวลาที่เกาะหลีเป๊ะพักฟื้นเพราะนักท่องเที่ยวไม่อยากเดิมพันราคาแพงกับลมมรสุมและมองไม่เห็นความสวยงามของทะเลยามฝนตก คุณน้าคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ยังมีคนอีกกลุ่มเดินทางมาหลีเป๊ะ พวกเขาคือคนงานก่อสร้าง ผู้มีหน้าที่บูรณะซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างบนเกาะที่ชำรุดหักพังไปบ้างจากน้ำมือนักท่องเที่ยว หรืออาจมาเปิดพื้นที่ก่อสร้างร้านค้า บังกะโล หรือรีสอร์ตแห่งใหม่ตามแต่ใครจะว่าจ้าง

ผมนึกในใจ-ไม่กลัวลม กลัวฝนกันบ้างหรือ? แน่ล่ะ คนเมือง ทำงานกินเงินเดือน นั่งแต่ในห้องแอร์ มันยากจะเข้าใจ พายุอาจดูน่ารักไปเลยเมื่อเทียบกับค่าเล่าเรียนลูกที่โรงเรียนใกล้เปิดเทอม

นักท่องเที่ยวเช่นผมเป็นเพียงผู้ผ่าน ผมรู้สึกว่าผู้ผ่านมักเป็นผู้ครอบครองความงาม ขณะที่ผู้อยู่ ความงามอาจเป็นเพียงเครื่องประดับประดาเล็กๆ น้อยๆ ประกอบฉากชีวิตดิ้นรนให้ดูมีสีสันขึ้นบ้าง ณ ที่ตรงนั้น พวกเขาอยู่กับความเป็นจริงมากกว่าผมแน่นอน เพราะผมหนีความจริงเพื่อไปอยู่กับความฝันชั่วครั้งคราว

............

ด้วยอาชีพนักข่าว ถึงตั้งใจว่าจะลืมงานให้หมด แต่ก็อดถามผู้คนบนเกาะไม่ได้ว่ารู้เรื่องความพยายามของผู้บริหารประเทศที่ต้องการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราหรือไม่ คนสี่ห้าคนที่ผมถามแทบไม่มีใครได้ยิน บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นท่าเรือที่สร้างบนเกาะหลีเป๊ะสำหรับอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว มีคุณพี่ร้านขายของที่ระลึกร้านหนึ่งเพียงคนเดียวที่รับทราบ แกยังบอกด้วยว่าคนบนเกาะแทบไม่รู้เรื่องนี้

ในแง่รสนิยม ผมไม่เหนียมอายที่จะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เคยสัมภาษณ์นักวิชาการด้านโลจิสติกส์ท่านหนึ่ง อธิบายชัดว่าท่าเรือปากบาราไม่คุ้มที่จะสร้างและการคิดของรัฐบาลที่ว่า มันจะเป็นท่าเรือที่สร้างความมั่งคั่งแก่ภาคใต้ตอนล่าง ก็เป็นการคิดแบบเข้าข้างตนเองมากเกินไป โดยไม่ได้ดูบริบทด้านภูมิศาสตร์และการมีอยู่ท่าเรืออื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง

แต่รสนิยมของผมไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญและไม่ใช่ประเด็น กระดูกสันหลังของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า จะบวกหรือจะลบ ผู้คนบนเกาะหลีเป๊ะต้องได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราแน่นอน เหตุใดพวกเขาจึงรู้น้อยมากหรือไม่รู้เลยเกี่ยวกับโครงการ ทั้งๆ ที่มันควรเป็นเรื่องราวพื้นๆ และสิ่งแรกๆ ที่รัฐควรจะทำ

เช่นหลายๆ เรื่องในประเทศ ในโลก ผู้ผ่านมักคิดและทำด้วยสายตาที่มองเห็นแต่ความสวยงาม-ความสวยงามในแง่เม็ดเงินและการเติบโต และเชื่อว่ามันจะเป็นความงามเดียวกันในสายตาของผู้อยู่ แต่ผู้ผ่านเช่นผมหรือใครก็ตามไม่มีวันรู้หรอกครับว่า อะไรคือความงามของผู้อยู่ ...จนกว่า-อย่างน้อย-เราจะถามพวกเขา

............

