Skip to main content

นี่เป็นข้อเขียนภาคทฤษฎีของ "การเมืองของนักศึกษาปัจจุบัน" หากใครไม่ชอบอ่านทฤษฎีก็ขอร้องโปรดมองข้ามไปเถอะครับ

ใครก็ตามที่ดูเบาการเคลื่อนไหวเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา ทรงผมนักเรียน คงไม่เข้าใจการเมืองในความหมายหลังมาร์กซิสม์ ที่ลงรายละเอียดไปถึงเรื่องเรือนร่าง พื้นที่ ถ้อยคำ กระทั่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ นี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาทางสังคมศาสตร์เปลี่ยนไปรวดเร็วจนทันได้เห็นความล้าหลังของคนรุ่นก่อนหน้าและลูกศิษย์ลูกหา(บ)ของพวกเขาได้ทันตาในชั่วอายุคน

ในระยะที่พรรคคอมมิวนิสต์ที่บรรดาครูบาอาจารย์รุ่นเก่าก่อน บรรดา "คนเดือนตุลา" บางคนที่หยุดพัฒนาการทางความคิดของตนไปแล้วเคยสมาทาน กำลังส่อเค้าเป็นเผด็จการมากขึ้นนั้น (ตั้งแต่ทศวรรษ 1920 แล้ว) จนเสื่อมสลายลงไปในยุโรปตะวันออกโดยสิ้นเชิงในที่สุด (ในทศวรรษ 1980) กระแสวิชาการในสายที่ภายหลังเรียกกันว่า "มาร์กซิสม์สายตะวันตก" บ้างล่ะ "มาร์กซิสม์สายวัฒนธรรม" บ้างล่ะ ก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้น นักคิดคนสำคัญของสายนี้ได้แก่ Antonio Gramsci (1891-1937) 

กรัมชีเสนอแนวการวิเคราะห์ปัญหาการครอบงำทางวัฒนธรรม/อุดมการณ์ (hegemony) ซึ่งซ้อนทับกับการครอบงำด้วย "กำลังบังคับ" (coersion) ที่สำคัญคือ การครอบงำด้วยอำนาจทางวัฒนธรรมนี้ได้มาด้วย "การสมยอม" (consent) ของประชาชน และโอกาสที่ประชาชนจะต่อต้านไม่ยอมรับการสมยอมนั้น

งานของกรัมชีมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการวิพากษ์วัฒนธรรมต่อเนื่องมาถึงสำนักแฟรงค์เฟิร์ท สำนักมาร์กซิสม์สายวัฒนธรรมอื่นๆ ที่โด่งดังได้แก่ Louis Althusser (1918-1990) ผู้วิเคราะห์กลไกทางอุดมการณ์ของรัฐ แนวคิดเหล่านี้สานต่อมาสู่การวิเคราะห์สัญญะว่าเป็นมายาคติ ผ่านงานของ Roland Barthes (1915-1980)  

ในทศวรรษ 1970 กลุ่มนักวิชาการมาร์กซิสม์สายตะวันตกที่พัฒนางานจนกระทั่งสร้างงานเชิงทฤษฎีที่เชื่อมโยงกับงานวิจัยได้อย่างดีคือนักวิชาการมาร์กซิสม์ในอังกฤษ มีสำนักวัฒนธรรมศึกษาที่เบอร์มิงแฮมเป็นแกนกลาง นักวิชาการคนสำคัญผู้เป็นคนชายขอบชาวเวลช์ที่พัฒนาแนวคิดของกรัมชี จนสร้างแนวการวิเคราะห์วัฒนธรรมของตนเอง คนหนึ่งชื่อ Raymond Williams (1921-1988) 

แนวคิดสำคัญของวิลเลี่ยมส์ได้แก่การวิเคราะห์โครงสร้างอารมณ์ (structures of feelings) วิลเลียมส์ชี้ว่า อุดมการณ์นั้นมีทั้งฝ่ายครอบงำและต่อต้าน และทั้งสองด้านของอุดมการณ์ไม่ได้แบ่งแยกได้ง่ายๆ ชัดเจนว่าเป็นฝ่ายใด ต่างหยิบยืม ฉกฉวยกันและกัน และต่างก็มีพลวัตเปลี่ยนแปลงสูง จนมีทั้งภาวะเป็นอารมณ์และภาวะที่เป็นตัวเป็นตนมีโครงสร้าง 

