Skip to main content

ข้อเขียนนี้ถูกเผยแพร่ในอีกพื้นที่หนึ่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เนื่องจากเห็นว่าเข้ากับโอกาสของการเปิดภาคการศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงขอนำมาเสนออีกครั้งในที่นี้

ต้นสัปดาห์ก่อน (3 มิถุนายน 2556) ผมชวนอดีตนักศึกษาปริญญาโทที่คณะไปฉลองการเปลี่ยนผ่านสถานภาพมาหมาดๆ ของพวกเขา เหตุการณ์คืนนั้นผ่านไปได้อย่างสนุกสนานและสมัครสมานกันดี มีคำถามหนึ่งที่อดีตนักศึกษาที่ขณะนี้กลายเป็นมหาบัณฑิตไปแล้วคนหนึ่งถามว่า "อาจารย์เป็นอาจารย์มานี่ หนักใจอะไรที่สุด" พอฟังคำถามเสร็จ ผมบอก "ขอไปเข้าห้องน้ำก่อน ปวดฉี่" แน่นอนว่านั่นเป็นมุกขอเวลาคิด คำถามน่ะไม่ยากหรอก แต่จะตอบให้ดีน่ะยาก

ผมกลับมาจากห้องน้ำ (ล้างมือแล้วนะ) พร้อมกับคำตอบว่า "สอนหนังสือน่ะยากที่สุด หนักใจที่สุด" ผมเล่าว่า ผมไม่เคยมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองสอนเลย ผมเป็นอาจารย์ทันทีหลังจากจบปริญญาโท แต่ที่จริงสอนหนังสือตั้งแต่เรียนโทแล้ว ตอนนั้นก็ทุกข์ร้อนมาก ดีแต่ว่าเป็นวิชาพื้นฐาน และต้องสอนเรื่องเดียวกันถึงสามรอบต่อหนึ่งสัปดาห์ รอบแรกตะกุกตะกัก รอบสองเริ่มสนุก ลื่นขึ้น พอรอบสามเบื่อมาก ปากพูดปาวๆ ไปเหมือนลิิ๊ปซิงค์

พอได้มาสอนที่ธรรมศาสตร์ใหม่ๆ ผมเตรียมตัวไม่ทัน พูดไม่รู้เรื่อง นักศึกษาที่เคยเรียนด้วยมาบอกทีหลังเมื่อมาเจออีกทีหลายปีต่อมาว่า "ตอนนั้นอาจารย์สอนไม่รู้เรื่องเลย" ผมยอมรับเลย เพราะตัวเองก็แทบไม่รู้ในสิ่งที่ตัวเองสอน

แล้วถามว่า "ตอนนี้รู้สิ่งที่ตัวเองสอนแค่ไหน" ก็ตอบได้เลยว่า "ส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลย" ใช่ สิ่งที่อาจารย์สอนให้นักศึกษารู้น่ะ ส่วนใหญ่แล้วอาจารย์ไม่ได้รู้รอบรู้ตลอดไม่รู้แตกฉานไปเสียทุกอย่างหรอก เอาเป็นว่าผมไม่พูดแทนอาจารย์คนอื่นก็แล้วกัน แต่สำหรับผม เนื้อหาส่วนใหญ่ที่สอน ผมก็เรียนไปพร้อมๆ กับนักศึกษานั่นแหละ

เอาอย่างวิชาบังคับต่างๆ ที่มีเนื้อหามากมาย มีงานเขียนของนักคิดคนนั้นคนนี้ ตอนที่เรียน ก็มีเวลาอ่านน้อย อ่านเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง งานหลายชิ้นไม่เข้าใจเลย ในห้องเรียนที่ผมเรียน ไม่ว่าจะที่ไหน ไม่มีคำอธิบายอย่างกระจ่างแจ้งหรอก อาจารย์ที่สอนจะรู้ก็เฉพาะงานบางคนที่เขาลงลึกศึกษาจริงจัง งานหลายชิ้นอาจารย์ก็เพิ่งอ่านพร้อมกับนักศึกษานั่นแหละ

มีครั้งหนึ่งที่ผมเรียนที่อเมริกา สองคืนก่อนวันมีชั้นเรียน อาจารย์โทรมาหาที่บ้านว่า "เธอมีหนังสือที่เราบอกให้อ่านมาถกกันในชั้นไหม" ผมถาม "อ้าว อาจารย์ยังไม่มีอีกเหรอ" แกตอบว่า "ไม่มี ถ่ายเอกสารมาให้หน่อยสิ" ผมถ่ายเอกสารหนังสือเล่มที่ผมอ่าน ซึ่งขีดเขียนไปมากมาย พอวันเข้าห้องเรียน อาจารย์บอก "เราก็อ่านตามที่เธอขีดเส้นใต้นั่นแหละ"

ทุกวันนี้ หลังจากผมจบปริญญาเอกกลับมาสอนได้เกือบ 6 ปีแล้ว หลายครั้งที่เข้าห้องเรียนผมกระหืดกระหอบไม่แพ้นักศึกษา หรืออาจจะมากกว่า เพราะลองคิดดูว่า ชั้นเรียนเวลา 3 ชั่วโมง ต่อหน้าคนตั้งแต่ 10 คนจนถึง 100 ถึง 1,000 คนก็มี หากเกิดจนคำพูดจะทำอย่างไร ถ้าที่เตรียมมาหมด ไม่พอจะทำอย่างไร ถ้าตอบคำถามไม่ได้ ถ้าลืม ถ้าอ่านเอกสารที่ให้นักศึกษาอ่านแต่ตัวเองอ่านมาไม่ครบจะทำอย่างไร 

