Skip to main content

บันทึกประกอบการพูดเรื่อง "การศึกษาไทย" เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเสนอว่าเรากำลังต่อสู้กับสามลัทธิคือ ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ ลัทธิล่าปริญญา และลัทธิแบบฟอร์ม

(1) ลัทธิบูชาชาติ-ศาสน-กษัตริย์
 
ปัญหาในระดับโรงเรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมีเยอะ นักเรียนส่วนใหญ่เรียนประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์แบบที่สร้างสมความงมงาย เพื่อนผม เพื่อนคุณ พวกคุณเอง จำนวนมากเรียนเก่งมาก เป็นคนดีมาก แต่ก็งมงายมาก งมงายกับความเป็นไทยมาก จนไม่สามารถช่วยให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้ากว่านี้ไปได้ไกลนัก
 
โรงเรียนและมหาวิทยาลัยไทยเราทุกวันนี้สอนให้เชื่อง ด้วยการบอกให้จด บอกให้จำ มากกว่าสอนให้คิด ให้ตั้งคำถาม เมื่อสอนอย่างนั้นแล้ว ก็จึงคิดเองไม่ได้ ไม่มีวิธีที่จะค้นหาความรู้เอง ผลเสียที่สุดก็คือ เชื่องมงายกับสิ่งที่สอนในโรงเรียน เช่น เชื่อว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็น "เจ้าของ" แผ่นดินไทย เป็นเทพยดา อะไรโน่น แต่แท้จริงแล้วพระมหากษัตริย์เป็นเพียงประมุขของประเทศ 
 
สอนให้เชื่อว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งที่ไม่จริง มีเรื่องงมงายพิสูจน์ไม่ได้มากมายในพระไตรปิฎก ที่เอาไว้หลอกคน ไม่สามารถช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้ง่ายๆ หรือเชื่อว่าชาติไทยมีมานานแล้วและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาตลอด ทั้งที่จริงแล้วเป็นสิ่งประดิษฐ์สร้างขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง
 
สอนให้เชื่อว่าตนเป็นคนไทย มีบรรพบุรุษเป็นชาวอยุธยาและชาวบางระจัน โถ่ สืบย้อนกลับไป 3-4 รุ่นส่วนใหญ่ก็มาจากเมืองจีนทั้งนั้นแหละ ไม่งั้นก็มาจากเมืองลาว ผมก็ด้วย แต่เราถูกสอนให้เกลียดตัวเอง เกลียดความเป็นคนอื่น เกลียดความจริง เกลียดบรรพบุรุษเจ๊ก บรรพบุรุษลาวของตนเอง อยากเป็นไทยกันหมด
 
หลายประเด็นต้องใช้เวลากันนาน แต่ขอพูดเฉพาะเรื่องศาสนา ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมคนสมัยนี้ยังกลัวการไม่มีศาสนากันอีก เขาอ่อนแอขนาดนั้นจริงๆ เขาอยากเป็นคนดีและเขาก็ดีเพราะศาสนาจริงๆ หรือเพราะเขาดัดจริตไปอย่างนั้นเองหรือเพราะเขาไม่เคยคิดว่า ไม่มีศาสนาเราก็อยู่ได้ 
 
หากจะสอนศาสนาในโรงเรียนจริง ต้องสอนทุกๆ ศาสนาที่สำคัญๆ ให้เท่าเทียมกัน เพื่อให้นักเรียนรู้แล้วเขาจะสามารถคิดเอง เลือกเองได้ว่าจะเชื่ออะไรหรือไม่เชื่ออะไรเลย หรือไม่อย่างนั้น เขาก็จะได้เรียนรู้ว่าศาสนาอื่นๆ เขาคิดอย่างไร เขาเชื่ออะไรกัน จะได้เข้าใจความแตกต่างกัน อยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจกัน
 
(2) ลัทธิล่าปริญญา
 
การฝึกฝน การค้นคว้า การวิจัย การเรียนรู้ แตกต่างกัน แต่สมัยนี้ระบบการศึกษาไทยเขาสอนกันแต่ทักษะ ไม่ได้สอนความรู้ ไปดูรัฐเผด็จการทั่วโลก เขาจะสร้างคนเก่งทักษะเยอะ เก่งความคิดแบบวิทยาศาสตร์ เก่งความรู้ทางเทคนิคต่างๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับสังคม-การเมือง เก่งศิลปะที่ไม่เอาสังคม-การเมือง รัฐไทยมีคราบประชาธิปไตย แต่หากดูการศึกษา แสดงความเป็นเผด็จการมากกว่า
 