ปัจจุบันมีทะเลประมาณ 400 แห่งบนโลกกลายเป็นทะเลที่ตายไปแล้ว มนุษย์จับทุกอย่างในทะเลจนเหี้ยนเตียน อวนจับปลาของเรือประมงขนาดใหญ่บางลำมีความยาวถึง 45 กิโลเมตร มันกวาดทุกอย่างขึ้นจากทะเล ไม่สนว่ามันเป็นอะไร แล้วอุตสาหกรรมประมงค่อยมาคัดเลือกเก็บปลาที่ให้ราคาดีไว้ ที่เหลือ...ทิ้ง พลาสติกเฉลี่ยมากกว่า 46,000 ชิ้นต่อตารางกิโลเมตรล่องลอยอยู่ในมหาสมุทร มันคือผลจากการปล่อยขยะพลาสติก 6 พันล้านกิโลกรัมต่อปีลงสู่ทะเลของมนุษย์ ปลาซาร์ดีนที่เราไม่เคยสนกำลังเป็นสินค้ามีราคาเพราะไม่เหลืออะไรให้จับ เราจับมันไปทำอะไร เราจับมันไปทำอาหารเลี้ยงปลาเศรษฐกิจที่ได้ราคาดีกว่า โดยต้องใช้ปลาซาร์ดีน 4 กิโลกรัม แลกกับปลาเศรษฐกิจ 1 กิโลกรัม และมนุษย์กำลังออกจับปลาในทะเลส่วนที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นโลกสนธยาที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักมันน้อยกว่าดวงจันทร์เสียอีก นั่นเพราะในทะเลส่วนที่ตื้นกว่าไม่เหลืออะไรให้จับอีกแล้ว

...........

ผมไม่แน่ใจว่า อะไรคือความงามของหลีเป๊ะ ของท้องทะเล ของมหาสมุทร ของโลก ที่ผู้ผ่านเช่นผม เช่นคุณ ควรไขว้คว้าหรือกอบโกยเอาไว้ก่อนจะผ่านไป ความงามบางรูปแบบ เช่นศิลปะควรเสพให้มากเพราะมันช่วยขัดเกลาเหลี่ยมมุมคมๆ ในชีวิตให้กลมมน แต่ความงดงามบางชนิดเสพมากเกินไปมักเป็นอันตรายต่อสุขภาพและคนรอบข้าง

อันที่จริง เราทุกคนล้วนเป็นเพียงผู้ผ่าน ผ่านมาเพียงไม่นานก่อนซากศพของเราจะทับถมเป็นถนนแก่คนอีกรุ่น ก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงต้องดูดกลืนส่วนที่สวยงามของโลกนี้เกินกว่าที่ควรจะเป็น

เราทุกคนล้วนเป็นผู้ผ่าน แต่อย่าลืมว่าก่อนที่เราจะผ่านไป...เราคือผู้อยู่

บล็อกของ กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เป็นเรื่องเล่าสั้นๆ ของชายผู้หนึ่งนามว่า 'เจดี' ที่ถูกเหยียบย่ำจนตาย คุณอาจกำลังคิดว่านี่คือคำเปรียบเปรย? ต้องลองอ่านดู
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เมื่อสองสามปีก่อน ผมถูกหนุ่มเวียดนามคนหนึ่งพยายามจะหักแขนซ้าย...
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 1.
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ เขี้ยว เล็บ ประสาทสัมผัส และมัดกล้ามอันทรงพลัง คือพรสวรรค์และอาวุธที่ธรรมชาติ-กระบวนการวิวัฒนาการ-หยิบยื่นแก่เหล่าสัตว์นักล่า ช่วยให้มันตะเกียกตะกายขึ้นไปยืนอยู่ ณ จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 
กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
 กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ คงมีเหตุผลอะไรสักอย่าง สี่แยกสะพานควายอันเป็นที่ตั้งของสำนักงาน TCIJ จึงมีคนไร้บ้านที่จิตเจ็บป่วยมากเป็นพิเศษ