หลายต่อหลายครั้งที่สอนหนังสือผมจึงแทบไม่ได้นอน มีบ่อยมากที่ผมมาสอนโดยเตรียมสอนจนสว่างคาตา แต่เมื่อทำอย่างนี้มาสัก 5-6 ปี ผมเริ่มรู้สึกว่า ที่เตรียมมามักเหลือ ผมเตรียมเกินเสมอ แต่ก็ยังไม่สามารถกะได้ว่า แค่ไหนคือพอดีสอน 

ชั่วโมงบินสูงๆ ประกอบกับประสบการณ์ภาคสนามและการเพิ่มพูนประสบการณ์และความคิดอย่างต่อเนื่อง ปีหลังๆ ผมยืนพูดไปได้เรื่อยๆ มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เคยเห็นว่าการสอนเป็นเรื่องง่ายเลย การเตรียมสอนสำหรับชั้นเรียนปริญญาโท-เอกจะยากในแง่ของประเด็นถกเถียงและการอ่านหนังสือเตรียมสอน ที่หลายเล่มเป็นหนังสือใหม่ที่ผมเองก็ยังไม่เคยอ่าน 

แต่สอนปริญญาตรีจะยากยิ่งกว่าในแง่ของการอธิบายเรื่องที่เป็นพื้นเป็นฐานให้กับความคิดต่างๆ เพราะบางทีเราเข้าใจว่าเรื่องพื้นๆ น่ะเราผ่านมาแล้ว ก็เลยลืมวิธีที่จะบอกว่ามันว่าทำไมอะไรจึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบางทีก็ต้องยอมรับว่า อาจารย์เองก็ไม่ได้เข้าใจแนวคิดอะไรที่เป็นพื้นฐานอย่างแท้จริง จึงอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจไม่ได้กระจ่างแจ้ง

เมื่อสอนซ้ำๆ กันหลายปี ตำราวิชาแกนของสาขาก็มักจะอยู่ตัว คงที่ การเตรียมสอนก็อาจจะน้อยลง แต่นอกจากตำราพื้นฐานแล้ว อาจารย์ (ในมาตรฐานของผม) ยังต้องค้นคว้าไล่ตามความรู้ใหม่ๆ อีก ความรู้ใหม่มาจากหลายแหล่ง จากข่าวสารทางวิชาการ จากวารสารทางวิชาการใหม่ๆ จากหนังสือใหม่ๆ จากการเริ่มทำวิจัยใหม่ๆ จากคำแนะนำของอาจารย์รุ่นใหม่ และที่สำคัญคือจากการค้นคว้าของนักศึกษาเองที่เขาไปพบอะไรใหม่ๆ มา แล้วก็จะมาอวด มากระตุ้น มาท้าทายอาจารย์ 

ผมชอบแหล่งความรู้อย่างหลังนี่ไม่น้อยไปกว่าที่หาเอง เพราะคิดว่าคนที่เรียนอยู่มีเวลา มีหูตากว้างขวางกว่าคนสอนหนังสือ ที่มีภาระประจำวัน ภาระรายสัปดาห์ และกรอบของความรู้แบบที่เรียนมากักขังไว้มากเกินไป แต่นักศึกษาขาดความรู้พื้นฐาน ขาดแนวทางการเข้าใจเรื่องใหม่ๆ เมื่อหาจุดลงตัวที่จะมาทำงานร่วมกันได้ อาจารย์และนักศึกษาก็จะได้ประโยชน์มาก

สามปีก่อนเจอเพื่อนอเมริกันที่สอนมหาวิทยาลัยที่โน่น ก็คุยกันเรื่องการสอน ผมบอกเหนื่อยมากกับงานสอน เขาบอก "โอ้ย จะอะไรกันมาก เรานะ แทบไม่สนใจเลยเรื่องสอน สอนดีบ้างแย่บ้าง เอาแค่พอไปได้ เพราะคะแนนประเมินจากการสอนที่นั่น (หมายถึงสำหรับมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัย ซึ่งธรรมศาสตร์ก็พยายามจะบอกว่าตัวเองเป็น) ไม่ได้สูงเท่าการทำวิจัย" ผมบอกผมทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก เพราะงานสอนที่นี่สำคัญอาจจะมากกว่างานวิจัย หรืออย่างน้อยที่สุด ผมก็เรียนรู้จากการสอนไม่น้อยเช่นกัน

ผมตอบมหาบัณฑิตเสียยืดยาว ลงท้ายก็บ่นว่าระบบการประกันคุณภาพในปัจจุบันเรียกร้องให้อาจารย์ทำอะไรมากมายกว่าที่นักศึกษาเห็นหน้าห้องเรียนนัก แต่ผมก็ยังว่างานเหล่านั้นไม่ยากเท่าการสอนหนังสือ แม้ว่าจะได้ "รางวัล" หลายๆ ด้านมากกว่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)