"ลัทธิล่าปริญญา" เป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่กับสังคมไทยมานาน ผมพูดเรื่องนี้ก็เหมือนกีดกันคนไม่ให้เรียนสูงๆ ที่จริงไม่ใช่จะกีดกัน แต่ประเด็นคือ เราเรียนเอาปริญญาไปเพื่ออะไรกัน เราเรียนโทเรียนเอกกันไปเพื่ออะไร ทุกวันนี้ระบบการศึกษาที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยเพียงเพื่อให้มีปริญญา ให้เพิ่มคำนำหน้าชื่ิอ มันทำให้ระบบการศึกษาบิดเบือนไปหมด
 
อย่างการเรียน ป. ตรี ทุกวันนี้มันมากเกินไป แล้วเรามาบอกกันว่าคนจบตรีทำอะไรไม่เป็น ก็ทำไม่เป็นแน่ล่ะครับ เพราะเขาไม่ได้สอนให้ทำอะไร เขาสอนให้คิดเป็น ส่วนจะทำอะไรก็ไปฝึกกันต่อเอาเอง ทุกวันนี้แค่จะฝึกให้มีทักษะการเขียน การพูด ก็ยากแล้ว เพราะห้องเรียนมันใหญ่ ห้องเล็กๆ เขาไม่ให้เปิด หรือไม่ บางทีวิชามากมายจำเป็นต้องเรียนห้องเล็ก เราก็ยังทำให้มันใหญ่ เป็นพันๆ คนห้องนึง แบบนี้มันจะใช้ได้อย่างไร จะฝึกอะไรลึกๆ ได้อย่างไร 
 
บอกให้ทำห้องเล็กๆ มหาวิทยาลัยก็ติดเงื่อนไขของเงินลงทุน ทีอย่างนี้ไม่เอามาวัดกันว่าเรามีห้องเรียนที่เล็กพอจะมีคุณภาพได้แค่ไหน ผมเคยยืมความคิดอาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ไปเสนอให้สมาคมวิชาการศึกษาทั่วไป ว่าให้เลิกจัดการวิชาการศึกษาทั่วไปแบบอัดให้อยู่ในปีเดียวได้แล้ว วิชาที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ก็จัดไป แต่วิชาอีกมากมายสามารถจัดการให้เรียนปีไหนก็ได้ ไม่ต้องอัดเรียนกันในปีเดียว อีกอย่างคือ ความรู้หลายอย่างมันเรียนตอนปีหนึ่งแล้วให้อะไรน้อยกว่าปีสูงๆ และแบบนี้จะทำให้ห้องเรียนน้อยลง แต่ผู้บริหารคงไม่สนใจ
 
ในประเทศที่เจริญกว่าเรา ค่าแรงคนจบทางด้านสายวิชาชีพมันสูงพอจะดึงคนไปเรียนสายอาชีพได้ คนไม่ต้องจบปริญญาก็มีชีวิตสุขสบายได้ไม่แตกต่างกัน ทุกวันนี้เรามีแต่คนทำงานภาคบริการ กับงานออฟฟิสที่เกี่ยวข้องกับด้านบริการ เราขาดแคลนคนทำงานด้านวิชาชีพ
 
อีกเรื่องที่สำคัญคือ การเรียนต่อโท เอก ทุกวันนี้เรียนกกันอย่างกับเรียนประถม เรียนมัธยม หลักสูตรระดับโท เอก เปิดกันเยอะมาก ผมไม่แปลกใจถ้าเป็นสายอาชีพ คนอยากเรียนต่อยอด หรือเพื่อเพิ่มความรู้ด้านวิชาชีพที่ตนไม่เคยเรียนมาก่อน แต่ปัจจุบันนี้เหมือนว่า ต้องมี ป. โท ป. เอก กันไปอย่างนั้นเอง ปัญหาคือ สาขาวิชาจำนวนมากมันไม่ได้ช่วยอะไรในแง่วิชาชีพ เพราะมันเป็นวิชาการมาก จบไปแล้วควรเป็นนักวิชาการ เป็นครู หรือทำวิจัย แต่คนก็ยังอยากเข้ามาเรียนเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็น ดร.
 