ในระยะเดียวกันนั้น นักคิดในฝรั่งเศสที่ได้รับอิทธิพลจากนิชเชอร์ (และผมว่าเวเบอร์ด้วยนะ) อย่าง Michel Foucault (1926-1984) ได้ปลิดการวิพากษ์วัฒนธรรม ให้พ้นจากคราบไคลของมาร์กซิสม์ แล้วเสนอแนวการวิเคราะห์ "โบราณคดี" และ "วงศาวิทยา" ของวาทกรรม เสนอให้เห็นถึงการที่อำนาจแผ่ซ่านผ่านปฏิบัติการของภาษา ความรู้ และการจัดการระเบียบวินัยในชีวิตประจำวัน การวิเคราะห์นี้ดึงเอารัฐและชนชั้นออกไป เพราะเห็นว่า ไม่ว่าจะคนชนชั้นใด หรือไม่ว่าใครจะสังกัดองค์กรทางการเมืองหรือไม่ ต่างก็มีส่วนใช้อำนาจครอบงำต่อกันได้ทั้งสิ้น 

แนวคิดเหล่านี้เสนออะไรใหม่ๆ ให้กับสังคมศาสตร์หลังทศวรรษ 1980 เป็นต้นมาบ้าง ประการแรก การวิพากษ์การเมืองรุ่นใหม่หยิบประเด็นทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการในชีวิตประจำวันต่างๆ มาเป็นประเด็นวิพากษ์อย่างสำคัญ การเมืองของแนววิเคราะห์เหล่านี้จึงไม่ได้จำเป็นต้องเป็นการเมืองมวลชน การเมืองของสถาบันทางการเมือง หรือการเมืองของชนชั้นอีกต่อไป 

ประการที่สอง การวิพากษ์แนวนี้วิเคราะห์ว่าการครอบงำของอำนาจมีอยู่ทุกหัวระแหงของปริมณฑลที่วัฒนธรรมทำงานอยู่ การวิเคราะห์แนวนี้ไม่ได้มองวัฒนธรรมเป็นสิ่งดีงามที่ตกทอดมา แต่มองว่าวัฒนธรรมเป็นอุดมการณ์ครอบงำ ที่ตัวมันเองก็มีพลวัต

ประการที่สาม อย่างไรก็ดี การครอบงำนี้มีขีดจำกัด มีการต่อต้าน มีการพลิกผัน มีการเสนอทางเลือกใหม่ๆ ในกระบวนการทางวัฒนธรรมนี้ตลอดเวลา

ข้อเสนอสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นักวิพากษ์เหล่านี้ไม่เสนอแนวทางปฏิวัติสังคม ไม่เสนอทางเลือกที่เป็นระบบ เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดการครอบงำแบบใหม่ดังที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติรัสเซียอีกต่อไป บางคนเสนอว่าจะเป็นการปฏิวัติอันยาวนาน ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในกระบวนการของการครอบงำและต่อต้านนี้ 

การวิพากษ์การเมืองของนักศึกษาสมัยนี้จึงใหม่ แตกต่างจากแนววิพากษ์ของคนรุ่นก่อนหน้า และไม่ใช่ว่าพวกเขาที่ต่อสู้ในการเมืองเรือนร่างนี้จะไม่สนใจการเมืองภาพใหญ่ แต่การวิพากษ์อำนาจบนเรือนร่างก็เป็นการเมืองแบบหนึ่งเหมือนกัน ใครที่ยังดูเบาการเมืองแบบนี้ก็ควรหาเวลาศึกษาการวิพากษ์การเมืองเพิ่มเติม 

ส่วนใครที่เป็นหัวๆ ในขบวนการนักศึกษารุ่นก่อน แล้วยังติดกับการเมืองแบบเก่าและคิดว่านักศึกษาปัจจุบันควรแสดงบทบาทเชิงวิพากษ์ด้วยการสนใจการเมืองของสาธารณชนนั้น ที่จริงแล้วควรภูมิใจที่นักศึกษาปัจจุบันก้าวหน้ากว่านักศึกษารุ่นคุณๆ ที่หยุดแสวงหาไปนานแล้วมากนัก เพราะพวกคุณเหล่านั้นได้กลายไปเป็นผู้สร้างอำนาจครอบงำสังคมปัจจุบันเสียเองแล้ว

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)