ผมเจอคนที่เข้ามาเรียนแบบนี้แล้วเห็นใจ เห็นใจที่เขาต้องมาเจอคนสอนหนังสือแบบผม ที่ถูกฝึกมาให้เป็นคนทำงานวิชาการ ต้องคิด ต้องเขียน ต้องอ่านมากมายอยู่เสมอ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ ต้องพยายามเสนออะไรใหม่ๆ แต่คนที่มาเรียนจำนวนมากไม่ได้ต้องการเป็นคนแบบผม ก็เลยล้มเหลว เสียเวลาเสียเงินเปล่า เสียความมัั่นใจในตนเองไปเปล่าๆ ส่วนคนสอนอย่างผม บางทีก็ทำให้ต้องลดทอนระดับการศึกษาลง บางทีสอน ป เอก แบบไม่ต่างจากสอน ป ตรี ไม่ใช่ว่าพวกเขาโง่ แต่เพราะพวกเขาไม่ได้เรียนอะไรแบบนี้มาก่อน ก็กลายเป็นว่าต้องมาปูพื้นกันใหม่เลย
 
ยิ่งหลักสูตรที่มุ่งทำเงินยิ่งแย่ ห้องเรียนใหญ่ ค่าเรียนแพง จะให้ใครสอนอะไรยากๆ เสี่ยงกับการเรียนไม่จบ เรียนช้า ได้อย่างไร
 
(3) ลัทธิแบบฟอร์ม
 
ลัทธิแบบฟอร์มคือปัญหาเรื่องการบริหาร มหาวิทยาลัยทุกวันนี้ถูกระบบประกันคุณภาพกัดกร่อน กลายเป็นทาสของการประกันคุณภาพที่วัดด้วยปริมาณ ผมพูดจากฐานะผู้บริหารเองด้วย ผมเป็นรองคณบดีมาแล้วสองตำแหน่ง เป็นกรรมการสองสถาบันวิจัย เป็นประธานบริหารศูนย์วิจัยอีกหนึ่งแห่ง การทำงานในตำแหน่งเหล่านี้ในปัจจุบันเห็นอะไรมากมาย พูดเสร็จแล้วใครจะให้ออกจากตำแหน่งก็จะยิ่งยินดีเป็นอย่างยิ่ง จะได้สอนกับทำวิจัยและเขียนงานให้เต็มที่กว่านี้
 
ปัญหาของลัทธินี้ดูได้จากหลายจุด จับไปที่ไหนก็เห็นปัญหาเต็มไปหมด ลองดูที่การพยามยามตีพิมพ์ผลงาน ผลงานจำนวนมากที่ส่งมาให้อ่านใช้ไม่ได้ อาจารย์จำนวนมากเขียนหนังสือกันยังไม่เป็นเลย ไม่รู้ว่าเรียนอะไรกันมา แต่จะบอกปัดไม่ให้พิมพ์ก็จะเสียน้ำใจกัน เพราะอ่านดูก็รู้ว่านี่คนนั้นคนนี้เขียน วงการเราก็มีแคบๆ แค่นี้ ใครทำอะไรอยู่ก็รู้ทั้งนั้น งานดีๆ ก็มีนะครับไม่ใช่ไม่มี แต่งานแย่ๆ น่ะเยอะ เพราะต้องเร่งรีบเนื่องจากมีระบบบีบคั้นให้ผลิตงานมากมาย 
 
ทุกวันนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยกำหนดให้ต้องสอนอย่างน้อยสองวิชาต่อภาคการศึกษา แล้วทำอย่างอื่น คือทำวิจัย เขียนบทความ ทำตำรา แต่เอาเข้าจริงต้องสอนถึงสาม-สี่วิชาต่อภาค เพราะหลักสูตรเยอะ ไม่สอนก็จะกลายเป็นกินแรงคนอื่น ไม่สอนมหาวิทยาลัยก็จะไม่มีรายได้เพียงพอ คณะก็จะไม่มีงบประมาณพอที่จะบริหารอะไรให้ดีได้ นอกจากนั้นอาจารย์ยังต้องพิมพ์งานอย่างน้อยปีละหนึ่งชิ้น และต้องทำวิจัยสม่ำเสมอ 
 
งานเขียนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนหมด พวกคุณไม่เห็นหรอก สังคมไม่เห็นหรอก เพราะส่วนใหญ่มันจะไปสุมอยู่ใต้บันไดตึก คุณจะเจอกองวารสารที่แจกเท่าไหร่ก็ไม่หมด บ้านผมมีวารสารที่แจกกันไปกันมามากมาย อุตสาหกรรมความรู้ที่สูญเปล่าเหล่านี้มีเพื่อสังเวยระบบประกันคุณภาพด้วยปริมาณ วิธีวัดคุณภาพเขาดูที่ผู้ทรงคุณวุฒิกับวิธีจัดการ แต่เอาเข้าจริงๆ ทำงานกันไม่กี่คน คุณภาพจริงๆ จึงต้องดูที่ตัวชิ้นงาน แต่ไม่มีใครมาอ่านหรอก
 
ที่พูดอย่างนี้เนี่ย บอกก่อนว่าพร้อมๆ กับงานบริหารต่างๆ ที่ว่าน่ะ ผมสอน 8-9 วิชาต่อปี ผมมีบทความพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งไทยและเทศปีละไม่ต่ำกว่า 4-5 ชิ้น และทำวิจัยอีกเฉลี่ยเล็ก-ใหญ่ปีละชิ้น เรื่องไปบรรยายสาธารณะ และการบริการวิชาการต่อสาธารณะคงไม่ต้องมาบอกเล่ากัน ชอบไม่ชอบเร่่ืองของคุณ แต่ประเด็นคือ จะมาว่าผมไม่ทำงานต่างๆ แล้วมาบ่นต่อว่าระบบน่ะไม่ได้ ผมได้คะแนนประเมินเต็ม 100 มาติดต่อกันหลายครั้งแล้ว
 
ระบบประกันคุณภาพด้วยปริมาณแบบนี้กำลังเกาะกุมหัวผู้บริหาร เวลานี้ในหัวผู้บริหารทุกคนต้องตีค่ากิจกรรมต่างๆ ให้เป็นตัวเลขประกันคุณภาพให้ได้ ไม่ใช่คุณจะคิดงานตามอุดมการณ์อะไรได้อย่างอิสระ แต่ต้องอยู่ในกำกับควบคุมอย่างเป็นระบบของกรอบต่างๆ เช่น ถ้าคุณจัดกิจกรรมแล้วได้ผลสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องทำแบบสำรวจมา แล้วเอาเข้าที่ประชุม การวิจัยเชิงสำรวจกลายมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันโครงการอะไรใหม่ๆ เช่น พอจะสร้างอะไรที หรือจะทำหลักสูตรใหม่ที ผู้บริหารก็จะถามว่า ทำวิจัยสำรวจมาก่อนหรือยัง ผลเป็นอย่างไร
 
ทุกวันนี้สัดส่วนของงบประมาณมาจากรัฐเท่าไหร่ ผมบอกได้เลยว่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของรายจ่าย แต่ละคณะต้องหารายได้กันเอง ไม่งั้นมีสามารถทำงานได้เพียงพอกับข้อเรียกร้องของระบบประกันคุณภาพในปัจจุบันหรอก ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเลี้ยงตัวเองมากกว่ารับเงินจากรัฐ แต่รัฐควบคุมมากยิ่งขึ้น มากยิ่งกว่าสมัยที่มหาวิทยาลัยรับเงินจากรัฐ เข้าใจไหมครับว่า มหาวิทยาลัยตอนนี้เป็นอิสระน้อยลงในการบริหาร แต่ถูกถีบให้ต้องปากกัดตีนถีบเองมากขึ้น
 
ลัทธิแบบฟอร์มเข้ามาควบคุมการเรียนการสอน ในโครงครอบของการประกันคุณภาพที่เรียกกันว่า มคอ. (แปลว่า ไม่มีใครเอาบ้าง มหาคาบไปอ้วกบ้าง แล้วแต่ศรัทธา) เรื่องนี้ผมพูดมามาก้ว ขอข้ามๆ ไปบ้าง ปัญหาใหญ่คือ ทุกวันนี้เราให้อำนาจคนไม่กี่คน มากำหนดทิศทางความรู้ของประเทศผ่านแบบฟอร์มที่ซ้ำซ้อน 
 
เรื่ิองการประกันคุณภาพซ้ำซ้อนนี่เรื่องนึง แต่อีกเรื่องที่ใหญ่กว่าคือ การจัดการการศึกษาแบบรวมศูนย์ รวบอำนาจในมือคนไม่กี่คนที่ไม่ได้รู้ทุกเรื่อง คือคนเรารู้ทุกเรื่องไม่ได้อยู่แล้ว แต่คนชราเหล่านี้ทำเหมือนรู้ทุกเรื่อง
 
(4) ทางออกจากลัทธิงมงาย 
 
คนชอบพูดกันว่า "พวกเนี้ย ดีแต่วิจารณ์ ไม่รู้จักเสนอทางออกบ้าง" ผมก็อยากบอกว่า "วิจารณ์ก็ยากแล้วนะครับ ทางออกน่ะไปคิดกันเองบ้างสิ จะไม่คิดอะไรเองบ้างเลยรึไง" แต่เอาเถอะ ผมช่วยคิดให้หน่อยก็ได้ แต่คิดแล้วพวกคุณก็ไม่กล้า หรือไม่อยากเอาไปทำหรอก เพราะมันแก้ยาก
 
เรื่องการเรียนการสอน ให้เลิกงมงาย คุณต้องสอนการศึกษาสังคมและประวัติศาสตร์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนและค้นคว้านอกตำราด้วย ซึ่งทำได้ไม่ง่ายเลย แต่อุปสรรคใหญ่คือ ผู้มีอำนาจไม่กล้าทำหรอก เพราะมันจะรื้อถอนซากเดนความคิดที่ค้ำจุนระบอบเก่าๆ 
 
เรื่องระบบการศึกษาที่เราทุ่มผลิตปริญญาตรีมากไป อันนี้เรื่องใหญ่ ฝากให้ รมต. ศึกษาไปคิดต่อเอาเองก็แล้วกันครับ 
 
เรื่องระบบการบริหาร ระบบประกันคุณภาพไม่ใช่ไม่มีประโยชน์ ผมเห็นด้วยกับการตรวจสอบ แต่ควรเป็นการตรวจสอบที่คุณภาพ ไม่ใช่ดูแต่ปริมาณเสียจนเฟ้อกันไปหมด จะดูคุณภาพก็ต้องแยกแยะประเภทของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวิจัยดูอะไร ผลิตอะไร มหาวิทยาลัยมุ่งผลิตบัณฑิตดูอะไร แยกกัน 
 
อีกอย่างคือต้องแยกสาขาวิชา สาขาที่ต่างกันจะใช้วิธีเดียวกันหมดไม่ได้ การเทียบสาขาวิชาต่างกันด้วยเกณฑ์เดียวกันเหมือนเอาปลากระป๋องไปเทียบกับปลารมควัน มันคนละเรื่องกัน แล้วเอาคนผลิตปลากระป๋องมาตัดสินคนทำปลารมควัน มันใช้ไม่ได้ เอาคนไม่รู้เรื่องสังคมศาสตร์ที่เป็นสายวิชาการมาตรวจสอบคุณภาพงานทางสังคมศาสตร์สายวิชาการ มันยิ่งผิดฝาผิดตัว เหมือนให้ผมที่เป็นนักสังคมศาสตร์ไปประเมินโรงเรียนแพทย์ จะทำได้ยังไง แต่พวกคุณเอาหมอมาประเมินคณะผม หมอก็ฟังผมพูดไม่รู้เรื่องสิ ไม่มีใครฉลาดข้ามสาขาวิชาในเรื่องลึกๆ หรอก หมอก็ควรเจียมตัวบ้าง ไม่ใช่รับงานทั่วไปหมด นึกว่าตอนเด็กๆ เรียนเก่งแล้วจะเข้าใจทุกอย่างได้ง่ายๆ รึไง 
 
นี่ผมพูดแบบรวมๆ ทางออกในรายละเอียดถ้าจะให้ผมคิดแล้วเสนอ คงต้องใช้เวลานำเสนอสักสามชั่วโมง เฉพาะแค่เสนอทางออกจากระบบประกันคุณภาพแบบ สกอ. ก็ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงแล้ว 
 
หากท่านรัฐมนตรีหรือใครคิดจะปฏิวัติระบบการศึกษาไทย ผมเสนอให้รื้อถอนลัทธิทั้งสามที่เกาะกุมถ่วงรั้งการศึกษาไทยอยู่ขณะนี้ หาไม่แล้วก็ไม่ต้องมาโพนทะนาว่าเรา "จะต้องให้ผู้เรียนเป็นใจกลางของการศึกษา สอนให้คนคิดไม่ใช่ให้จำ สอนให้รู้จักโลกกว้าง..." เก็บสโลแกนเหล่านี้เอาไว้หลอกกันเองในหมู่ผู้ชราในกระทรวงศึกษาธิการก็พอครับ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)